ด้านสติปัญญาและการเรียนรู้

5 กิจกรรมสร้างสรรค์ พัฒนาสมองลูก

  1. การอ่าน กว่า 3 ใน 4 ของพ่อแม่เชื่อว่า การอ่านช่วยสร้างจินตนาการ ฝึกทักษะภาษา การมองและการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รวมทั้งช่วยสร้างสัมพันธภาพในครอบครัวด้วย

  2. การเล่นสมมติ  พวกเขาเชื่อว่า เป็นการฝึกจินตนาการที่ดี และยังเป็นกิจกรรมที่ฝึกทักษะด้านภาษาได้อีกด้วย

  3. การเล่นของเล่น หรือเล่นในสนามเด็กเล่น เพราะ เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกน้อยได้พัฒนากล้ามเนื้ออย่างเต็มที่ และนอกจากนี้ยังได้พัฒนาศักยภาพทางสังคม จากการได้พบกับเพื่อนใหม่ๆ ในวัยเดียวกัน และวัยที่ต่างกัน

  4. การระบายสีบนภาพ ซึ่งนอกจากจะเสริมสร้างจินตนาการได้ดีแล้ว ยังช่วยฝึกความเข้าใจในสีต่างๆ และพัฒนาทักษะกล้ามเนื้อต่างๆ เช่น กล้ามเนื้อมือ การประสานงานของมือและตาด้วย

  5. การฟังเพลง ซึ่งแน่นอนว่าปัจจุบันมีงานวิจัยมากมายที่สนับสนุนว่า การฟังเพลงจะช่วยให้เด็กๆ มีพัฒนาการทางสมองและความจำดีขึ้นได้

     นอกจากกิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ดีต่อสมองของลูกๆ เช่น กิจกรรมร้องเพลง การเล่นดนตรี การเล่นคอมพิวเตอร์ การเล่นกับลูกบอล กิจกรรมการปีนป่าย รวมไปถึงกิจกรรมศิลปะต่างๆ ด้วยค่ะ    

ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว

ชวนลูกเดินบนไม้แคบๆ  เคล็ดลับฝึกลูกเดินให้เก่ง

     การชวนลูกเดินบนไม้แคบๆ หรือบนขอนไม้  เพื่อให้ลูกประคองตัวบนขอนไม้หรือสะพานไม้แคบๆ เตี้ยๆ นั้น จะเป็นการช่วยพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา พัฒนาทักษะการเดินที่มั่นคงให้ลูกได้ เพราะมื่อเดินบนไม้แคบๆ ได้ เขาก็มั่นใจที่จะเดินบนพื้นปกติมากขึ้นค่ะ

      ช่วงแรกคุณแม่อาจจะจับมือลูกไว้ก่อน เมื่อลูกเริ่มพยายามทรงตัวได้บ้างแล้วก็ค่อยๆ ปล่อยมือ ลูกอาจจะเดินได้ในระยะสั้นๆ ไม่ไกลนัก ก็ไม่เป็นไร ค่อยๆ ทำไป เพื่อฝึกการเดินที่มั่นคงขึ้น

 *เคล็ดลับความสนุก : ความสนุกจะอยู่ตรงที่ลูกพยายามประคองตัวเดินไปบนไม้แคบๆ ให้ได้ ลูกอาจเดินพลาด ร้องโวยวายในตอนแรก คุณแม่จึงต้องคอยจับมือเขาไว้ไม่ให้ตก แล้วลูกจะค่อยๆ สนุกกับการฝึกเดินนี้ค่ะ

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ด้านภาษาและการสื่อสาร

การพูดคุยเรื่องใกล้ตัว พัฒนาภาษาและการสื่อสารลูก

     พ่อแม่ที่พูดคุยกับลูกตั้งแต่เล็กๆ จะมีโอกาสพัฒนาภาษาของลูกได้มาก จากการวิจัยพบว่าครอบครัวที่พูดคุยกับเด็กบ่อยๆ ด้วยท่าทีที่ดี การพูดตอบกลับด้วยการอธิบายเพิ่มเติม จะช่วยให้ภาษาของลูกพัฒนาเร็วยิ่งขึ้น โดยเด็กจะมีโอกาสได้รับรู้จำนวนของเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ถึง 13 ล้านคำ ครอบครัวที่ไม่ค่อยไดด้พูดคุยกับลูก เด็กจะมีการรับรู้จำนวนของเสียงน้อยกว่ากลุ่มแรกประมาณ 8 ล้านคำ หรือน้อยกว่า 62%

     ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับลูกทุกวันเมื่ออยู่กับลูก ด้วยการเรียกชื่อลูก ชวนลูกพูดคุยในเรื่องใกล้ตัว ตั้งคำถามง่ายๆ ให้ลูกตอบ โดยใช้เหตุการณ์ที่ได้พบเห็นกับลูก เช่น "ดอกไม้นี่สีอะไรล่ะลูก" "จิ๊บ...จิ๊บ นี่เป็นเสียงร้องของอะไรน้า" "ที่เห็นในภาพนี้ เรียกว่าตัวอะไรจ๊ะ " หากลูกตอบไม่ได้ คุณแม่ก็บอกคำตอบให้เขา และบอกรายละเอียดสั้นๆ ง่ายๆ เพิ่มเติมของสิ่งที่เห็นในภาพ จะทำให้ลูกได้เรียนรู้ และจดจำสิ่งนั้นๆ ได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อพัฒนาการทางภาษาและการสื่อสารของลูกต่อไป

ด้านอารมณ์และสังคม

ใช้ดนตรีช่วยปรับอารมณ์ลูก

     เป็นที่ทราบกันดีว่าคุณประโยชน์ของดนตรีนั้นมีมากมาย จึงมีการส่งเสริมให้ลูกรักในเสียงดนตรีตั้งแต่ยังเล็ก เพราะนอกจากจะช่วยให้ลูกเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ และเพิ่มพัฒนาการของลูกน้อยแล้ว ดนตรียังช่วยปรับพฤติกรรมของลูกได้อีกด้วยค่ะ

     หากลูกของคุณแม่เป็นเด็กขี้อาย ดนตรีสามารถช่วยให้ลูกได้แสดงออกตามความต้องการ ความรู้สึกและความสามารถ ช่วยถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกของเด็ก ช่วยให้ลูกผ่อนคลายความเครียด สังเกตได้จากเวลาที่ลูกร้องเพลงเล่นกันกับเพื่อนๆ ลูกจะมีหน้าตายิ้มแย้ม เบิกบาน แม้เด็กบางคนจะมีอารมณ์หงุดหงิด แต่เมื่อได้ร้องรำทำเพลงหรือได้ฟังเพลงเพียงสักพัก ก็จะค่อยคลายความไม่สบายใจลง เพราะความไพเราะของเพลง ลีลาและท่วงทำนองเพลงจะช่วยกล่อมอารมณ์ของเด็กให้เพลิดเพลินเป็นปกติได้เป็นอย่างดี

     อย่าลืมเปิดเพลงให้ลูกฟัง เพื่อปรับอารมณ์ของเขากันนะคะ