คำถามในใจของคู่รักที่วางแผนจะมีลูก หรือคุณผู้หญิงหลายท่านเมื่อประจำเดือนขาด อันดับแรกย่อมหนีไม่พ้น “การตั้งครรภ์” นั่นเอง และการ ตรวจตั้งครรภ์ จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยตอบคำถามนั้นได้

อาจมีผู้หญิงหลายคนที่สับสนว่าควร ตรวจการตั้งครรภ์ ตอนไหนถึงจะได้ผลที่แม่นยำ หรือสงสัยเรื่องการใช้งานที่ตรวจครรภ์ว่า ใช้แบบไหนถึงจะถูกวิธี วันนี้เราจะพาคุณมาทำความเข้าใจไปพร้อมกันค่ะ...เมื่อไหร่ที่ควรทำการ ตรวจการตั้งครรภ์

สัญญาณการตั้งครรภ์ ที่ผู้หญิงควรรู้

หากคุณเริ่มสงสัยว่าตัวเองอาจ ตั้งครรภ์ สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นก่อนได้โดยยังไม่ต้องไปพบแพทย์ ซึ่งอาการที่สามารถตรวจเช็คได้ มีดังนี้

  • ประจำเดือนขาด ถือได้ว่าเป็นสัญญาณเบื้องต้น หากปกติแล้วประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอ แต่จู่ ๆ ขาดหายไปอาจบ่งบอกได้ว่าคุณกำลังตั้งครรภ์

  • คลื่นไส้และอาเจียน เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อย มักมีอาการในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะช่วง 6-12 สัปดาห์ อาการจะรุนแรงมากน้อยต่างกันไป บางคนอาจจะตั้งครรภ์โดยไม่มีอาการเหล่านี้เลยก็ได้

  • คัดตึงเต้านม เกิดจากเลือดไปเลี้ยงบริเวณเต้านมมากขึ้นจนทำให้มีอาการบวม ตึง และมีความไวต่อความรู้สึกคล้ายช่วงมีประจำเดือน

  • อารมณ์แปรปรวน จะมีอาการโกรธ หรือหงุดหงิดง่าย เนื่องจากฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายกำลังเปลี่ยนแปลง

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

4 วิธี ตรวจตั้งครรภ์

เมื่อสังเกตอาการตนเองตามสัญญาณเบื้องต้นแล้วพบว่าเข้าข่าย โดยเฉพาะประจำเดือนที่มาไม่ปกติ สิ่งต่อไปที่ควรทำคือซื้อ ที่ตรวจตั้งครรภ์ มาทำการตรวจด้วยตัวเอง และการตรวจด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งมีวิธี การตรวจตั้งครรภ์ 4 วิธีดังนี้

1. การตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง

ตรวจตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง แบบที่คุณสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง โดยการซื้ออุปกรณ์ หรือชุดทดสอบการตั้งครรภ์จากปัสสาวะที่จำหน่ายอยู่ในร้านค้าทั่วไปหรือร้านขายยา ซึ่งวิธีนี้จะเป็นวิธีทดสอบหาฮอร์โมน hCG (Human Chorionic Gonadotropin) ที่ออกมากับปัสสาวะ โดยเป็นฮอร์โมนที่ถูกสร้างจากรกและบ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ โดยสามารถตรวจพบฮอร์โมน hCG ได้ในปัสสาวะ หลังจากปฏิสนธิไปแล้ว 1-2 สัปดาห์ และจะขึ้นสูงสุดในช่วง 9-12 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ ความแม่นยำของการตรวจวิธีนี้จะมีมากถึง 90 % โดยอุปกรณ์ทดสอบการตั้งครรภ์นี้แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ

  • ชุดตรวจการตั้งครรภ์ แบบแถบจุ่ม อุปกรณ์ชุดนี้จะมีราคาถูก ประกอบไปด้วยแผ่นทดสอบการตั้งครรภ์ และถ้วยตวง (บางยี่ห้อไม่มี) วิธีการใช้คือเก็บปัสสาวะลงในถ้วยตวง แล้วนำแผ่นทดสอบจุ่มลงในถ้วยตวงประมาณ 3 วินาที แล้วนำออกมาจากถ้วยตวงทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีเพื่อรออ่านผลตรวจครรภ์ ข้อควรระวัง คือ อย่าให้น้ำปัสสาวะเลย หรือสูงเกินกว่าขีดลูกศรของแผ่นทดสอบ

  • ชุดตรวจการตั้งครรภ์ แบบปัสสาวะผ่าน มีเพียงแท่งตรวจครรภ์ที่ใช้ในการทดสอบเท่านั้น วิธีการใช้คือ ถอดฝาครอบออกแล้วถือแท่งให้หัวลูกศรชี้ลงพื้น แล้วปัสสาวะผ่านบริเวณที่ต่ำกว่าลูกศรให้ชุ่มประมาณ 30 วินาที จากนั้นรออ่านผลประมาณ 3-5 นาที

  • ชุดตรวจการตั้งครรภ์ แบบหยด หรือแบบตลับ ชุดอุปกรณ์จะประกอบไปด้วยหลอดหยด ตลับตรวจครรภ์ และถ้วยตวงปัสสาวะ ขั้นตอนการใช้ คือ เก็บปัสสาวะลงในถ้วยตวง จากนั้นนำหลอดหยดดูดน้ำปัสสาวะแล้วหยดลงในตลับตรวจครรภ์ประมาณ 3-4 หยด วางตลับทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีแล้วจึงอ่านผลการตรวจ

การอ่านผลการตรวจ
ปกติแล้ว การตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง มักจะทิ้งแผ่นตรวจไว้ประมาณ 5 นาที ไม่ควรทิ้งไว้นานเกินไป เพราะอาจทำให้การอ่านผลคลาดเคลื่อนได้ โดยบริเวณหน้าแสดงผลการตรวจจะมีตัวอักษร 2 ตัวคือ C (Control Line) และ T (Test Line) ซึ่งสามารถอ่านค่าได้ ดังนี้

  • 1 ขีด (ขึ้นที่ขีด C เพียงอย่างเดียว) แสดงว่าได้ผลลบ คือ ไม่มีการตั้งครรภ์ หรือตั้งครรภ์แล้วแต่ยังตรวจไม่พบ

  • 2 ขีด (ขึ้นที่ขีด C และ T) แสดงว่าได้ผลบวก คือ มีการตั้งครรภ์ (หากขึ้นขีดที่ T จาง ๆ ควรรออีก 2-3 วันเพื่อตรวจใหม่ในอีกครั้ง)

กรณีที่ไม่มีขีดใดขึ้นเลยหรือขึ้นเฉพาะขีด T แสดงว่าที่ตรวจครรภ์เสีย หมดอายุ หรือเกิดข้อผิดพลาดในขั้นตอนการเก็บปัสสาวะ ต้องตรวจใหม่อีกครั้ง

2. การตรวจการตั้งครรภ์โดยห้องปฏิบัติการ

การตรวจด้วยวิธีที่เรียกกันว่า “Urine Pregnancy test” หรือ ยูพีที (UPT) คล้าย กับการตรวจด้วยตนเอง แต่จะเป็นแบบจุ่ม (Test Strip) หรือแบบหยด (Pregnancy Test Cassette) โดยเมื่อมาถึง โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่จะให้กระป๋อง เพื่อให้เราเก็บปัสสาวะไปให้ห้องปฏิบัติการที่โรงพยาบาล และให้นักเทคนิคการแพทย์แปลผลให้ โดยทั่วไป ระดับของฮอร์โมน hCG ที่ออกมากับปัสสาวะที่ทำให้ตรวจเจออยู่ที่ 20-25 mIU/ml ทำให้ตรวจได้แม้ระดับฮอร์โมนยังไม่สูงมากนัก

3. การเจาะเลือด ตรวจตั้งครรภ์

วิธีนี้เป็นการตรวจที่ได้ผลแม่นยำที่สุด สามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์หลังจากมีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ในขณะที่บางครั้งการตรวจจากปัสสาวะยังไม่ขึ้นผล แต่ตรวจเลือดอาจได้ผลว่าตั้งครรภ์ เพราะพบฮอร์โมนการตั้งครรภ์แล้ว

การตรวจการตั้งครรภ์ ด้วยวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการตรวจให้รู้แน่ชัดโดยไว เช่น ผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก หรือมีประวัติแท้งบุตร ต้องการข้อมูลเพื่อวางแผนการดูแล ให้ฮอร์โมนเสริมต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแท้งบุตร

4. การตรวจการตั้งครรภ์ด้วยอัลตร้าซาวด์

การตรวจการตั้งครรภ์ ด้วยวิธีนี้ จะเป็นการตรวจด้วยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในช่องท้องและสร้างภาพขึ้นมา ทำการตรวจโดยแพทย์ทั่วไปหรือสูตินรีแพทย์ นอกจากจะช่วยตรวจดูว่ามีการตั้งครรภ์ ยังบอกตำแหน่งการตั้งครรภ์ ตั้งครรภ์แฝดหรือไม่ มีการท้องนอกมดลูกหรือไม่ มดลูกมีก้อนเนื้องอกมดลูก ถุงน้ำ หรือซีสต์รังไข่หรือไม่ นอกจากนี้ หลังอายุครรภ์ 4 เดือนไปแล้ว ยังสามารถตรวจเพศของลูก และคัดกรองความพิการหรือภาวะผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น รกเกาะต่ำ น้ำคร่ำมากหรือน้อยเกินไป ความพิการแต่กำเนิดของทารก เป็นต้น

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Enfa A + Smart Club วันนี้ เราพร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการเตรียมความพร้อมสำหรับคุณแม่มือใหม่โดยผู้เชี่ยวชาญ พร้อมสิทธิพิเศษมากมาย

References