ลูกวัยนี้เริ่มมีจินตนาการและสร้างโลกส่วนตัวของตัวเอง   ซึ่งกิจกรรมนี้ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเขาได้อย่างครบรอบด้าน...มาดูพัฒนาการแต่ละด้านของลูกน้อยเดือนนี้กันค่ะ   

ด้านสติปัญญาและการเรียนรู้

  • ลูกยังคงเรียนรู้โดยการเลียนแบบพฤติกรรมต่างๆ ของผู้ใหญ่

  • ทดลองทำตามสิ่งที่เห็นได้ เช่น อาสาช่วยงานบ้าน หรือการเล่นบทบาทสมมุติ ที่ลูกไม่เพียงเลียนแบบแต่ยังใส่จินตนาการเข้าไปในเรื่องราวต่างๆ ด้วย

  • ลูกยังเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5   ตาดูภาพ หูฟังเสียง มือจับสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ลิ้นชิมรสเปรี้ยวเค็มหวานมัน และจมูกดมกลิ่นต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในโสตประสาท ซึ่งคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ใช้ประสาทสัมผัสนี้มากขึ้น เพื่อลูกจะได้บันทึกและจดจำไว้ในสมองน้อยๆของเขา  เช่น อาจจะพาไปเดินเล่น ดูดอกไม้สีสวย แวะดมกลิ่นหอมๆ ของดอกไม้  ดูผีเสื้อบินไปเกาะดอกไม้ เป็นต้น

  • ยังคงสนใจใคร่รู้สิ่งรอบตัวอยู่มาก ซึ่งบางครั้งก็เบียดบังช่วงเวลานอนกลางวันได้เหมือนกัน ลูกวัยนี้จึงมีช่วงเวลานอนกลางวันน้อยลงแต่จะนอนยาวในช่วงกลางคืน

  • การเชื่อมโยงความคิดของลูกจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นอย่างช้าๆ เห็นได้จากการที่ลูกสามารถจำเหตุการณ์ในภาพถ่ายได้ หรือสามารถร้อยเรียงคำเป็นประโยคยาวๆ ได้

ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว

  • ลูกวัยนี้เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว

  • เดินวิ่งได้มั่นคงมากขึ้นจนคุณพ่อคุณแม่วางใจได้กว่าวัยก่อนๆ ดังนั้นเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อแขนขาลูกให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ควรหาโอกาสพาเขาไปวิ่งเล่นในที่ๆ มีสนามกว้างๆ เช่น สนามเด็กเล่น ให้ลูกได้ปลดปล่อยพลังงานที่มีอยู่มากมายได้อย่างเต็มที่

  •  ปีนป่ายห้อยโหนเครื่องเล่นได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรประมาท ยังคงต้องคอยดูแลเขาอยู่ใกล้ๆ เพราะบางครั้งเด็กก็ยังเป็นเด็ก และยังหยั่งความสามารถของตัวเองไม่ได้จนนำมาซึ่งอุบัติเหตุได้

  •  เขาสามารถควบคุมนิ้วได้ดีและเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น  วิธีที่ช่วยให้กล้ามเนื้อนิ้ว-มือแข็งแรง เช่น ชวนกันเล่นปั้นแป้ง ทั้งคลึงเป็นลูกกลมๆ ทั้งคลึงให้เป็นเส้นยาวๆ  ขณะเล่นก็สอนเรื่องใหญ่ๆ เล็กๆ  สั้นๆ ยาว ๆ ให้ลูกไปด้วย

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ด้านภาษาและการสื่อสาร

  • วัยนี้จดจำคำได้มากขึ้นและพูดเป็นประโยคได้แล้ว

  • ชอบตั้งคำถาม “อะไร” “ทำไม” “ที่ไหน”

  • ชอบที่จะพูด ให้คนอื่นฟังด้วย ซึ่งคุณแม่อย่าเพิ่งเบื่อฟังลูกไปก่อนนะคะ ...เพื่อพัฒนาการของลูกค่ะ

  • วัยนี้ยังคงชอบเพลงหรือนิทานที่เป็นคำคล้องจองอยู่มาก  และจะจำมาพูดตาม  คุณแม่ควรหานิทานคำคล้องจองหรือเพลงต่างๆ มาเสริมสร้างพัฒนาการให้ลูก

ด้านอารมณ์และสังคม

  • เริ่มเล่นกับเพื่อนได้นานขึ้น แต่ก็เป็นบางครั้งบางคราว  ดังนั้นควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นกับเด็กวัยเดียวกันบ่อยๆ จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องการแบ่งปัน ด้วยการสลับของเล่น เรียนรู้จักการรอคอย ซึ่งระยะแรกๆ คุณแม่ต้องคอยช่วยดู ช่วยแนะนำ และแก้ปัญหาให้เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น

  • วัยนี้จะรู้สึกภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือหรือร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ คุณแม่จึงควรเปิดโอกาส หรือมอบหมายหน้าที่เล็กๆ น้อยๆ ให้ลูก เช่น ช่วยเก็บผ้าใส่ตะกร้า ช่วยรดน้ำต้นไม้ ฯลฯ โดยไม่ลืมเอยชมเพื่อเสริมแรงทางบวกให้ลูกด้วย

  • อย่างที่ทราบกันดีว่าเด็กวัยนี้ต้องการที่จะทำอะไรๆ ด้วยตัวเอง แต่บางครั้งเราก็ต้องสอนให้ลูกรู้จักการขอความช่วยเหลือบ้างเหมือนกัน เพื่อลดความรู้สึกกดดันในตัวเองลง ซึ่งวิธีการให้ความช่วยเหลือลูกไม่ใช่เราเข้าไปจัดการให้เสร็จเรียบร้อย แต่ต้องค่อยๆ บอกและแนะวิธีแก้ปัญหาให้ลูก เช่น” หนูต้องดึงเชือกออกก่อนจะทำให้ใส่รองเท้าได้ง่ายขึ้นแบบนี้นะคะ ไหนลองทำอีกข้างเองซิลูก” เป็นต้น

     หากเราให้โอกาส ลูกๆ  มีพัฒนาการด้านภาษาและสื่อสาร ชนิดที่  “รู้ภาษา” มากขึ้นๆ จากเด็กที่เกรี้ยวกราดเอาแต่ใจตัวเอง เขาจะค่อยๆ เรียนรู้ที่จะแบ่งปัน เชื่อฟัง และมีเหตุมีผลมากขึ้น โดยมีคุณแม่คอยชี้แนะ เพื่อปรับตัวสู่สังคมภายนอกให้ได้มากขึ้นเมื่อถึงวัยที่เขาต้องออกสู่โลกกว้างค่ะ