ด้านสติปัญญาและการเรียนรู้

ส่งเสริมการเรียนรู้ให้ลูกน้อยจากชีวิตประจำวัน

     กิจกรรมต่อไปนี้เป็นกิจกรรมง่ายๆ ให้คุณแม่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาสมองและการเรียนรู้ของลูก เพื่อพัฒนาเป็นองค์ความรู้ให้กับลูกวัยนี้ผ่านเรื่องราวต่างๆ ที่ใกล้ตัว และพบได้ในชีวิตประจำวันของพวกเขา

  •  นั่นเสียงอะไร ด้วยการถามคำถามง่ายๆ เพื่อกระตุ้นให้เด็กๆ ได้สังเกตเสียงรอบๆ ตัว เช่น เสียงรถยนต์ เสียงนกร้อง เสียงสุนัขเห่า เสียงคนเปิด-ปิดประตู ฯลฯ

  •  ช่วยเลือกหน่อย   การพยายามเสนอทางเลือกให้ลูกในการทำสิ่งต่างๆ จะช่วยให้ลูกน้อยมีโอกาสได้คิดตัดสินใจด้วยตัวเองที่จะเลือกระหว่าง 2 ทางเลือก เช่น หนูจะกินส้มหรือแอปเปิ้ล หนูจะอ่านหนังสือหรือจะออกไปวิ่งเล่น หนูอยากให้แม่อ่านนิทานเรื่องไหนในคืนนี้ ฯลฯ ที่จะช่วยฝึกความมั่นใจให้ลูกได้

  • เรียนรู้จัก...พยัญชนะต่างๆ  การสอดแทรกความรู้พื้นฐานอย่าง เช่น การรู้จักพยัญชนะ ทั้ง A-Z และ ก-ฮ ให้ลูกวัยนี้ เป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อลูกจะได้เตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยอนุบาลต่อไป โดยการสร้างสิ่งแวดล้อม ให้เด็กคุ้นเคยกับหนังสือที่มีตัวพยัญชนะเหล่านี้ ไม่ว่าจะจากหนังสือ ของเล่น หรือของกิน

  • นับ...นับ...นับ..  นอกจากพยัญชนะที่เด็กวัยนี้ควรได้ทำความรู้จักและฝึกฝนที่จะจดจำกันแล้ว การนับยังเป็นพื้นฐานการเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่สำคัญ สิ่งที่เราจะช่วยลูกในเรื่องนี้ได้คือ ชวนลูกนับสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นขนม หนังสือ ของเล่น ดินสอ ปากกา สัตว์ ฯลฯ

  • รูปร่างและสีรอบๆ ตัวเรา คุณแม่ควรหมั่นพูดคุยเกี่ยวกับรูปร่างสีและตัวเลขกับลูก เช่น ผ้าม่านลายดาว จานกลมๆ ปากกาสีน้ำเงิน สมุดสีแดง เป็นต้น

ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว

เล่นเกมแข่งเปิดหน้าหนังสือ พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก

     เด็กๆ ชอบให้ผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟัง และขณะที่ชวนลูกอ่านหนังสือที่เหมาะกับวัยของเขาคือ Board Book คุณแม่ชวนลูกเล่นเกมแข่งกันเปิดหนังสือ เพื่อตรวจสอบพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กของลูก  ลูกวัยนี้จะเปิดหนังสือหนาๆ อย่าง Board Book ได้ทีละแผ่น เปิดหนังสือทั่วไปได้ทีละ 2-3 แผ่น และเมื่อเด็กโตขึ้นในวัย 24 เดือน เขาจะเปิดหนังสือทั่วไปได้ทีละแผ่น นั่นเป็นเพราะทักษะการใช้งานของมือนิ้ว และการประสานงานระหว่างมือและสายตาพัฒนาดีขึ้น

     วัยนี้คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกรักการอ่านด้วยการอ่านหนังสือนิทานให้ฟังทุกวัน โดยเลือกเวลาที่เป็นเวลาผ่อนคลาย เช่น ก่อนนอน เป็นเรื่องราวที่เหมาะสมกับวัย อ่านด้วยท่าทีที่สนุกสนาน มีรูปภาพประกอบ ชี้ให้เด็กดูรูปตามไปด้วย โดยสามารถเล่าได้ซ้ำๆ เปิดโอกาสให้ลูกเปิดหนังสือดูเองได้ และตอบคำถามของลูกอย่างใส่ใจเมื่อลูกซักถามค่ะ

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ด้านภาษาและการสื่อสาร

สนุกเรียนรู้คำเรียกอวัยวะ

     ลูกวัยนี้เป็นวัยที่มีพัฒนาการทางภาษาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว   ในการส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา คุณพ่อคุณแม่ควรคุยกับลูกบ่อยๆด้วยถ้อยคำที่สั้นๆ ช้าๆ ชัดเจน ชี้อวัยวะต่างๆ ร่วมกับออกเสียงอวัยวะนั้นๆร่วมด้วย โดยให้ลูกชี้ตาม ด้วยบรรยากาศที่สนุกสนาน ไม่บีบบังคับให้ต้องทำถ้าลูกไม่พร้อม อาจทำในขณะอาบน้ำถูสบู่ให้ลูก เล่นเป็นเกมส์พูดชื่ออวัยวะใดให้เอาฟองสบู่แตะ พูดและปรบมือชมเชยเมื่อลูกชี้หรือพูดอวัยวะนั้นได้ถูกต้อง

     เด็กวัยนี้ควรชี้อวัยวะของร่างกายได้ถูกต้องอย่างน้อย 3-5 ส่วนเมื่อถูกถาม การสร้างบรรยากาศที่สนุกสนานเป็นสิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องพูดหรือสอนเฉพาะคำเดี่ยวๆเท่านั้น การพูดโดยมีคำขยายความเพิ่มเติม จะเป็นการส่งเสริมให้เด็กมีความเข้าใจความหมายของภาษาที่ได้ยินมากขึ้น เช่น กำมือ ยกมือขึ้น แตะข้อศอก จับจมูก เป็นต้น

ด้านอารมณ์และสังคม

ฝึกลูกช่วยตัวเอง...พื้นฐานความฉลาดทางอารมณ์

     การให้ลูกช่วยตัวเองจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องเขาตั้งแต่เล็กๆ  การได้ทำงานจะทำให้สมองของเขารู้จักคิดหาวิธีที่จะทำงานให้เสร็จ หากเด็กรู้จักคิด เขาจะสามารถแก้ปัญหา หรือตอบคำถามที่อยู่ตรงหน้าได้สำเร็จ ซึ่งจะทำให้เขาเกิดความมั่นใจ กล้าคิด กล้าตอบ กล้าริเริ่มทำสิ่งอื่นต่อไป กลายเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตัวเอง 

คุณแม่ควร...

  • ชวนลูกหัดร้อยเชือก ติดกระดุม โดยคุณแม่อาจเจาะรูใหญ่บนกระดาษแข็งเรียงกัน 2 แถว ใช้เชือกรองเท้าคุณแม่ ลองหัดร้อยก่อนจะไปร้อยกับเชือกรองเท้าจริงๆ

  • ส่วนการติดกระดุม  เลือกเสื้อของคุณแม่ที่มีกระดุมเม็ดใหญ่ให้ลูกลองหัดติด เพราะนิ้วน้อยๆ ของลูกอาจจะยังติดกระดุมเม็ดเล็กๆ ไม่ได้ 

     กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ลูกได้ใช้สมองลองผิดลองถูก คิดแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อทำงานเหล่านี้ให้สำเร็จ และสามารถนำไปใช้กับการใส่เสื้อผ้าเองได้ในที่สุด หรือให้ลูกช่วยงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ  เช่น เช็ดโต๊ะกินข้าว รดน้ำต้นไม้ เป็นต้น