ด้านสติปัญญาและการเรียนรู้  

สอนลูกจับคู่รองเท้า เรียนรู้รูปทรง

     พัฒนาการของความคิดและสติปัญญาของเด็กวัยนี้เริ่มจะมีความเข้าใจในเรื่องของรูปทรงต่างๆ แล้ว ซึ่งความสำคัญไม่ได้มีแค่สอนด้านภาษาให้เด็กรู้ว่ารูปทรงแต่ละชนิดเรียกว่าอะไร แต่การที่เด็กมองเห็นและเข้าใจความเชื่อมโยงเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า โดยเด็กจะแสดงออกให้เห็นในพฤติกรรมการจับคู่ของใช้หรือสิ่งต่างๆรอบตัวซึ่งมีลักษณะรูปทรงที่คล้ายกันที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น รองเท้าแต่ละคู่  ต้นไม้แต่ละต้น ลูกบอลที่มีขนาดหรือสีสันที่ต่างกันบ้าง สิ่งเหล่านี้มีเรื่องของรูปทรงที่ซ่อนอยู่ แต่เด็กอาจยังไม่มีทักษะมากเพียงพอที่จะเข้าใจความสัมพันธ์นี้ คุณพ่อคุณแม่ควรค่อยๆ ช่วยสอนบอกหรือฝึกหัดให้เด็กสังเกตโดยไม่เน้นการท่องจำ เพื่อนำไปสู่พัฒนาการด้านความคิด จินตนาการและสติปัญญาต่อไป

     โดยอาจจะเล่นเกมจับคู่รองเท้า จับคู่ถุงเท้าที่เขาคุ้นเคย จับคู่ลูกบอลกับแตงโม เป็นการฝึกเขาเรียนรู้เรื่องรูปทรงขั้นพื้นฐาน  เป็นต้น

ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว

ชวนลูกเต้นประกอบเสียงเพลง กระตุ้นกล้ามเนื้อ

     ลูกวัยนี้พร้อมเปิดรับอะไรใหม่ๆ เข้ามาเสมอ หากคุณแม่กำลังมองหากิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมทักษะการเคลื่อนไหวของลูกอยู่ การเต้นประกอบเสียงเพลงจะช่วยพัฒนาลูกได้เป็นอย่างดี 

     คุณแม่ลองหาเพลงที่มีจังหวะสนุกๆ ที่คิดว่าลูกน่าจะชอบ อาจจะเป็นเพลงเกี่ยวกับสัตว์ หรืออวัยวะที่ลูกรู้จัก ก็จะช่วยให้หนูเข้าใจในเนื้อเพลงมากยิ่งขึ้น ควรจะเลือกเพลงที่มีจังหวะชัดเจน โดยคุณแม่อาจจะเต้นนำก่อนและปล่อยให้ลูกเต้นในท่าที่เลือกเอง ทำให้ลูกได้แสดงออกด้วยการเคลื่อนไหวด้วยท่าทางที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของลูกเอง เด็กในวัยนี้ชอบเปลี่ยนท่าทางการเคลื่อนไหวอยู่แล้ว เขาจะกระโดดโลดเต้นไปตามจังหวะท่วงทำนองของเพลงอย่างสนุกสนาน เป็นการส่งเสริมพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่กล้ามเนื้อเล็ก แขน ขา ลำตัว นิ้วมือ และส่วนต่างๆ ของร่างกายให้เคลื่อนไหวไปตามจังหวะดนตรี อีกทั้งเป็นการช่วยพัฒนาให้ลูกมีร่างกายแข็งแรง

     การเต้นประกอบเสียงเพลงนี้ นอกจากจะเสริมทักษะทางการเคลื่อนไหวของลูกแล้ว ยังทำให้ลูกได้ฝึกทักษะการฟัง การจำแนกเสียงต่างๆ เสียงช้า เร็ว ตามจังหวะดนตรี และช่วยให้ลูกมีพัฒนาการด้านสติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ และการแสดงออกอย่างมั่นใจค่ะ

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ด้านภาษาและการสื่อสาร

สอนลูกให้รู้จักบอกความต้องการ

     ลูกน้อยในวัยนี้ อาจมีบางสิ่งบางอย่างที่ลูกรู้สึกหรือต้องการ แต่ไม่รู้จะสื่อสารกับคุณแม่อย่างไร คุณแม่ควรฝึกให้ลูกรู้จักบอกความต้องการของตนเอง โดยช่วยกระตุ้นลูกด้วยคำถามง่ายๆ  เช่น...

            "ลูกคิดอย่างไรกับ เรื่องนี้..."
            "ลูกรู้สึกอย่างไร ลองบอกพ่อแม่สิ..."
            "ลูกต้องการให้เป็นอย่างไร..."
     เมื่อลูกได้บอกความรู้สึกและความต้องการออกมาแล้ว  คุณแม่ควรรับฟังลูกมากๆ ให้เขารู้สึกว่า การพูดบอกเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ และคุณแม่พร้อมที่จะรับฟัง ช่วยคิด หรือแบ่งปันความรู้สึกอยู่เสมอ การสอนให้ลูกรู้จักบอกความต้องการของตัวเองนั้น จะเป็นการช่วยฝึกให้ลูกสามารถพูดได้ว่าต้องการอะไร ชอบหรือไม่ชอบ หรือเมื่อเพื่อนมาแย่งของเล่นแล้วลูกสามารถบอกว่า “อย่าแย่ง” “นี่ของฉัน” “เธอต้องรอก่อน” เป็นต้น

     การสอนให้ลูกบอกความต้องการนั้น นอกจากจะเป็นการฝึกให้เด็กมีทักษะในการสื่อสาร กล้าพูด กล้าบอกสิ่งที่ตัวเองคิดและรู้สึกแล้ว ยังเป็นการสอนให้ลูกบอกความต้องการอย่างสุภาพ ด้วยความเข้าใจกันอีกด้วยค่ะ          

ด้านอารมณ์และสังคม

ฝึกลูกรู้จักเอื้อเฟื้อแบ่งปัน

     การหวงของเล่นนั้นเป็นพฤติกรรมปกติของเด็กวัยนี้ค่ะ เพราะเขายังไม่รู้จักการแบ่งปัน ซึ่งคุณแม่ควรสอนและเป็นแบบอย่างที่ถูกต้องให้กับลูกค่ะ

     ลูกมักจะจดจำและเลียนแบบพฤติกรรมที่เห็นจากคนใกล้ตัว คุณแม่จึงควรสอนลูกให้รู้จักการแบ่งปันทุกครั้งที่มีโอกาสรวมทั้งควรสื่อสารกับลูกในขณะที่แสดงให้ลูกเห็นด้วย เช่น ก่อนจะแบ่งขนมให้ลูกชิม ก็อาจพูดว่า “ขนมของคุณแม่อร่อยมากเลย ลองชิมขนมของคุณแม่มั้ยคะลูก คุณแม่แบ่งให้นะคะ” 

     แม้จะสอนเรื่องการแบ่งปัน แต่คุณแม่ควรสอนให้เขารู้จักสิทธิ์ในของๆ เขาด้วย ยกตัวอย่างเช่น ของเล่นที่เป็นของลูกก็ต้องให้ลูกรู้ว่าของเล่นชิ้นนั้นเป็นของเขาและเขามีสิทธิ์ในของชิ้นนั้น  ถ้าลูกกำลังเล่นของเล่นชิ้นหนึ่งอยู่ ก็มีเพื่อนของลูกเข้ามาและอยากจะเล่นของเล่นชิ้นนั้นบ้าง สิ่งที่คุณแม่ควรทำก็คือ สอนให้ลูกรู้ว่าของเล่นนั้นเป็นของลูก อยากจะเล่นให้เสร็จก่อนแล้วค่อยแบ่งให้เพื่อนเล่นก็ได้ หรือว่าลูกอยากจะเล่นด้วยกันกับเพื่อนก็ได้ และก็ควรบอกเพื่อนของลูกด้วยเหตุผลเดียวกัน

     แต่สิ่งที่คุณแม่ไม่ควรทำก็คือการบังคับให้ลูกเอาของชิ้นนั้นให้เพื่อนเล่นในทันที เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกสับสนในเรื่องความเป็นเจ้าของ และมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องในเรื่องการแบ่งปัน รวมทั้งไม่ควรลงโทษลูกหากลูกไม่แบ่งของให้คนอื่น  ดังนั้นคุณแม่ต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ สอนลูกอย่างค่อยเป็นค่อยไป  ช่วงแรกๆ ลูกอาจแบ่งของเล่นให้เพื่อนเพราะได้รับคำชมจากคุณแม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปลูกน้อยจะเริ่มทำสิ่งนี้ด้วยความเคยชิน จะรู้สึกอยากแบ่งปันเพราะทำแล้วมีความรู้สึกที่ดีเกิดขึ้น  รวมทั้งรู้สึกสนุกกับการมีเพื่อนเล่นอีกด้วยค่ะ