Leaving page banner
 

ท้อง 1 สัปดาห์ตรวจเจอไหม

ท้อง 1 สัปดาห์ตรวจเจอไหม ตรวจครรภ์ตอนนี้จะเร็วไปรึเปล่า

Enfa สรุปให้

  • การตรวจครรภ์ 1 สัปดาห์หลังจากที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการคุมกำเนิดถือว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่เร็วเกินไป

  • แต่ก็มีคุณแม่หลายคนที่สามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้ตั้งแต่สัปดาห์แรก

  • อย่างไรก็ตาม การตรวจครรภ์ใน 1 สัปดาห์แรกนั้นเสี่ยงที่ผลจะผิดพลาดได้ เพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำ ควรรอย่างน้อย 10-12 วันแล้วจึงทำการตรวจครรภ์

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 1 สัปดาห์ เริ่มนับเมื่อไหร่
     • ท้อง 1 สัปดาห์ จะตรวจเจอไหม
     • อาการตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์เป็นอย่างไร
     • วิธีดูแลตัวเองเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์

การตรวจครรภ์ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นประตูสู่ความดีใจและความเสียใจในเวลาเดียวกัน เนื่องจากเงื่อนไขชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คุณแม่บางคนอาจคาดหวังกับการตั้งครรภ์มาก ๆ จึงรีบตรวจครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ขณะที่บางคนอาจจะกังวลว่าจะตั้งครรภ์ เพราะความไม่พร้อมในหลาย ๆ เรื่อง จึงรีบตรวจครรภ์อย่างด่วนจี๋  

ด้วยเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จึงนำมาสู่สิ่งสำคัญที่เราควรจะต้องมาพูดถึงกันว่า การตรวจครรภ์ตั้งแต่ 1 สัปดาห์แรกนั้น ให้ผลตรวจที่แม่นยำจริงหรือ? ช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะทำการตรวจครรภ์ควรเป็นตอนไหนกันแน่? เพื่อที่ว่าต่อให้คุณจะพร้อมเป็นคุณแม่หรือยังไม่พร้อมเป็นคุณแม่ก็ตาม แต่ผลการตรวจครรภ์ที่แม่นยำนั้น จะเป็นคำตอบที่ช่วยบอกคร่าว ๆ ได้ว่าขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้จะทำอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น 

ตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์เริ่มนับเมื่อไหร่ 


ในทางการแพทย์ การนับการตั้งครรภ์จะนับกันตั้งแต่วันแรกที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย และจะมีการตกไข่และการปฏิสนธิใน 2 สัปดาห์หลังนั้น ด้วยเหตุนี้ อายุครรภ์ 1 สัปดาห์ตามหลักการนับในทางการแพทย์ จะเป็นการตั้งครรภ์โดยที่ยังไม่มีทารกในครรภ์เลย 

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นกระบวนการนับอายุครรภ์ทางการแพทย์นะคะ สิ่งนี้จะแตกต่างจากเรื่องราวที่เรากำลังจะพูดถึงต่อจากนี้ เพราะที่เราจะพูดถึงนั้น จะเป็นเรื่องของการตรวจครรภ์หลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน 1 สัปดาห์ค่ะ 

ท้อง 1 สัปดาห์ ตรวจเจอไหม 


1 สัปดาห์ ก็คือ 7 วัน ตัวเลขนี้ถือว่าเป็นระยะเวลาที่เร็วมากสำหรับการตรวจครรภ์ ซึ่งระยะเวลาที่เร็วที่สุดที่จะตรวจพบการตั้งครรภ์นี้ หากเปิดหาข้อมูลสัก 10 เว็บไซต์ คุณแม่ก็อาจจะพบว่ามีคำตอบที่แตกต่างกันไปค่ะ  

แต่โดยทั่วไปแล้วระยะเวลาที่เร็วที่สุดที่มักจะแนะนำให้ทำการตรวจครรภ์หลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันผ่านไปแล้ว 10-12 วันขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น และร่างกายมีการผลิตฮอร์โมนตั้งครรภ์ออกมา ทำให้สามารถตรวจพบสัญญาณการตั้งครรภ์ได้ 

ซึ่งระยะเวลา 1 สัปดาห์นี่ อาจจะฟังดูเร็วเกินไปหน่อย แต่ว่าก็เป็นไปได้ที่จะตรวจพบการตั้งครรภ์ค่ะ เพียงแต่อาจจะตรวจแล้วพบว่าขีดบนที่ตรวจครรภ์นั้นขึ้นเป็นขีดจาง ๆ หรือจางมาก ๆ จนไม่แน่ใจว่าแบบนี้แปลว่าตั้งครรภ์หรือเปล่า ทั้งนี้เป็นเพราะระดับฮอร์โมน hCG หรือฮอร์โมนตั้งครรภ์นั้นยังมีปริมาณไม่มากพอที่จะอุปกรณ์การตรวจครรภ์จะตรวจพบได้มากนักค่ะ 

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าร่างกายคนเราไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะพบว่าหลังจากตรวจแล้วก็ไม่พบว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น กรณีเช่นนี้ก็เป็นไปได้เช่นกัน 

ดังนั้น เพื่อให้ผลตรวจครรภ์แม่นยำที่สุด หรือกันเหนียวสักหน่อย ควรรออย่างน้อย 10-12 วันขึ้นไปหลังจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน หรือทำการตรวจครรภ์หลังจากวันที่คาดว่าจะมีประจำเดือนแล้วประจำเดือนไม่มา หรือเรียกว่าอาการขาดประจำเดือน ช่วงเวลานี้ผลการตรวจครรภ์ก็จะมีความแม่นยำสูงมากค่ะ หรือถ้าจะเอาผลการตรวจครรภ์แบบชัวร์สุด ๆ ก็แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจครรภ์โดยตรงค่ะ 

อาการตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์เป็นอย่างไร 


ช่วงเวลา 1 สัปดาห์นี่เรียกได้ว่าคุณแม่แทบจะไม่มีอาการคนใด ๆ ที่บ่งชี้ถึงการตั้งครรภ์เลยค่ะ จะไปเริ่มรู้สึกก็เมื่อตั้งครรภ์ได้ 2-3 เดือน หรือบางคนอาจจะเริ่มรู้สึกถึงอาการตั้งครรภ์เอาตอนเดือนที่ 4-5 ก็มีค่ะ 

แต่...เพราะร่างกายของคนเรานั้นไม่เหมือนกัน ดังนั้น ช่วงระยะเวลาในการรู้สึกถึงอาการตั้งครรภ์ของผู้หญิงแต่ละคนนั้นจึงแตกต่างกัน และผู้หญิงหลาย ๆ คนก็อาจจะรู้สึกถึงอาการตั้งครรภ์ได้ตั้งแต่ 1 สัปดาห์แรกหลังการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการคุมกำเนิด ซึ่งอาจพบกับกลุ่มอาการดังต่อไปนี้ 

ประจำเดือนไม่มา หรือ ขาดประจำเดือน 

นี่น่าจะเป็นสัญญาณแรกสุดที่คุณแม่จะรู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณแม่มีการนับประจำเดือนมาตลอดทุกเดือน และประจำเดือนไม่เคยมาช้าเลย หากพบว่าประจำเดือนไม่มาตามกำหนด ก็มีโอกาสที่จะมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น 

อย่างไรก็ตาม อาการขาดประจำเดือนนี้ก็มีช่องโหว่ตรงที่ ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่ประจำเดือนมาปกติ บางคนอาจมีประจำเดือนมาช้าเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน กรณีเช่นนี้ อาการขาดประจำเดือนก็อาจจะไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าอาจจะตั้งครรภ์ค่ะ 

ปวดท้องเกร็ง 

หลังจากที่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ตัวอ่อนก็จะไปย้ายฝังตัวที่มดลูก กระบวนการฝังตัวที่มดลูกของตัวอ่อนนี้ อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดเกร็ง หรือปวดคล้ายเป็นตะคริวที่ท้องหรือท้องน้อย 

เจ็บเต้านม 

ในขณะที่ตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนมากขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลายอย่างเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารก 
หน้าอกและเต้านมก็เป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงนั้น คุณแม่อาจรู้สึกว่าเต้านมนุ่มและใหญ่ขึ้น เต้านมมีเส้นเลือดที่มองเห็นชัดขึ้น เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้น หรือบางคนก็อาจมีอาการเสียวแปลบหรือเจ็บที่หัวนมด้วย 

อย่างไรก็ตาม อาการเจ็บเต้านมนี้ก็ไม่ได้การันตีว่าเป็นการตั้งครรภ์เสมอไปนะคะ  เพราะบางครั้งอาการนี้ก็เป็นอาการปกติก่อนมีประจำเดือนเฉย ๆ ค่ะ 

มีอาการแพ้ท้อง 

กลุ่มอาการแพ้ท้องโดยมากมักจะชัดเจนขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ได้ 2-3 เดือน แต่ก็มีคุณแม่หลาย ๆ คนที่พบอาการแพ้ท้องตั้งแต่สัปดาห์แรก ๆ ค่ะ โดยอาการก็จะมีตั้งแต่ 

  • วิงเวียนศีรษะ 

  • อ่อนเพลีย 

  • อาเจียน 

  • คลื่นไส้ 

ปัสสาวะบ่อย 

หากช่วงนี้รู้สึกว่าเข้าห้องน้ำมากกว่าปกติ อาจเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากปริมาณเลือดในร่างกายจะเพิ่มขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลให้ไตทำงานหนักขึ้นเพื่อกรองเลือดและขับของเสียออกจากไต จากนั้นร่างกายก็จะต้องรับหน้าที่ในการกำจัดของเสียนี้ออกทางปัสสาวะ ทำให้ต้องปัสสาวะบ่อยขึ้นนั่นเอง 

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์ 


เมื่อคุณแม่ตรวจสอบแล้วพบว่าตัวเองมีอาการคนท้องดังกล่าว ถึงเวลาดูแลตัวเองแล้วค่ะ โดยควรให้ความสำคัญกับเรื่องต่อไปนี้ 

รับกรดโฟลิกให้เพียงพอ 

แร่ธาตุตัวนี้มีความสำคัญมาก คุณแม่ควรได้รับมาก่อนตั้งครรภ์ด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้ก็ถือว่ายังไม่สาย เมื่อตั้งครรภ์คุณแม่ต้องได้รับกรดโฟลิกเพิ่มกว่าปกติ โดยเฉพาะ 3 เดือนแรก กรดโฟลิกจะช่วยลดความผิดปกติของระบบประสาท สมอง กะโหลกศีรษะ และกระดูกสันหลังของลูก กรดโฟลิกพบได้ในอาหารจำพวกผักใบเขียว ตับ เป็ด ไข่แดง 

อย่าขาดธาตุเหล็ก 

ช่วงนี้คุณแม่ต้องรับธาตุเหล็กเพิ่มเป็น 2 เท่า เมื่อกินอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง อย่างเนื้อสัตว์ ปลา ไข่ และผักใบเขียวต่างๆ แนะนำให้ดื่มน้ำส้มระหว่างที่ทานอาหารด้วย เพราะวิตามินซีในน้ำส้มจะช่วยเพิ่มการดูดซึมของธาตุเหล็กจากอาหารให้ดีขึ้น ที่สำคัญ หากยังหยุดดื่มกาแฟไม่ได้ คุณแม่ควรดื่มให้น้อยที่สุด (ไม่เกิน 1 แก้ว) และควรทิ้งระยะจากอาหารมื้ออาหารพอสมควร เพราะคาเฟอีนส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหาร โดยเฉพาะการดูดซึมธาตุเหล็ก 

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 

เช่น การนอน คุณแม่ควรนอนหลับอย่างต่ำคืนละ 8 ชั่วโมง มีการศึกษาพบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่นอนน้อยกว่าคืนละ 5 ชั่วโมง มีความเสี่ยงที่จะเกิดครรภ์เป็นพิษมากกว่าปกติถึง 9.5 เท่า การดูแลอาหารการกินที่มีคุณภาพ เป็นต้น 

ฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ 

การตรวจครรภ์ครั้งแรกสำคัญมาก คุณหมอจะถามและตรวจร่างกายคุณแม่อย่างละเอียด ตรวจดูตำแหน่งของการตั้งครรภ์ ดูว่ามีตัวเด็กมีหัวใจเต้น คุณแม่ควรสังเกตและจดบันทึกอาการของตนเอง ทั้งสุขภาพโดยทั่วไปและความผิดปกติ รวมถึงหากมีปัญหาสงสัย ก็ควรเตรียมคำถามที่สงสัยเอาไว้ล่วงหน้าก่อนไปพบแพทย์นะคะ 

เพราะการดูแลตัวเองอย่างดีจะส่งผลดีต่อพัฒนาการลูกในท้อง ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่คนใหม่ทุกคนค่ะ 


      บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

      EFB Form

      EFB Form