หนังสือหลายเล่มเขียนถึงเด็กวัย 2 ขวบว่าเป็นวายร้ายตัวน้อย หรือ Terrible two ที่มักอาละวาด เอาแต่ใจตัวเอง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งกันเลยทีเดียว  นี่เป็นเพียงพัฒนาการแห่งวัยที่ลูกต้องก้าวผ่านพ้นไป โดยมีคุณแม่ช่วยประคับประคอง...มาดูพัฒนาการแต่ละด้านของลูกน้อยเดือนนี้กันค่ะ 

ด้านสติปัญญาและการเรียนรู้

  • หากคุณแม่สอนให้ลูกหัดจำพยัญชนะต่างๆ เป็นประจำ ลูกก็เริ่มจะจำตัวพยัญชนะ เช่น A- B -C, ก-ข ได้บ้างแล้วค่ะ

  • เริ่มเข้าใจความหมายของคำว่า ใหญ่-เล็ก นุ่ม-แข็ง ได้แล้ว คุณแม่ลองชวนลูกเล่นเกมแยกของที่มีผิวสัมผัสแตกต่างออกจากกล่องดู เช่น อันนี้นิ่มใส่กล่องนี้ อันนี้แข็งเอาออกมา

  • เรียนรู้เรื่องเวลาได้แล้ว โดยเฉพาะ “เดี๋ยวนี้” “เร็วๆ นี้” หรือ “วันนี้” แต่ยังไม่เข้าใจคำว่า เมื่อวานนี้กับพรุ่งนี้

  • มีสมาธิในการเล่นมากขึ้น และจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้นานขึ้น และชอบเล่นของเล่นที่เป็นชุด หรือเรียงลำดับจากเล็กไปใหญ่

ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว

  • วัยนี้ทรงตัวด้วยขาข้างเดียวได้ดีขึ้น

  • ชอบที่จะทดสอบความสามารถตัวเองด้วยการเดินถอยหลังอยู่ บางครั้งก็จะเห็นลูกเดินเขย่งปลายเท้าสลับกับก้าวเท้าเดินธรรมดา...เรียกว่ายังสนุกกับการเดินในแต่ละแบบอยู่

  • ลูกวัยนี้ชอบกระโดด  คุณแม่ต้องดูแลใกล้ชิด ละสายตาไม่ได้ เพราะบางทีลูกก็ไม่ได้กระโดดเล่นบนพื้น แต่ขึ้นไปกระโดดบนเก้าอี้โซฟา ซึ่งเสี่ยงต่อการตกลงมาได้รับบาดเจ็บ

  • ลูกฝึกฝนกล้ามเนื้อมือด้วยการหมุนเปิดปิดฝาขวดน้ำ ไปจนกระทั่งหมุนลูกบิดเปิดปิดประตูเพื่อให้ชำนาญมากขึ้น

  • หากที่ผ่านมาคุณแม่สอนให้ลูกจับดินสอขีดเส้นตรงๆ เฉียงๆ กันไปบ้างแล้ว เดือนนี้ลองสอนลูกหัดวาดเส้นโค้งดูสิคะ แต่ถ้าลูกวาดเส้นโค้งได้แล้ว ก็หัดให้ลูกวาดรูปวงกลมต่อได้เลย โดยการวาดให้ลูกดู ซึ่งลูกจะมองสังเกต วิธีการเขียนวงกลมของเรา แล้วลองทำตามได้ แม้จะเป็นวงกลมที่บิดเบี้ยวก็ตาม

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ด้านภาษาและการสื่อสาร

  • วัยนี้พัฒนาทักษะการสื่อสารได้ดีขึ้น สามารถพูดโต้ตอบสั้นๆ ได้แล้ว

  • บางคนสามารถบอกชื่อเล่นของตัวเองได้

  • ชอบพูดคุย ตั้งคำถาม ขณะพูดคุยกับลูก หากคุณแม่ให้ความสนใจ มองหน้าลูก รับฟังอย่างตั้งใจจะช่วยพัฒนาทักษะภาษาและสติปัญญาให้ลูกได้ รวมทั้งการใช้สื่อต่างๆ เช่นนิทาน เกมที่เหมาะสมกับวัย และหมั่นถามลูกว่ารู้สึกอย่างไร จะช่วยพัฒนาทักษะภาษาให้ลูกได้มากขึ้น 

  • สนใจเสียงเพลงที่เป็นจังหวะ  ควรเลือกนิทานเพลงหรือซีดีเพลงเด็กให้ลูกดู จะช่วยให้ลูกเรียนรู้เรื่องภาษาได้ดีขึ้น เพราะมีภาพประกอบ มีเสียงเพลงที่เป็นจังหวะ จึงดึงดูดความสนใจและทำให้ลูกเรียนรู้ได้เร็วขึ้น  แนะนำให้เปิดให้ลูกดู วันละไม่เกิน 2 ชั่วโมง

  • หากอยากให้ลูกได้ฝึกสมาธิในการฟังให้เปิดซีดีเพลง (ไม่มีภาพ) ให้ลูกฟัง ลูกจะได้ใช้ทักษะการฟังมากขึ้น ซึ่งนิทานเพลงเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างจิตนาการให้ลูกอีกด้วย

ด้านอารมณ์และสังคม

  • การงอแงอาละวาดเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับเด็กวัยสองขวบกว่า  แม้พฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้คุณแม่เหลืออดเหลือทนบ้าง แต่อย่างน้อยถ้าเราเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นขั้นตอนหนึ่งของพัฒนาการด้านอารมณ์ที่ลูกต้องก้าวผ่านไปให้ได้ เราก็จะสบายใจ เข้าใจ และยื่นมือเข้าไปช่วยคลี่คลายความคับข้องใจนั้นให้ลูกได้มากขึ้น  

  • พยายามทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง เช่น พยายามแปรงฟันเองแม้จะยังไม่สะอาดนัก ใส่เสื้อผ้าเอง แต่ส่วนใหญ่ยังถอดได้ดีกว่าใส่

  •  ลูกเริ่มโตขึ้น มีจินตนาการมากขึ้น บางครั้งเขาก็อาจแสดงความรู้สึกกลัวความมืดหรือเสียงดังๆ ได้เช่นกัน ซึ่งถือเป็นความกลัวที่เข้าใจ แต่ถ้ากลัวสิ่งไร้สาระ เช่น กลัวใบไม้ ก็ต้องอธิบาย และชี้ให้ลูกเห็นว่าใบไม้ไม่ทำร้ายเรา ไม่เป็นอันตรายกับเรา หากมองในแง่ดี การที่ลูกกลัวอะไรอยู่บ้าง ย่อมดีกว่าลูกที่ไม่กลัวอะไรเลย เพราะจะทำให้ลูกเสี่ยงต่ออันตรายได้ง่ายกว่า

      บ้านที่มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันจะช่วยให้เด็กๆ เริ่มต้นเรียนรู้การยอมรับตัวเอง ยอมรับผู้อื่น และค่อยๆ ก่อรูปทัศนคติในการมองโลกและเป้าหมายของชีวิต ซึ่งขึ้นอยู่กับความรักและกำลังใจที่เขาได้รับจากคุณพ่อคุณแม่ด้วย