Enfa สรุปให้

  • ทารกเพศชายวัย 5 เดือน หนักประมาณ 7.5 กิโลกรัม สูงประมาณ 65.9 เซนติเมตร ส่วนทารกเพศหญิงวัย 5 เดือน หนักประมาณ 6.9 กิโลกรัม สูงประมาณ 64 เซนติเมตร

  • ทารกวัย 5 เดือน เริ่มเรียนรู้ว่าตัวเองเป็นคนละส่วนกับสิ่งแวดล้อม จึงสนใจที่จะทำความรู้จักกับตัวเองมากขึ้น สังเกตได้จากการดูดนิ้ว การจ้องมองมือตัวเอ

  • ทารกวัย 5 เดือน สามารถที่จะแยกแยะพ่อแม่กับคนแปลกหน้าได้ เริ่มหยิบจับสิ่งของและเขย่าไปมาได้ สามารถจับของสองมือได้แล้ว

เลือกอ่านตามหัวข้อ
 

     • น้ำหนักและส่วนสูงของทารกวัย 5 เดือน
     • การกินของลูกน้อยวัย 5 เดือน
     • การขับถ่ายของลูกน้อยวัย 5 เดือน
     • การนอนหลับของลูกน้อยวัย 5 เดือน
     • ทารก 5 เดือนเป็นแบบนี้ ปกติหรือผิดปกติกันแน่
     • พัฒนาการเด็ก 5 เดือน
     • กระตุ้นพัฒนาการลูก 5 เดือนยังไงดี
     • ของเล่นเสริมพัฒนาการ 5 เดือน
     • ตารางเลี้ยงลูก 5 เดือน
     • ไขข้อข้องใจเรื่องทารกวัย 5 เดือนกับ Enfa Smart Club
 

ทารกวัย 5 เดือน เป็นช่วงวัยที่พัฒนาการด้านต่าง ๆ สามารถแสดงออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งพัฒนาการด้านร่างกาย การเคลื่อนไหว สติปัญญา และการเรียนรู้ ทารกวัยนี้เริ่มที่จะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งรอบข้างมากขึ้น อยากจะเล่น อยากจะสนุกกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากขึ้น บทความนี้จาก Enfa จะพาคุณพ่อคุณแม่มาดูกันว่า เจ้าตัวเล็กวัย 5 เดือนนี้ มีอะไรให้ต้องคอยติดตามบ้างนะ

น้ำหนักและส่วนสูงของทารกวัย 5 เดือน


เมื่อทารกเข้าเดือนที่ 5 ทารกก็จะมีรูปร่างที่ใหญ่ขึ้น น้ำหนักตัวมากขึ้น และมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ แสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เด็กแต่ละคนจะมีน้ำหนักและส่วนสูงที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ตามเกณฑ์ที่เหมาะสม แต่ก็มีบ้างบางกรณีที่ทารกวัย 5 เดือนมีน้ำหนักและส่วนสูงที่เกินมาตรฐานที่ควรจะเป็น

น้ำหนักทารก 5 เดือน

น้ำหนักของทารกวัย 5 เดือนนั้น สามารถแบ่งออกตามเพศโดยกำเนิดได้ดังนี้

  • ทารกเพศชายวัย 5 เดือน หนักประมาณ 7.5 กิโลกรัม
  • ทารกเพศหญิงวัย 5 เดือน หนักประมาณ 6.9 กิโลกรัม
     

ส่วนสูงทารก 5 เดือน

ส่วนสูงของทารกวัย 5 เดือนนั้น สามารถแบ่งออกตามเพศโดยกำเนิดได้ดังนี้

  • ทารกเพศชายวัย 5 เดือน สูงประมาณ 65.9 เซนติเมตร
  • ทารกเพศหญิงวัย 5 เดือน สูงประมาณ 64 เซนติเมตร
     

การกินของลูกน้อยวัย 5 เดือน: ทารก 5 เดือนกินอะไรได้บ้าง


ทารกวัย 5 เดือน ยังไม่ควรที่จะกินอาหารชนิดอื่น ๆ ค่ะ เพราะระบบทางเดินอาหารและระบบย่อยอาหารของทารกนั้นยังทำงานได้ไม่เต็มระบบ ดังนั้น แหล่งโภชนาการที่สำคัญที่สุดก็คือ นมแม่ และทารกควรจะได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวและต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน หรือนานสูงสุด 2 ปี

โภชนาการสำหรับทารก 5 เดือน

นมแม่ถือเป็นอาหารที่สำคัญที่สุดสำหรับทารกวัยแรกเกิด - 6 ซึ่งในนมแม่นั้นอุดมไปด้วยสารอาหารที่สำคัญมากมายหลายชนิด ทั้งยังมีสารภูมิคุ้มกันที่มีส่วนช่วยให้ทารกแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่ายด้วย

โดยสารอาหารสำคัญที่พบได้ในนมแม่ เช่น

  • โปรตีน ซึ่งประกอบด้วยโปรตีนสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ เวย์และเคซีน ประมาณ 60% เป็นเวย์โปรตีน และอีก 40% เป็นเคซีนโปรตีน ด้วยสัดส่วนที่สมดุลของโปรตีนทั้ง 2 ชนิดนี้ จึงช่วยให้ทารกสามารถที่จะดูดซึมไปใช้งานได้ง่าย สามารถย่อยได้ง่าย อีกทั้งโปรตีนยังมีส่วนช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของกล้ามเนื้อ
  • ไขมัน ในนมแม่มีไขมันที่ถือว่าเป็นแหล่งพลังงานหลักของทารก อีกทั้งไขมันในนมแม่ยังมีส่วนช่วยพัฒนาสมอง และช่วยในการดูดซึมวิตามินที่สามารถละลายในไขมันได้ดี
  • วิตามินต่าง ๆ ทารกจะได้รับวิตามินต่าง ๆ ผ่านนมแม่ ไม่ว่าจะเป็นวิตามินซี วิตามินเอ วิตามินเค วิตามินดี วิตามินอี เป็นต้น ถามว่าวิตามินเหล่านี้มาจากไหน ก็มาจากอาหารการกินต่าง ๆ ที่คุณแม่กินเข้าไปนั่นแหละค่ะ ยิ่งคุณแม่กินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย ทารกก็จะได้รับสารวิตามินที่สำคัญเหล่านั้นด้วย
  • คาร์โบไฮเดรต ในนมแม่นั้นจะมีสารอาหารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า แลคโตส ซึ่งถือว่าเป็นคาร์โบไฮเดรตหลักที่พบในนมของแม่ แลคโตสนี้จะช่วยลดปริมาณของแบคทีเรียที่ไม่ดีในกระเพาะอาหาร มากไปกว่านั้น แลคโตสยังทำหน้าที่สำคัญคือ ช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม เพราะสารอาหารเหล่านี้จะทำช่วยเพิ่มปริมาณของแบคทีเรียชนิดดีในกระเพาะอาหารของทารก
  • MFGM นมแม่มี MFGM หรือ Milk fat globule membrane ซึ่งเป็นสารอาหารเฉพาะที่พบได้ในนมแม่หรือนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้น โดย MFGM ประกอบไปด้วย โพลาร์ลิพิด (Polar lipid) ไกลโคลิพิด (Glycolipid) และโปรตีน โดย MFGM ในนมแม่ มีส่วนช่วยพัฒนาระบบประสาท ป้องกันการติดเชื้อต่างและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ
     

ปริมาณนมที่เหมาะสมสำหรับลูกวัย 5 เดือน

เมื่อทารกเริ่มโตขึ้น ปริมาณนมแม่ต่อออนซ์ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย แล้วแบบนี้ ลูก 5 เดือนกินกี่ออนซ์กันนะ?

สำหรับปริมาณนมแม่ในแต่ละวันที่เหมาะสมกับเด็กทารกวัย 3 เดือนนั้น คุณแม่ควรจะต้องให้ทารกกินนมครั้งละ 6-7 ออนซ์ ในทุก ๆ 4-5 ชั่วโมง

MFGM เพื่อ IQ ที่เหนือกว่าตั้งแต่ 5 ปีแรก

การขับถ่ายของลูกน้อยวัย 5 เดือน


เรื่องของการขับถ่าย ก็ถือเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องหมั่นสังเกตและเอาใจใส่อยู่เสมอนะคะ เพราะบางครั้งอุจจาระของทารกก็สามารถที่จะบอกถึงความผิดปกติได้เหมือนกัน

ทารก 5 เดือนถ่ายวันละกี่ครั้ง

    เจ้าหนูวัย 5 เดือนนั้นจะมีการขับถ่ายบ่อยมากขึ้น สังเกตได้ว่าผ้าอ้อมจะแฉะแทบทั้งวัน ต้องเปลี่ยนกันทุกชั่วโมง ส่วนจะกี่ครั้งต่อวันนั้น อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละคนค่ะ เด็กบางคนอาจจะอึ 2-3 ครั้ง เด็กบางคนอาจจะอึ 4-5 ครั้งต่อวัน หรืออาจจะ 2-3 วัน ถึงจะอึกทีหนึ่งก็มี

    ตราบเท่าที่อุจจาระของทารกยังนิ่มอยู่ แม้ว่าจะ 2-3 วันถึงจะถ่ายออกมาสักที ก็ยังถือว่าปกติค่ะ อุจจาระที่ผิดปกติของทารกคือ อุจจระที่เป็นก้อนแข็ง แห้ง และเบ่งออกยาก

    สีอุจจาระทารก 5 เดือนเป็นอย่างไร

      เด็กทารกที่กินนมแม่ จะมีอุจจาระเป็นสีเหลืองเข้มค่ะ ดังนั้น สีอุจจาระของทารกวัย 5 เดือน ก็จะเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองเข้มค่ะ เนื่องจากทารกในวัยนี้จะได้รับอาหารแค่เพียงนมแม่อย่างเดียวเท่านั้น

      การนอนหลับของลูกน้อยวัย 5 เดือน: เด็ก 5 เดือนนอนกี่ชั่วโมง


      การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ทารกมีพัฒนาการที่สมบูรณ์และแข็งแรง จึงถือเป็นภารกิจสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องพาลูกน้อยเข้านอนให้เหมาะสม

      ทารกช่วงอายุ 5 เดือน ควรจะนอนให้ได้ประมาณ 12-16 ชั่วโมงต่อวัน หรือประมาณ 14 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งเป็นนอนตอนกลางวัน 4 ชั่วโมง และนอนตอนกลางคืนอีก 10 ชั่วโมง

      ทารก 5 เดือน เป็นแบบนี้ ปกติหรือผิดปกติกันแน่?


      ทารกวัย 5 เดือน มีพฤติกรรมและพัฒนาการตามวัยหลายอย่างที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกต บางอย่างอาจเป็นเรื่องปกติของพัฒนาการเด็กในวัยนี้ แต่บางอย่างก็อาจจะเป็นสัญญาณความผิดปกติที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยหรือรับการรักษา

      • กลัวคนแปลกหน้า

      ลูก 5 เดือนกลัวคนแปลกหน้า ถือเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการที่คุณพ่อคุณแม่สามารถจับสังเกตได้ชัดเจนมากค่ะ และถือว่าเป็นเรื่องที่ปกติมาก ๆ ด้วย เพราะเด็กในวัย 5-6 เดือน เริ่มที่จะจดจำคนรอบตัวได้บ้างแล้ว และเด็กก็ชอบที่จะได้อยู่ใกล้ ๆ กับคนที่ตัวเองรู้สึกคุ้นเคย

      ดังนั้น ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามเริ่มมีคนแปลกหน้ามาอุ้ม หรือเป็นคนที่เด็กไม่คุ้นมาก่อน ก็จะทำให้เด็กร้องไห้ ตกใจ หรือกลัวได้ค่ะ แต่อาการเหล่านี้ก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อเด็กเริ่มโต หรือเริ่มได้ใกล้ชิดกับคนอื่น ๆ มากขึ้นค่ะ

      • ตื่นกลางคืนบ่อย

      ลูก 5 เดือนตื่นกลางคืนบ่อย ถือว่าเป็นเรื่องที่พบได้โดยทั่วไปสำหรับเด็กในวัยนี้ค่ะ โดยสาเหตุนั้นก็ค่อนข้างที่จะหลากหลายนะคะ เด็กบางคนอาจจะตื่นกลางดึกบ่อยเพราะหิว เด็กบางคนอาจจะตื่นกลางดึกบ่อยเพราะฟันเริ่มจะขึ้น หรืออาจจะเป็นผลมาจากพฤติกรรมการนอนที่เปลี่ยนไป เช่น นอนตอนกลางวันเยอะเกิน ทำให้ไม่ค่อยง่วงนอนในตอนกลางคืน นอนไปได้ไม่นานก็ตื่น

      • ไม่ร่าเริง ซึม แต่ไม่มีไข้

      ลูก 5 เดือนไม่ร่าเริง มีอาการซึม ซึ่งอาจจะรวมไปถึงเริ่มมีอาการเบื่ออาหารด้วย สัญญาณเหล่านี้น่าจะมีอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นและทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายเนื้อ ไม่สบายตัว หากเด็กมีอาการในลักษณะดังกล่าว ไม่ว่าจะมีไข้ หรือไม่มีไข้ร่วมด้วย คุณพ่อคุณแม่ก็ควรหาเวลาพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยไว้ก่อนจะดีกว่าค่ะ

      • คอไม่แข็ง ยังชันคอไม่ได้

      ลูก 5 เดือนคอไม่แข็ง ยังชันคอไม่ได้ ไม่ต้องตกใจไปค่ะคุณพ่อคุณแม่ขา เด็กทารกจะเริ่มคอแข็ง และตั้งคอขึ้นตรงได้เมื่ออายุ 4 เดือนขึ้นไปค่ะ และอย่างช้าสุดก็ประมาณ 7-9 เดือน ดังนั้น หากเจ้าตัวเล็กอายุ 5 เดือนแล้วคอยังไม่แข็ง ยังชันคอไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งกังวลไปค่ะ หากว่าพ้น 9 เดือนไปแล้วลูกยังไม่สามารถชันคอได้ ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันทีค่ะ

      สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

      พัฒนาการเด็ก 5 เดือน


      สำหรับลูกน้อยวัยทารกอายุ 5 เดือน วัยนี้เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ที่จะรู้จักตัวเองและสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เราจะเห็นพัฒนาการ 5 เดือนของทารกที่หลากหลายขึ้น เช่น ทุก ๆ เช้าหลังจากตื่นนอน ลูกน้อยจะไม่อยู่นิ่ง เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบข้าง หรือแม้กระทั่งส่งเสียงเรียกร้อง ทักทายกับคุณแม่

      โดยพัฒนาการทารก 5 เดือน หลัก ๆ ที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน มีดังนี้

      พัฒนาการทารกด้านการเรียนรู้ และสติปัญญา

                • พัฒนาการของเด็กทารกอายุ 5 เดือน ที่เห็นได้ชัดคือ เขาจะเริ่มเรียนรู้ว่าตัวเองเป็นคนละส่วนกับสิ่งแวดล้อม จึงสนใจที่จะทำความรู้จักกับตัวเองมากขึ้น สังเกตได้จากการดูดนิ้ว การจ้องมองมือตัวเอง ควบคู่ไปกับการเรียนรู้สิ่งรอบตัวมากขึ้น เช่น การจับสัมผัสสิ่งของรอบตัว เมื่อหยิบได้ก็ทดลองเขย่า ตี บีบ แล้วสุดท้ายก็เอาเข้าปาก เลีย อม กัด ซึ่งการเรียนรู้ด้วยปากเป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ของลูกวัยนี้
                • การได้จับสัมผัสสิ่งของหรือของเล่น ช่วยให้ลูกเรียนรู้เรื่องการมีอยู่ และการหายไป เมื่อทำของหล่นเขาจะรีบมองหาที่พื้น ไม่ใช่มองที่มือเหมือนเดือนก่อน ๆ
                • สามารถจำการกระทำของตัวเองที่เพิ่งผ่านไปได้ และจำสิ่งของคล้าย ๆ กันได้ เช่น ของเล่นสองชิ้นที่มีลักษณะกลม ๆ เหมือนกัน
                • สามารถแยกแยะระหว่างพ่อแม่กับคนแปลกหน้าได้

      พัฒนาการทารกด้านร่างกาย และการเคลื่อนไหว

                • ในเดือนนี้จะเริ่มไม่อยู่นิ่ง เพราะเรียนรู้ที่จะเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างอิสระ สังเกตได้จากเวลาที่ตื่นนอน ลูกจะยุกยิก ถีบแข้งขา บางครั้งพลิกคว่ำ พลิกหงาย กลิ้งไปกลิ้งมา หรือไม่ก็เล่นกับมือน้อย ๆ อย่างเพลิดเพลิน หรือแหงนคอมองหาคุณแม่พร้อมทั้งส่งเสียงร้อง
                • ยังนั่งได้ไม่ดีและยังต้องมีเบาะพิงหลังอยู่ แต่นั่งได้นาน และมั่นคงกว่าเดือนก่อนมาก
                • ขณะนั่งยังสามารถคว้าของเล่นมาเล่นได้ด้วย เนื่องจากตากับมือทำงานประสานกันได้ดีขึ้น หยิบจับของต่า งๆ ได้แม่นยำมากขึ้น
                • พยายามใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้ในการหยิบของมากขึ้น
                • เวลาเล่น สามารถถือ หรือเขย่าของเล่นได้ทั้งสองมือ รวมทั้งย้ายของจากมือหนึ่งไปยังอีกมือหนึ่งได้

      พัฒนาการทารกด้านภาษา และการสื่อสาร

                • เริ่มสนใจมองปากคุณแม่ เวลาที่คุณแม่พูดคุยและพยายามเลียนแบบ ทำเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ บางครั้งเสียงที่ออกมาเหมือนเสียงพยัญชนะ ม หรือ ป เช่น มะ ปะ
                • เข้าใจชื่อคนและสิ่งของต่าง ๆ ที่คุณแม่เรียกหรือพูดให้ฟังเป็นประจำ ดังนั้นควรพูดคุยกับลูกน้อยบ่อย ๆ เรียกชื่อสิ่งของต่าง ๆ ให้ลูกฟัง ลูกจะจดจำคำศัพท์เหล่านั้นไว้ เมื่อถึงวัยที่พูดได้เขาก็จะพรั่งพรูมันออกมา
                • ลูกเรียนรู้ว่าวิธีการส่งเสียงหมายถึงการสื่อสารกับคนอื่น ๆ คุณแม่จึงควรหาเสียงอื่น ๆ มาให้ลูกฟัง เช่น เสียงดนตรี เสียงสัตว์ต่าง ๆ เสียงโทรศัพท์ เพื่อให้ลูกเรียนรู้ความแตกต่างของเสียง

      พัฒนาการทารกด้านอารมณ์ และสังคม

                • เด็กวัยหัดคว่ำหัดคลานอาจเครียดกับอาการเงอะ ๆ งะ ๆ ของตัวเองได้ ดังนั้นคุณแม่ควรช่วยลูกให้เรียนรู้วิธีคว่ำ คืบ คลานที่ถูกวิธี
                • แสดงความรู้สึกหงุดหงิดเมื่อไม่สามารถหยิบจับของเล่นที่อยู่ไกลออกไปได้ หรือเวลาที่เขาจะนำของเล่นเข้าปากแล้วถูกคุณแม่ห้าม ทางที่ดีควรหาของเล่นที่ปลอดภัยสามารถเอาเข้าปากได้ เช่น ยางกัด เพื่อไม่ขัดจังหวะการเรียนรู้ของลูก
                • มักแสดงอาการดีใจออกมาอย่างชัดเจน เมื่อเห็นพ่อหรือแม่เข้ามาใกล้ แต่จะตรงกันข้ามกันทันทีเมื่อมีคนแปลกหน้ามาใกล้

      พัฒนาการแต่ละด้านของลูกน้อย นอกจากจะเป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นตามช่วงวัยแล้ว การกระตุ้นพัฒนาการยังเป็นช่วยสำคัญที่จะทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ดังนั้นคุณแม่ และคุณพ่อควรหมั่นเสริมสร้างพัฒนาการด้วยกิจกรรมด้านต่าง ๆ นอกจากจะช่วยเรื่องพัฒนาการแล้ว ยังสร้างสายใยผูกพันในครอบครัวได้อีกด้วย

      กระตุ้นพัฒนาการลูก 5 เดือนยังไงดี


      เพื่อให้ทารกมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ แข็งแรง และสมวัย คุณพ่อคุณแม่สามารถเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถทำได้ง่าย ๆ ทุกวัน ดังนี้

      1. พัฒนาการทารกวัย 5 เดือน ด้านสติปัญญาและการเรียนรู้

      เสียงที่ดีส่งผลต่อการเรียนรู้ของลูก

      เราทราบดีว่าเด็กเกิดมาพร้อมเซลล์สมองแสนล้านเซลล์ ที่กำลังรอการเชื่อมต่อกัน เพื่อนำเข้า ส่งต่อ และบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ทุกครั้งที่เด็กถูกกระตุ้นให้คิด จุดเชื่อมต่อที่เกิดขึ้นหรือที่มีอยู่แล้วก็แข็งแรงขึ้น ถ้าจุดเชื่อมต่อสมองก็จะเหี่ยวเฉาตายไปได้เช่นกัน ดังนั้น การที่เด็กได้รับการกระตุ้น ผ่านประสาทสัมผัสต่าง ๆ จะช่วยส่งเสริมการทำงานของสมองได้ โดยเฉพาะกระตุ้นผ่าน ‘เสียง’ ซึ่งอาจจะเป็นเสียงของคุณแม่คุณพ่อ เสียงดนตรี หรือเสียงจากธรรมชาติรอบตัว ล้วนส่งผลต่อการทำงานของสมองลูกทั้งสิ้น

      อย่างไรก็ตาม เสียงไม่เพียงส่งผลต่อทารกในยามตื่นเท่านั้น หากแม้ในยามหลับ เสียงก็ยังส่งผลต่อการทำงานของสมองเด็ก 5 เดือนด้วยเช่นกัน ดังเช่น การวิจัยชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ ประเทศอังกฤษ ที่ได้ลองใช้เครื่องเอ็กซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กศึกษาปฏิกิริยาของสมองทารกที่หลับอยู่กับเสียงโดยรอบ ในทารกที่เพิ่งเกิดมาได้ 3-7 เดือน โดยไม่ไปรบกวนจนตื่นขึ้นมา พบว่า สมองหลายส่วนของทารกแสดงปฏิกิริยาต่อเสียงต่าง ๆ แบบเดียวกับสมองของผู้ใหญ่ในยามตื่น โดยเฉพาะเสียงที่แสดงอารมณ์ออกมาด้วย เช่น เสียงหัวเราะ หรือร้องไห้ ที่พบว่าปฏิกิริยาโต้ตอบจะยิ่งแรงขึ้น

      สิ่งที่เราต้องใส่ใจมากขึ้นเพื่อเสริมพัฒนาการทารก 5 เดือน คือ คุณภาพของเสียงที่ลูกควรเป็นเสียงที่ดี เช่น เสียงเพลงกล่อมลูกของคุณแม่ เสียงจากการชวนลูกพูดคุยด้วยความรักของคุณแม่ หรือหากจะใช้เสียงเพลงก็อาจเลือกเพลงกล่อมเด็ก (Lullaby) ที่มีทำนองช้า ไม่เร็วหรือมีจังหวะถี่กระแทก มาเปิดให้ลูกฟังได้ รวมทั้งของเล่นมีเสียง เช่น ช้อนไม้เคาะกับสิ่งของทำให้เกิดเสียง ฝึกให้ลูกหันซ้าย-ขวาไปตามต้นเสียง เป็นการกระตุ้นการทำงานของสมองได้ดี

      2. พัฒนาการทารก 5 เดือน ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว

      ออกกำลังกล้ามเนื้อคอและหลังให้ลูกน้อย

      หากเด็ก 5 เดือนมีกล้ามเนื้อคอและหลังที่แข็งแรง จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของพัฒนาการเด็ก 5 เดือนทางด้านร่างกายของเขา  ซึ่งจะส่งผลให้ลูกสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีและคล่องแคล่วต่อไป ...แทนที่จะปล่อยให้ลูกนอนเล่นตามลำพังมาออกกำลังกายกล้ามเนื้อคอและหลังให้เขากันค่ะ

      ช่วงวัยของเด็ก 5 เดือนนี้ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมีมากขึ้น ลูกจึงสามารถพลิกคว่ำ พลิกหงาย ใช้มือไขว่คว้าสิ่งของต่าง ๆ  จึงควรส่งเสริมพัฒนาการลูก โดย...

      • หาของเล่นที่เขย่าแล้วมีเสียงมาเล่นกับลูก  เพื่อให้ลูกได้พยายามพลิกคว่ำ พลิกหงาย
      • ฝึกให้เด็ก 5 เดือนมีการเอื้อม ไขว่คว้า เขย่า เปลี่ยนมือ ถือของ
      • จัดหาของเล่น ที่ปลอดภัยและมีผิวสัมผัสต่างๆ กัน  เช่น ไม้ พลาสติก ผ้า ยาง เป็นต้นให้ลูกเล่น
      • จับให้ลูกนอนบนพื้นเรียบๆ เพื่อหัดพลิกตัวไปมาอย่างอิสระ         
      • หาของเล่นที่บีบแล้วมีเสียงปี๊บ ๆ มากระตุ้นให้ลูกหันหาหรือพลิกตัวมาหาของเล่นนั้น
         

      นอกจากจะพาลูกออกกำลังอย่างสม่ำเสมอแล้ว คุณแม่อย่าลืมเสริมพัฒนาการทารก 5 เดือนในด้านอารมณ์ โดยการสร้างบรรยากาศให้ลูกเพลิดเพลินและสนุกสนานกับการออกกำลังครั้งนี้ด้วยนะคะ

      3. พัฒนาการทารก 5 เดือน ด้านภาษาและการสื่อสาร

      Baby Talk พัฒนาภาษาและการสื่อสารของลูก

      เด็ก 5 เดือน มีพัฒนาการทางภาษาเริ่มพัฒนามากขึ้น เขากำลังเริ่มส่งเสียงแบบที่ฝรั่งเรียกว่า Babble  คือส่งเสียงอ้อแอ้ ๆ อู ๆ อา ๆ  โต้ตอบเวลาคุณพ่อคุณแม่คุยด้วย หรือเรียกว่า Baby Talk และเด็ก 5 เดือนนี้เริ่มจะส่งเสียง สนใจ โต้ตอบ สื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่อย่างจริง ๆ จัง ๆ แล้ว ดังนั้นคุณแม่จึงไม่ควรมองข้ามการชวนคุยหรือ Baby Talk ของลูก

      นี่เป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการทารก 5 เดือน ทั้งด้านภาษาและการสื่อสารของเขา  เพื่อให้พัฒนาการด้านภาษาของเขาเป็นไปอย่างสมวัย ไม่เกิดปัญหาพัฒนาการทางภาษาล่าช้า ซึ่งทำได้โดย...

      คุณพ่อคุณแม่พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ พยักเพยิดเล่าเรื่อง ชวนคุยเรื่องต่างๆ ใกล้ตัวไป โดยใช้ภาษาที่ง่าย ๆ ชัดเจน (ไม่ต้องอือ ๆ อา ๆ ตามลูกนะคะ) มองหน้า สบตาลูกขณะพูดกับเขา ไม่ปล่อยให้เด็ก 5 เดือนนอนเล่นคนเดียว มองนั่น มองนี่อย่างเหงา ๆ ตามลำพัง

      อ่านหนังสือนิทานสำหรับเด็กที่มีเนื้อหาสั้น ๆ ให้ลูกฟัง เป็นการกระตุ้นพัฒนาการทารก 5 เดือนและปลูกฝังให้ทารกคุ้นเคยและสนุกกับการฟังและอ่านนิทานเมื่อโตขึ้น โดยอ่านนิทานด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น สนุกสนาน และผ่อนคลาย

      หาของเล่นมาชวนลูกพูดคุย เช่น เป็ดบีบมีเสียง แล้วบอกลูกถึงสีสัน คำศัพท์ และทำเสียงปี๊บปี๊บประกอบ แล้วคุณแม่จะทึ่งที่เห็นลูกพยายามทำเสียงเหล่านี้ตามเมื่อเรานำเป็ดมาเล่นกับเขาในครั้งต่อ ๆ ไป

      4. พัฒนาการทารก 5 เดือน ด้านอารมณ์และสังคม

      เลียนเสียงลูก  ช่วยความฉลาดทางอารมณ์

      เมื่อเด็ก 5 เดือนเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ ๆ ฮือ ๆ อา ๆ อยู่ในลำคอออกมา  คุณแม่เองควรตอบสนองเสียงของลูก ด้วยการยื่นหน้าไปใกล้ ๆ ยิ้มให้ และทำเสียงล้อเลียนกับที่เขาทำ พร้อมทั้งเอามือลูบที่หน้าท้องของลูก เขาจะรู้สึกพึงพอใจที่คุณแม่สื่อสารตอบกลับมา และจะยิ่งทำเสียงในลำคอมากขึ้น เพื่อสื่อสารกับคุณแม่

      ถ้าคุณแม่ได้เลียนเสียงลูกน้อยบ่อย ๆ พร้อมกับแสดงความพึงพอใจในเสียงที่ลูกเปล่งออกมา ก็จะยิ่งทำให้ลูกน้อยเรียนรู้การพูดได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งความรู้สึกพอใจของคุณแม่นี้จะแฝงไปกับน้ำเสียงที่คุณแม่เปล่งออกมาเช่นเดียวกัน หรือคุณแม่อาจแสดงออกด้วยการกอดรัด และยิ้มให้ ซึ่งลูกน้อยสามารถรับรู้ได้จากสัญชาตญาณของเขาเองค่ะ

      วิธีการเลียนเสียงลูกเช่นนี้ ทำให้ลูกเกิดความสนใจ และมีความสนุกสนาน ทำให้คุณแม่กับลูกน้อยมีความใกล้ชิดกัน และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็ก นอกจากนี้การที่คุณแม่ช่วยตอบสนองความต้องการทางด้านอารมณ์ของลูกแบบนี้ จะช่วยทำให้ลูกเป็นเด็กอารมณ์ดี มีความสุข ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งของการปรับตัวทางด้านอารมณ์ของเขาในอนาคต

      ของเล่นเสริมพัฒนาการ 5 เดือน


      เด็กวัย 5 เดือน เริ่มที่จะใช้เวลาในการเล่นมากกว่าการนอนแล้ว ดังนั้น ของเล่นเด็ก 5 เดือน จึงถือว่ามีส่วนช่วยสำคัญที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้ฝึกพัฒนาการด้านต่าง ๆ ไปในตัว

      โดยของเล่นเด็ก 5 เดือน ที่เหมาะสมตามวัย ได้แก่ของเล่นจำพวก

      • ของเล่นที่มีการโต้ตอบ ปฏิสัมพันธ์ ของเล่นที่สามารถมีการตอบโต้ ถือว่าเป็นของเล่นที่ทำให้ลูกได้ฝึกทักษะการสื่อสารไปในตัว เช่น ของเล่นที่กดปุ่มแล้วมีเสียง เพลย์ยิมหรือเพลย์แมท หรือกล่องกิจกรรมที่มีตัวต่อรูปร่างต่าง ๆ
      • ของเล่นเสริมจินตนาการ เพื่อให้เด็กได้เริ่มฝึกใช้ทักษะความคิดสร้างสรรค์ เช่น ตัวต่อ ชุดอุปกรณ์อาชีพต่าง ๆ
      • ของเล่นที่มีเสียง หรือเขย่าแล้วเกิดเสียง ของเล่นเหล่านี้สามารถกระตุ้นความสนใจของเด็กได้ดีค่ะ เช่น กล่องดนตรี โมบายล์แขวนที่มีเสียง สมุดนิทานที่เปิดมาแล้วมีเสียงเพลงเด็ก มีเพลงลัลลาบายกล่อมนอน
         

      ตารางเลี้ยงลูก 5 เดือน


      ตารางการเลี้ยงลูกนั้นนั้น อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว แต่โดยพื้นฐานสำหรับเด็กทารกวัย 5 เดือนนั้น ก็จะไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไหร่นักค่ะ เน้นสำคัญอยู่ที่กินให้พอ นอนให้พอ เพื่อให้ทารกได้มีพัฒนาการที่แข็งแรงและสมวัย

      • การกิน ทารกวัย 5 เดือนควรได้รับแค่นมแม่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยในแต่ละวันทารกควรจะได้กินนมแม่ครั้งละ 6-7 ออนซ์ ในทุก ๆ 4-5 ชั่วโมงค่ะ
      • การนอน ทารกวัย 5 เดือนควรจะนอนให้ได้ประมาณ 12-16 ชั่วโมงต่อวัน หรือประมาณ 14 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งเป็นนอนตอนกลางวัน 4 ชั่วโมง และนอนตอนกลางคืนอีก 10 ชั่วโมง
      • การขับถ่าย จริง ๆ แล้วทารกในวัย 5 เดือนนี้มีการขับถ่ายที่แตกต่างกันไปค่ะ บางวันอาจจะขับถ่าย 3-4 ครั้ง บางวันอาจจะแค่ 1-2 ครั้ง แต่อย่างน้อยที่สุดก็จะขับถ่ายอย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อวัน คอยดูว่าหากทารกไม่ขับถ่ายเลย 1 สัปดาห์ขึ้นไป อาจจะต้องลองพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย
      • การเล่น เด็กวัยนี้เริ่มจะใช้เวลาไปกับการเล่นมากขึ้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องหาเวลาอุ้มลูกไปเดินเล่น หรือพาลูกเล่นของเล่นบ้าง เพื่อฝึกให้ลูกมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ และเห็นสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ด้วย
         

      ไขข้อข้องใจเรื่องทารกวัย 5 เดือนกับ Enfa Smart Club


       ลูก 5 เดือน น้ำหนักตกเกณฑ์ ทำอย่างไรดี

      หากคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกกินนมตามปกติ แต่พบว่าลูกมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยว่าเกิดความผิดปกติใด ๆ หรือไม่

       ลูก 5 เดือนร้องกรี๊ดบ่อย คุณแม่รับมือยังไงดี

      เด็ก 5 เดือนกรี๊ด ถือว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ การที่เด็กกรี๊ดนั้นถือเป็นกระบวนการสื่อสารอย่างหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าเด็กยังไม่สามารถที่จะพูด หรือควบคุมการออกเสียงของตนเองได้ ไม่รู้จักการควบคุมอารมณ์ออกมา ดังนั้น วิธีที่ง่ายที่สุดที่เด็กจะสามารถพยายามสื่อสารเป็นภาษาของตัวเองออกมาได้ ก็คือการเปล่งเสียงกรี๊ดออกมานั่นเอง

      อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะต้องคอยเช็กดูด้วยว่าลูกกรี๊ดเพราะมีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือเปล่า เช่น มีแมลงสัตว์กัดต่อย หรือบาดเจ็บตรงไหนไหม

      มากไปกว่านั้น พยายามไม่ปรากฎตัวเวลาที่ลูกกรี๊ดเร็วเกินไป บางครั้งเด็กสามารถที่จะหยุดกรี๊ดได้ก่อนที่พ่อแม่จะมาถึง การปรากฎตัวทันทีที่ลูกกรี๊ดในทุกครั้ง อาจจะเป็นการปลูกฝังนิสัยการเรียกร้องความสนใจได้ค่ะ เพราะเด็กก็จะซึมซับว่า ถ้ากรี๊ดแล้วพ่อแม่จะมาหา

       ลูก 5 เดือนไม่ฉี่หลายชั่วโมง ผิดปกติหรือไม่

      เด็ก 5 เดือนมักจะมีการขับถ่ายบ่อย ทั้งปัสสาวะและอุจจาระ บางวันอาจจะต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมแทบจะทุกชั่วโมงเลยด้วยซ้ำ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าทารกไม่ค่อยฉี่หลายชั่วโมงติดกัน หรือปัสสาวะขาดช่วง ไม่ต่อเนื่อง ให้พาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นว่าลูกมีความผิดปกติเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ หรืออวัยวะอื่น ๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะหรือไม่

       ลูก 5 เดือนไม่ถ่าย 4 วัน อันตรายไหม

      ทารกวัย 5 เดือนอาจจะถ่ายทุกวัน หรือ 3-4 วันถ่ายครั้งหนึ่ง ยังไม่ถือว่าผิดปกติอะไรค่ะ หากว่าอุจจาระที่ออกมานั้นยังนิ่มอยู่ แต่ถ้าหากทารกไม่ถ่ายเลย 1 สัปดาห์ขึ้นไป หรือถ่ายออกมาแล้วอุจจาระที่ออกมามีความแข็ง หรือเบ่งออกยาก ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์ค่ะ

       5 เดือนยังไม่คว่ำ ผิดปกติไหม

      ทารกจะเริ่มคว่ำได้ตอนอายุ 4-6 เดือนค่ะ ดังนั้นในช่วงเดือนที่ 5 นี้เด็กบางคนอาจจะยังไม่เริ่มคว่ำ แต่ไปเริ่มคว่ำเอาเมื่อเข้าเดือนที่ 6 ก็ได้ค่ะ แต่ถ้าพ้นจาก 6-7 เดือนไปแล้วทารกยังไม่เริ่มคว่ำอีก ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์ทันทีค่ะ

       5 เดือนเอาแต่ใจ งอแง รับมือยังไงดี

      เด็กทารกงอแง ถือเป็นเรื่องปกติค่ะ  บางครั้งเด็กก็อาจจะร้องไห้งอแงเพราะหิว หรือไม่สบายตัว อากาศที่ร้อนไป เย็นไป หรือแมลงสัตว์กัดต่อย กินนมเยอะมากจนเกินไป การนอนคว่ำหน้าลง และอาการไม่สบายตัวต่าง ๆ ก็สามารถให้ทารกร้องไห้งอแงได้

      หรือบางครั้งเด็กอาจจะร้องไห้งอแงเพื่อเรียกร้องความสนใจ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องฝืนใจสักหน่อย ไม่ปรากฎตัวไปทันที เพราะบางครั้งเด็กอาจจะหยุดงอแง และเลิกร้องไห้ไปเอง

      อย่างไรก็ตาม บางครั้งอาการงอแงของทารกก็อาจจะทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนหัวค่ำ หรือกลางคืน แม้ว่าจะให้กินนมแล้ว หรือพยายามแก้ไขหลายวิธีก็แล้ว ทารกก็ยังงอแงอยู่ ต้องใช้เวลาปลอบนานกว่าปกติ กรณีเช่นนี้ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าทารกมีอาการโคลิคค่ะ ซึ่งโคลิคก็ไม่ถือว่าเป็นปัญที่ร้ายแรงนะคะ เมื่อทารกเริ่มโตขึ้นอาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปเองได้ค่ะ

       เพิ่มน้ำหนักลูก 5 เดือนยังไงดี

      หากทารกมีน้ำหนักตัวน้อย สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะทำก่อนที่จะเริ่มหาวิธีเพิ่มน้ำหนักให้ลูก คือควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรงจวินิจฉัยดูก่อนค่ะ ว่าทารกมีความผิดปกติใด ๆ อยู่หรือไม่

      บางครั้งปัญหาอาจมาจากคุณแม่กินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ทำให้ร่างกายมีสารอาหารน้อย ทารกที่กินนมแม่ ก็พลอยได้รับสารอาหารน้อยไปด้วย อาจจะต้องเริ่มจากการที่คุณแม่กินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ทารกได้รับสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างร่างกายให้เติบโตแข็งแรง หรือแพทย์อาจจะแนะนำให้มีการให้นมเสริม เพื่อช่วยให้ทารกได้รับปริมาณแคลอรีที่จำเป็นเพิ่มขึ้นด้วย



      บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

      MFGM เพื่อ IQ ที่เหนือกว่าตั้งแต่ 5 ปีแรก