ฉลาดเรียนรู้

พัฒนาการเรียนรู้ลูกด้วยการเล่นวิทยาศาสตร์

       ช่วง  6 ขวบแรกเป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการเรียนรู้ และความคิดสร้างสรรค์  ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญในการใช้ชีวิตของคนเรา

       คุณพ่อคุณแม่สามารถสนับสนุนและส่งเสริมให้ลูกเกิดการเรียนรู้และมีความคิดสร้างสรรค์ เพียงเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่น ได้คิดอย่างอิสระ ได้ลงมือทำและเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่อื่นๆ คอยแนะนำ สนับสนุนให้เด็กได้ใช้ความคิด ได้ทดลองทำ และแสดงความชื่นชม ให้กำลังใจเมื่อเด็กทำได้หรือยังทำไม่สำเร็จ
       นอกจากของเล่นอย่างบล็อกไม้ ตัวต่อเลโก้ ที่เรารู้จักกันดีว่าช่วยเสริมสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์แล้ว การเล่นวิทยาศาสตร์ก็เป็นตัวเลือกที่คุณพ่อคุณแม่น่าจะส่งเสริมให้ลูกวัยนี้ได้ เช่น การทำลูกโป่งจากน้ำยาล้างจาน,  ชวนลูกทดสอบเรื่องการจมการลอยจากก้อนหินและลูกปิงปอง, เรียนรู้และทดสอบเรื่องแรงดันลมด้วยการเป่าลมเข้าไปในลูกโป่งแล้วปล่อย ลูกโป่งก็จะเคลื่อนที่อย่างเร็วเพราะแรงลมที่อัดแน่นอยู่ภายใน เรียนรู้เรื่องการเดินทางของเสียงผ่านโทรศัพท์จากแก้วกระดาษ เป็นต้น
       คุณพ่อคุณแม่ลองเริ่มต้นจากการเล่นวิทยาศาสตร์ง่ายๆ  ใกล้ๆ ตัว  แล้วตั้งคำถามกับลูก  เปิดโอกาสให้ลูกได้คิด หากไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ให้ลองหาตัวช่วยเป็นหนังสือเกี่ยวกับการทดลองวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กติดบ้านไว้  มีเวลาว่างตรงกันเมื่อไร ก็ชวนกันทำ  ต่อมการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ของลูกจะได้เติบโตงอกงามค่ะ

 

ฉลาดเคลื่อนไหว

ต่อจุดให้เป็นภาพ

       แทนที่จะซื้อของเล่นให้ลูกอยู่ตลอดเวลา คุณแม่สามารถประดิษฐ์ของมาเล่นกับลูกได้ ซึ่งของบางอย่างแทบจะไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรมากเลย อย่างเช่นการเล่นเกมต่อจุดให้เป็นภาพ
       เริ่มต้นด้วยหาหากระดาษเปล่ามาหนึ่งแผ่น แล้วลองคิดว่าจะวาดภาพอะไรให้ลูกเล่น จากนั้นก็ทำเป็นจุดๆ ตามภาพนั้น แล้วให้ลูกลองใช้ดินสอวาดภาพตามจุดนั้นๆ จนครบเป็นภาพที่สมบูรณ์ แต่คุณแม่ควรใช้ภาพที่ดูยากสักหน่อย เพราะสำหรับเด็กในวัยนี้ รูปภาพที่ง่ายเกินไปก็จะทำให้เขารู้สึกเบื่อและไม่สนุกได้ หากจะใช้ยากขึ้นมาสักหน่อย อาจใช้เป็นภาพตัวอักษร ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือตัวเลขก็ได้ค่ะ
       การวาดต่อจุดให้เป็นรูปนั้น แม้จะเป็นเพียงการเขียนเส้นง่ายๆ ให้เหมือนกับแบบ  แต่จะเป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีในการฝึกทักษะการทำงานประสานกันของมือกับสายตาของลูก ทั้งยังเป็นการฝึกทักษะสำหรับเด็กถึง 2 ทางด้วยกัน คือฝึกทักษะทางกาย เป็นการฝึกมือให้สามารถลากเส้นจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้ ทำให้กล้ามเนื้อมือได้ถูกใช้งานให้มีความแข็งแรง จนสามารถบังคับทิศทางได้ และฝึกทักษะทางสมอง ให้สามารถจดจำตัวอักษรได้ ไม่ว่าจะภาษาอังกฤษ ภาษาไทยหรือว่าตัวเลข ลองนำไปเล่นกับลูกดูนะคะ 

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ฉลาดสื่อสาร

ฝึกลูกรักการเขียน-อ่าน

       หากคุณแม่อยากจะให้ลูกรักการเขียนการอ่าน  ควรเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการให้ลูกฝึกเขียน  ซึ่งในขั้นแรกกระดาษไม่ควรมีเส้นบรรทัด ให้เตรียมกระดาษว่างๆ เตรียมสีเทียนให้ลูกวาดภาพหรือเขียน ปล่อยให้ลูกสื่อความหมายโดยการวาดภาพ คุณแม่อาจจะถามลูกว่าวาดรูปอะไร ถ้าลูกตอบว่า “ แมว “ คุณแม่ก็เขียนตัวหนังสือ “ แมว “ ที่ริมกระดาษ แล้วคุณแม่อ่านให้ฟังแล้วชี้ที่ตัวหนังสือ ให้ลูกลอกตาม การเขียนแบบนี้เด็กจะเขียนด้วยความเต็มใจ เพราะได้ทำตามคุณแม่
       การที่จะให้ลูกคุ้นเคยกับหนังสือ คุณแม่ควรเป็นนักเล่านิทาน ถ้าเล่าได้โดยไม่ต้องดูหนังสือ ก็จะมีโอกาสได้เห็นอากัปกริยาของเด็ก แต่ถ้ายังไม่ถนัดก็อ่านจากหนังสือ แต่ควรอ่านทำความคุ้ยเคยกับเรื่องที่จะอ่านหรือเล่าก่อน การเล่านิทานเป็นการฝึกทักษะการฟังและเสริมสร้างจินตนาการเพราะเวลาที่ลูกฟัง เขาจะติดตามวาดภาพในใจ ซึ่งจะฝึกให้เด็กมีจินตนาการกว้างขวางต่อไป
       ในบ้านควรมีหนังสืออ่านประกอบสำหรับเด็กไว้หลายๆ เล่มให้ลูกเปิดดูได้ตลอด และควรเป็นหนังสือที่มีรูปภาพเต็มหน้า และมีตัวหนังสือที่มีข้อความเพียงประโยคสั้นๆ  อาจมีโปสเตอร์ที่ติดข้างฝาผนังห้อง เช่น โปสเตอร์ พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ บทคล้องจอง การทำให้สิ่งแวดล้อมในบ้านมีหนังสือ และตัวหนังสือจะช่วยให้เด็กคุ้นเคย ทำให้อ่านออกเร็วขึ้นเมื่อถึงเวลาสอนสะกดคำ และลูกจะมีนิสัยรักการอ่าน และรักที่จะเขียน ซึ่งจะส่งผลดีต่อพัฒนาการ 360º อัจฉริยะรอบด้านของลูกค่ะ

ฉลาดด้านอารมณ์

ฝึกลูก “นิ่ง”สร้างความฉลาดด้านอารมณ์

       ในสังคมปัจจุบันที่มีแต่ความเร่งรีบนั้น พบว่ามีเด็กที่พ่อแม่ส่งไปรักษาอาการสมาธิสั้นเพิ่มมากขึ้น  พ่อแม่เองก็ตั้งคำถามจากพฤติกรรมของลูกเพิ่มมากขึ้น เช่น
       “ลูกไม่รู้จักการรอคอย”
       “ลูกไม่สามารถทำสิ่งใดนานๆ ติดต่อกันได้”
       “ลูกอารมณ์ร้อน เอาแต่ใจตัวเอง”
       “ลูกซนมาก อยู่ไม่นิ่ง”
       เมื่อเป็นเช่นนี้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องลองกลับมามองแล้วค่ะว่า อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับลูกมาจากสภาพความเร่งรีบของผู้คนในครอบครัวด้วยหรือเปล่า ถ้าใช่ล่ะก็เห็นทีต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตกันแล้วล่ะค่ะ      
       เริ่มต้นด้วยการลองปรับวิถีชีวิตของตัวเองและสมาชิกในครอบครัวให้ช้าลง ตัดความเร่งรีบที่ไม่จำเป็นออกจากชีวิต เช่น บริหารจัดการเรื่องนัดหมายไม่ให้ติดกันจนเกินไป เผื่อเวลาให้มากขึ้น เป็นตัวอย่างให้ลูกในเรื่องการไม่เร่งรีบ เช่น ในช่วงเช้าก่อนแม่ไปทำงานหรือส่งลูกไปโรงเรียน ไม่ควรเร่งรีบ ลนลาน เพราะลูกจะค่อยๆ ซึมซับอาการนี้ จนกลายเป็นนิสัยเรื่องความเร่งรีบร้อนรน
       นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวอ่านหนังสือให้มากขึ้น เพราะการอ่านหนังสือต้องมีสมาธิ ต้องอยู่กับตัวเอง ต้องคิดวิเคราะห์ สิ่งที่ได้จากหนังสือหนึ่งนอกเหนือจากเนื้อหาแล้ว สิ่งที่ได้ตามมาก็คือ ความนิ่ง ลูกจะมีความนิ่งมากขึ้น เพราะการอ่านต้องใช้สมาธิจดจ่อต่อเรื่องราวที่อ่าน
       ด้วยวิธีการต่างๆ เหล่านี้น่าจะมีส่วนช่วยทำให้ลูกของคุณแม่มีความนิ่งได้บ้าง และเมื่อลูกนิ่ง สิ่งที่ตามมาก็คือการที่ลูกมีสมาธิ รู้จักการรอคอย ใจเย็น และมีความอดทนมากขึ้น ซึ่งเป็นความฉลาดด้านอารมณ์ค่ะ