ฉลาดเรียนรู้

ฉลาดเรียนรู้เรื่องอวัยวะ

       การสอนเรื่องอวัยวะ เป็นเรื่องที่เด็กควรเรียนรู้มากกว่าการรู้จักคำเรียกเพียงอย่างเดียว คุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักอวัยวะต่างๆ เพื่อรู้จักวิธีการดูแลสุขภาพของตนเองและใช้อวัยวะอย่างเหมาะสม ซึ่งคุณแม่อาจจะอธิบายเกี่ยวกับอวัยวะส่วนต่างๆ และควรสอนโดยชี้ชวนให้เห็นประโยชน์ของอวัยวะแต่ละส่วน

       เมื่อลูกรู้จักอวัยวะของตนเองแล้ว จะทำให้ลูกได้เรียนรู้การเรียกชื่ออวัยวะได้ถูกต้อง เรียนรู้การสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างเข้าใจตรงกัน  รู้จักการแสดงออกทางสังคมโดยการใช้อวัยวะแต่ส่วนเหมาะสม  และรู้จักปกป้องอวัยวะของตนจากการถูกทำร้ายได้ เด็กจะเริ่มเรียนรู้ความแตกต่างทางสรีระภายนอกระหว่างเด็กหญิงและเด็กชาย ซึ่งคุณแม่อาจจะต้องตอบคำถามข้อสงสัยลูกหลายข้อ ซึ่งควรใช้วิธีพูดคุยมากกว่าตอบอย่างเดียว ลูกจะเข้าใจได้มากกว่า และต่อไปลูกจะเริ่มใจและสังเกตได้เมื่อมีใครมาแสดงท่าทีทางเพศที่ไม่เหมาะสม ลูกจะรู้จักวิธีการหลีกเลี่ยงหรือร้องขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ต่อไป

 

ฉลาดเคลื่อนไหว

ชวนลูกเล่นเพื่อส่งเสริมการทำงานของมือและตา

       เด็กวัยอนุบาลนั้น มักชอบงานปั้นๆ วาดๆ ซึ่งต้องอาศัยทักษะการทำงานประสานกันของมือและตาที่พัฒนามากขึ้นในวัยนี้ อย่างการปั้นแป้งโดหรือปั้นดินน้ำมัน  นอกจากนี้ เพราะลูกเข้าโรงเรียนอนุบาลแล้ว จึงมีกิจกรรมต่างๆ มากมายที่โรงเรียนจัดให้เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ของลูก โดยเฉพาะกิจกรรมที่ต้องอาศัยการทำงานประสานกันของมือและตา และกล้ามเนื้อมัดเล็กอย่างกล้ามเนื้อมือ อย่างกิจกรรมร้อยลูกปัด ร้อยเชือก ตัดกระดาษ ประดิษฐ์ของเล่นจากเศษกระดาษและเศษผ้า  ฯลฯ
       เมื่ออยู่บ้าน เราก็สามารถส่งเสริมให้ลูกเล่นกิจกรรมเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นอย่างอิสระโดยไม่ไปกำหนดหรือออกคำสั่งว่าต้องทำอะไร เป็นการกระตุ้นให้เด็กคิดเอง หาวิธีลองทำเอง หาวิธีแก้ปัญหาที่พบด้วยตัวเองโดยคุณพ่อคุณแม่อาจช่วยสนับสนุนบ้างให้รู้จักวิธีปั้นหลายรูปแบบ หลายวิธี ให้ลูกมองเห็นว่าการแก้ปัญหาหนึ่งสามารถมีได้หลายคำตอบ ฝึกลูกให้มีความสามารถที่จะคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นการฝึกให้ลูกมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์นั่นเอง โดยคำชมเชยของคุณพ่อคุณแม่เป็นสิ่งที่สนับสนุนให้เด็กมีความมั่นใจ กล้าที่จะแสดงออกในการทำสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น 
       นอกจากนี้  กิจกรรมที่ส่งเสริมการทำงานของมือและตาที่คุณพ่อคุณแม่ดังกล่าวข้างต้นนั้น ยังสามารถต่อยอดไปสู่การช่วยเหลือตัวเองของเขาต่อไปด้วย เช่น กิจกรรมร้อยเชือก ร้อยลูกปัด  ซึ่งจะต่อยอดสู่การร้อยเชือกรองเท้าของเขาเอง  การฝึกติดกระดุม ซึ่งนำไปสู่การหัดแต่งตัวติดกระดุมเองต่อไป  หากได้ฝึกบ่อยๆ เมื่อลูกอายุ 6 ปี  เขาจะสามารถผูกเชือกรองเท้า ช่วยเหลือตัวเองได้ และเขาจะใช้กล้ามเนื้อมือได้ดี ซึ่งส่งผลต่อการเขียนของเขาต่อไป

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ฉลาดสื่อสาร

เล่านิทาน เพิ่มทักษะการสื่อสารและจินตนาการ

       การเล่านิทานให้ลูกฟัง เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการกระตุ้นประสาทสัมผัสและการเรียนรู้ในเด็กสูงมาก เสียงจากการอ่านหนังสือหรือการเล่น จะกระตุ้นประสาทการได้ยินช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่จะสื่อสารและเกิดภาษาพูดจากคำพูดที่เด็กได้ยิน ได้ฟัง ภาพและตัวอักษรจะกระตุ้นการมองเห็นเกิดการจำภาพหรือตัวอักษรได้ ทำให้เกิดภาษาอ่าน
       เมื่อคุณแม่เล่านิทานให้ลูกฟังอย่างตั้งใจ บวกกับมีการวิเคราะห์เรื่องราวที่กำลังเล่าให้ลูกฟังนั้น เป็นการพัฒนาคำศัพท์ ความเข้าใจ เพิ่มสมาธิ และเปิดมุมมองและโลกทางจินตนาการของลูกให้กว้างขึ้น ซึ่งการฟังเป็นพื้นฐานของพัฒนาการทางภาษา การที่ลูกจะอ่านและเขียนเกิดจากการฟังทั้งสิ้น ดังนั้นในขณะที่คุณแม่เล่านิทานให้ลูกฟัง คุณแม่ก็กำลังปูพื้นฐานที่สำคัญแก่ลูก หลังจากที่ลูกฟังนิทาน ไม่นานลูกก็จะเริ่มแต่งเรื่องขึ้นมาเอง และเริ่มมีจิตนาการและสื่อสารออกมาให้คุณแม่ทราบต่อไป
       นอกจากนี้ การเล่านิทานยังจะช่วยเพิ่มพูนทักษะทางการสื่อสารของลูก โดยลูกจะเรียนรู้การแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง และน้ำเสียงผ่านการเล่าเรื่อง การฝึกให้ลูกเล่าเรื่องจะช่วยพัฒนาทักษะการพูดและส่งเสริมความมั่นใจให้แก่ลูกค่ะ

ฉลาดด้านอารมณ์

หนังสือภาพ...สอนลูกเรียนรู้อารมณ์

       การเลี้ยงลูกให้มีความฉลาดด้านอารมณ์นั้น ในทุกวันคุณแม่ควรหาเวลานั่งอ่านหนังสือให้ลูกฟัง อาจจะให้ลูกนั่งตักและกอดเขาไว้ นอกจากลูกจะได้ยินเสียงจากคุณแม่ ยังจะเห็นภาพที่อยู่ในหนังสือ เขาจะรับรู้ได้ว่าสิ่งที่แม่กำลังอ่านหรือดูอยู่นั้น หน้าตาเป็นอย่างไร คุณแม่อาจชี้ภาพของคนในหนังสือที่มีใบหน้าอารมณ์แตกต่างกัน เช่น ภาพคนยิ้ม พร้อมบอกลูกว่าหน้าตาแบบนี้เขากำลังอารมณ์ดี หรือภาพคนที่ร้องไห้ บอกลูกว่าหน้าตาแบบนี้กำลังเสียใจอยู่ หรือภาพคนหัวเราะ แสดงว่าเขากำลังสนุกสนาน ลูกจะได้เรียนรู้ว่าหน้าตาหรือท่าทางที่แม่ชี้ให้ดูนั้นแสดงถึงอารมณ์ใด
       เมื่อลูกได้เรียนรู้จากภาพในหนังสือแล้ว ต่อไปเมื่อลูกได้เห็นสีหน้าหรือท่าทางจากคนรอบข้างตัวในชีวิตจริง ลูกจะรับรู้ได้ว่าสีหน้าแบบนี้อยู่ในอารมณ์ใด  และเขาจะเรียนรู้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรกับคนๆ นั้น โดยเฉพาะกับคุณแม่ที่ลูกได้ใกล้ชิดมากที่สุด ลูกจะเรียนรู้ความรู้สึกสีหน้าจากคุณแม่ได้เร็วกว่าสีหน้าของคนอื่นค่ะ