กว่าจะกลายเป็นทารกน้อยในครรภ์จนกระทั่งผู้เป็นแม่คลอดออกมาลืมตาดูโลกได้นั้น ทุกคนต้องใช้เวลาเดินทางกว่า 9 เดือน บางคนอาจมากหรือน้อยกว่านั้นในครรภ์คุณแม่ ซึ่งกระบวนการก่อนจะเป็นทารกนี้เราเรียกว่า กระบวนการปฏิสนธิ หลายคนอาจสงสัยว่า การปฏิสนธิ คืออะไร? เรามีคำตอบ...

การปฏิสนธิ (Fertilization)    คือ กระบวนการที่อสุจิของเพศชายเข้าผสมกับไข่ของเพศหญิง นำไปสู่การตั้งครรภ์นั่นเองค่ะ สำหรับคู่สามีภรรยาข้าวใหม่ปลามัน หรือคนที่กำลังวางแผนอยากมีลูกอาจสงสัยว่า การปฏิสนธิ นั้นมีกระบวนการอย่างไร ช่วงเวลาไหนที่มีโอกาสตั้งครรภ์มากที่สุด วันนี้เรามีข้อมูลที่มาช่วยไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่อง การปฏิสนธิ พร้อมเคล็ดลับสำหรับว่าที่คุณพ่อคุณแม่ที่อยากมีเจ้าตัวน้อย ด้วยวิธีธรรมชาติด้วยค่ะ

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

กระบวนการปฏิสนธิ

  • การตกไข่
    ในแต่ละเดือนจะมีไข่หลายใบในรังไข่ของผู้หญิงที่จะค่อย ๆ เติบโตในถุงน้ำหุ้มรังไข่หรือฟอลลิเคิล (Follicles) และจะมีไข่เพียง 1 ใบเท่านั้นที่ได้รับการคัดเลือกแล้วหลุดออกจากถุงน้ำหุ้มรังไข่ ซึ่งเรียกว่า กระบวนการตกไข่ ซึ่งปกติแล้วกระบวนการตกไข่นั้นจะเกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือนประมาณ 2 สัปดาห์ในกรณีที่ประจำเดือนมาปกติ รอบ 28 วันค่ะ
  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน
    หลังจากไข่ตก ถุงน้ำหุ้มไข่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นคอร์ปัส ลูเทียม (Corpus Luteum) ที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่ช่วยให้เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญหนาขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมรับการฝังตัวของตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิต่อไป
  • ไข่เคลื่อนเข้าสู่ท่อนำไข่เพื่อรอการปฏิสนธิ
    หลังกระบวนการตกไข่ ไข่จะเดินทางเข้าสู่ท่อนำไข่เพื่อรอการปฏิสนธิกับอสุจิหรือสเปิร์ม (Sperms) โดยไข่จะมีเวลาอยู่ในท่อนำไข่ประมาณ 24 ชั่วโมงซึ่งกระบวนการนี้เกิดขึ้นหลังการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายประมาณ 2 สัปดาห์ แต่หากไม่มีการปฏิสนธิ ไข่ที่ไม่ได้ปฏิสนธิดังกล่าวจะเคลื่อนไปยังมดลูกและสลายตัวไปพร้อมกับถุงน้ำหุ้มไข่ เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกเป็นประจำเดือนในที่สุด
  • การปฏิสนธิ
    กระบวนการปฏิสนธิ จะเกิดขึ้นเมื่อสเปิร์มตัวที่แข็งแรงที่สุดว่ายไปยังท่อนำไข่และเจาะเปลือกไข่ได้ หลังจากการปฏิสนธิ ไข่จะแปรสภาพทำให้สเปิร์มตัวอื่น ๆ ไม่สามารถเข้าไปได้อีกซึ่งเพศของเด็กนั้นขึ้นอยู่กับโครโมโซมของสเปิร์มหากสเปิร์มมีโครโมโซมวาย (Y) เด็กจะเป็นเพศชาย และหากสเปิร์มมีโครโมโซมเอ็กซ์ (X) เด็กจะเป็นเพศหญิงค่ะ
  • ระยะฝังตัว
    การแบ่งตัวของเซลล์จะเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังการปฏิสนธิ ซึ่งไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วจะอยู่ในท่อนำไข่เป็นเวลาประมาณ 3-4 วัน และจะเคลื่อนตัวผ่านท่อนำไข่ไปยังมดลูกเพื่อฝังตัวที่ผนังมดลูกซึ่งเป็นกระบวนการฝังตัวของตัวอ่อน การเปลี่ยนแปลงคือ ผนังมดลูกหนาขึ้นและมีมูกบริเวณปากช่องคลอดมากขึ้นจนกว่าทารกจะพร้อมคลอด ซึ่งเซลล์ต่าง ๆ จะค่อย ๆ เจริญเติบโตและแบ่งตัวมากขึ้น โดยเซลล์ประสาทของเด็กจะเริ่มพัฒนาขึ้นก่อนในช่วง 3 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์หลังตัวอ่อนฝังตัวแล้ว ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนเอชซีจี (HCG) หรือฮอร์โมนตั้งครรภ์ขึ้น ซึ่งจะสามารถตรวจหาฮอร์โมนดังกล่าวได้ด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ในช่วงประมาณ 3-4 สัปดาห์หลังจากวันแรกของประจำเดือนรอบที่มาครั้งล่าสุด ดังนั้นหากผู้หญิงที่ประจำเดือนมาปกติ และสังเกตว่าประจำเดือนมาช้ากว่าปกติเพียง 1-2 วันก็สามารถตรวจการตั้งครรภ์ได้เลย
  • ช่วงเวลาที่มีโอกาสเกิดการปฏิสนธิมากที่สุด
    การปฏิสนธิ จะเกิดขึ้นเมื่อมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาที่มีการตกไข่ภายใน 24 ชั่วโมงเท่านั้น โดยใน 1 เดือนจะมีการตกไข่เพียงครั้งเดียว หมายความว่าใน 1 เดือนมีโอกาสเพียงไม่กี่วันเท่านั้นที่ผู้หญิงจะตั้งครรภ์ได้ โดยผู้ที่มีประจำเดือนมาปกติจะเกิดการตกไข่ 14 วันก่อนมีประจำเดือนครั้งต่อไป ซึ่งกระบวนการ ปฏิสนธิ จะเกิดขึ้นเมื่อสเปิร์มและไข่ผสมกันแทบจะทันทีหลังเกิดการตกไข่นั้นเอง

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการปฏิสนธิ

นอกจากการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาที่มีการตกไข่แล้ว ฮอร์โมนก็เป็นปัจจัยสำคัญในการปฏิสนธิด้วย โดยฮอร์โมนในร่างกายต้องมีความสมดุลและเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของไข่ เพื่อให้กระบวนการตกไข่เป็นไปอย่างปกติ ต้องมีปริมาณสเปิร์มที่แข็งแรงเพียงพอที่จะว่ายไปหาไข่ได้ และต้องไม่มีอุปสรรคขวางกั้นการปฏิสนธิ เช่น ภาวะท่อนำไข่อุดตัน เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้สเปิร์มไม่สามารถผสมกับไข่ได้

กระตุ้นการปฏิสนธิด้วยวิธีธรรมชาติ

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างต่อไปนี้ อาจช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้

  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ภาวะอ้วนหรือผอมเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิสนธิได้ การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติด้วยวิธี เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอเหมาะ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ร่างกายสุขภาพแข็งแรงค่ะ
  • กินอาหารบำรุงร่างกาย ควรดูแลสุขภาพและบำรุงร่างกายให้พร้อมก่อนมีแผนการตั้งครรภ์ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและไขมันทรานส์สูง ควรเลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 แทน เช่น ปลาแซลมอน และไข่ ค่ะ
  • กินอาหารเสริม เมื่อวางแผนจะมีบุตร อาจเริ่มรับประทานวิตามินรวมหรือวิตามินเตรียมตั้งครรภ์ที่มีส่วนผสมของกรดโฟลิค (Folic acid) โดยในระยะแรกของการตั้งครรภ์นั้น หลอดประสาทของตัวอ่อนจะค่อย ๆ พัฒนาขึ้น ซึ่งการรับประทานอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของกรดโฟลิคจะช่วยลดความเสี่ยงภาวะพิการแต่กำเนิดได้ ข้อควรระวังควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานอาหารเสริมเสมอ
  • ห้ามเครียด เพราะภาวะเครียดส่งผลให้ร่างกายมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) สูง อาจส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ อีกทั้งความเครียดยังส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคู่รักได้ ดังนั้นควรทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เพื่อช่วยลดความเครียดสร้างสุขภาพจิตที่ดีค่ะ
  • ลด ละ เลิก ดื่ม คาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ แม้จะยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการดื่มคาเฟอีนหรือการดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลกระทบต่อการปฏิสนธิ แต่การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการตกไข่ หรือมีผลต่อพัฒนาการของตัวอ่อนหลังการปฏิสนธิ ดังนั้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ ควรจำกัดปริมาณหรือเลิกดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ไปก่อนนะคะ
  • หยุดสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่อาจส่งผลกระทบต่อการสืบพันธุ์ เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแท้งบุตร การท้องนอกมดลูก และการเข้าสู่วัยทองเร็วกว่าผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 2 ปี ส่วนผู้ชายก็ควรหยุดสูบบุหรี่เช่นกัน เนื่องจากการสูบบุหรี่ทำให้สเปิร์มไม่แข็งแรงและมีปริมาณน้อยลงนั่นเอง
  • การรับประทานยาบางชนิด หากมีแผนจะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการรับประทานยา เพราะยาบางชนิดมีผลต่อพัฒนาการของตัวอ่อน นอกจากนี้ผู้หญิงที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์

 

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Enfa Smart Club วันนี้ เราพร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลพัฒนาการและโภชนาการลูกน้อยจากผู้เชี่ยวชาญ  พร้อมสิทธิพิเศษมากมาย ไม่ว่าจะเป็นส่วนลด โปรโมชั่นดีๆ เฉพาะสมาชิกเท่านั้น

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

References