ด้านสติปัญญาและการเรียนรู้  

พาลูกสำรวจรอบบ้าน เรียนรู้สิ่งรอบตัว

     เด็กทุกคนเป็นนักสำรวจธรรมชาติตัวยงค่ะ คุณแม่ลองสังเกตดูว่าเจ้าตัวน้อยมักจะมองเห็นในสิ่งที่ผู้ใหญ่มองข้ามไปเสมอ กระทั่งก้อนกรวด ก้อนหิน ใบไม้ใบหญ้า แมลงตัวเล็กๆ ต่าง ๆ ที่ผู้ใหญ่มักไม่ค่อยก้มลงมาใส่ใจ แต่มันกลับเรียกร้องความอยากรู้อยากเห็นให้ลูกได้เสมอ ถ้าอย่างนั้นคุณแม่ลองลดวัย ทำตัวเป็นนักสำรวจธรรมชาติไปพร้อมๆ กับลูกนะคะ

     ลองเลือกช่วงเช้าหรือเย็นที่แดดไม่ร้อนนัก   พาลูกออกไปเดินสำรวจดูซิว่าในสวนที่บ้านหรือสวนสาธารณะ มีหญ้ากี่ชนิด หน้าตาเป็นอย่างไร มีต้นไม้ดอกไม้อะไรบ้าง มีแมลงตัวไหนมาอาศัยอยู่บ้างไหมนะ แล้วอย่าลืมเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งรอบตัวไว้ให้ดีนะคะ จะได้พร้อมตอบสารพัดปัญหาไขข้อสงสัยให้หนูน้อยทำไมของคุณแม่ได้ การพาลูกสำรวจสิ่งรอบตัวแบบนี้ จะเป็นการเพิ่มทักษะการเรียนรู้ให้ลูกได้เป็นอย่างดี ช่วยกระตุ้นจินตนาการด้วยคำถามของคุณแม่ เช่น ใบไม้ใบนี้มีรูปร่างยังไง เมฆก้อนนั้นหน้าตาเหมือนอะไร ลองให้ลูกหยิบหินมาวางเรียงเป็นรูปตามจินตนาการ เพียงแค่นี้ก็สนุกและเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันได้ทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูกแล้วค่ะ

ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว         

สนุกเคลื่อนไหวกับพาเหรดดนตรีในบ้าน

     เด็กกับการเล่นเป็นของคู่กัน คงจะดีไม่น้อย หากคุณแม่สามารถหาอุปกรณ์ใกล้ตัวภายในบ้านจินตนาการให้เป็นของเล่นดู นอกจากจะได้ความสนุกแล้ว ลูกยังจะได้เคลื่อนไหวให้ร่างกายได้ขยับอีกด้วย  

      วิธีง่ายๆ ด้วยการหาอุปกรณ์ในห้องครัว อย่างหม้อหรือกระทะขนาดเล็กๆ ที่ไม่ใช้แล้ว มาหลายๆ ใบ โดยอาจจะให้คุณพ่อคุณแม่ถือกันคนละชิ้น พร้อมๆ กับหาช้อนไม้มาตีที่กระทะหรือฝาหม้อให้เกิดจังหวะ อย่าลืมหาชิ้นที่เหมาะกับมือของลูกส่งให้เขาชิ้นหนึ่ง หรืออาจจะให้ลูกเป็นคนเลือกเองก็ยิ่งจะทำให้เขาชอบใจใหญ่เลยค่ะ จากนั้นก็ยืนเรียงแถวกันแล้วก็ออกเดินขบวนพาเหรดไปรอบๆ ห้อง ใช้มือเคาะดังๆโดยยกขาให้สูงๆ เดินตามจังหวะ เมื่อเดินครบรอบแล้ว ลองเปลี่ยนจังหวะจากการที่ตีช้าๆ ก็กลายเป็นตีเร็วขึ้น เพื่อให้ลูกฝึกเดินได้เร็วขึ้นตามจังหวะที่เพิ่มขึ้น อย่าลืมให้ลูกเป็นผู้กำหนดจังหวะบ้าง จะทำให้ลูกรู้สึกว่าได้เป็นผู้ออกแบบสร้างสรรค์จังหวะดนตรีในการเล่นครั้งนี้

     การเล่นนี้เป็นการฝึกการทำงานประสานกันของอวัยวะในร่างกายของลูก  นอกจากนี้ยังฝึกในเรื่องสมาธิในการฟังของลูกด้วย อีกทั้งยังจะช่วยให้เกิดความสนุกสนาน และช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวให้ดียิ่งขึ้นด้วยค่ะ

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ด้านภาษาและการสื่อสาร                 

สอนหนูเรียนรู้คำศัพท์ผ่านนิทาน

     หากคุณแม่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง เริ่มตอนนี้ยังไม่ค่ะ  เริ่มได้เลยค่ะ ด้วยการจัดหาหนังสือสำหรับเด็กหลายเล่มวางไว้ในบ้านหรือในห้องของลูก พยายามทำให้การอ่านเป็นเหมือนหนึ่งกิจกรรมประจำวันของเขา อย่างการเปิดหนังสือภาพหรือหนังสือที่มีเพลง อ่านนิทานให้ลูกฟังก่อนเวลานอนกลางวันและก่อนนอนในตอนกลางคืน แม้ลูกจะยังอ่านไม่ออก แต่จะช่วยให้มีนิสัยชอบอ่านหนังสือได้ค่ะ

     นิทานเป็นเรื่องใกล้ตัวเด็กๆ การนำนิทานมาใช้ในการสอนคำศัพท์จะทำให้ลูกจำคำศัพท์ได้มากขึ้น ลูกจะได้ยินคำศัพท์ที่แปลกหู ไม่เคยได้ยินมาก่อน คุณแม่ควรอธิบายสั้นๆ ให้ลูกเข้าใจถึงคำศัพท์ที่แปลกหูของลูกนั้น ให้เขาเข้าใจว่ามีความหมายอย่างไร และทบทวนคำศัพท์เหล่านั้นบ่อยๆ เด็กๆ จะสนุกและจำได้ดีกว่าการท่องค่ะ

     นอกจากนี้ นิทานยังเป็นสื่อที่ดีในการให้ลูกเรียนรู้ภาษาอังกฤษ คุณแม่อาจเปิดซีดีนิทานภาษาอังกฤษให้ลูกดูพร้อมกับอธิบายไปด้วย นอกจากเนื้อเรื่องที่น่าสนใจ และภาพประกอบที่เพลิดเพลินแล้ว และสิ่งที่ออกจาปากคนเล่าอย่างคุณแม่ก็จะยิ่งช่วยให้ลูกสนุกและเข้าใจเรื่องที่ฟังมากขึ้น นอกจากนี้ลูกยังจะซึมซับและจดจำคำศัพท์ต่างๆ จากนิทานที่ได้ฟังไปด้วยค่ะ

ด้านอารมณ์และสังคม

กอด...หยุดอารมณ์รุนแรงของลูก

     อ้อมกอดของแม่ ใช่เพียงแค่สร้างความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยให้แก่ลูกน้อยเท่านั้น หากยังเป็นเครื่องมือสำคัญในพัฒนาการด้านอารมณ์ของลูกด้วย  เด็กในวัยนี้ ยังควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ไม่ดี  จึงมักแสดงความรุนแรงออกมา คุณแม่เป็นคนสำคัญที่ช่วยให้ลูกเรียนรู้และแสดงออกอย่างเหมาะสม และวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการกอด

     ขณะที่ลูกกำลังโกรธและระบายอารมณ์ด้วยการตีหรือขว้างปาสิ่งของ คุณแม่ต้องไม่ปล่อยให้ลูกทำแบบนั้น   เพราะการปล่อยให้ลูกระบายอารมณ์ด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสม ลูกจะคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและทำได้ จนอาจติดเป็นนิสัยเมื่อเติบโตขึ้นได้ 

     ถ้าลูกแสดงอารมณ์รุนแรง ต้องหยุดลูกโดยไม่ใช่ความรุนแรงโต้ตอบ เช่น การตี แต่ควรหยุดด้วยการกอดไว้แน่นๆ และโยกตัวลูกเบาๆ ยิ่งแม่โอบกอด อุ้มสัมผัส สบตา พูดคุยกับลูกมากเท่าไร ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มระดับของสารอ็อกซิโตซิน และเอนดอร์ฟินในสมองของลูกน้อยให้มีมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะก่อเกิดเป็นความรู้สึกดีของทั้งคุณแม่และลูก ถ้าแม่ยิ่งอุ้ม โอบกอด สัมผัสลูกบ่อยๆ ก็จะช่วยให้สารเคมีสมองลูกหลั่งดีกว่าเด็กที่คุณแม่ที่ไม่ค่อยอุ้ม

     เคยมีการศึกษาวิจัย พบว่าเด็กที่ได้รับการปลอบโยนโดยการสัมผัสโดยตรง จะมีระดับความเครียดลดลงรวดเร็วกว่าเด็กที่ได้ยินเสียงปลอบโดยเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้รับการสัมผัสใดๆ เลย เพราะฉะนั้น ยิ่งคุณแม่โอบกอดลูกบ่อยเท่าไร ก็ยิ่งดีต่อพัฒนาการด้านอารมณ์ของลูกมากเท่านั้นค่ะ