ลูกอ้วนเกินไปหรือเปล่า

       นับวันอัตราเด็กอ้วนเพราะโภชนาการมากเกินในบ้านเรามีแต่จะเพิ่มขึ้นๆ ทุกปี ภาวะนี้น่าเป็นห่วง ยิ่งกับพัฒนาการของเด็กวัยนี้ ซึ่งถือเป็นวัยเริ่มต้นปลูกฝังพฤติกรรมการกินที่ถูกสุขลักษณะด้วยแล้ว  มีทั้งด้านบวกและด้านลบ  ด้านบวกคือหากคุณแม่ดูแลปลูกฝังเรื่องการบริโภคที่ดีตั้งแต่ต้น ลูกก็จะติดนิสัยดีๆ นี้ไปจนโต แต่หากคุณแม่ชะล่าใจมองข้ามเรื่องอาหารของลูก ยังคงปล่อยให้กินอาหารจังก์ฟู้ด น้ำอัดลม ขนมหวานต่อไปเรื่อยๆ ลูกก็จะติดรสอาหารพวกนี้จนเลิกยาก และในอนาคตก็จะได้ความขี้โรคมาแทน

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

สาเหตุของการเกิดโรคอ้วนในเด็กนั้น มีอยู่ 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ

  1. เรื่องของฮอร์โมนที่ผิดปกติ พบได้ประมาณ 10% ถือเป็นเรื่องของความเจ็บป่วยในร่างกาย

  2. โภชนาการเกิน  พบได้ถึง 90 % เป็นเรื่องความไม่สมดุลของพลังงาน นั่นคือการได้รับพลังงานมากเกินความต้องการของร่างกาย และการเผาผลาญพลังงานมีน้อย เพราะร่างกายใช้พลังงานในกิจวัตรประจำวันน้อย

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเข้าข่ายเด็กอ้วนหรือไม่ มีวิธีคำนวณดังนี้ค่ะ

       อัตราการวัดน้ำหนักว่าเกินเกณฑ์หรือไม่ในผู้ใหญ่ที่เราใช้เรียกว่า "ค่าดัชนีมวลกาย" คือน้ำหนักหารความสูงยกกำลังสอง แต่ในเด็กค่าตรงนี้จะเปลี่ยนแปลงตามอายุ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กจึงใช้สูตรคือ สัดส่วนน้ำหนักจริงต่อน้ำหนักที่ควรจะเป็นตามอายุ หรือตามความสูงแล้วคูณ 100 ถ้าค่าที่ได้เกิน 110 เรียกว่าน้ำหนักเกิน  และหากเกิน 120 เรียกว่าอ้วน

                    น้ำหนักจริงของลูก                     X 100 = ?
น้ำหนักที่ควรจะเป็นตามอายุ หรือตามความสูง 

ตัวอย่างเช่น

21.2 กก.  x 100 = 141.33   ค่าที่ได้นี้ถือว่าอ้วนค่ะ
15 กก.

       ถ้าอัตราการเพิ่มความสูงกับการเพิ่มน้ำหนักเป็นไปในสัดส่วนที่ปกติก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเมื่อไรที่คุณแม่เห็นว่าอัตราการเพิ่มน้ำหนักล้ำหน้า ก็จำเป็นต้องเริ่มใส่ใจดูแลเรื่องอาหาร ปรับเปลี่ยนอาหารให้เหมาะสม พยายามให้ลูกกินอาหารที่มีไขมันน้อย จำพวกผักและผลไม้ หัดให้ลูกดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวาน  เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง อย่างเค้ก น้ำอัดลม เลี่ยงอาหารขยะหรือจังก์ฟู้ดและขนมกรุบกรอบที่อุดมไปด้วยแป้งและไขมัน  ซึ่งเป็นพลังงานไร้คุณประโยชน์ที่กินเข้าไปแล้วร่างกายไม่สามารถเอาไปใช้เป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างเซลล์ เพื่อช่วยให้เจริญเติบโตได้
       อีกข้อที่สำคัญคือ กิจวัตรประจำวันของเด็ก คุณแม่ต้องส่งเสริมให้เด็กเล่นมากๆ มีที่ให้เขาได้เผาผลาญพลังงาน แล้วใส่ใจดูอัตราการเพิ่มของน้ำหนักกับส่วนสูง มีการเฝ้าระวังไปเรื่อยๆ อัตราการเพิ่มน้ำหนักของลูกก็จะลดลงได้ แต่คุณแม่เอาใจใส่อย่างจริงจังค่ะ