ฉลาดเรียนรู้

เคล็ดลับพัฒนาความจำลูกน้อย

       เด็กวัย 4 ขวบพัฒนาการด้านต่างๆ กำลังรุดหน้า และเป็นวัยที่ลูกก้าวสู่โลกแห่งการเรียนรู้สังคมนอกบ้าน นับเป็นโอกาสแห่งการพัฒนา ที่คุณพ่อคุณแม่น่าจะใช้โอกาสนี้เตรียมความพร้อมให้กับลูก  โดยเฉพาะในเรื่อง “ความจำ”  ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเก็บรวบรวมข้อมูลความรู้ต่างๆ ไว้ในคลังสมองของเขา เพื่อนำมาใช้ในการต่อยอดการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ต่อไป

       อย่างไรก็ตาม  การจัดระบบความจำยังไม่ค่อยดีนัก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยเหลือลูกในเรื่องนี้  ซึ่งทำได้โดย...

 

  • จดจำเป็น ‘ภาพ’  - เด็กวัยนี้รับรู้ทางสายตาได้ดี  ดังนั้น การใช้กิจกรรมที่มีภาพเป็นสื่อจึงเหมาะอย่างยิ่ง กิจกรรมง่ายๆ ที่จะช่วยให้ลูกมีความจำดี  เช่น เกมจับคู่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เกมจับคู่ภาพกับเงา  จับคู่ตัวเลข  จับคู่ภาพกับพยัญชนะ จับคู่ภาพกับเสียงต่างๆ เป็นต้น

  • บรรยากาศต้องสนุก - บรรยากาศการเรียนรู้ส่งผลต่อความจำของลูกวัยนี้อย่างมาก เพราะถ้าไม่สนุก ก็ไม่มีอะไรน่าสนใจให้ลูกจดจำ ในทางตรงกันข้าม หากกิจกรรมการเรียนรู้นั้นยิ่งสนุก ลูกจะยิ่งจดจำได้ติดแน่นและนานมากขึ้น

  • ทำซ้ำๆ บ่อยๆ -  เพราะเด็กๆ เรียนรู้จากการทำซ้ำๆ บ่อยๆ

  • ประสบการณ์ สร้างการจดจำ - การได้สัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ การได้ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ บ้าง จะช่วยให้ลูกจดจำได้เช่นกัน  สังเกตได้จากลูกวัยอนุบาลที่มักจะมีเรื่องที่โรงเรียนมาเล่าให้คุณแม่ฟังบ่อยๆ ถึงคุณครู และเพื่อนๆ ว่าเป็นอย่างไร  เพราฉะนั้น หลังลูกกลับจากโรงเรียนคุณพ่อคุณแม่จึงควรตั้งคำถามกับลูก เพื่อให้เขาได้จัดความจำให้เป็นระบบ เป็นเรื่องๆ เพื่อตอบคำถามตามโจทย์ของคุณพ่อคุณแม่

       เหล่านี้ ล้วนเป็นความจำที่เกิดจากความประทับใจ และตราไว้ในความทรงจำ (หรือสมองน้อยๆ ของลูก) แล้วสมองของลูกก็จะพัฒนาสู่ 360º อัจฉริยะรอบด้านได้ไม่ยากค่ะ

ฉลาดเคลื่อนไหว

สอนลูกว่ายน้ำ พัฒนาการเคลื่อนไหว

       ลูกวัยนี้พร้อมสำหรับการฝึกว่ายน้ำเต็มที่ การว่ายน้ำเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้กล้ามเนื้อแขน กล้ามเนื้อขา และกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ แข็งแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีเมื่อต้องเคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบถต่างๆ  เช่น เดิน วิ่ง หรือเขียนหนังสือ ซึ่งลูกจะทำได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้ออกกำลังกายตั้งแต่เล็ก ๆ
       การว่ายน้ำจะช่วยให้ลูกมีทักษะในการลอยตัว ทำให้เด็กสามารถลอยตัวในน้ำได้ โดยระยะแรกเริ่มจากการใส่ปลอกแขนก่อน แล้วเมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงจึงพัฒนาไปใช้ห่วงยางสำหรับว่ายน้ำได้ถูกต้อง รวมทั้งมีทักษะในการเตะเท้า โดยฝึกให้เด็กเตะเท้าไปในทิศทางที่ต้องการได้ เด็กจะมีพื้นฐานในการเตะเท้าได้ตรง เท้าจะไม่งอ ขาจะไม่เกร็งเวลาเตะเท้า ตัวจะไม่เอียงเวลาว่ายน้ำ ตัวไม่เกร็งเวลาลงน้ำ เพราะได้รับการฝึกพื้นฐานมาดีแล้ว
       คุณแม่ควรหาโอกาสพาลูกวัยนี้ไปว่ายน้ำอย่างน้อย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง โดยเน้นการสอนที่สนุกสนาน ไม่กดดัน ใจเย็น เพื่อให้ลูกมีความกล้า และมั่นใจ ลูกจะมีความสุข สุขภาพแข็งแรง และมีการเคลื่อนไหวที่ดีค่ะ

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ฉลาดสื่อสาร

สอนลูกเข้าใจเรื่องจังหวะการพูดรับ-ส่ง

       ในช่วงวัยนี้ พัฒนาการของเด็กทางภาษาเพิ่มขึ้น ลูกจะเริ่มเข้าใจถึงประโยชน์ของภาษาในด้านสังคม เขาเริ่มรู้ว่า ภาษาไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือที่เอาไว้แสดงออกถึงความคิดและความรู้สึกของตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นช่องทางที่ทำให้เขาเข้าสังคมกับคนอื่นได้ด้วยในรูปแบบของการสื่อสาร 2 ทาง ดังนั้นการพูดคุยกับลูกด้วยบทสนทนาง่ายๆ นอกจากจะทำให้ลูกเรียนรู้ด้านภาษาได้เร็วแล้ว ยังเป็นการช่วยให้ลูกเข้าใจจังหวะของการรับและส่งได้เร็วขึ้น ในขณะที่คุณแม่พูด ลูกจะจ้องมองหน้าคุณแม่และฟัง และลูกก็จะคิดว่า แม่พูดเสร็จแล้ว ต่อไปก็ตาหนูบ้างล่ะ 
       เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น เขาจะเข้าใจในสิ่งที่คุณแม่พยายามสื่อสารมากขึ้น คุณแม่สามารถบอกเขาได้แล้วว่า แม่พูดเสร็จแล้ว ตาหนูพูดบ้าง จะทำให้เขาเข้าใจและรู้จักวิธีรับส่งในการสื่อสาร  ซึ่งต่อไปเขาจะได้เรียนรู้ถึงมารยาทในสังคมที่ต้องมีการรอคอยอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งเขาจะได้ไปเจอด้วยตนเองในกลุ่มสังคมของเขา 
       การที่ลูกต้องปรับทักษะในการพูด และการเล่น เมื่อต้องเข้าสังคมกับเพื่อนจริงๆ แม้ว่าในช่วงแรกอาจดูเป็นเรื่องยาก แต่พฤติกรรมของเด็กคนอื่นๆ ในวัยเดียวกันก็จะมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้เรื่องการผลัดกันและการรอคอยค่อนข้างมาก และเมื่อโตขึ้น เขาจะเริ่มเข้าใจแล้วว่ามีเรื่องมากมายที่เขาจำเป็นต้องผลัดกันรอ ผลัดกันพูด หรือผลัดกันเล่น เพียงแค่เขารอคอยอีกแป๊บเดียว เขาก็จะได้เล่นอย่างสนุกและมีความสุขเหมือนเพื่อนๆ แล้วค่ะ 

ฉลาดด้านอารมณ์

สอนลูกเรียนรู้การแพ้ชนะ

       คุณแม่ควรสอนให้ลูกเรียนรู้ว่าในความเป็นจริงมีโลกการแข่งขัน มีทั้งแพ้และชนะ ซึ่งส่วนใหญ่พ่อแม่ยุคนี้มักจะพะวงกลัวลูกแพ้ และกังวลต่อไปอีกว่ากลัวลูกแพ้ไม่เป็น ก็เลยพยายามจะหาวิธีสอนให้ลูกได้เรียนรู้จักความ “แพ้” แต่ที่จริงการเรียนรู้เรื่อง “ชนะ” ก็มีความจำเป็นเช่นกัน เพราะการชนะก็สอนให้ลูกเรียนรู้เรื่องราวดีๆ ได้มากมาย
       คุณแม่ควรสอนให้ลูกเรียนรู้ว่าการชนะในวันนี้ไม่ได้หมายว่าความจะชนะตลอดไป เพราะเมื่อมีคนชนะก็ย่อมต้องมีคนแพ้เสมอ เพราะฉะนั้น ทุกคนก็มีโอกาสชนะและแพ้ได้เท่าๆ กัน นอกจากนี้ควรสอนให้ลูกไม่ซ้ำเติมคนแพ้ แต่ต้องยกย่องความเป็นนักสู้ของผู้แพ้ด้วย เช่น การแสดงความมีน้ำใจนักกีฬาด้วยการให้ลูกไปจับมือชื่นชมผู้แพ้ว่าอีกฝ่ายก็เก่งมากเช่นกัน และควรสอนให้ลูกไม่ยึดติดหรือถือดีว่าตัวเองเป็นผู้ชนะ
       คุณแม่สามารถเปลี่ยนเรื่องที่ลูกชนะให้กลายเป็นแรงบันดาลใจในเรื่องอื่นๆ หรือเสริมสร้างศักยภาพของลูกให้ถูกทาง เพราะเขาอาจจะค้นพบทางที่เขาถนัดและมีความสุขก็ได้ เช่น ลูกได้รับรางวัลเรื่องงานศิลปะก็อาจส่งเสริมต่อยอดความสามารถของเขา และสิ่งสำคัญที่คุณแม่สามารถปลูกฝังและสอดแทรกไปกับการเรียนรู้เรื่องชนะคือความมุ่งมั่น ความอดทน ความพยายามอย่างสร้างสรรค์ และฝึกให้เขามีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตอย่างมีแบบแผน แล้วลูกก็จะแพ้ได้ ชนะได้ ซึ่งจะส่งผลต่อความฉลาดด้านอารมณ์ของเขาค่ะ