Leaving page banner
 

ฝากครรภ์

ฝากครรภ์จำเป็นไหม ไม่ฝากครรภ์ได้หรือเปล่า?

Enfa สรุปให้

  • การฝากครรภ์ ถือเป็นขั้นตอนสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการตั้งครรภ์อันยาวนานถึง 9 เดือน เพื่อให้แพทย์สามารถติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์ ตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่ยังคงมีสุขภาพที่ดีในระหว่างตั้งครรภ์ และทารกในครรภ์ยังคงแข็งแรงและเติบโตสมวัย

  • การฝากครรภ์ ควรทำทันทีที่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ หรือควรไปฝากครรภ์ตั้งช่วงไตรมาสแรก หรืออายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ เพราะถ้ามีความผิดปกติใดก็สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่อายุครรภ์น้อย ๆ ไม่ควรรอให้มีอายุครรภ์มาก ๆแล้วถึงไป เพราะบางกรณีที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นในอายุครรภ์มาก ๆ อาจจะเสี่ยงอันตรายต่อแม่และเด็กในท้อง และไม่สามารถทำการรักษาได้

  • การฝากครรภ์ ควรเลือกฝากครรภ์กับโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด เพื่อให้สะดวกในการมาฝากครรภ์ และมาพบแพทย์ตามนัด หรือในกรณีที่ฉุกเฉิน จะได้สามารถมาถึงโรงพยาบาลได้ทันเวลา

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ทำไมต้องฝากครรภ์
     • ขั้นตอนการฝากครรภ์
     • ควรฝากครรภ์ตอนไหน
     • ไขข้อข้องใจเรื่องการฝากครรภ์กับ Enfa Smart Club

หลังจากที่พบว่าตั้งครรภ์และร้องไห้ดีใจจนน้ำหูน้ำตาไหลกันถ้วนหน้าแล้ว ขั้นตอนหลังจากความดีใจที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และถือเป็นอีกหนึ่งก้าวแรกที่สำคัญในการตั้งครรภ์ นั่นก็คือการฝากครรภ์ ที่คุณแม่ไม่ควรละเลยหรือมองข้าม

แต่การฝากครรภ์จำเป็นแค่ไหน ไม่ฝากครรภ์ได้หรือเปล่า? ฝากครรภ์มีค่าใช้จ่ายไหม? ฝากครรภ์ราคาเท่าไหร่? ฝากครรภ์ ประกันสังคมจ่ายให้ไหม์ บทความนี้จาก Enfa จะมาตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับการฝากครรภ์กันค่ะ 

ฝากครรภ์สำคัญอย่างไร


การฝากครรภ์ ถือเป็นขั้นตอนสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการตั้งครรภ์อันยาวนานถึง 9 เดือน เพื่อให้แพทย์สามารถติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์ ตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่ยังคงมีสุขภาพที่ดีในระหว่างตั้งครรภ์ และทารกในครรภ์ยังคงแข็งแรงและเติบโตสมวัย 

มากไปกว่านั้น คุณแม่ก็จะได้รับคำแนะนำและข้อปฏิบัติในการดูแลตัวเองในระหว่างตั้งครรภ์อย่างละเอียด โดยคุณแม่สามารถปรึกษาและขอคำแนะนำได้ทุกครั้งที่มีนัด

และที่สำคัญที่สุด การไปฝากครรภ์และไปตามนัดหมายของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ได้ เพราะแพทย์มีการตามติดการตั้งครรภ์อยู่ตลอด ทำให้สามารถที่จะทราบความเสี่ยงและหาวิธีรับมือกับความเสี่ยงนั้นได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ 

ขั้นตอนในการฝากครรภ์


เมื่อทราบผลการตรวจครรภ์แล้ว ในกรณีที่ตรวจการตั้งครรภ์กับแพทย์ แพทย์ก็จะแนะนำให้ทำการฝากครรภ์ได้เลย แต่ในกรณีที่ตรวจการตั้งครรภ์เองที่บ้านโดยใช้ที่ตรวจครรภ์ ก็ควรรีบไปดำเนินการฝากครรภ์กับแพทย์เสียตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยจะมีขั้นตอนทั่วไป ดังนี้ 

  • เลือกสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด เพื่อให้สะดวกในการมาฝากครรภ์ และมาพบแพทย์ตามนัด หรือในกรณีที่ฉุกเฉิน จะได้สามารถมาถึงโรงพยาบาลได้ทันเวลา ซึ่งสามารถเลือกโรงพยาบาลที่สนใจ หรือเลือกตามราคาที่สามารถจ่ายได้ ตลอดจนสามารถตรวจสอบประวัติและประสบการณ์ของแพทย์ที่สนใจและเลือกแพทย์ที่ต้องการจะฝากครรภ์ได้ด้วย 

  • เตรียมเอกสารสำคัญ ได้แก่ บัตรประชาชนขอคุณพ่อและคุณแม่ และเตรียมข้อมูลอื่น ๆ ที่แพทย์จำเป็นต้องรู้ เช่น ประวัติการรักษาโรค ยารักษาโรคที่ใช้อยู่ ข้อมูลการมีประจำเดือน ข้อมูลการตกไข่ เป็นต้น 

  • แพทย์หรือพยาบาลจะซักถามประวัติของคุณแม่เพื่อเก็บเป็นข้อมูล โดยจะถามตั้งแต่ครั้งล่าสุดที่มีประจำเดือน ประวัติการเจ็บป่วยของคุณแม่และสมาชิกในครอบครัว โรคประจำตัว ตรวจครรภ์เมื่อไหร่ มีอาการใด ๆ ก่อนตรวจครรภ์หรือไม่ ไปจนถึงไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิต เช่น เคยสูบบุหรี่หรือไม่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือเสพยาเสพติดหรือไม่ เป็นต้น 

  • แพทย์ทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยเริ่มจากการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดชีพจร ตรวจกรุ๊ปเลือด และตรวจสุขภาพอื่น ๆ เช่น ตรวจภาวะเลือดจาง ภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน เชื้อเอชไอวี HIV เชื้อซิฟิลิส  ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจปัสสาวะ เป็นต้น 

  • สำหรับการตรวจครรภ์ครั้งแรก แพทย์อาจมีการตรวจปัสสาวะ หรือตรวจเลือด เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ มากไปกว่านั้น การตรวจเลือดยังจะช่วยคัดกรองความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ที่อาจส่งต่อไปยังทารกอีกด้วย 

  • ในกรณีที่จำเป็น แพทย์อาจจ่ายยาบำรุงครรภ์ หรือยาที่จำเป็นต่อสุขภาพของคุณแม่ โดยแพทย์จะให้สมุดฝากครรภ์เพื่อใช้สำหรับบันทึกการตั้งครรภ์ และใช้สำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป จากนั้นจึงสามารถกลับบ้านได้ 

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ควรฝากครรภ์ตอนไหน


กรณีที่ตั้งท้องครั้งแรก อาจจะสงสัยว่าควรจะต้องไปฝากท้องกี่เดือน หรือต้องรอให้อายุครรภ์มาก ๆ ก่อนหรือเปล่าจึงจะฝากครรภ์ได้ ที่จริงแล้วควรจะต้องไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุดตั้งแต่ครั้งแรกที่พบว่ามีการตั้งครรภ์ หรืออย่างน้อย ๆ ควรจะเป็นช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ หรืออายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์  

สาเหตุที่ควรไปฝากครรภ์ตั้งช่วงไตรมาสแรก ก็เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของแม่และทารกในครรภ์ เพราะถ้าหากมีความผิดปกติใดก็สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่อายุครรภ์น้อย ๆ  ไม่ควรรอให้มีอายุครรภ์มาก ๆ แล้วถึงไปฝากครรภ์

เพราะบางกรณีที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นในอายุครรภ์มาก ๆ อาจจะเสี่ยงอันตรายต่อแม่และเด็กในท้อง และไม่สามารถทำการรักษาได้ เพราะอาจจะตรวจพบความผิดปกติเมื่อสายไปแล้ว 

ฝากครรภ์ราคาเท่าไหร่

การฝากครรภ์มีราคาที่ต้องจ่ายแตกต่างกันไปตามแต่สถานพยาบาล โดยโรงพยาบาลของรัฐฯ อาจมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 100-500 บาทขึ้นไป ขณะที่โรงพยาบาลเอกชน อาจมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป

บางโรงพยาบาลก็มีการคิดราคาแบบเหมาจ่าย หรือสามารถแบ่งชำระเป็นงวดได้ ราคาก็จะแตกต่างกันไปแล้วแต่สถานพยาบาลนั้น ๆ คุณพ่อคุณแม่สามารถติดต่อหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับสถานพยาบาลที่สนใจได้โดยตรง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่อัปเดตและสอบถามข้อข้องใจอื่น ๆ ได้ 

ฝากครรภ์ที่ไหนดี

การฝากครรภ์ ควรทำกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งก็สามารถเลือกได้ตามความสะดวก หรือตามราคาที่สามารถจ่ายได้ โดยจะเลือกฝากครรภ์โรงพยาบาลรัฐบาล ฝากครรภ์โรงพยาบาลเอกชน หรือจะฝากครรภ์กับคลินิกก็ได้เช่นกัน 

คลินิกฝากครรภ์ได้ไหม หรือต้องฝากครรภ์เฉพาะโรงพยาบาลเท่านั้น

คุณแม่สามารถฝากครรภ์กับคลินิกใกล้บ้านได้ หากสะดวกกว่าการไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล หรือบางกรณีคลินิกอาจจะอยู่ใกล้กว่าโรงพยาบาล และเมื่อถึงเวลาใกล้คลอด แพทย์ก็จะแนะนำโรงพยาบาลตามความเหมาะสมหรือตามความต้องการของคุณแม่ 

ฝากครรภ์ประกันสังคมต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง

กรณีที่ไปฝากครรภ์ เตรียมเพียงแค่บัตรประชาชนของพ่อและแม่ หรือของแม่ก็เพียงพอแล้วสำหรับการฝากครรภ์ แต่ในกรณีที่ต้องการจะใช้สิทธิ์ประกันสังคมก็ควรแจ้งต่อแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อขอใบรับรองแพทย์ หรือใบรับรองการฝากครรภ์ เพื่อใช้เป็นเอกสารในการยื่นขอเบิกค่าฝากครรภ์ 

เบิกค่าฝากครรภ์ใช้เอกสารอะไรบ้าง

กรณีที่ฝากท้องโดยใช้สิทธิ์ประกันสังคม การจะเบิกเงินค่าฝากท้องประกันสังคมนั้น จำเป็นจะต้องชำระเงินไปก่อนล่วงหน้า แล้วจึงมาทำเรื่องเบิกกับประกันสังคมในภายหลัง ซึ่งมีเอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับการขอเบิกเงินค่าฝากครรภ์ ดังนี้ 

  • ใบเสร็จการฝากครรภ์ 

  • ใบรับรองการฝากครรภ์จากแพทย์ หรือใบรับรองแพทย์ หรือสมุดบันทึกการฝากครรภ์ 

  • เอกสารแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนผู้ประกันตน (สปส. 2-01) 

  • บัตรประชาชนตัวจริง 

  • สำเนาสมุดบัญชีธนาคารหน้าแรก 

  • กรณีที่ให้คุณพ่อมาติดต่อเบิกเงินค่าฝากครรภ์ จำเป็นจะต้องเตรียมสำเนาทะเบียนสมรสมาด้วย 

  • กรณีที่คุณพ่อมาติต่อเบิกเงินค่าฝากครรภ์ แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จะต้องนำหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรส  มาด้วย 

โดยสามารถยื่นเรื่องขอรับเงินค่าฝากครรภ์ได้ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ ตามสาขาที่สะดวกหรือใกล้บ้านในเวลาราชการ (ยกเว้นสำนักงานใหญ่กระทรวงสาธารณสุข) 

กรณีที่ไม่สะดวกมาดำเนินการด้วยตนเอง สามารถใช้หนังสือมอบอำนาจ เพื่อให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนได้ 

หรือหากไม่สามารถมอบอำนาจแก่ใครได้ และไม่สามารถมาเองได้ สามารถส่งเอกสารทางไปรษณีย์จ่าหน้าซองถึง..“ฝ่ายสิทธิประโยชน์” สำนักงานประกันสังคมตามที่อยู่ใกล้บ้านได้ 

ซึ่งสามารถเลือกได้ว่าจะรับเป็นเงินสด หรือมอบอำนาจให้ตัวเเทนเข้ามารับได้ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ หรือให้ประกันสังคมโอนเงินค่าฝากครรภ์เข้าบัญชี (5-7 วันทำการ จากวันที่เอกสารได้รับอนุมัติ) 

สมุดฝากครรภ์ขายที่ไหน

เมื่อไปฝากครรภ์ ทางโรงพยาบาลจะมีสมุดฝากครรภ์มาให้เลยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือรวมอยู่ในค่าใช้จ่ายของการฝากครรภ์แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อจากที่อื่น หากสมุดฝากครรภ์หาย ก็ให้รีบแจ้งต่อสถานพยาบาลเพื่อขอเล่มใหม่ 

ไขข้อข้องใจเรื่องการฝากครรภ์กับ Enfa Smart Club


 ฝากครรภ์ต้องให้สามีไปด้วยไหม

ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละครอบครัว บางครอบครัวสะดวกที่จะไปทั้งคู่ ขณะที่บางครอบครัวไม่สะดวก หรือเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ก็สามารถไปฝากครรภ์คนเดียวได้ แต่ในกรณีที่ไปทั้งพ่อและแม่ ก็จะได้รับฟังคำแนะนำดี ๆ จากแพทย์ร่วมกัน 

 โรงพยาบาลฝากครรภ์ฟรีหรือเปล่า

ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละสถานพยาบาล บางโรงพยาบาลอาจมีนโยบายฝากครรภ์ฟรีโดยไม่จำกัดจำนวน หรือฝากครรภ์ฟรีแบบจำกัดจำนวน แต่บางโรงพยาบาลก็จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่าย คุณพ่อคุณแม่สามารถติดต่อสอบถามนโยบายการฝากครรภ์ฟรีได้โดยตรงกับสถานพยาบาลที่สนใจ 

 ควรฝากครรภ์ตอนไหน

ควรไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุดตั้งแต่ครั้งแรกที่พบว่ามีการตั้งครรภ์ หรืออย่างน้อย ๆ ควรจะเป็นช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ หรืออายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สาเหตุที่ควรไปฝากครรภ์ตั้งช่วงไตรมาสแรก ก็เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของแม่และทารกในครรภ์

หากมีความผิดปกติใดก็สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่อายุครรภ์น้อย ๆ  ไม่ควรรอให้มีอายุครรภ์มาก ๆ แล้วถึงไป เพราะบางกรณีที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นในอายุครรภ์มาก ๆ อาจจะเสี่ยงอันตรายต่อแม่และเด็กในท้อง และไม่สามารถทำการรักษาได้ เพราะอาจจะตรวจพบความผิดปกติเมื่อสายไปแล้ว 

 ฝากครรภ์โรงพยาบาลรัฐบาลที่ไหนดี

การฝากครรภ์ ควรทำกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งก็สามารถเลือกได้ตามความสะดวก หรือตามราคาที่สามารถจ่ายได้ โดยจะเลือกฝากครรภ์โรงพยาบาลรัฐบาล ฝากครรภ์โรงพยาบาลเอกชน หรือจะฝากครรภ์กับคลินิกก็ได้เช่นกัน 

 ฝากครรภ์ต้องใช้อะไรบ้าง

การไปฝากครรภ์ เตรียมเพียงแค่บัตรประชาชนของพ่อและแม่ หรือของแม่ก็เพียงพอแล้วสำหรับการฝากครรภ์ แต่ในกรณีที่ต้องการจะใช้สิทธิ์ประกันสังคมก็ควรแจ้งต่อแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อขอใบรับรองแพทย์ หรือมใบรับรองการฝากครรภ์ เพื่อใช้เป็นเอกสารในการยื่นขอเบิกค่าฝากครรภ์ 



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

EFB Form

EFB Form