รู้ทันอาการชักของลูก

     เด็กอายุ ก่อน 3 ขวบ  มักพบอาการชักได้บ่อย เพราะสมองของเด็กยังมีการพัฒนาไม่เต็มที่ จึงมีความไวต่อการกระตุ้นจากอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้น ส่วน ใหญ่อาการชักมักเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว (เกิน 39 องศาเซลเซียส) และมักเกิดในวันแรกหรือวันที่ 2 ของการมีไข้ ซึ่งเด็กจะมีอาการเกร็งทั้งตัว ตาเหลือก กัดฟันและลิ้น แขนขากระตุกทั้ง 2 ข้าง ซึ่งกินเวลาประมาณ 1-3 นาที ช่วงนี้อาจมีน้ำลายฟูมปากหรือริมฝีปากและปลายมือปลายเท้ามีสีคล้ำเขียวได้

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

     ในรายที่ชักเป็นเวลานาน หลังหยุดชักแล้วเด็กมักจะหลับหรือสะลึมสะลือไปชั่วครู่ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องตั้งสติดีๆ แล้วรีบปฐมพยาบาลให้ลูก โดย

  • จับลูกนอนหงายและตะแคงศีรษะไปด้านข้างให้ระดับ ต่ำเล็กน้อยเพื่อให้น้ำลาย เสมหะ หรืออาหารไหลออกมาได้สะดวก ป้องกันไม่ให้สำลักเข้าไปอุดตันในหลอดลม และควรระวังไม่ให้ลูกได้รับอันตรายอื่นๆ จากการตกหรือล้มในขณะชักด้วย

  • คลายเสื้อผ้า ที่อาจทำให้ร่างกายลูกอึดอัดออก

  • ห้ามใช้กำลังงัดปากลูก เพราะอาจเกิดอันตรายได้

  • ไม่ควรเขย่าหรือตีเพื่อให้ลูกรู้สึกตัว เพราะจะทำให้ลูกชักมากขึ้น

  • ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น โปะไว้ตามข้อพับแขนขาและค่อย เช็ดตัวลูกด้วยน้ำอุ่นในทิศทางที่ย้อนเข้าหาหัวใจ เพื่อเป็นการเปิดรูขุมขน ให้ความร้อนสามารถระบายออกได้

  • ขณะลูกชัก ห้ามป้อนสิ่งใดเข้าทางปากลูกโดยเด็ดขาด แม้กระทั่งยาลดไข้ เพราะอาจทำให้สำลักได้

  • เมื่ออาการชักสงบแล้ว รีบพาลูกไปพบแพทย์ที่ใกล้บ้านที่สุด เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด

     การรีบปฐมพยาบาลและพาลูกไปพบแพทย์อย่างทันท่วงที จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากอาการชักที่มีต่อสมองของลูกน้อยได้มากขึ้นค่ะ