Enfa สรุปให้

  • ทารกเพศชายวัย 1 เดือน หนักประมาณ 4.5 กิโลกรัม  สูงประมาณ 54.7 เซนติเมตร ส่วนทารกเพศหญิงวัย 1 เดือน หนักประมาณ 4.2 กิโลกรัม สูงประมาณ 53.7 เซนติเมตร

  • ทารกวัย 1 เดือน เริ่มมีพัฒนาการในการมองเห็นบ้างแล้ว เส้นประสาทของดวงตาเริ่มทำงานประสานกันได้ดีมากขึ้น

  • ทารกวัย 1 เดือน เริ่มเรียนรู้ว่า ช่วงเวลากลางคืนเป็นช่วงเวลาสำหรับการนอน และจะเริ่มปรับตัวให้นอนหลับในช่วงกลางคืน

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • น้ำหนักและส่วนสูงของทารกวัย 1 เดือน
     • การกินของลูกน้อยวัย 1 เดือน
     • การขับถ่ายของลูกน้อยวัย 1 เดือน
     • การนอนหลับของลูกน้อยวัย 1 เดือน
     • ทารก 1 เดือนเป็นแบบนี้ ปกติหรือผิดปกติกันแน่
     • พัฒนาการเด็ก 1 เดือน
     • กระตุ้นพัฒนาการลูก 1 เดือนยังไงดี
     • ของเล่นเด็ก 1 เดือน ที่เหมาะสมกับพัฒนาการ
     • ตารางเลี้ยงลูก 1 เดือน
     • ไขข้อข้องใจเรื่องทารกวัย 1 เดือนกับ Enfa Smart Club

ทารกวัย 1 เดือน ถือเป็นช่วงวัยที่มีความบอบบางสูง จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและตลอดเวลา คุณพ่อคุณแม่จำเป็นที่จะต้องคอยดูแลทั้งเรื่องการกิน การนอน การขับถ่าย และการเล่น เพื่อดูแลให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่สมบูรณ์และสมวัย สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรง

น้ำหนักและส่วนสูงของทารกวัย 1 เดือน


น้ำหนักและส่วนสูงของทารกที่เพิ่งคลอดออกมาได้ 1 เดือนนั้น จะมีความแตกต่างกันไปเล็กน้อยค่ะ เด็กแต่ละคนจะมีน้ำหนักและส่วนสูงที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ตามเกณฑ์ที่เหมาะสม แต่ก็มีบ้างบางกรณีที่ทารกวัย 1 เดือนมีน้ำหนักและส่วนสูงที่เกินมาตรฐานที่ควรจะเป็น

น้ำหนักทารก 1 เดือน

น้ำหนักของทารกวัย 1 เดือนนั้น สามารถแบ่งออกตามเพศโดยกำเนิดได้ดังนี้

  • ทารกเพศชายวัย 1 เดือน หนักประมาณ 4.5 กิโลกรัม
  • ทารกเพศหญิงวัย 1 เดือน หนักประมาณ 4.2 กิโลกรัม
     

ส่วนสูงทารก 1 เดือน

ส่วนสูงของทารกวัย 1 เดือนนั้น สามารถแบ่งออกตามเพศโดยกำเนิดได้ดังนี้

  • ทารกเพศชายวัย 1 เดือน สูงประมาณ 54.7 เซนติเมตร
  • ทารกเพศหญิงวัย 1 เดือน สูงประมาณ 53.7 เซนติเมตร
     

การกินของลูกน้อยวัย 1 เดือน


ทารกแรกเกิดวัย 1 เดือน ยังไม่ควรที่จะกินอาหารชนิดอื่น ๆ ค่ะ เพราะระบบทางเดินอาหารและระบบย่อยอาหารของทารกนั้นยังทำงานได้ไม่เต็มระบบ ดังนั้น แหล่งโภชนาการที่สำคัญที่สุดก็คือ นมแม่ และทารกควรจะได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวและต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน หรือนานสูงสุด 2 ปี

โภชนาการสำหรับทารก 1 เดือน

นมแม่ถือเป็นอาหารที่สำคัญที่สุดสำหรับทารกวัยแรกเกิด - 6 ซึ่งในนมแม่นั้นอุดมไปด้วยสารอาหารที่สำคัญมากมายหลายชนิด ทั้งยังมีสารภูมิคุ้มกันที่มีส่วนช่วยให้ทารกแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่ายด้วย

โดยสารอาหารสำคัญที่พบได้ในนมแม่ เช่น

  • โปรตีน ซึ่งประกอบด้วยโปรตีนสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ เวย์และเคซีน ประมาณ 60% เป็นเวย์โปรตีน และอีก 40% เป็นเคซีนโปรตีน ด้วยสัดส่วนที่สมดุลของโปรตีนทั้ง 2 ชนิดนี้ จึงช่วยให้ทารกสามารถที่จะดูดซึมไปใช้งานได้ง่าย สามารถย่อยได้ง่าย อีกทั้งโปรตีนยังมีส่วนช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของกล้ามเนื้อ
  • ไขมัน ในนมแม่มีไขมันที่ถือว่าเป็นแหล่งพลังงานหลักของทารก อีกทั้งไขมันในนมแม่ยังมีส่วนช่วยพัฒนาสมอง และช่วยในการดูดซึมวิตามินที่สามารถละลายในไขมันได้ดี
  • วิตามินต่าง ๆ ทารกจะได้รับวิตามินต่าง ๆ ผ่านนมแม่ ไม่ว่าจะเป็นวิตามินซี วิตามินเอ วิตามินเค วิตามินดี วิตามินอี เป็นต้น ถามว่าวิตามินเหล่านี้มาจากไหน ก็มาจากอาหารการกินต่าง ๆ ที่คุณแม่กินเข้าไปนั่นแหละค่ะ ยิ่งคุณแม่กินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย ทารกก็จะได้รับสารวิตามินที่สำคัญเหล่านั้นด้วย
  • คาร์โบไฮเดรต ในนมแม่นั้นจะมีสารอาหารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า แลคโตส ซึ่งถือว่าเป็นคาร์โบไฮเดรตหลักที่พบในนมของแม่ แลคโตสนี้จะช่วยลดปริมาณของแบคทีเรียที่ไม่ดีในกระเพาะอาหาร มากไปกว่านั้น แลคโตสยังทำหน้าที่สำคัญคือ ช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม เพราะสารอาหารเหล่านี้จะทำช่วยเพิ่มปริมาณของแบคทีเรียชนิดดีในกระเพาะอาหารของทารก
  • MFGM นมแม่มี MFGM หรือ Milk fat globule membrane ซึ่งเป็นสารอาหารเฉพาะที่พบได้ในนมแม่หรือนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้น โดย MFGM ประกอบไปด้วย โพลาร์ลิพิด (Polar lipid) ไกลโคลิพิด (Glycolipid) และโปรตีน โดย MFGM ในนมแม่ มีส่วนช่วยพัฒนาระบบประสาท ป้องกันการติดเชื้อต่างและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ
     

ปริมาณนมที่เหมาะสมสำหรับลูกวัย 1 เดือน

สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งจะคลอดเบบี๋ออกมาได้ 1 เดือน อาจจะกำลังสงสัยอยู่ว่า เวลาให้นมลูกเนี่ย ลูก 1 เดือนกินกี่ออนซ์? หรือลูก 1 เดือนกินกี่ออนซ์ต่อครั้ง?

ซึ่งปริมาณนมแม่ในแต่ละวันที่เหมาะสมกับเด็กทารกวัย1 เดือน คุณแม่ควรจะต้องให้ทารกกินนมครั้งละ 3-4 ออนซ์ ในทุก ๆ 2-4 ชั่วโมงค่ะ

MFGM เพื่อ IQ ที่เหนือกว่าตั้งแต่ 5 ปีแรก

การขับถ่ายของลูกน้อยวัย 1 เดือน


เรื่องของการขับถ่าย ก็ถือเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องหมั่นสังเกตและเอาใจใส่อยู่เสมอนะคะ เพราะบางครั้งอุจจาระของทารกก็สามารถที่จะบอกถึงความผิดปกติได้เหมือนกัน

ทารก 1 เดือนถ่ายวันละกี่ครั้ง

การขับถ่ายของทารกวัย 1 เดือนแต่ละคนนั้นจะแตกต่างกันค่ะ เด็กบางคนอาจจะขับถ่าย 3-4 ครั้งต่อวัน ขณะที่เด็กบางคนอาจจะขับถ่ายแค่เพียง 1 ครั้งต่อวันก็มี อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วทารกวัย 1 เดือน จะขับถ่ายอย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อวันค่ะ

สีอุจจาระทารก 1 เดือนเป็นอย่างไร

เด็กทารกที่กินนมแม่ จะมีอุจจาระเป็นสีเหลืองเข้มค่ะ ดังนั้น สีอุจจาระของทารกวัย 1 เดือน ก็จะเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองเข้มค่ะ เนื่องจากทารกในวัยนี้จะได้รับอาหารแค่เพียงนมแม่อย่างเดียวเท่านั้น

ทารก 1 เดือนไม่ถ่าย นานแค่ไหนผิดปกติ

    อาการท้องผูกไม่ได้พบแค่ในเด็กโตนะคะ เพราะทารก 1 เดือนท้องผูก ก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกันค่ะ

    อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่พบว่าลูกไม่ถ่ายเลย 1-2 วันติดกัน ตรงนี้ยังถือว่าปกติค่ะ ทารกอาจจะกลับมาถ่ายเหมือนเดิมในอีกวันถัดไป หรือบางครั้งทารกไม่ขับถ่ายเลยตั้งแต่ 3-4 วัน ก็มี

    ตราบเท่าที่อุจจาระของทารกยังนิ่มอยู่ แม้ว่าจะ 2-3 วันถึงจะถ่ายออกมาสักที ก็ยังถือว่าปกติค่ะ อุจจาระที่ผิดปกติของทารกคือ อุจจระที่เป็นก้อนแข็ง แห้ง และเบ่งออกยาก

    อย่างไรก็ตาม หากพบว่าทารกไม่ขับถ่ายเลยมากกว่า 1 สัปดาห์ขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่อาจจะสันนิษฐานได้เบื้องต้นว่าทารกน่าจะมีอาการท้องผูก ให้ลองบรรเทาอาการท้องผูกด้วยการนวดท้องเป็นวงกลมเบา ๆ หรือจะลองทำท่าปั่นจักรยานให้ทารกก็ได้ แต่ถ้าหากยังไม่มีทีท่าว่าทารกจะถ่ายจริง ๆ ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรงจวินิจฉัยดูค่ะว่าลูกน้อยกำลังมีความผิดปกติใด ๆ เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารหรือไม่

    การนอนหลับของลูกน้อยวัย 1 เดือน


    ทารกวัย 1 เดือนนั้น ยังใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอนอยู่ค่ะ แต่ก็ถือว่าโตพอที่จะเริ่มสนใจต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว จนในบางครั้งก็พบว่าทารกเริ่มนอนกลางวันยากขึ้น แต่จะไปอ่อนเพลียและง่วงนอนในตอนกลางคืนแทน

    ทารก 1 เดือนนอนกี่ชั่วโมง

      โดยปกติแล้วการนอนของทารกวัย 1 เดือนนั้นจะมีช่วงเวลาในการนอนค่อนข้างยาวค่ะ โดยจะแบ่งเป็นนอนตอนกลางวัน 8-9 ชั่วโมง และนอนตอนกลางคืนอีก 8-9 ชั่วโมง รวมระยะเวลาการนอนทั้งวันก็จะอยู่ที่ประมาณ 16-19 ชั่วโมงต่อวันเลยค่ะ

      ลูก 1 เดือนไม่ยอมนอนกลางคืน นอนยาก ปกติไหม ควรรับมืออย่างไร

        ปัญหาทารกไม่ยอมนอน นอนยาก แม่มือใหม่หลาย ๆ คนสามารถที่จะพบปัญหาเหล่านี้ได้ตั้งแต่ตอนที่ลูกอายุแค่ 1 เดือนเลยค่ะ ซึ่งวิธีรับมือง่าย ๆ คือ

        • จัดบรรยากาศให้เหมาะกับการนอน แสงสว่างต้องพอเหมาะ อุณหภูมิต้องพอดี ไม่มีเสียงรบกวน หรือเปิดแต่เสียงเพลงกล่อมเด็กจังหวะช้า ๆ คลอเบา ๆเพื่อให้ทารกนอนหลับได้อย่างไร้รอยต่อ
        • ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่คับแน่น เพราะจะทำให้ทารกรู้สึกไม่สบายตัวในขณะที่นอนหลับ อาจส่งผลให้นอนหลับได้ไม่เต็มที่ ควรเลือกเสื้อผ้าที่มีขนาดพอดี ไม่หนาเกินไป และไม่คับจนอึดอัด
        • ไม่ปลุกทันทีที่ลูกร้อง แต่ให้รอดูสัก 2-3 นาทีว่าหลังจากร้องแล้วลูกสามารถนอนหลับเองได้ไหม เพราะบางครั้งทารกอาจจะร้องขึ้นมาแวบหนึ่งและหลับต่อเอง ถ้าคุณพ่อคุณแม่เกิดไปอุ้มขึ้นมา ก็อาจจะรบกวนการนอนของลูกได้  แต่ถ้าลูกยังร้องอยู่ก็ลองชะเง้อมองห่าง ๆ ว่ามีอะไรผิดปกติหรือเปล่า มีแมลงสัตว์ กัด ต่อย หรือลูกมีไข้หรือไม่
        • ใช้จุกหลอก การใช้จุกหลอกช่วยให้ทารกสามารถหายใจได้สะดวกขึ้น ไม่มีอาการติดขัดหรือหายใจไม่ออก ทั้งยังมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรค SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) หรือโรคไหลตายในเด็ก ซึ่งเกิดจากการถูกรบกวนการหายใจในขณะนอนหลับ

        ทารก 1 เดือน เป็นแบบนี้ ปกติหรือผิดปกติกันแน่


        ทารกวัย 1 เดือน มีพฤติกรรมและพัฒนาการตามวัยหลายอย่างที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกต บางอย่างอาจเป็นเรื่องปกติของพัฒนาการเด็กในวัยนี้ แต่บางอย่างก็อาจจะเป็นสัญญาณความผิดปกติที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยหรือรับการรักษา

        • น้ำลายไหล เล่นน้ำลาย

        อาการน้ำลายไหล ทารกน้ำลายไหลยืด หรือทารก 1 เดือน เล่นน้ำลาย จริง ๆ แล้วเป็นไปได้ทั้ง 2 กรณีค่ะ กล่าวคือโดยหลักแล้วอาการน้ำลายไหลของทารกนั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ ไม่นานก็หาย

        แต่บางครั้งอาการน้ำลายไหลยืด ก็อาจเป็นพลพวงมาจากความผิดปกติอื่น ๆ ด้วย เช่น การสบของฟันผิดปกติ ทารกมีแผลในปาก กล้ามเนื้อรอบปากไม่แข็งแรง ทารกติดการใช้จุกหลอก หรืออาจเป็นความผิดปกติของระบบประสาท

        หากเป็นกังวลว่าอาจจะเป็นสัญญาณความผิดปกติ คุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะพาลูกไปเข้ารับการตรวจวินิจฉัยกับแพทย์ได้ค่ะ

        • ชอบแลบลิ้น

        ทารก 1 เดือนชอบแลบลิ้น ทำท่าลิ้นจุกปาก ลักษณะเช่นนี้เป็นพฤติกรรมที่สามารถเกิดขึ้นได้ตามปกติของทารกวัยก่อน 4-6 เดือนค่ะ เมื่อโตขึ้นก็จะค่อย ๆ หายไปเอง

        โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับ กล่าวคือ เวลาที่คุณพ่อหรือคุณแม่จะเอานิ้วเข้าปากลูก หรือจะเอาเต้านมเข้าปากลูก สิ่งที่ลูกจะทำโดยทันทีก็คือการอ้าปาก จากนั้นก็จะแลบลิ้นออกมา หรือบางครั้งก็เกิดขึ้นเพราะทารกหายใจทางปาก เพราะหายใจทางจมูกไม่สะดวก เนื่องจากเป็นหวัด หรือหายใจไม่ออก เป็นต้น

        อย่างไรก็ตาม บางครั้ง อาการแลบลิ้น ทำลิ้นจุกปากนี้ ก็สามารถเป็นสัญญาณความผิดปกติได้ด้วยเหมือนกัน โดยอาจจะเกิดจาก

        • ทารกมีปากเล็กเกินไป
        • ทารกมีภาวะกล้ามเนื้อตึงตัวน้อย
        • ทารกมีภาวะลิ้นโต
        • ทารกมีภาวะซีสต์ในช่องปาก 

        หากเป็นกังวลว่าอาจจะเป็นสัญญาณความผิดปกติ คุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะพาลูกไปเข้ารับการตรวจวินิจฉัยกับแพทย์ได้ค่ะ

        • น้ำหนักไม่ค่อยขึ้น หรือขึ้นน้อย

        ทารกเพศชายวัย 1 เดือน จะมีน้ำหนักประมาณ 4.5 กิโลกรัม ส่วนทารกเพศหญิงวัย 1 เดือน จะมีน้ำหนักประมาณ 4.2 กิโลกรัม ดังนั้น หากลูกอายุ 1 เดือน แต่มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ดังกล่าว หรือลูก 1 เดือนน้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์ปกติ อาจเป็นไปได้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับทารก คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปเข้ารับการตรวจวินิจฉัยกับแพทย์ค่ะ

        • ตัวเหลือง

        ปกติแล้วอาการตัวเหลืองนั้นจะพบได้ในเด็กหลังคลอด และถือว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ เพราะตับของทารกยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้ไม่สามารถกำจัด บิลิรูบิน (Bilirubin) ออกทางตับได้ เมื่อไม่สามารถขับออกมาได้อย่างที่ควรจะเป็น จึงทำให้ทารกมีอาการตัวเหลือง

        อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป 1-2 สัปดาห์ หรือทารกมีอายุเข้า 1 เดือน อาการตัวเหลืองก็จะค่อย ๆ หายไปค่ะ

        แต่ถ้าหากทารก 1 เดือนตัวเหลือง และไม่มีท่าทีว่าอาการตัวเหลืองจะหายไป กรณีเช่นนี้ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยค่ะ

        สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

        พัฒนาการเด็ก 1 เดือน


        ทารก 1 เดือน แม้จะยังเล็กมากเหลือเกิน แต่ก็เริ่มมีพัฒนาการที่สามารถสังเกตเห็นได้แล้วนะคะ โดยพัฒนาการทารก 1 เดือนนั้น สามารถแบ่งออกได้หลายด้าน ดังนี้

        พัฒนาการทารกด้านการเรียนรู้

                  • เริ่มมีพัฒนาการในการมองเห็น สามารถมองเห็นใบหน้าคุณแม่ได้ชัดขึ้นกว่าตอนแรกเกิด โดยเฉพาะเมื่อมีคนเข้าใกล้ โดยเป็นผลมาจากสมองเริ่มสั่งการกล้ามเนื้อตา ให้สามารถจับภาพใบหน้าของผู้คน รวมทั้งเส้นประสาทตาทั้งคู่ทำงานร่วมกันได้ดีมากขึ้น
                  • ลูกน้อยเริ่มเรียนรู้ว่า ช่วงเวลากลางคืนเป็นช่วงเวลาสำหรับการนอน และจะเริ่มปรับตัวให้นอนหลับในช่วงกลางคืน

        พัฒนาการทารกด้านร่างกาย และการเคลื่อนไหว

                  • ในเดือนนี้ลูกยังไม่สามารถพยุงศีรษะให้ตั้งตรงได้ และมักจะหงายไปข้างหลัง หรือผงกมาด้านหน้า เวลาอุ้มลูกน้อยจึงต้องประคองบริเวณคอไว้ให้ดี
                  • ถ้าจับลูกนอนคว่ำ ลูกจะสามารถหันหน้าไปด้านข้างเพื่อหายใจได้ และเมื่อจับนอนหงายอาจพลิกตัวตะแคงข้างได้
                  • การเคลื่อนไหวแขนขาของลูกยังเป็นไปในลักษณะของปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติอยู่
                  • หากขณะที่ลูกขยับแขนไปมาแล้วบังเอิญมือมาใกล้ ๆ ปาก ลูกจะดูดอมมือนั้นอย่างสบายใจทีเดียว

        พัฒนาการทารกด้านภาษา และการสื่อสาร

                  • ยังสื่อสารกับคนรอบข้างด้วยเสียงร้อง ยามที่เขาต้องการความช่วยเหลือ และเงียบเสียงลงเมื่อมีคนมาอุ้ม
                  • เมื่อได้ยินเสียงคน ลูกจะส่งเสียงโต้ตอบได้เป็นบางครั้ง
                  • เสียงร้องของลูกคือการสื่อสารชนิดเดียวที่เขาสามารถบอกกับคนรอบข้างได้ว่า เขารู้สึก หิว ร้อน หนาว เปียกแฉะ และไม่สบายเนื้อตัว คุณแม่และผู้เลี้ยงดูจึงต้องคอยใส่ใจและหมั่นสังเกต จับให้ได้ว่าเสียงร้องของลูกหมายถึงอะไร เพื่อตอบสนองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

        พัฒนาการทารกด้านภาษา และการสื่อสาร

                  • สามารถคาดเดาอารมณ์ความรู้สึกของลูกได้บ้างจากสีหน้า แววตา และท่าทาง เช่น ยามที่ลูกรู้สึกพึงพอใจ สีหน้าจะนิ่ง ๆ ดวงตาสุกใส ขยับแขนขาไปมา แต่ถ้าไม่สบอารมณ์ก็จะเบ้หน้าร้องไห้
                  • ลูกจะสงบ และมีอารมณ์ที่ดีหากช่วงเวลาที่ลูกตื่นนอน คุณแม่ได้อุ้มไปเดินเล่น รับแดดอุ่น เปลี่ยนบรรยากาศแทนการนอนอยู่แต่ในที่เดิม ๆ พร้อมพูดคุยกับลูกไปด้วย

        กระตุ้นพัฒนาการลูก 1 เดือนยังไงดี


        การเสริมสร้างพัฒนาการของลูกน้อยนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นจะต้องรอจนลูกโต หรือมีอายุครบปีก่อนถึงจะเริ่มได้ เพราะสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ตอนที่ลูกอายุได้ 1 เดือนเลยค่ะ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้ ดังนี้

        1. พัฒนาการทารกวัย 1 เดือน ด้านสติปัญญาและการเรียนรู้

        พัฒนาการมองเห็น จุดเริ่มต้นของสติปัญญาและการเรียนรู้ของลูก

        การมองเห็นของทารกเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของพัฒนาการเด็ก 1 เดือนที่ดีในด้านการเรียนรู้และสติปัญญาของเด็ก  ในบรรดาประสาทสัมผัสทั้ง 5 ประสาทตาของเด็กจะเป็นส่วนที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ที่สุด  เด็กวัยแรกเกิด- 3 เดือนนั้น  การมองเห็นของเขายังพัฒนาไม่เต็มที่ สามารถมองได้ในระยะ 1 ฟุตเท่านั้น   มีทักษะการเพ่งมองจำกัด จึงเรียนรู้โดยเปรียบเทียบสีตัดกันชัดเจน เช่น สีดำตัดกับสีขาว และชอบมองวัตถุที่เคลื่อนไหวมากกว่าวัตถุที่อยู่นิ่งๆ ซึ่งวัตถุลักษณะนี้ที่อยู่ใกล้เขาที่สุดก็คือ ใบหน้าแม่ที่มีผมสีดำล้อมอยู่รอบๆ คือดวงตาแม่ที่มีลักษณะกลม และสีตัดกันชัดเจนระหว่างตาขาวและตาดำ และที่สำคัญคือดวงตาสามารถกลอกไปมาได้ 

        ดังนั้น เพื่อเป็นการเสริมพัฒนาการเด็ก 1 เดือนในด้านการมองเห็นของทารก คุณแม่จึงควรจ้องหน้าลูกใกล้ๆ พร้อมกลอกตาไปทางซ้ายที ขวาที ไม่นานลูกก็จะคอยมองตามลูกตาสีดำ ๆ ที่ตัดกับตาขาวของเรา  ซึ่งการใช้สายตาของทารกเช่นนี้จะมีผลโดยตรงต่อระดับสติปัญญาและพัฒนาการทารก 1 เดือน เพราะในระหว่างที่ทารกกำลังจ้องมองวัตถุนั้น เซลล์สมองจะเติบโต และสร้างเซลล์ประสาทเชื่อมต่อจุดต่าง ๆ เพื่อเตรียมสมองให้พร้อมสำหรับการเรียนรู้ในด้านอื่น ๆ ด้วย

        เคล็ดลับกระตุ้นการมองเห็นของทารก : นอกจากการจ้องมองหน้าลูกแล้ว การนำแผ่นกระตุ้นสายตาที่มีสีขาว-ดำ-แดง หรือโมบายล์มาห้อยให้ลูกดูเหนือเตียงนอนของลูกในระยะประมาณ 1 ฟุต ติดกระจกในมุมที่ลูกมองเห็น เพื่อกระตุ้นการมองของลูกและเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก 1 เดือนที่ดีเยี่ยม 

        2. พัฒนาการทารกวัย 1 เดือน ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวรู้

        ออกกำลังกล้ามเนื้อ เพื่อร่างกายและการเคลื่อนไหวที่ดี

        แม้ลูกวัย 1 เดือน จะใช้เวลาส่วนใหญ่นอนหลับ แต่ก็มีช่วงที่เขาตื่นมากินนมและนอนเล่น ซึ่งคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกนอนเฉย ๆ ควรได้ใช้โอกาสนี้ ในการส่งเสริมพัฒนาการทารก 1 เดือนในด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวของลูก เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ซึ่งคุณแม่สามารถทำได้ดังนี้

        • จับนอนคว่ำบ้าง  - เมื่อลูกตื่นตอนกลางวัน ให้คุณแม่ดูว่าเมื่อจับลูกนอนคว่ำช่วงสั้น ๆ (แต่คุณแม่ต้องอยู่ด้วยตลอดขณะให้ลูกนอนคว่ำ) ลูกจะพยายามพลิกศีรษะตะแคงเพื่อหายใจ เมื่อเขาทำเช่นนี้กล้ามเนื้อคอของเขาก็ได้ทำงาน
        • จับข้อมือดึงให้ลุกนั่ง  -  เมื่อคุณแม่จับข้อมือดึงให้ลุกนั่ง ลูกจะยกศีรษะตั้งขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อคอและหลังของลูก
        • เรียนรู้ผ่านมือ  - ลูกวัย 1 เดือน ยังใช้มือ ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็กไม่ได้ แต่ลูกก็เริ่มเรียนรู้การเอากำปั้นเข้าปากและดูดทั้งกำปั้น  โดยหลับตาดูดได้ ซึ่งเป็นความสามารถตั้งแต่ตอนอยู่ในครรภ์ต่อเนื่องมาจนเป็นพัฒนาการเด็กทารก 1 เดือนที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ คุณแม่จึงไม่ควรใส่ถุงมือให้ลูกตลอดเวลา เพราะจะขัดขวางการเรียนรู้ผ่านมือของลูก

        การส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 1 เดือน ควรเน้นความพอเหมาะพอควร ควรทำช่วงสั้น ๆ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นลูกมากเกินไป  เพราะวัยนี้ลูกยังต้องการนอนหลับเต็มอิ่มวันละหลายชั่วโมงค่ะ

        3. พัฒนาการทารกวัย 1 เดือน ด้านภาษาและการสื่อสาร

        เพลงรักจากแม่ ปูพื้นฐานทางภาษาของลูก

        เราต่างก็รู้กันดีแล้วว่า การได้ยินของเด็กพัฒนาตั้งแต่อยู่ในท้องแล้ว ดังนั้นทันทีที่ลืมตาดูโลก ลูกก็พร้อมที่จะซึมซับทั้งเสียง ท่วงทำนอง คำ และประโยคจากพ่อแม่ เพื่อสร้างคำพูดของตนเองออกมาในอนาคต แม้ช่วงวัยขวบปีแรกนี้ ลูกจะยังไม่เข้าใจความหมายของคำที่พูด แต่ก็สามารถแปลความหมายจากการสังเกตอารมณ์พ่อแม่ขณะพูดได้

        จากการวิจัยพบว่า เสียงเพลงที่แม่ร้องกล่อมให้ลูกนอน เสียงที่พ่อแม่พูดคุยกับลูกวัยทารกอย่างอ่อนโยน เสียงหัวเราะหยอกเย้าระหว่างพ่อแม่ลูกจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการสื่อสารของลูกและเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก 1 เดือนได้ โดยเสียงที่ลูกได้ยินจะไปกระตุ้นให้สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับภาษาให้เกิดการทำงาน ซึ่งเป็นการเตรียมลูกให้มีความพร้อมสำหรับการพูดหรือการใช้ภาษาพูด รวมทั้งยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 1 เดือนในด้านอารมณ์และสังคมให้ลูกด้วย

        ดังนั้น คุณแม่จึงไม่ควรมองข้ามการร้องเพลงกล่อมลูกด้วยน้ำเสียงของคุณแม่เอง โดยอาจเป็นเพลงที่คุณแม่ชื่นชอบ หรือเพลงเด็กง่าย ๆ  มาร้องให้ลูกฟังบ่อย ๆ จะช่วยเสริมสร้างพื้นฐานด้านภาษาและการสื่อสาร  รวมทั้งพัฒนาการทางอารมณ์ของลูกได้

        4. พัฒนาการทารกวัย 1 เดือน ด้านอารมณ์และสังคม

        อุ้มลูกเดินเล่น  พัฒนาอารมณ์ลูก

        แม้ลูกวัย 1 เดือน จะใช้เวลาส่วนใหญ่นอนหลับ แต่ก็ช่วงที่เขาตื่นมากินนมและยังไม่หลับนั้น  คุณแม่ลองถามตัวเองสิคะว่าปล่อยให้ลูกนอนเฉย ๆ หรือเปล่า หากปล่อยให้ลูกนอนเฉย ๆ ขอแนะนำให้คุณแม่ อุ้มลูกขึ้นมาจากเตียงนอนหรือเปลของเขา แล้วพาเขาเดินเล่นชมนกชมไม้

        การที่คุณแม่อุ้มลูกไว้ในอ้อมแขนเดินเล่นไปรอบๆ บ้าน รับแสง รับแดด  เปลี่ยนบรรยากาศแทนการนอนอยู่แต่ในที่เดิม ๆ พร้อมพูดคุยกับลูกไปด้วย   ยังช่วยให้ลูกรับรู้ถึงความรักความอบอุ่นที่แม่ส่งมาถึง รับรู้ถึงสัมผัสอันอ่อนโยนขณะที่แม่โอบกอดเขา ส่งผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดีของลูกค่ะ

        เพราะฉะนั้นในแต่ละวัน คุณแม่จึงควรอุ้มลูกขึ้นมาเดินเล่นบ้างอย่างน้อย 1 ครั้ง  เพื่อลูกน้อยมีความฉลาดทางอารมณ์ค่ะ

        ของเล่นเด็ก 1 เดือน ที่เหมาะสมกับพัฒนาการ


        แน่นอนค่ะว่าทารกวัย 1 เดือนตัวเล็กจิ๋วนี้ยังไม่สามารถที่จะลุกขึ้นมานั่งเล่นของเล่นอะไรได้มากมาย แต่อย่าลืมว่าเด็กวัยนี้ก็มีพัฒนาการเพิ่มมากขึ้นและสามารถที่จะตอบสนองต่อของเล่นชิ้นต่าง ๆ ได้แล้ว เพียงแต่ของเล่นเหล่านั้นจะต้องเป็นของเล่นที่มีสีสันและมีเสียง เพื่อกระตุ้นให้เด็ก ๆ ได้มีประสาทสัมผัสตอบโต้กับเสียงจากของเล่นที่ได้ยิน และเด็กวัยนี้ก็สามารถที่จะเอื้อมมือไปหยิบหรือจับของเล่นได้บ้างนิดหน่อยด้วย

        โดยของเล่นที่เหมาะสมกับเด็กทารกวัย 1 เดือน คือของเล่นจำพวก

        • ของเล่นที่มีเสียง หรือเขย่าแล้วเกิดเสียง เช่น กล่องดนตรี โมบายล์แขวนที่มีเสียง สมุดนิทานที่เปิดมาแล้วมีเสียงเพลงเด็ก มีเพลงลัลลาบายกล่อมนอน
        • ของเล่นที่มีสีสันสดใส เช่น สมุดภาพนิทานต่าง ๆ ที่มีภาพและรูปร่างขนาดใหญ่ หรือโมบายล์แขวนสีสันสดใน สามารถดึงดูดความสนใจเด็กวัยนี้ได้ดี
        • ของเล่นที่มีการโต้ตอบ เช่น อาจจะเป็นกระจกของเล่นที่สามารถทำให้เด็กได้เห็นภาพตัวเองสะท้อนกลับมา หรือของเล่นที่มีการโต้ตอบกับเสียงของทารก ก็จะช่วยให้ทารกเริ่มมีการอ้อแอ้พูดตอบโต้ด้วย เป็นการฝึกทักษะทางการสื่อสารที่ดีอีกทางหนึ่ง

        สิ่งสำคัญคือ ควรเลือกของเล่นที่มีความปลอดภัย ผลิตจากวัสดุที่ได้มาตรฐาน และเวลาเล่นจะต้องอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่เสมอ เพราะเด็กอาจจะเผลอหยิบของเล่นบางชิ้นเข้าปาก อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ค่ะ

        ตารางเลี้ยงลูก 1 เดือน


        ตารางการเลี้ยงลูกนั้น อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว แต่โดยพื้นฐานสำหรับเด็กทารกวัย 1 เดือนนั้น ก็จะไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไหร่นักค่ะ เน้นสำคัญอยู่ที่กินให้พอ นอนให้พอ เพื่อให้ทารกได้มีพัฒนาการที่แข็งแรงและสมวัย

        • การกิน ทารกวัย 1 เดือนควรได้รับแค่นมแม่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยในแต่ละวันทารกควรจะได้กินนมแม่ครั้งละ 3-4 ออนซ์ ในทุก ๆ 2-4 ชั่วโมงค่ะ
        • การนอน แบ่งเป็นนอนตอนกลางวัน 8-9 ชั่วโมง และนอนตอนกลางคืนอีก 8-9 ชั่วโมง รวมระยะเวลาการนอนทั้งวันก็จะอยู่ที่ประมาณ 16-19 ชั่วโมงต่อวัน
        • การขับถ่าย จริง ๆ แล้วทารกในวัย 1 เดือนนี้มีการขับถ่ายที่แตกต่างกันไปค่ะ บางวันอาจจะขับถ่าย 3-4 ครั้ง บางวันอาจจะแค่ 1-2 ครั้ง แต่อย่างน้อยที่สุดก็จะขับถ่ายอย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อวัน คอยดูว่าหากทารกไม่ขับถ่ายเลย 3-4 วัน ขึ้นไป อาจจะต้องลองพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย
        • การเล่น ช่วงที่ทารกตื่นนอน อาจจะมีการอุ้มลูกไปเดินเล่น หรือพาลูกเล่นของเล่นบ้าง เพื่อฝึกให้ลูกมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ และเห็นสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ด้วย
           

        ตารางเลี้ยงลูก 1 เดือน

        ไขข้อข้องใจเรื่องทารกวัย 1 เดือนกับ Enfa Smart Club


         ลูก 1 เดือนไม่ถ่าย 2 วัน อันตรายหรือไม่

        หากทารไม่ถ่ายเลยติดต่อกัน 2 วัน ยังไม่ถือว่าผิดปกติค่ะ ตราบเท่าที่อุจจาระของทารกยังนิ่มอยู่ แม้ว่าจะ 2-3 วันถึงจะถ่ายออกมาสักที ก็ยังถือว่าปกติค่ะ อุจจาระที่ผิดปกติของทารกคือ อุจจระที่เป็นก้อนแข็ง แห้ง และเบ่งออกยาก

        แต่ถ้าทารกไม่ขับถ่ายเลย 1 สัปดาห์ขึ้นไป อาจจะต้องหาเวลาพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยดูว่าทารกกำลังท้องผูก หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ หรือไม่

         ทารก 1 เดือนกินน้อยมาก ปกติหรือไม่

        ในแต่ละวันทารกวัย 1 เดือนควรจะต้องได้กินนมแม่ครั้งละ 3-4 ออนซ์ ในทุก ๆ 2-4 ชั่วโมงค่ะ หากวันไหนทารกเริ่มกินได้น้อยลง หรือกินน้อยลงติดต่อกันตั้วแต่ 1-2 วันขึ้นไป อาจจะต้องหาเวลาพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยดูว่าทารกกำลังมีความผิดปกติอื่น ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถกินนมได้ตามปกติหรือเปล่า

          ลูก 1 เดือนไม่ถ่าย งอแง ผิดปกติหรือไม่ เกิดจากอะไร

        หากทารกไม่ยอมขับถ่าย และมีอาการร้องไห้ งอแง อาจเป็นไปได้ว่าทารกมีอาการท้องผูก หรือมีปัญหาที่ระบบทางเดินอาหาร คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องหาเวลาพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยดูว่าทารกกำลังท้องผูก หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ หรือไม่

         ลูก 1 เดือนหนัก 4 โลกว่า ปกติหรือไม่

        น้ำหนักของทารกวัย 1 เดือนนั้น สามารถแบ่งออกตามเพศโดยกำเนิดได้ดังนี้

        • ทารกเพศชายวัย 1 เดือน หนักประมาณ 4.5 กิโลกรัม
        • ทารกเพศหญิงวัย 1 เดือน หนักประมาณ 4.2 กิโลกรัม
           

        ดังนั้น หากทารกหนัก 4 โลกว่า ๆ ก็ยังไม่ถือว่าผิดปกตินะคะ

          ลูก 1 เดือนหัวกระแทก อันตรายไหม

        หากทารกได้รับการกระแทก หรือกระทบกระเทือนที่ศีรษะไม่รุนแรง ให้รีบทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทำแผลให้สะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อที่แผล

        แต่ถ้าหากทารกได้รับการกระแทกที่ศีรษะรุนแรง กรณีนี้นอกจากจะต้องปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว ก็ยังจะต้องรีบพาทารกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาด้วย



        บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่

        MFGM เพื่อ IQ ที่เหนือกว่าตั้งแต่ 5 ปีแรก