ฉลาดเรียนรู้

ฉลาดเรียนรู้จาก Bubble ฟองสบู่

       การเล่นฟองสบู่ หรือ Bubble เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ที่สร้างความเพลิดเพลินให้เด็กๆ ไม่น้อย โดยเฉพาะช่วงเวลาอาบน้ำ ที่เด็กๆ มักจะชอบเทสบู่ใส่อ่าง แล้วตีจนเกิดฟอง ช้อนฟองมาเป่าเล่น หรือใช้หลอดมาเป่าให้เกิดฟอง เป็นที่สนุกสนานครื้นเครง

       สิ่งที่ลูกได้จากการเล่นฟองสบู่ไม่เพียงความสนุกเท่านั้น หากยังมีสาระที่ซ่อนอยู่ในกิจกรรมการเล่นนี้ด้วย นั่นคือ กระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ ที่เริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่า เกิดฟองสบู่ได้อย่างไร ทำไมฟองสบู่ถึงลอยได้ ทำไมเอามือแตะแล้วมันแตก ฯลฯ รวมไปถึงการเรียนรู้ที่จะเป่าฟองสบู่ โดยค่อยๆ ผ่อนลมหายใจ เพื่อไม่ให้มันแตกโพละกลางคัน ซึ่งแน่นอนว่า เด็กๆ ต้องมีสมาธิจดจ่อ ได้ใช้ความอดทน ลองผิดลองถูก เพื่อสร้างสรรค์ฟองสบู่ออกมาให้สำเร็จ ซึ่งนั่นหมายความว่า สมองของลูกต้องทำงานตลอดเวลาเช่นกัน เมื่อสมองมีการทำงาน การเรียนรู้ของลูกก็เกิดขึ้นค่ะ 

 

ฉลาดเคลื่อนไหว

ฉลาดเคลื่อนไหวจากการปีนป่าย

       ลูกวัยนี้เป็นมือวางอันดับหนึ่งในการปีนป่าย นั่นก็เพราะพัฒนาการของกล้ามเนื้อมีมากขึ้น เขาจะฝึกการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้พร้อมสำหรับพัฒนาการต่อไป  อีกทั้งเด็กวัยนี้ยังไม่เข้าใจและไม่รู้ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเขา ซึ่งหมายความว่าคุณแม่ต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยในขณะที่เขาเล่นอย่างใกล้ชิด แทนที่คุณแม่จะคอยห้ามโน่นห้ามนี่ตลอดเวลา เพราะกลัวลูกจะเป็นอันตราย ควรที่จะหันสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ให้เขาดีกว่า เช่น การจัดเวลาสำหรับการปีนป่ายไว้โดยเฉพาะ ให้เขาได้ใช้พลังงานอย่างถูกที่ถูกทาง อยากไต่บันได เล่นชิงช้า  ปีนป่ายเครื่องเล่นก็พาไปเล่นในสวนค่ะ
       การปีนป่ายของลูกนั้น นอกจากความสนุกแล้ว ยังจะช่วยทำให้อวัยวะส่วนต่างๆ ของลูกได้เคลื่อนไหว ทั้งกล้ามเนื้อแขน ขา และลำตัวได้ออกแรง รวมถึงการที่ลูกจะได้เรียนรู้การใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ในการเคลื่อนไหวไปยังทิศทางที่ต้องการด้วยค่ะ เด็กที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายอยู่บ่อยๆ กล้ามเนื้อก็ถูกใช้บ่อยๆ ซึ่งส่งผลดีต่อพัฒนาการของเด็กทางด้านร่างกายค่ะ

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ฉลาดสื่อสาร

ชวนลูกอ่าน...พัฒนาการสื่อสารให้ลูกน้อย

       ผลวิจัยจากต่างประเทศพบว่า การอ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกวัน เพียงวันละ 5-15 นาที ทำให้สมองของเด็กพัฒนาถึง 70 % นอกจากนี้ การอ่านยังช่วยพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร และสร้างจินตนาการที่สำคัญสำหรับเด็กๆ อีกด้วยค่ะ
       การที่คุณแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังบ่อยๆ โดยเฉพาะการอ่านนิทานนั้น คุณแม่สามารถเสริมจินตนาการด้วยท่าทาง น้ำเสียง ซึ่งทำให้เรื่องราวมีความน่าสนใจและสนุกยิ่งขึ้น ควรสังเกตว่าลูกชอบหรือสนใจสิ่งใดหรือเรื่องใดเป็นพิเศษ แล้วเชื่อมโยงเข้ากับการอ่าน นอกจากความประทับใจแล้ว ยังอาจสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกได้อีกทาง อย่าลืมสอดแทรกการอ่านเข้ากับกิจวัตรประจำวัน เช่น การชี้ชวนให้ลูกอ่านป้าย ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ หรือเมนูอาหารก็ได้ค่ะ
       การอ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกวัน วันละนิด ลูกจะเกิดความคุ้นชิน ทำให้ลูกมีทักษะในการสื่อสารดีมากขึ้น ได้รู้จักศัพท์ใหม่ๆ จากที่คุณแม่อ่าน รวมถึงการพูดที่ถูกต้อง นอกจากนี้การได้เห็นคุณแม่อ่านหนังสือทุกวันจะทำให้ลูกคุ้นชินและอยากเขียนได้และอ่านออกเหมือนคุณแม่ด้วยค่ะ ที่สำคัญการอ่านนำมาซึ่งพัฒนาการ 360° อัจฉริยะรอบด้านของลูกค่ะ  

ฉลาดด้านอารมณ์

วิธีรับมือลูกน้อยจอมต่อต้าน

       วัยนี้เริ่มเป็นตัวของตัวเอง อยากทำอะไรด้วยตัวเองมากขึ้น จึงไม่อยากให้พ่อแม่ทำให้เขาทั้งหมด แต่ด้วยความสามารถของวัยนี้ก็ยังต้องพึ่งคุณแม่อยู่ บางครั้งก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้นในใจ จึงเริ่มเกิดการต่อต้านขึ้น การเลี้ยงลูกวัยนี้ คุณแม่ไม่ควรหงุดหงิดและอย่าพยายามควบคุมลูกไปทุกอย่าง เพราะจะยิ่งเป็นการฝืนความต้องการของลูก ลูกก็จะยิ่งร้องไห้ โวยวาย ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ จนกลายเป็นเด็กอารมณ์ร้าย แต่ควรใช้วิธีเปิดโอกาสให้ลูกได้คิดและจัดการกับอารมณ์ของเขาเอง
       ขั้นแรกอาจใช้การเตือนไปก่อน เพื่อให้ลูกได้ปรับตัวและเตรียมใจกับอารมณ์โกรธ เช่น ในขณะที่ลูกกำลังเล่นอยู่ ให้บอกลูกว่า “อีก 10 นาที แม่จะพาไปอาบน้ำหรือกินข้าวแล้วนะ” เมื่อพูดจบ ลูกอาจจะแสดงอาการต่อต้านออกมา ก็ปล่อยให้เขาได้ระบายความรู้สึก ทิ้งระยะสักพักจึงเข้าไปบอกกับลูกด้วยท่าทีที่สงบและใช้คำที่สั้นกระชับ เช่น “แม่รู้ว่าลูกกำลังสนุก แต่ตอนนี้เป็นเวลาที่ต้องอาบน้ำ ลูกก็ต้องไปอาบน้ำค่ะ” การพูดคุยกับลูกแบบนี้ ยังเป็นการสอนให้ลูกเรียนรู้วิธีจัดการอารมณ์เวลาที่ไม่พอใจ ซึ่งควรใช้วิธีการพูดดีกว่าการแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีออกมา  และสุดท้ายต้องพาลูกไปอาบน้ำพร้อมกับอธิบายว่า แม่จะพาลูกไปอาบน้ำแล้ว โดยอาจยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้ลูกเห็น เช่น “ดูสิ พี่ ๆ ก็อาบน้ำกันทั้งนั้น” เด็กวัยนี้มักชอบที่จะเลียนแบบ ลูกก็จะสนุก ให้ความร่วมมือและลดการต่อต้านลงค่ะ
       อีกเคล็ดลับคือ การให้ทางเลือกแก่ลูก ถ้าได้มีโอกาสตัดสินใจเอง เด็กจะรู้สึกว่าตนควบคุมสถานการณ์ได้ วิธีให้ทางเลือกแก่ลูก เช่น "หนูจะให้แม่พาไปอาบน้ำ หรือจะให้พ่อพาไปคะ" เมื่อลูกได้เลือก จะไม่ค่อยรู้สึกว่าถูกบังคับ  การที่คุณแม่ควบคุมลูกทุกอย่าง ไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้คิดและตัดสินใจเองเลย จะไม่เกิดผลดีกับลูก เพราะลูกจะกลายเป็นเด็กไม่อยากคิด ตัดสินใจเองไม่ได้ และจะไม่มีความมั่นใจในตัวเอง จนไม่สามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้ ถ้าพ่อแม่ใช้อารมณ์รุนแรงกับลูก ก็มีแนวโน้มที่ลูกจะเป็นเด็กก้าวร้าว ระบายอารมณ์ด้วยการทำร้ายผู้อื่น เพราะลูกไม่รู้วิธีจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง และเคยเห็นแบบอย่างของอารมณ์ที่รุนแรงจากพ่อแม่ด้วยค่ะ