ฉลาดเรียนรู้

สมาธิ ความจำ กับการเรียนรู้ของเด็ก

       ความจำไม่ใช่การท่องจำ แต่คือความสามารถในการดึงข้อมูลที่เก็บไว้มาใช้ เมื่อเด็กมีสมาธิจดจ่อต่อการรับและเก็บข้อมูล เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้ข้อมูลเหล่านั้น ข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ในระบบความจำจะถูกเรียกกลับมาใช้ได้

       การที่เราเรียนรู้และพัฒนาทักษะบางอย่างในแต่ละช่วงวัยนั้น เกิดมาจากการใช้ความจำก่อนที่ลูกน้อยจะสามารถใช้ความจำของเขาได้ ต้องเริ่มที่การเก็บข้อมูลไว้ในระบบความทรงจำก่อน ดังนั้นเมื่อจะให้ลูกเรียนรู้หรือจำเรื่องใด พยายามดึงความสนใจของลูกให้มีสมาธิและจดจ่ออยู่กับของสิ่งนั้นตั้งแต่เริ่มแรกผ่านทุกๆ ประสาทสัมผัส และเด็กๆ จะเก็บความจำต่อเรื่องต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเขาอยู่ในอารมณ์ที่เป็นบวก เช่น มีความสุข สนุก อบอุ่น เป็นต้น
       ความจำมีจุดเริ่มต้นมาจากสมาธิ การสังเกต และการเชื่อมโยงกับเหตุการณ์หรือสิ่งต่างๆ ที่น่าสนใจ สนุก น่าตื่นเต้น เด็กก็จะจำได้ดี เช่น หากต้องการสอนลูกเรื่องนก ก็ร้องเพลง “นกร้องจิ๊บๆ” ให้ลูกฟัง (เป็นการจำเสียงและจำคำ) โชว์ภาพนก (รวมความจำภาพเข้าไปด้วย) และชวนลูกแสดงท่าประกอบตามเพลงด้วย เช่น ทำท่าบินของนก  (ความจำท่าทางการเคลื่อนไหว) หากจบลงด้วยการพาลูกไปดูนกจริงๆ ชนิดต่างๆ ลูกได้เห็นภาพ ได้ยินเสียง ความจำเกี่ยวกับ “นก” ก็จะสนิทแน่นเป็นความจำระยะยาว เป็นต้น
       เด็กที่มีสมาธิดีจะมีความจำดี เพราะสามารถเก็บเกี่ยวข้อมูลต่างๆ เข้าไปเก็บในสมองได้มาก เพราะฉะนั้นหากต้องการให้ลูกมีความจำดี มีการเรียนรู้ที่ดี ก็ต้องสร้างบรรยากาศที่ทำให้ลูกสงบ มีสมาธิค่ะ

 

ฉลาดเคลื่อนไหว

ฉลาดเคลื่อนไหวกับคลีนนิ่ง ไทม์

       คุณแม่อาจจะทำงานยุ่งจนไม่สามารถหาเวลาพาลูกไปวิ่งเล่น ยืดเส้นยืดสายได้ ลองจัดเวลาตอนเย็นหลังเลิกเรียนของลูก วันละ 15-20 นาทีให้เป็นช่วงคลีนนิ่ง ไทม์  โดยให้ลูกช่วยทำความสะอาดบ้าน อาจจะให้ทำงานง่ายๆ ที่ลูกพอจะทำไหว เช่น ให้ลูกช่วยกวาดใบไม้หน้าบ้าน หรือปัดกวาดหยากไย่ที่เกาะตามผนังนอกบ้าน  ซึ่งการช่วยงานบ้านนี้ นอกจากจะถูกใจคุณแม่ที่มีลูกมาช่วยแล้ว เขายังจะได้เคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งแขนขา ลำตัว แม้จะดูเป็นงานง่ายๆ แต่เชื่อเถอะค่ะว่าการหยิบจับไม้กวาดของลูกนั้น เขาต้องออกแรงกล้ามเนื้อแขนพอสมควรเลยทีเดียว และที่สำคัญการทำงานบ้านยังจะช่วยทำเอง   แต่อย่าลืมที่จะให้คำชมเชยกับเขาด้วย เขาจะได้มีแรงเสริมใจที่จะมาช่วยคุณแม่ในวันต่อๆ ไปค่ะ

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ฉลาดสื่อสาร

พัฒนาการอ่าน-เขียนลูก..ให้ถูกทาง

       เด็กในวัยนี้เริ่มเรียนรู้ทักษะทางภาษาอื่นๆ นอกจากภาษาพูด ได้แก่ ภาษาอ่านและภาษาเขียน ซึ่งการสอนให้เด็กพัฒนาทักษะเหล่านี้ไม่ควรเน้นที่การอ่านแบบท่องจำหรือเขียนให้ถูกต้องสวยงาม ควรใช้วิธีการสอนที่เชื่อมโยงจากชีวิตประจำวันของเขา  มีความหมายกับตัวเขา เช่น  ก่อนที่ลูกจะเขียน ก-ฮ ได้ทั้งหมด เขาควรจะได้รู้จักตัวอักษรที่เป็นชื่อของเขาก่อน จากนั้นจึงจะขยายไปสู่การรู้จักอักษรอื่นๆ ต่อไป
      การสอนวิธีการอ่านที่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้อ่านแบบแจกแจงรูปคำพร้อมทั้งดูภาพประกอบ ไม่ใช่การอ่านแบบจำรูปคำนั้นทั้งคำ เช่น รูปคำว่า “ตา” แล้วเชื่อมโยงกับความหมายตามรูปภาพ เพราะการสอนอ่านแบบท่องจำ ลูกน้อยจะต้องใช้ความจำมากในการอ่านคำที่แตกต่างกัน ขณะอ่านหนังสือกับลูก คุณพ่อคุณแม่ควรถามคำถาม หรือฝึกให้ลูกน้อยเล่าเรื่องราวที่พบในชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยพัฒนาทักษะทางภาษาและการอ่านให้ดีมากยิ่งขึ้น
       ทักษะพื้นฐานที่สำคัญทางภาษาเพื่อการเรียนรู้อีกเรื่องหนึ่ง คือ จำนวนหรือตัวเลข พ่อแม่ควรมีความเข้าใจก่อนว่า พื้นฐานความเข้าใจในเรื่องของจำนวนหรือตัวเลขมีความสำคัญอย่างยิ่ง เด็กจำนวนมากอาจท่องจำ 1-10 หรือบางคนก็ท่อง 1-50 ได้ แต่ไม่เข้าใจว่าหมายถึงอย่างไร เด็กควรเรียนรู้หลักการของจำนวน 1-10 หรือ 20 ได้อย่างแม่นยำก่อนที่จะหัดบวกลบเลขจากโจทย์  ในชีวิตประจำวันเขาควรถูกสอนให้เข้าใจจำนวนจากสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น ขนม 2 ชิ้นคืออย่างไร นก 3 ตัวคืออย่างไร  จำนวน 5 แตกต่างจากจำนวน 6 อย่างไร  การเพิ่มหรือการลดจำนวนสวนจากภาษาที่ใช้ เช่น "ได้เพิ่มมาอีก" "บินหายไป"  “ลดลง” เป็นต้น เมื่อเด็กมีความเข้าใจพื้นฐานสิ่งเหล่านี้ได้ถูกต้องแม่นยำแล้วการเชื่อมโยง ไปสู่ความหมายของสัญลักษณ์และการเรียนรู้คณิตศาสตร์ขั้นถัดไปจะเกิดได้อย่างต่อเนื่องถูกต้องค่ะ

ฉลาดด้านอารมณ์

ลูกมีความสุขกับแรงกระตุ้นทางบวก

       แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยตามประสาเด็ก แต่การที่พ่อแม่แสดงให้ลูกรู้ว่าพอใจและภูมิใจในสิ่งที่ลูกทำ เป็นการกระตุ้นทางบวกให้ลูกรู้ว่าพฤติกรรมที่ลูกทำเป็นเรื่องดีที่ลูกควรทำ ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนติดเป็นนิสัย แรงกระตุ้นทางบวกที่พ่อแม่แสดง ทำให้ลูกรู้สึกว่าเป็นการสร้างความภาคภูมิใจและเพิ่มคุณค่าในตัวเอง
       พ่อแม่บางคนสับสนระหว่างการสร้างแรงกระตุ้นทางบวกและการติดสินบนหรือการสัญญาว่าจะให้รางวัล ถ้าพ่อแม่สร้างแรงกระตุ้นไม่ถูกต้องโดยการสัญญาว่ามีรางวัลตอบแทน จะทำให้เกิดผลเสียต่อพฤติกรรมของลูก นั่นคือ...

  • กระตุ้นด้วยการติดสินบนว่ามีรางวัลถ้าทำอะไรตามที่พ่อแม่ต้องการ จะทำให้ลูกติดเป็นนิสัยว่าต้องมีของตอบแทนจึงจะทำให้มีพฤติกรรมทางบวก

  • กระตุ้นด้วยการติดสินบนสร้างทัศนคติที่ผิดๆ ติดตัวลูกว่า เขามีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนในทุก ๆ อย่างที่เขาทำ ถ้าไม่มีอะไรตอบแทนเขาก็จะไม่ทำ

  • กระตุ้นด้วยการติดสินบนทำให้ลูกไม่ภูมิใจและไม่เห็นค่าในตัวเอง เพราะหวังผลตอบแทนทุกอย่างในรูปของตัวเงินหรือสิ่งของที่ตีราคาเป็นเงินได้

       แรงกระตุ้นทางบวกนั้นต้องมีจำนวนครั้งและปริมาณที่เหมาะสมกับพฤติกรรมทางบวกที่ต้องการให้เกิดขึ้น   เช่น ถ้าลูกเก็บของเล่นลงกล่องอย่างเรียบร้อย คุณแม่ก็ชมเลย  คำชมจะแสดงให้ลูกรู้ว่าคุณภูมิใจในตัวเขาและพฤติกรรมทางบวกที่เขาทำ  
       สิ่งที่ให้เสริมใจลูกนั้นไม่ควรเป็นสิ่งของราคาแพง อาจจะเป็นการซื้อหนังสือนิทานเรื่องใหม่ให้ลูกพาลูกไปกินไอศกรีมที่เขาชอบ เป็นต้น