Leaving page banner
 

ท้อง 9 เดือนใหญ่แค่ไหน อาการคนท้อง 9 เดือนเป็นอย่างไร

ท้อง 9 เดือนใหญ่แค่ไหน อาการคนท้อง 9 เดือนเป็นอย่างไร

 

Enfa สรุปให้

  • เมื่ออายุครรภ์ได้ 9 เดือน ในที่สุดคุณแม่ก็เดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ และในเดือนสุดท้ายนี้จะมีการคลอดเกิดขึ้น ซึ่งกระบวนการคลอดอาจจะเกิดขึ้นในสัปดาห์ใดก็ได้ของเดือนที่ 9 โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงสัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์ ดังนั้น คุณแม่จะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ

  • ในช่วงอายุครรภ์ 9 เดือนนี้ ทารกจะมีขนาดประมาณ 46-51 เซนติเมตร และน้ำหนักลูกในครรภ์จะอยู่ที่ประมาณ 3.2 กิโลกรัม หรือทารกขนาดประมาณเท่ากับลูกขนุน

  • อายุครรภ์ 9 เดือน สมองของทารกยังคงพัฒนาเพื่อให้พร้อมกับการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สมองของเขาจะโตขึ้นถึงสามเท่าในช่วงสามขวบปีแรก  มากไปกว่านั้น ร่างกายของทารกยังมีการเปลี่ยนแปลงในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น คุณแม่อาจจะรู้สึกว่าเจ้าตัวเล็กเคลื่อนลงไปยังบริเวณเชิงกราน นั่นคือเขากำลังปรับท่าเพื่อเตรียมตัวออกมาสู่โลกภายนอก เมื่อทารกกลับหัวลง แขนและขาพับเข้าหาหน้าอก นั่นแสดงว่าเขาพร้อมสำหรับวันคลอดแล้ว ในช่วงนี้ กระดูกศีรษะของเขาจะนิ่มและยืดหยุ่น เพื่อให้ง่ายต่อการคลอด หากคุณแม่คลอดโดยวิธีธรรมชาติ


เลือกอ่านตามหัวข้อ

• ท้อง 9 เดือน นับจากอะไร
• ท้อง 9 เดือนมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม
• อาการคนท้อง 9 เดือน เป็นอย่างไร
• ร่างกายของคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์ 9 เดือน มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
• อัลตราซาวนด์ท้อง 9 เดือน คุณแม่จะเห็นอะไรบ้างนะ
• พัฒนาการทารกในครรภ์ 9 เดือน
• เช็กลิสต์สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 9 เดือน
• ไขข้อข้องใจเรื่องการตั้งครรภ์ 9 เดือนกับ Enfa Smart Club

เมื่อตั้งท้องมาถึง 9 เดือนแล้ว ก็ถือว่าคุณแม่ใกล้จะสิ้นสุดกระบวนการตั้งครรภ์เข้าไปทุกที เพราะการคลอดกำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้แล้วค่ะ และแม้ว่าจะเป็นเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ แต่ในช่วงอายุครรภ์ 9 เดือนนี้คุณแม่ก็มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลายอย่าง รวมถึงทารกในครรภ์เองก็เริ่มมีพัฒนาการที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย บทความนี้จาก Enfa มีสาระดี ๆ สำหรับคุณแม่ที่อายุครรภ์ 9 เดือนมาฝากค่ะ  

ท้อง 9 เดือน แปลว่าอะไร? อายุครรภ์ 9 เดือน นับจากอะไร?   


ท้อง 9 เดือน คือ คุณแม่มีอายุครรภ์ได้ 9 เดือนแล้ว ส่วนคุณแม่ที่อาจจะสงสัยว่า ท้อง 9 เดือน กี่สัปดาห์กันนะ? เมื่อนับอายุครรภ์แล้วก็จะพบว่ามีอายุครรภ์ระหว่าง 36-40 สัปดาห์ นับว่าเป็นการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ และอาจมีการคลอดเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ในระยะนี้  

โดยอายุครรภ์ของคุณแม่จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่มีประจำเดือนครั้งล่าสุด จากนั้นก็จะนับเพิ่มสัปดาห์ถัดไปเรื่อย ๆ เป็น 2 เดือน 3 เดือน เรื่อยไปจนกระทั่ง 9 เดือน ซึ่งจะเป็นช่วงไตรมาสสาม และใกล้จะมีการคลอดเกิดขึ้น    

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ท้อง 9 เดือน มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม?  


ขณะตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ แม้ว่าจะอายุครรภ์ 9 เดือนและเตรียมใกล้คลอดแล้ว แต่ก็ยังสามารถที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้ เพียงแต่ว่าเมื่ออายุครรภ์ในอายุครรภ์ 9 เดือนนี้ อาจจะต้องลดการมีเพศสัมพันธ์ในท่วงที่ที่รุนแรงหรือผาดโผนเกินไป เนื่องจากอาจเสี่ยงที่จะเกิดการกระทบกระเทือนต่อสุขภาพของแม่และทารกในครรภ์ได้

อาการคนท้อง 9 เดือน เป็นยังไงบ้าง?  


ในเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์นี้ คุณแม่กำลังจะมีการคลอดเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในสัปดาห์ใดก็ได้ในเดือนที่ 9 ดังนั้น คุณแม่จะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ  

อย่างไรก็ตาม นอกจากการจับตาดูอาการใกล้คลอดแล้ว ช่วงอายุครรภ์ 9 เดือนนี้ คุณแม่ก็ยังมีอาการคนท้องอื่น ๆ ด้วย ดังนี้  

  • อาการปวดหลัง เนื่องจากต้องแบกรับน้ำหนักตัวและน้ำหนักของทารกในครรภ์ที่มากขึ้น ทั้งยังต้องพยายามไม่ก้มตัวบ่อย ๆ เพราะเสี่ยงจะล้มไปข้างหน้า ทำให้คุณแม่อายุครรภ์มาก ๆ มักจะปวดหลังบ่อย 

  • ปวดอุ้งเชิงกราน เมื่อทารกเคลื่อนตัวลงอุ้งเชิงกรานมากขึ้น ก็จะยิ่งส่งผลให้เกิดแรงกดดันที่อุ้งเชิงกรานมากขึ้น ทำให้มีอาการปวดที่อุ้งเชิงกรานมากขึ้น  

  • นอนไม่ค่อยหลับ เนื่องจากทารกมีการดิ้นแรงหรือดิ้นบ่อย เพราะตอนนี้ทารกได้เคลื่อนตัวสู่อุ้งเชิงกราน บวกกับขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น ทำให้มีพื้นที่ในการเคลื่อนตัวน้อย เวลาทารกดิ้นในช่วงนี้ จึงมักจะดิ้นแรงและรบกวนการนอนหลับของคุณแม่  

  • วิงเวียนศีรษะ และอ่อนเพลีย ความน้ำหนักตัวมากขึ้น ความขนาดท้องใหญ่ขึ้น ส่งผลให้คุณแม่เหนื่อยง่าย ทำกิจกรรมใด ๆ ได้ไม่เต็มที่ นิด ๆ หน่อย ๆ ก็รู้สึกอ่อนเพลีย  

  • ท้องผูกบ่อย ด้วยขนาดมดลูกและขนาดทารกที่ใหญ่ขึ้น อาจกดหรือเบียดลำไส้ ทำให้ลำไส้ทำการย่อยอาหารได้ช้าลง ส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกได้ง่าย  

  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น เพราะทารกเริ่มเคลื่อนตัวลงต่ำมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมต่อการคลอด การเคลื่อนตัวนี้จะไปกดหรือเบียดกระเพาะปัสสาวะ จนกระตุ้นให้ต้องปัสสาวะบ่อยขึ้น  

  • ความอยากอาหารเปลี่ยนไป โดยคุณแม่บางคนอาจจะหิวมากขึ้น คุณแม่บางคนอาจจะหิวน้อยลง ซึ่งนอกจากเรื่องของฮอร์โมนแล้ว ก็เป็นผลมาจากการที่ทารกมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้พื้นที่ในท้องเหลือน้อยลง อาจจะรับอาหารได้ไม่เท่าไหร่ก็รู้สึกอิ่ม  

อาการท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ 9 เดือน คุณแม่ควรรับมืออย่างไร? 

คุณแม่ท้อง 9 เดือน ท้องแข็งบ่อยมาก ถือเป็นอาการปกติที่ไม่ได้น่าเป็นกังวล และสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยอาการท้องแข็งนั้นอาจเป็นผลมาจากการมีเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์ที่รุนแรง หรือเกิดจากการพลิกตัวของทารก การกลั้นปัสสาวะ หรือการรับประทานอาหารอิ่มจนเกินไป เป็นต้น  

ซึ่งวิธีการรับมือกับอาการท้องแข็ง ก็สามารถทำได้ ดังนี้  

  • ไม่กลั้นปัสสาวะ ยิ่งกลั้นปัสสาวะบ่อย ๆ ก็ยิ่งเสี่ยงจะทำให้ท้องแข็งมากขึ้น  

  • ไม่บิดตัวหรือบิดขี้เกียจบ่อย ๆ เพราะเสี่ยงจะทำให้เกิดความดันสูงในมดลูก อาจทำให้ท้องแข็งได้  

  • ระมัดระวังการมีเพศสัมพันธ์ เลือกท่าที่เอื้อต่อการตั้งครรภ์ หลีกเลี่ยงท่าเซ็กซ์ที่รุนแรงหรือโลดโผนเกินไป  

  • รับประทานอาหารแต่พอดี หากรับประทานอาหารมากไปอาจส่งผลให้อาหารไม่ย่อย  และเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร อาจนำไปสู่อาการท้องแข็งได้  

อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่ท้อง 9 เดือน ท้องแข็งบ่อยมาก ซึ่งในช่วงอายุครรภ์ 9 เดือนนี้ อาการ ท้องแข็งมักจะเกิดจากการหดรัดตัวของมดลูก ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาณก่อนคลอด เพราะขณะมีอาการท้องแข็ง คุณแม่จะรู้สึกเจ็บไปด้วย

แต่ไม่ได้หมายความว่าอาการเจ็บท้องนั้นจะเป็นสัญญาณใกล้คลอดเสมอไป บางครั้งก็เป็นการเจ็บครรภ์หลอก คือมีอาการท้องแข็งเพราะมดลูกหดรัดตัวตามปกติ แต่บางครั้งก็เป็นอาการเจ็บท้องใกล้คลอดจริง ๆ และมดลูกมีการหดรัดตัวเพื่อที่จะเข้าสู่กระบวนการคลอด  

ดังนั้น หากมีอาการเจ็บท้องเหมือนจะใกล้คลอด นอกจากจะต้องสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมแล้ว ก็ควรไปพบแพทย์ เผื่อว่าเป็นอาการเจ็บท้องจริง แพทย์จะได้เริ่มกระบวนการทำคลอดทันที

อาการปวดหลังของคนท้อง 9 เดือน มีวิธีบรรเทาอย่างไร?  

อาการปวดหลังของคนท้อง 9 เดือนนั้น สามารถบรรเทาได้หลายวิธี ดังนี้  

  • พยายามอย่าก้มหรือโน้มตัวไปข้างหน้าบ่อย เพราะน้ำหนักจะยิ่งเทไปข้างหน้ามากขึ้น นอกจากจะทำให้ปวดหลังแล้ว ยังเสี่ยงที่จะล้มวูบได้ง่ายด้วย  

  • สวมรองเท้าส้นเตี้ย หรือรองเท้าส้นแบนที่รับน้ำหนักได้ดี   

  • หากต้องยกของหนัก ควรขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เพราะจากก้ม ๆ เงย ๆ และแบกรับน้ำหนักจากสิ่งของอีก จะยิ่งทำให้อาการปวดหลังแย่ลง  

  • นอนตะแคง เพราะจะช่วยลดการกดทับจากน้ำหนักตัวของทารกได้ดีกว่าการนอนหงาย  

  • ประคบร้อน หรือประคบเย็น สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้ดี  

  • พยายามเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ โดยเฉพาะการเดิน หรือการออกกำลังกายในน้ำ ยังไงซะ การบริหารร่างกายอยู่ตลอด ก็ช่วยให้ร่างกายมีความยืดหยุ่นมากกว่า อาจช่วยให้อาการปวดหลังดีขึ้นได้  

ร่างกายของคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์ 9 เดือน มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง? 


คนท้อง 9 เดือน ท้องใหญ่แค่ไหน?: เข้าใจลักษณะหน้าท้องของคนท้อง 9 เดือน   

แม้ว่าจะเป็นเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์แล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการเจริญเติบโตของทารกจะจบลงที่เดือนนี้ เพราะทารกยังเจริญเติบโตอยู่เหมือนเดิม ดังนั้น ยิ่งทารกตัวใหญ่ขึ้น ท้องของแม่ก็จะใหญ่ขึ้นตามไปด้วย  

อย่างไรก็ตาม ท้องของคุณแม่แต่ละคนก็จะสูงต่ำไม่เท่ากัน คุณแม่ที่มีส่วนสูงมากกว่าหรือมีกล้ามเนื้อหน้าท้องที่กระชับกว่า ก็มีแนวโน้มที่ระดับท้องจะอยู่สูงกว่าคนที่ส่วนสูงน้อยกว่าและกล้ามเนื้อหน้าท้องไม่ค่อยกระชับ  

ท้อง 9 เดือน น้ำหนักควรเพิ่มขึ้นกี่กิโลกรัม   

คุณแม่แต่ละคนมีน้ำหนักตัวที่แตกต่างกัน นั่นทำให้น้ำหนักที่จะต้องเพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งก่อนจะรู้ว่าน้ำหนักแม่ตั้งครรภ์ควรจะเพิ่มน้ำหนักขึ้นเท่าไหร่ในแต่ละไตรมาส คุณแม่จะต้องคำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย BMI ของตัวเองเสียก่อน  

เมื่อได้ค่า BMI มาแล้ว น้ำหนักของคุณแม่ในแต่ละไตรมาสจะมีการเพิ่มขึ้นที่แตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปแล้ว สำหรับคุณแม่ที่มีค่า BMI ปกติ จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในแต่ละไตรมาส ดังนี้  

  • ไตรมาสที่ 1 ไตรมาสแรกนี้ทารกยังตัวเล็กอยู่ คุณแม่ยังไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มน้ำหนักให้มากเกินกว่า 1-2 กิโลกรัม  

  • ไตรมาสที่ 2 ระยะนี้ทารกมีขนาดตัวที่โตขึ้น ทำให้คุณแม่อาจจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นราว ๆ 5-6 กิโลกรัม  

  • ไตรมาสที่ 3 ไตรมาสสุดท้ายทารกมีขนาดตัวที่พร้อมสำหรับการคลอดที่เริ่มใกล้มาถึง โดยจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 3.5-4.5 กิโลกรัม แต่เนื่องจากเป็นช่วงที่ทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น คุณแม่บางคนอาจอึดอัดท้องจนกินอะไรได้น้อยลง   

ในช่วงไตรมาสที่สามคุณแม่บางคนมีน้ำหนักที่ลดลง หากน้ำหนักลดลงมาไม่กี่กิโลกรัมก็อย่าตกใจ ถือเป็นเรื่องปกติ

อัลตราซาวนด์ท้อง 9 เดือน คุณแม่จะเห็นอะไรบ้างนะ?  


แน่นอนว่าในช่วงอายุครรภ์ 9 เดือนนี้ ภาพอัลตราซาวนด์ของลูกน้อยจะมีความชัดเจนมากในหลาย ๆ เรื่อง เช่น เห็นอวัยวะต่างๆ ชัดเจน เห็นใบหน้าชัดขึ้นอีก และใบหน้าที่เห็นตอนนี้ ก็จะเป็นใบหน้าแบบเดียวกับที่คุณแม่กำลังจะได้พบหลังคลอด และในระยะนี้ทารกจะอยู่ในท่าคว่ำหน้า และเริ่มกลับหัวเตรียมตัวที่จะคลอดแล้ว   

ขนาดและน้ำหนักทารกในครรภ์ 9 เดือน  

ในช่วงอายุครรภ์ 9 เดือนนี้ ทารกจะมีขนาดประมาณ 46-51 เซนติเมตร และน้ำหนักลูกในครรภ์จะอยู่ที่ประมาณ 3.2 กิโลกรัม หรือทารกขนาดประมาณเท่ากับลูกขนุน  

รูปทารกในครรภ์ 9 เดือน ตอนนี้ลูกน้อยตัวเท่านี้แล้วนะ  

ทารกในครรภ์ 9 เดือน จะมีขนาดที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละสัปดาห์ ดังนี้:

อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ มีขนาดยาวเท่ากับผักกาดโรเมนหรือผักกาดคอส  

อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ มีขนาดยาวเท่ากับสวิสชาร์ด หรือผักกาดแดง  

อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ มีขนาดเท่ากับฟักทอง  

อายุครรภ์ 39 สัปดาห์ มีขนาดเท่ากับแตงโม

อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ มีขนาดเท่ากับขนุน  

ท้อง 9 เดือน ลูกอยู่ท่าไหน? ท้อง 9 เดือน หัวลูกอยู่ตรงไหน?   

เมื่อเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ หรือช่วงอายุครรภ์ 9 เดือน คุณแม่หลาย ๆ คนก็จะเริ่มสงสัยว่าตั้งครรภ์ 9 เดือน ลูกอยู่ท่าไหน? หรืออยากจะรู้ว่าทารกในครรภ์ 9 เดือน จะเริ่มกลับศีรษะหรือยังนะ?  

ซึ่งในอายุครรภ์ 9 เดือนนี้ ทารกในครรภ์มีการกลับหัวไปทางช่องคลอด เตรียมพร้อมสำหรับการคลอดที่ใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ แล้ว แต่ถ้าเข้าเดือนที่ 9 แล้ว พบว่าทารกยังไม่มีการกลับหัว แพทย์อาจจะต้องทำการช่วยทารกกลับหัว หรือหากไม่สำเร็จ ก็อาจจะต้องวินิจฉัยให้มีการผ่าคลอดแทน  

แล้วท้องแฝด 9 เดือน จะเป็นยังไงบ้างนะ?  

การตั้งครรภ์แฝดนั้นถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่มีแนวโน้มสูงต่อการคลอดก่อนกำหนด โดยในช่วงอายุครรภ์ 8 เดือน คุณแม่ก็มักจะมีการคลอดทารกแฝดแล้ว ส่วนใหญ่มักจะคลอดกันไปก่อนสัปดาห์ที่ 37 หรือคลอดตั้งแต่สัปดาห์ที่ 34 มักไม่อุ้มท้องแฝดนานถึง 9 เดือน 

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ท้องแฝดบางรายก็อุ้มท้องมานานถึง 9 แล้วจึงคลอด ลักษณะเช่นนี้ก็มีให้เห็นเช่นกัน  

พัฒนาการทารกในครรภ์ 9 เดือน ที่คุณแม่ควรรู้


เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ 9 เดือน ลูกน้อยในครรภ์ของคุณกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมตัวสำหรับวันคลอด ในช่วงสัปดาห์ท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์ สมองของทารกยังคงพัฒนาเพื่อให้พร้อมกับการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สมองของเขาจะโตขึ้นถึงสามเท่าในช่วงสามขวบปีแรก  

นอกจากพัฒนาการของสมอง ร่างกายของทารกยังมีการเปลี่ยนแปลงในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น คุณแม่อาจจะรู้สึกว่าเจ้าตัวเล็กเคลื่อนลงไปยังบริเวณเชิงกราน นั่นคือเขากำลังปรับท่าเพื่อเตรียมตัวออกมาสู่โลกภายนอก เมื่อทารกกลับหัวลง แขนและขาพับเข้าหาหน้าอก นั่นแสดงว่าเขาพร้อมสำหรับวันคลอดแล้ว ในช่วงนี้ กระดูกศีรษะของทารกจะนิ่มและยืดหยุ่น เพื่อให้ง่ายต่อการคลอด หากคุณแม่คลอดโดยวิธีธรรมชาติ  

มากไปกว่านั้น ทารกอายุครรภ์ 9 เดือน ยังมีพัฒนาการในด้านอื่น ๆ อีกด้วย ดังนี้  

  • ปอดของทารกพัฒนาเต็มที่และพร้อมที่จะสูดอากาศภายนอกแล้ว  

  • ทารกมีปฏิกิริยาการตอบสนองมากขึ้น เช่น กะพริบตา การจับ หรือหันศีรษะได้แล้ว  

  • ดวงตาพัฒนาเต็มรูปแบบแล้ว รูม่านตาสามารถที่จะหดและขยายได้เมื่อพบกับแสงจ้า หรืออยู่ในที่แสงน้อย  

  • ขนอ่อนหลุดออกไปจนเกือบหมด  

  • รอยย่นตามผิวหนังเริ่มหายไป  

อาหารบํารุงครรภ์ 9 เดือน ที่คุณแม่ควรรับประทาน  

หากจะถามว่า ท้อง 9 เดือนควรกินอะไร ก็แน่นอนว่าจะต้องเป็นอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย ดังนี้  

  • ​​​​​โฟเลตหรือกรดโฟลิก เป็นสารอาหารมีความสำคัญมากต่อการพัฒนาสมองและไขสันหลังของทารก และคุณแม่ควรได้รับโฟเลตอย่างเพียงพอในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ อาหารที่อุดมด้วยโฟเลต เช่น บร็อคโคลี่ ผลไม้รสเปรี้ยว ถั่ว ถั่ว ถั่วเลนทิล อะโวคาโด กะหล่ำดาว กระเจี๊ยบเขียว หน่อไม้ฝรั่ง และผักใบเขียวเข้ม เช่น ผักโขมและคะน้า  
  • ดีเอชเอ DHA (Docosahexaenoic Acid) คือ กรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิดหนึ่ง ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท นอกจากนี้ยังอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์บางอย่าง เช่น การคลอดก่อนกำหนด หรือโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้อีกด้วย อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น คุณแม่ควรกินอย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้ง หรือดื่มนมสูตรเสริมดีเอชเอก็ดีเช่นกันค่ะ  

  • ไอโอดีน หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ อาจทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายผิดปกติ และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ได้ ซึ่งไอโอดีนอยู่ในจำพวกอาหารทะเลทุกชนิด ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา  

  • คาร์โบไฮเดรต การกินคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยลดอาการแพ้ท้องในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากเป็นสารอาหารที่ย่อยง่าย และให้พลังงานสูง ช่วยลดอาการคลื่นไส้ อย่างไรก็ตาม คนท้องไม่ควรกินคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป เพราะอาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วนระหว่างตั้งครรภ์ได้  

  • โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น จัดว่าเป็นอีกหนึ่งสารอาหารสำคัญที่คุณแม่ควรได้รับจากการกินอาหารในแต่ละวัน เพราะโคลีนมีส่วนสำคัญในการบำรุงระบบประสาทและสมอง ช่วยพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ การกินอาหารที่ให้สารโคลีนอย่างเพียงพอจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ได้  

  • ไฟเบอร์ เป็นหนึ่งในสารอาหารสำคัญที่ไม่ว่าจะเป็นแม่ก่อนคลอด แม่อุ้มท้อง แม่หลังคลอด หรือแม่ให้นมลูกก็ควรได้รับอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างตั้งครรภ์ ควรกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเป็นประจำ เพราะไฟเบอร์จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและป้องกันโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ไฟเบอร์ยังช่วยลดความเสี่ยงของความดันโลหิตสูงและอาจช่วยป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้อีกด้วย โดยสามารถได้ไฟเบอร์จากอาหารจำพวกผักและผลไม้ต่าง ๆ  

  • สังกะสี เป็นแร่ธาตุสำคัญที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันและระบบประสาทที่แข็งแรง อาหารที่อุดมด้วยสังกะสี เช่น เนื้อวัว ผักโขม จมูกข้าวสาลี เห็ด หอยนางรม เนื้อแกะ เมล็ดฟักทองและสควอช ไก่ ถั่ว เป็นต้น

  • โปรตีน เป็นส่วนประกอบสำคัญของดีเอ็นเอ เนื้อเยื่อ และกล้ามเนื้อ ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเอนไซม์ในร่างกายและจำเป็นสำหรับการพัฒนาที่เหมาะสมของทารกในครรภ์อาหารที่อุดมด้วยโปรตีน เช่น พืชตระกูลถั่ว คีนัว ถั่วเลนทิล ไก่ เนยถั่ว เนื้อสัตว์ และถั่วเหลือง  เป็นต้น

  • กรดไขมันโอเมก้า 3 มีความจำเป็นต่อการพัฒนาดวงตาและสมองในทารกในครรภ์ และมีส่วนสำคัญต่อสุขภาพของหัวใจ การทำงานที่เหมาะสมของระบบสืบพันธุ์ และการเจริญเติบโตของผิวหนัง ผม และกระดูก อาหารที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า เช่น น้ำมันพืช ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ถั่วเหลือง ถั่วและธัญพืชต่าง ๆ เป็นต้น  

  • ธาตุเหล็ก สำคัญต่อกระบวนการสร้างเม็ดเลือดและการลำเลียงออกซิเจนไปยังทารก หากคุณแม่ได้รับแคลเซียมน้อย ก็จะส่งผลให้การลำเลียงออกซิเจนไปยังทารกได้น้อย ซึ่งหากทารกได้ออกซิเจนน้อย ก็จะส่งผลต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโต ทั้งยังเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจางอีกด้วย อาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก เช่น เนื้อสัตว์ ปลา เต้าหู้ ตับ ถั่วเหลือง ธัญพืชเต็มเมล็ด เช่น ข้าวกล้อง ถั่วและเมล็ดพืช ผักใบเขียวเข้ม  ผลไม้แห้ง และไข่ เป็นต้น  

  • วิตามินซี หากธาตุเหล็กเป็นสารอาหารสำคัญที่ขาดไม่ได้ วิตามินซีก็เป็นอีกหนึ่งคู่ดูโอ้ของธาตุเหล็กที่ไม่ควรห่างกัน เพราะวิตามินซีจะทำหน้าที่สำคัญในการการดูดซึมธาตุเหล็กในร่างกาย ช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้อย่างเพียงพอ อาหารที่อุดมด้วยวิตามินซี ได้แก่ พริกเขียวและแดง มะเขือเทศ มันเทศ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดาว กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี และผักใบเขียว เป็นต้น  

  • วิตามินดี เป็นสารอาหารที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกัน การพัฒนาฟันและกระดูกที่แข็งแรง และการแบ่งเซลล์ที่แข็งแรงในทารก อาหารที่อุดมด้วยวิตามินดี เช่น ปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า ไข่แดง น้ำมันตับปลา และนมหรือซีเรียลเสริมวิตามินดี  

  • วิตามินบี 6 มีสรรพคุณช่วยลดอาการคลื่นไส้และอาเจียน อาหารที่อุดมด้วยวิตามินบี 6 เช่น เนื้อไม่ติดมัน สัตว์ปีก ไข่ ผลไม้รสเปรี้ยว พืชตระกูลถั่ว ถั่วเหลือง ถั่ว เมล็ดพืช และอะโวคาโด 

หรือกลุ่มอาหารที่คุณแม่ควรจะเน้นรับประทานให้เพียงพออยู่ตลอดการตั้งครรภ์ คือ  

  • ผักต่าง ๆ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรที่จะต้องกินผักหรือมีผักอย่างน้อย 3 ถ้วยต่อวัน เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของแม่และทารกในครรภ์ และควรเลือกผักหลากสี หลากชนิดเพื่อให้ได้รับสารอาหารและรสชาติที่หลากหลาย เช่น คะน้า ผักโขม บร็อคโคลี่ มันเทศ มะเขือเทศ แครอท ฟักทอง พริกหยวก ข้าวโพด มะเขือม่วง กะหล่ำปลี ไม้ตีกลอง เป็นต้น  

  • ผลไม้ต่าง ๆ เนื่องจากผลไม้มีสารอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระมากมายที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดีของทารก ซึ่งผลไม้สดจะให้คุณค่าทางสารอาหารที่ดีกว่าน้ำผลไม้และผลไม้กระป๋องหรือผลไม้แช่แข็ง โดยผลไม้ที่เหมาะกับแม่ตั้งครรภ์ เช่น เมล่อน อะโวคาโด ทับทิม กล้วย ฝรั่ง ส้ม มะนาวหวาน สตรอเบอร์รี่ และแอปเปิ้ล เป็นต้น  

  • ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม เพราะผลิตภัณฑ์จากนมนั้นถือเป็นแหล่งแคลเซียมชั้นดี ซึ่งแคลเซียมนั้นสำคัญมากสำหรับการพัฒนากระดูกที่แข็งแรงและแข็งแรง โดยคุณแม่สามารถได้รับแคลเซียมจากอาหารหลากหลายชนิด เช่น นม โยเกิร์ต และชีสแข็ง เป็นต้น  

นมสำหรับแม่ตั้งครรภ์ อีกหนึ่งอาหารคนท้องที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพการตั้งครรภ์ที่แข็งแรงได้  

บางครั้งคุณแม่หลาย ๆ คนอาจจะมีปัญหาเรื่องของการแพ้นมวัว หรือแพ้นมจากพืชชนิดอื่น ๆ นมสำหรับแม่ตั้งครรภ์ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีที่จะช่วยเสริมสุขภาพสำหรับแม่ตั้งครรภ์ ที่สำคัญคือควรเลือกนมสำหรับคนท้องที่มี DHA และโฟเลตสูง ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญสำหรับแม่ตั้งครรภ์   

  • DHA ซึ่งเป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ จำเป็นต้องได้รับจากการกินอาหาร โดย DHA มีสำคัญต่อกระบวนการสร้างเซลล์ต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ เช่น สมอง ผิวหนัง ดวงตา ทั้งยังช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์บางอย่าง เช่น การคลอดก่อนกำหนด หรือโรคซึมเศร้าหลังคลอด  

  • โฟเลต ซึ่งเป็นกลุ่มวิตามินบีที่สำคัญมาก หากคุณแม่ได้รับโฟเลตไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้ลูกน้อยเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทได้ เพราะโฟเลตทำหน้าที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง คุณแม่ตั้งครรภ์ในเดือนแรกจำเป็นต้องได้รับโฟเลตเพื่อช่วยในการสร้างหลอดประสาท และสมองที่สมบูรณ์ของทารก 

Enfamama TAP No. 1

เช็กลิสต์สำหรับแม่ท้อง 9 เดือน เตรียมพร้อมพบหน้าเจ้าตัวน้อย


ในที่สุดคุณแม่ก็มาถึงช่วงเวลาสุดท้ายของการตั้งครรภ์ อีกไม่นานแล้วเจ้าตัวเล็กก็จะได้ออกมาดูโลกภายนอกจริง ๆ สักที

อย่างไรก็ตาม แม้นี่จะเป็นเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ แต่ในอายุครรภ์ 9 เดือนนี้ คุณแม่ก็ยังคงมีหลาย ๆ สิ่งที่จะต้องคำนึงถึง คือ  

  • มีการเข้าคอร์สสอนการให้นม สอนการปั๊มนม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการให้นมลูกหลังคลอด หรือถ้าเริ่มเรียนมาตั้งแต่ช่วงเดือนที่ 7 ช่วงนี้ก็จะเป็นช่วงสิ้นสุดการเรียนและพร้อมสำหรับการคลอดและเริ่มปฏิบัติจริงทันทีที่ทารกคลอดออกมา  

  • เบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลอยู่ตรงไหน ไปทางไหนสะดวกกว่า คุณพ่อคุณแม่จะต้องเตรียมพร้อมให้มากที่สุด เมื่อมีสัญญาณใกล้คลอดเกิดขึ้น จะได้สามารถติดต่อกับสถานพยาบาล และไปโรงพยาบาลได้เร็วที่สุด  

  • จัดการกับของเตรียมคลอดให้เรียบร้อย ตรวจดูว่ามีสิ่งใดขาดตก บกพร่อง หรือหมดอายุหรือไม่ หากลืมก็ให้เตรียมให้เรียบร้อย แต่ถ้าอันไหนชำรุด หรือหมดอายุ ก็ให้เปลี่ยนให้เรียบร้อย  

  • ช่วงนี้คุณแม่อาจสามารถเริ่มเลือกกุมารแพทย์สำหรับการดูแลทารกหลังคลอดได้เลย ซึ่งกุมารแพทย์จะคอยให้คะแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลลูกน้อย โดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรกอาจจะต้องได้ไปพบแพทย์บ่อย ๆ  

  • แจ้งข่าววันคลอดแก่คนรอบตัว เพื่อให้มีคนคอยดูแลอยู่ตลอด เพราะในช่วงสัปดาห์ที่ 36-40 นั้น ทารกสามารถที่จะคลอดตอนไหนก็ได้ คุณแม่ควรมีคนอยู่ใกล้ตัวสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน  

  • หากจะมีการถ่ายภาพรับขวัญหลังคลอด คุณแม่ก็สามารถนัดหมายตารางกับช่างภาพที่สนใจได้ตั้งแต่ตอนนี้เลย รวมถึงยังสามารถนัดปนะกับเพื่อน ๆ และคนรอบข้างให้มาร่วมถ่ายภาพความประทับใจร่วมกันด้วย  

  • ติดตั้งคาร์ซีททันที สำหรับรับทารกกลับบ้าน คาร์ซีทจะช่วยให้ป้องกันอันตรายต่อเด็กในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ  

ไขข้อข้องใจเรื่องการตั้งครรภ์ 9 เดือนกับ Enfa Smart Club


1. ท้องเสียตอนตั้งครรภ์ 9 เดือน อันตรายไหม?   

อาการท้องเสียขณะตั้งครรภ์นั้นถือเป็นเรื่องปกติ และสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกไตรมาส ดังนั้น หากคุณแม่ที่ท้อง 9 เดือน ท้องเสีย ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นกังวลค่ะ   

เว้นเสียแต่ว่าคุณแม่จะมีอาการท้องเสียติดต่อกัน 1 วันขึ้นไป และอาการท้องเสียไม่ดีขึ้นเลย กรณีนี้อาจจะต้องรีบไปพบแพทย์ เพราะอาการท้องเสียนั้นอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรืออาหารเป็นพิษ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษา  

2. ท้อง 9 เดือน ท้องเล็กมาก ผิดปกติหรือไม่?  

คุณแม่บางคนอาจจะสังเกตว่าหน้าท้องของตัวเองนั้นไม่ใหญ่เลยเมื่อเทียบกับคนที่มีอายุครรภ์ 9 เดือนเหมือนกัน ซึ่งแม้ว่าอายุครรภ์จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของขนาดหน้าท้อง เพราะเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ก็แปลว่าขนาดของมดลูกและทารกขยายใหญ่ขึ้น ทำให้ท้องใหญ่ขึ้นตามไปด้วย   

อย่างไรก็ตาม ขนาดของหน้าท้องตอนตั้งครรภ์ก็ยังขึ้นอยู่กับสรีระ ส่วนสูง น้ำหนัก และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ที่ออกกำลังกายบ่อยมาก ทำให้มีกล้ามเนื้อหน้าท้องแข็งแรงและแน่นมาก ดังนั้น จึงสามารถป้องกันไม่ให้หน้าท้องขยายใหญ่เกินไปได้   

มากไปกว่านั้น การที่มีขนาดครรภ์เล็ก บางทีก็อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นการตั้งท้องครั้งแรก เพราะคนท้องแรกนั้นมักจะไม่ค่อยมีขนาดท้องที่ใหญ่นัก  

แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น หากตลอดเวลาการตั้งครรภ์ที่ผ่านมาคุณแม่มีการอัลตร้าซาวด์กับแพทย์และทารกไม่มีสิ่งใดผิดปกติ มีขนาดและน้ำหนักตามวัย ขนาดครรภ์ก็ไม่ถือว่าเป็นตัวแปรที่น่าวิตกกังวลแต่อย่างใดค่ะ  

3. การดิ้นของทารกในครรภ์ 9 เดือน แบบไหนคือปกติ?  

การนับลูกดิ้นนั้น คุณแม่ควรจะนับทุกวัน และนับในเวลาเดิมเสมอ โดยถ้าลูกเตะหรือกระแทก 1 ครั้ง นับเป็นลูกดิ้น 1 ครั้ง ลูกเตะหรือกระแทกอีก 1 ครั้ง นับเป็นลูกดิ้น 2 ครั้ง โดยในระยะเวลา 1ชั่วโมง คุณแม่จะต้องนับลูกดิ้นได้มากกว่า หรือตั้งแต่ 4 ครั้งขึ้นไป   

แต่ถ้าภายในชั่วโมงแรก ลูกดิ้นน้อยหรือดิ้นไม่ถึง 4 ครั้ง และพยายามนับใหม่ในชั่วโมงถัดไป ถ้าหาก 1 ชั่วโมงถัดไปแล้วก็พบว่าลูกยังดิ้นไม่ถึง 4 ครั้ง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณผิดปกติได้  

4. ท้อง 9 เดือนปวดจิมิ ควรทำอย่างไร?  

อาการปวดอวัยวะเพศขณะอายุครรภ์ 9 เดือนนั้น อาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากการที่เอ็นกระดูกเชิงกรานยืดออกเพื่อรองรับน้ำหนักของคุณแม่ที่เพิ่มขึ้น เมื่อเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อในช่องคลอดยืดออก อาจทำให้รู้สึกเจ็บที่อวัยวะเพศได้ ซึ่งถือว่าพบได้โดยทั่วไป

แต่ถ้าอาการปวดไม่ดีขึ้นเลย หรือปวดมากขึ้นกว่าเดิม แนะนำให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาค่ะ   



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

EFB Form

EFB Form