ด้านสติปัญญาและการเรียนรู้

เทคนิคเพิ่มสมาธิ เพิ่มการเรียนรู้ให้ลูกวัยเตาะแตะ

     เพราะสมาธิกับการเรียนรู้สัมพันธ์กัน เด็กที่มีสมาธิจะเรียนรู้ได้ดี  แต่เด็กๆ นั้นมีช่วงความสนใจหรือสมาธิสั้น โดยเฉลี่ยเด็กอายุก่อน 3 ขวบจะมีสมาธิจดจ่อได้ประมาณ 5 นาทีเท่านั้น ซึ่งการจะฝึกสมาธิในเด็กสามารถทำได้ เพราะเด็กๆ นั้นให้ความสนใจต่อสิ่งเร้าง่ายอยู่แล้ว หากเรามีเคล็ดลับการยืดช่วงความสนใจต่อสิ่งเร้านั้น เด็กก็จะมีสมาธิเพิ่มขึ้น

  • หาตัวช่วยสร้างความสนใจ

     คุณแม่อาจจะต้องมีตัวช่วยมาเป็นตัวเร้าความสนใจ อย่างเช่น ของเล่นหรืออุปกรณ์เสริม เพื่อดึงดูดความสนใจ เช่น สีเทียนแท่งใหญ่ๆ ให้เขาได้ละเลงลงบนกระดาษแล้วชวนพูดคุยถึงเรื่องสี เรื่องลายเส้น เพื่อยืดความสนใจของลูกออกไปอีก ลูกบอลสีสด มาช่วยกันโยนลงตะกร้าใบโต ลูกจะได้จดจ่อกับการโยนลูกบอลให้ลงตะกร้า หรืออาจจะใช้ การเล่น มาจูงใจให้ลูกจดจ่อมีสมาธิมากขึ้น เช่น ชวนลูกนับก้าวเดิน 1- 2 , 1 -2 , ชวนกันเก็บและนับก้อนหิน หรือหยอดเหรียญใส่กระปุก พร้อมนับจำนวนไปด้วย เป็นต้น

  •  ใช้ประโยชน์จากกิจวัตรประจำวัน

     กิจวัตรประจำวันอย่างการแปรงฟัน แปรงขึ้น–แปรงลง, การติดกระดุม หรือกิจกรรมที่เป็นขั้นเป็นตอน เหล่านี้ช่วยเสริมสมาธิและการจดจ่อให้ลูกได้เช่นกัน

     ที่สำคัญ กิจกรรมเล่านิทานก่อนนอน ที่หากคุณแม่ทำเป็นประจำกับลูกน้อยมาแต่เล็กๆ ก็ให้ทำต่อไป เพราะเป็นสุดยอดกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างสมาธิและความสนใจให้ลูกได้เป็นอย่างดีทีเดียว… เหล่านี้เป็นวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้ลูกเรามีสมาธิได้มากขึ้นๆ อย่างเป็นธรรมชาติได้ไม่ยาก เมื่อมีสมาธิ การเรียนรู้ก็ตามมาค่ะ

ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว

 ชวนลูกเล่นลากจูงจากของใกล้ตัว
     ของเล่นประเภทลากจูง เป็นอีกหนึ่งของเล่นที่เด็กๆ วัยหัดเดินโปรดปรานไม่น้อย ที่สำคัญเป็นของเล่นที่เหมาะกับพัฒนาการของเด็กช่วงวัยนี้ ที่จะได้ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ฝึกความคล่องแคล่วของการเคลื่อนไหว ทั้งในการเดิน การวิ่งไปพร้อมกับการลากจูงของเล่นไป-มาอีกด้วย  จึงอยากชวนคุณพ่อคุณแม่หาสิ่งของใกล้ๆ ตัวมาพลิกแพลงเป็นของเล่นลากจูง ให้ลูกเล่นกันค่ะ

  • ตะกร้าลากจูง

     เพียงนำเชือกมาผูกกับตะกร้าผ้าทรงเตี้ยๆ แบนๆ (หรือกล่องกระดาษก็ได้ เจาะรูผูกเชือก) แล้วนำตุ๊กตา หรือของเล่นสุดโปรดของลูกใส่ไว้ในตะกร้า แค่นี้ลูกก็ได้ลากเล่น ได้หยิบของเล่น ใส่เข้าจับออก ได้ใช้กล้ามเนื้อมันเล็กมัดใหญ่ และได้จินตนาการไปกับการเล่นของตัวเองแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจจะเพิ่มความสนุกให้ตะกร้าลากจูงนี้มีสีสัน ด้วยการหาผ้าสีสดๆ มาทำเป็นธงปักที่ตะกร้า หรือติดกระพรวนกรุ๋งกริ๋งผูกติดไว้กับตะกร้า ก็จะทำให้เวลาลากไปไหนมาไหน มีเสียงดังกรุ๋งกริ๋งๆ สร้างความสนุกให้กับลูกได้เช่นกัน

  • ลากจูงกระเป๋าเก่าๆ

     คุณแม่อาจเอากระเป๋าเก่าๆ ที่มีล้อลาก มาให้ลูกลากจูงเล่นก็ได้ เด็กบางคนอาจเลียนแบบผู้ใหญ่ที่เขาเคยเห็นขณะลากจูงกระเป๋าเหล่านี้อย่างสนุกสนาน เป็นการเล่นบทบาทสมมุติอีกอย่างหนึ่งด้วยค่ะ

  • พาเหรดของเล่น...ปู้นปู้น

     เลือกของเล่นของลูก เช่น ตุ๊กตาต่างๆ รถ เรือ ตัวต่อ มาผูกต่อๆ กัน เป็นเหมือนรถไฟขบวนยาวที่ทำมาจากของเล่น แล้วให้ลูกลากจูงเล่นค่ะ

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ด้านภาษาและการสื่อสาร

ท่องคำคล้องจอง พัฒนาการสื่อสารลูก

     เพื่อพัฒนาการฟังเสียง จดจำ และจำแนกแยกแยะเสียงที่ได้ยินให้กับลูก  สิ่งที่คุณแม่ไม่ควรมองข้ามอย่างหนึ่งคือ “การท่องคำคล้องจอง” ให้ลูกฟัง เพราะเด็กเล็กๆ นั้นสามารถที่จะเรียนรู้เสียงและจำเสียงได้ ยิ่งเสียงที่ได้ยินบ่อยๆ ฟังซ้ำๆ ก็จะรู้จักเสียงและคุ้นเคยกับเสียงที่ได้ยินนั้น จนสามารถแยกแยะเสียงได้ เป็นการพัฒนาการได้ยิน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการฟังดนตรี และพัฒนาการทางภาษา

     นอกจากนี้ กิจกรรมท่องคำคล้องจอง จะเป็นการขยายการเรียนรู้เรื่องเสียงและเรื่องคำ ซึ่งก็คือพัฒนาการทางภาษาให้ลูกน้อยเพิ่มขึ้น ที่สำคัญเด็กจะสนุกกับการฟังถ้อยคำที่ไพเราะ สัมผัสกัน และมีท่วงทำนอง มีจังหวะ จะยิ่งช่วยให้เด็กจดจำได้ง่าย

  • เพลงฝนตก

ซ่า ซ่า ซ่า ฝนตกลงมากระเด็นเป็นฝอย 
เด็ก เด็ก หลบฝนกันหน่อย
เด็ก เด็ก หลบฝนกันหน่อย 
ฝนเพียงเล็กน้อยจะเป็นหวัดเอ๋ย
ฮัด เช้ย  ฮัด เช้ย ฮัด เช้ย

  • เพลงโด เร มี

โดเป็นเสียงชั้นที่หนึ่ง       แล้วจึงเลื่อนไปเสียงเร       
มีเป็นเสียงมีเสน่ห์           รวมกันสวยเก๋เป็นโด เร มี โด เร มี
มี เรโดโอ้โหขอฟังอีกที     โดเรมี  มีเรโด 

  • สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม

สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม 
แม่บรรจงให้หนูรู้จัก
หนูๆ ช่างน่ารัก 
เรามารู้จักสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม

ด้านอารมณ์และสังคม

Floor Time เล่นเพื่อความฉลาดทางอารมณ์ของลูก

     Floor Time คือเวลาที่ผู้ใหญ่ต้องการพูดคุยหรือเล่นกับเด็ก โดยเฉพาะผู้ใหญ่ต้องนั่งลงกับพื้นเพื่อให้อยู่ในระดับเดียวกับเด็ก  หลักการง่ายๆ ของ Floor Time ก็คือ จัดเวลาสักวันละอย่างน้อย 30 นาที ให้เป็นเวลาที่พ่อแม่จะอยู่ร่วมกับลูก โดยเฉพาะ คือการให้ลูกเป็นผู้เลือกเกมหรือสิ่งที่เขาต้องการเล่น ให้ลูกเป็นผู้กำหนดทิศทางและกติกาการเล่น ให้เขาเป็นคนควบคุมบทสนทนา และเป็นคนคอยบอกว่าคุณต้องทำอะไร แค่ไหน อย่างไร

     ส่วนบทบาทของพ่อแม่ในเวลานั้นก็คือ ทำตามความต้องการของลูก และมีส่วนร่วมอย่างตั้งใจกับกิจกรรมที่ลูกเลือก โดยไม่ต้องเป็นคนคอยกะเกณฑ์หรือควบคุมอะไรเลย แต่หากลูกไม่รู้จะเล่นอะไร เราก็อาจนำเสนอได้ เช่น เล่นเกมปริศนาหรือต่อบล็อก พลางพูดคุยไปตามบทสนทนาของเขา หรือชวนลูกระบายสีด้วยนิ้วมือ โดยให้เขาเป็นคนเลือกสีที่ชอบ เป็นต้น

     Floor Time  มีส่วนช่วยให้ลูกเติบโต โดยมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดีด้วย เพราะการใช้ Floor Time อย่างถูกวิธี คือการสร้างบรรยากาศเปิดที่ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย และมั่นใจพอที่จะพูดคุยบอกเล่าถึงปัญหาคาใจทั้งใหญ่และเล็กของเขาให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง ทั้งยังเป็นโอกาสที่ดีในการฝึกทักษะทางสังคมแก่ลูกด้วย 

    Floor Time ช่วยให้สัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่และลูกใกล้ชิดสนิทสนมกันยิ่งขึ้น เพราะในระหว่างการทำ Floor Time พ่อแม่จะได้รับรู้ความรู้สึกนึกคิดของลูก นำไปสู่การค้นพบสิ่งที่พ่อแม่ลูกสนใจร่วมกัน เกิดความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจกันและกันค่ะ