ด้านสติปัญญาและการเรียนรู้  

เคล็ดลับฝึกฝนลูกน้อยก่อนเข้าโรงเรียน

      อีกไม่นาน ลูกน้อยก็จะต้องเข้าโรงเรียนแล้ว นอกจากจะต้องเตรียมความพร้อมเรื่องการช่วยเหลือตัวเองในแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็นการกิน การนอน การขับถ่าย การเข้าสังคมแล้ว การเตรียมความพร้อมด้านการเรียนรู้ให้ลูกก็เป็นสิ่งที่ละเลย ไม่ได้เหมือนกัน  ดังนี้

  •  พยายามนำสิ่งรอบตัวมาเป็นสื่อในการสอนลูก ให้รู้จักสีสันและรูปทรงต่างๆ เช่น สมุดวาดภาพระบายสี หนังสือนิทาน เป็นต้น

  •  พยายามหาสื่อต่างๆ ที่เกี่ยวกับพยัญชนะไทย-อังกฤษ มาสร้างความคุ้นเคยให้ลูก เช่น ซีดีเพลง จิ๊กซอว์ โปสเตอร์ หรือของเล่น

  •  เรียนรู้จำนวนและตัวเลข เช่น ฝึกนับนิ้ว 1-10 ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

  • การเรียนรู้จักช่วงเวลา เช่น ตอนเช้า–ตอนเย็น ซึ่งอีกหน่อยเวลาที่ลูกไปโรงเรียนเขาจะได้เชื่อมโยงได้ว่า เวลาเช้าคือ ตื่นนอน มาโรงเรียน เวลาเย็นคือเวลาที่แม่จะมารับเขากลับบ้าน

  • ฝึกสมาธิและการฟัง ให้ลูกด้วยการเล่านิทาน การเล่นที่ต้องใช้สมาธิร่วมด้วย เช่น ต่อจิ๊กซอว์ บล็อกไม้ เพื่อให้ลูกมีสมาธิในการเรียนรู้เมื่อเข้าสู่วัยเรียน

      คุณแม่คอยๆ สอดแทรกสิ่งเหล่านี้เข้าไปในชีวิตประจำวันของลูกอย่างเป็นธรรมชาติ และทำให้เป็นเรื่องสนุก ลูกจะเรียนรู้และจดจำไว้เป็นต้นทุนเพื่อการเรียนรู้ เมื่อถึงวันที่เขาเข้าสู่วัยเรียนค่ะ

ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว                  

ส่งเสริมลูกขีดๆ เขียนๆ พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก 

     การใช้กล้ามเนื้อมือในการหยิบจับดินสอของเด็กวัยนี้  จะเป็นลักษณะการกำมือ เนื่องจากกล้ามเนื้อของนิ้วมือยังไม่แข็งแรงนัก  ดังนั้นการเลือกใช้สีเทียนแท่งใหญ่จะทำให้เด็กสามารถกำสีได้กระชับ ขีดเขียนได้คล่องแคล่ว  โดยเด็กวัยนี้คุณพ่อคุณแม่มักเริ่มเห็นแล้วว่าลูกมีความถนัดของมือด้านใดมากกว่ากัน สังเกตได้จากการใช้ร่างกายข้างนั้นในการทำกิจกรรมมากกว่าอีกข้างหนึ่ง เช่น ถือขนมใส่ปาก ยื่นมือรับของ หรือขีดเขียนโดยใช้มือที่ถนัด

     การส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสกำมือขีดเขียนบ่อยๆ ช่วยทำให้กล้ามเนื้อนิ้วมือของลูกแข็งแรงขึ้น ร่วมกับเป็นการเพิ่มพูนทักษะการควบคุมการทำงานของนิ้วมือ ข้อมือและแขนให้พัฒนาขึ้น จนลูกสามารถที่จะจับดินสอขีดเขียนได้อย่างถูกต้องเมื่ออายุประมาณ 3 ปี  และมีความสามารถที่จะวาดเป็นเส้นแนวดิ่ง แนวนอนและวงกลมได้ ซึ่งจะนำไปใช้ในการประเมินการทำงานประสานกันของมือกับตาและระดับสติปัญญาได้

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ด้านภาษาและการสื่อสาร

สอนลูกรู้จักคำทักทาย

     การรู้จักคำทักทายนั้น นอกจากจะเป็นมารยาททางสังคมแล้ว ยังเป็นบ่งบอกถึงความฉลาดในการสื่อสารด้วย   คุณแม่สามารถแนะนำให้ลูกรู้จักคำทักทายกับคนอื่น ได้ดังนี้

  • บอกลูกทุกครั้งที่เจอใครก็ตามให้กล่าวคำว่าสวัสดี

  • ฝึกลูกให้พูดมีหางเสียง มีครับ / ค่ะ ต่อท้ายทุกๆ ครั้ง 

  • สอนให้ลูกไหว้ เริ่มจากจับมือลูกมาประกบกัน ก้มหัวเล็กน้อย และทำเป็นตัวอย่างให้ลูกดู

  • พูดชมเชย หากลูกทักทาย และไหว้ผู้ใหญ่เมื่อเจอกัน

     คำพูดที่สุภาพที่คุณพ่อคุณแม่ใช้กับลูก ไม่ว่าจะเป็นคำ สวัสดี ขอบคุณ หรือ ขอโทษ ล้วนแล้วแต่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดที่ลูกจะทำตาม หากสอนสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ จะทำให้ลูกปฏิบัติตามได้ง่ายขึ้น  โดยคุณแม่ทำตัวเป็นแบบก่อน เพราะลูกจะเลียนแบบทุกสิ่งที่เขาได้ยิน ได้ฟัง แต่คุณแม่ต้องไม่คาดหวังจนเกินไป ขอแนะนำว่าให้สอนแบบธรรมชาติและแนบเนียนไปกับชีวิตประจำวันจะดีกว่าค่ะ

ด้านอารมณ์และสังคม             

สนุกสนานกับโลกจินตนาการ

     เด็กวัยนี้จะเริ่มเข้าสังคมและเล่นกับกลุ่มเพื่อนมากขึ้น แรกๆ อาจจะเพียงเข้าไปนั่งใกล้กลุ่มเพื่อนๆ ที่กำลังเล่นอยู่ จากนั้นก็จะค่อยๆ เล่นกับเพื่อนได้ในที่สุด เมื่อรวมกลุ่มกันแล้วก็มักจะเล่นตามจินตนาการกัน อาจเอาเก้าอี้หลายๆ ตัวมาต่อกันเป็นรถเมล์ แล้วเล่นเป็นคนขับกับผู้โดยสาร การเล่นเหล่านี้เด็กจะเป็นคิดขึ้นเองตามแต่จินตนาการ

     บางครั้งจินตนาการของลูกก็อยากให้คุณพ่อคุณแม่มีส่วนร่วมด้วย เพราะลูกมักจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของบ้าน และรู้สึกอบอุ่นเมื่อได้เล่นใกล้ๆ กับคุณพ่อคุณแม่ คุณแม่อาจช่วยกระตุ้น หรือแนะนำวิธีการเล่นใหม่ๆ ให้ลูก แต่ต้องระวังไม่ให้การเล่นนั้นเป็นการเล่นแบบผู้ใหญ่ ซึ่งจะเป็นการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้     

     ในโลกจินตนาการไม่เพียงแต่จะช่วยให้ลูกได้สนุกสนานแล้ว ยังจะช่วยวางรากฐานการเรียนรู้และส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ของเด็กอีกด้วย เพราะได้เล่นได้แสดงออกตามที่เขาคิด  คุณพ่อคุณแม่คือบุคคลสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมเด็กให้จินตนาการในด้านบวกเพื่อให้เด็กเติบโตขึ้น เป็นคนดี เด็กเก่ง กล้าคิด กล้าแสดงออกในทางที่ถูกต้อง ดังนั้นควรชักชวนลูกทำกิจกรรมที่จะได้เพลิดเพลินไปกับจินตนาการได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะช่วยให้ลูกได้ค้นหาความชอบและความถนัดของเด็กของเขาด้วยค่ะ