ด้านสติปัญญาและการเรียนรู้

เล่นจัดหมวดหมู่ เพิ่มพัฒนาการทางสมองของลูก

     ลูกวัย 2-3 ขวบนั้น พัฒนาการของเขารุดหน้ามาก เขาสามารถแยกความแตกต่างของสิ่งของได้แล้ว ว่าสิ่งไหนเหมือนหรือต่างกัน สิ่งไหนเรียกว่าอย่างไร มีวิธีการเล่น การหยิบจับอย่างไร รวมทั้งเรื่องของขนาด สี และรูปทรง ฯลฯ

     กิจกรรมง่ายๆ ที่คุณแม่สามารถช่วยฝึกสมองด้านการคิดวิเคราะห์และความจำผ่านการจัดหมวดหมู่ ให้ลูกได้ เช่น ฝึกเขาจัดหมวดหมู่ของสิ่งต่างๆ ตามขนาด รูปทรง และสี ของสิ่งของต่างๆ โดยอาจนำของที่เป็นทรงกลม และทรงสี่เหลี่ยม สีสันต่างๆ มาใส่รวมกันในกล่องแล้วให้เขาแยกแยะว่าของชิ้นใดเป็นทรงกลม ทรงเหลี่ยม สีอะไร เล็กหรือใหญ่ แล้วให้วางของที่เหมือนกันไว้ด้วยกัน หรือเรียงลำดับตามขนาดจากใหญ่ไปหาเล็ก หรือใส่สิ่งของลงไปในถุงโดยที่ลูกไม่เห็น แล้วให้ลูกจับและทายว่าของชิ้นนั้นคืออะไร มีลักษณะอย่างไร เป็นต้น

     นอกจากนี้ การฝึกลูกให้เก็บของเล่นหลังเล่นเสร็จ โดยมีชั้น ตะกร้า ใส่ของตามหมวดหมู่ที่แยกให้เห็นชัด จะช่วยพัฒนาความจำ และวินัยให้ลูกได้อย่างเป็นธรรมชาติค่ะ 

ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว         

สนุกเคลื่อนไหวในตะกร้าผ้า     

     คุณแม่ที่ไม่รู้ว่าจะหาอะไรมาเล่นกับลูกวัยซน  ขอแนะนำ “ตะกร้าใส่ผ้า” อุปกรณ์ที่มีกันอยู่ทุกบ้าน ที่เราสามารถนำมาพลิกแพลงเป็นเครื่องเล่นแสนสนุก เพื่อพัฒนาการเคลื่อนไหวและกล้ามเนื้อให้กับลูกน้อยวัยนี้ได้ง่ายๆ

     อุปกรณ์ : ตะกร้ารูปทรงต่างๆ, ผ้าขนหนู, หมอนนุ่มนิ่ม, เชือก

  • กิจกรรมตะกร้าแกว่งไกว  - คุณแม่พับผ้าขนหนูรองก้นตะกร้าทรงลึก (ที่เมื่อเกาะยืนแล้วขอบตะกร้าอยู่ระดับเดียวกับศีรษะลูก) จับลูกลงนั่งในตะกร้า แล้วบอกลูกให้เตรียมตัว ตะกร้าจะบินแล้ว จากนั้นก็จับตะกร้าขึ้น แกว่งไปทางซ้ายทีทางขวาที...แค่นี้ลูกก็ได้เสียวและสนุกแล้ว
  • ตะกร้าโยกเยก   - ทำวิธีเดียวกับแบบแรก แต่เปลี่ยนจากการแกว่งเป็นการโยกตะกร้าไปมาแทน โดยอาจจะให้ลูกนั่ง หรือยืนเกาะขอบตะกร้าก็ได้ เวลาโยกก็พูดไปด้วยว่า ไปทางซ้าย ไปทางขวา มาข้างหน้า ไปข้างหลัง เพื่อลูกจะได้เรียนรู้ทิศทางไปด้วย หรืออาจจะเติมจินตนาการด้วยสถานการณ์จำลองแผ่นดินไหว ให้ลูกได้สั่นสนุกกันแบบพอหอมปากหอมคอก็ได้
  • ตะกร้า..ลากจูง  - คุณแม่หาเชือกมาผูกไว้ที่หูตะกร้าทรงสี่เหลี่ยมแบบตื้น พับผ้าขนหนูรองพื้นตะกร้าไว้ หรือจะหาหมอนนุ่มนิ่มรองหลังต่างพนักพิงให้ลูก โดยให้ลูกนั่งจับขอบตะกร้าไว้ แล้วคุณพ่อคุณแม่ค่อยๆ ลากตะกร้าให้เคลื่อนไปอย่างช้าๆ สมมุติว่าตะกร้าคือเรือที่กำลังแล่นอยู่บนสายน้ำ หรือรถที่กำลังเคลื่อนไปบนท้องถนน จากนั้นก็ใส่เรื่องราวตามแต่จะจินตนาการได้เลยค่ะ 
สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ด้านภาษาและการสื่อสาร

พัฒนาการสื่อสารให้ลูกด้วย...การเล่นแนะนำตัวเอง

     ลูกวัยนี้ใกล้ไปโรงเรียนแล้ว เพื่อให้ลูกมีทัศนคติที่ดีกับการไปโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรชวนลูกพูดคุยเรื่องไปโรงเรียน เตรียมพร้อมทักษะต่างๆ ที่เขาต้องใช้เมื่อไปโรงเรียน การเล่น “แนะนำตนเอง” ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาให้ลูก เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการไปโรงเรียนได้  ให้คุณพ่อคุณแม่พูดทักทายลูก เช่น “สวัสดี หนูชื่ออะไร”  ให้ลูกตอบคำถามด้วยการแนะนำชื่อและนามสกุลของตัวเองกลับบ้าง

     เด็กวัยนี้ส่วนใหญ่จะสามารถพูดคุยรู้ เรื่อง คนอื่นแม้ไม่คุ้นเคยมักเข้าใจในสิ่งที่เด็กพูดได้ เด็กอาจพูดไม่ชัดบ้างบางคำ แต่โดยรวมแล้วคนใกล้ชิดฟังเข้าใจได้  การชวนลูกพูดคุยเรื่องไปโรงเรียน การทักทายลูก เช่น “สวัสดี หนูชื่ออะไร”  ให้ลูกตอบคำถาม เช่น การแนะนำชื่อและนามสกุลของตัวเองนั้น เป็นการเตรียมพร้อมลูกที่ดี ทั้งในด้านความคิดและสติปัญญาในการที่เขาจะต้องฟังคำถามให้เข้าใจและคิดหาคำ ตอบในคำถามนั้นๆ ซึ่งนั่นหมายถึงว่าลูกจะต้องมีพัฒนาการทางภาษามากพอที่จะสามารถบอกชื่อนาม สกุลของตัวเองได้

     อย่าลืมนำไปเล่นกับลูกนะคะ เพื่อพัฒนาการสื่อสารของเขาให้งอกงามค่ะ

ด้านอารมณ์และสังคม                         

เคล็ดลับสอนลูกเรียนรู้มารยาททางสังคม

     แม้ว่าลูกวัย นี้จะชอบต่อต้าน  แต่ก็เป็นวัยแห่งการเริ่มต้นสอนหลายสิ่งหลายอย่างให้กับเขาได้ด้วยเช่นกัน เช่น การสอนให้ลูกเรียนรู้มารยาททางสังคมว่า สิ่งไหนดี ไม่ดีอย่างไร สิ่งไหนควรทำไม่ควรทำอย่างไร

     หลายครั้งที่เด็กๆ มักแสดงอาการก้าวร้าวออกมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร เมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนั้น  ผู้ใหญ่ต้องบอกเขาค่ะ  เช่น เมื่อลูกเริ่มทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม เช่น ตี หรือแย่งของเล่นเพื่อน ให้พาลูกออกมาจากพื้นที่ตรงนั้นอย่างใจเย็น แล้วค่อยๆ บอกกับลูกว่า หนูไปแย่งของเล่นเพื่อนแบบนี้ไม่ได้นะคะ แม่ว่า หนูควร “ขอโทษ” เพื่อน แล้วบอกเพื่อนว่า “ขอยืมเล่นได้ไหม” โดยมีคุณเป็นตัวกลางคอยสานสัมพันธภาพ และการ “แบ่งปันของเล่นกัน” ในครั้งนี้

     หนูน้อยวัยนี้ชอบเลียนแบบ การที่เราหมั่นพูด คำว่า “ขอโทษ” “ขอบคุณ” ให้ลูกได้ยินบ่อยๆ ได้เห็นการกระทำของเราเป็นต้นแบบ เขาจะสามารถทำตามได้อย่างว่าง่าย 

     เทคนิคง่ายๆ ที่จะช่วยให้ลูก พูดคำว่า “ขอ” และ “ขอบคุณ” ได้อย่างคล่องปาก คือในชั่วโมงแห่งการเล่น คุณแม่อาจหยิบของเล่นมาสักชิ้น แล้วชูไปมา ลูกจะทำท่าอยากได้ไปเล่น ก็ให้คุณแม่พูดซ้ำๆ ย้ำๆ กับเขาบ่อยๆ ว่า “ขอหนูเล่นหน่อย” ขอบคุณครับ/ ขอบคุณค่ะ”  ไม่นาน เมื่อเขาต้องพบกับสถานการณ์แบบนี้ เขาก็จะปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสม และเมื่อเขาทำได้ คุณแม่ต้องไม่ลืมเสริมแรงด้วยการพูดชมเชยลูกด้วยว่า “หนูเก่งมากค่ะลูก” ด้วยค่ะ