ตรวจสอบข้อมูลโดย: ผศ.พญ.ดิษจี ลุมพิกานนท์
กุมารแพทย์ สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล

สำหรับพ่อแม่แล้ว อาการเจ็บป่วยของลูกน้อย เป็นสิ่งที่เราไม่อยากจะประสบพบเจอ อาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย แต่ก็เป็นเรื่องที่เราหนีไม่ได้เลย อย่างเรื่องของการขับถ่าย บ่อยครั้งที่เจ้าตัวเล็กมักจะมีอาการถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว รวมทั้งถ่ายทันทีหลังกินนม เรื่องแบบนี้ก็ทำให้คุณแม่กังวลว่าจะเป็นอาการผิดปกติหรือไม่ หรือลูกของเราท้องเสียหรือเปล่า จะแก้ปัญหานี้อย่างไร เรามาหาคำตอบกัน

ดูอย่างไรว่าลูกน้อยมีอาการท้องเสียหรือไม่


การที่เราจะดูว่า ลูกน้อยของเรามีอาการท้องเสียหรือไม่ ไม่ได้ดูแค่จำนวนครั้งของการขับถ่าย แต่จะต้องดูจากลักษณะของอุจจาระด้วยเช่นกัน ถ้าอุจจาระที่ลูกถ่ายมีกากออกมาด้วยในทุกครั้ง และลูกยังร่าเริงดี เล่นได้ กินนมได้ปกติ น้ำหนักขึ้นดี แม้จะถ่ายวันละ 10 ครั้งก็ถือว่าปกติ ไม่ใช่อาการที่แสดงว่า ลูกท้องเสีย แต่ถ้าอุจจาระมีลักษณะเหลวเป็นน้ำ โดยไม่มีกากปนเลย หรือมีมูกเลือดปน ก็ถือว่าลูกท้องเสีย

นอกจากนี้ หากมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ มีอาการซึม ไม่อยากกินนม ท้องอืด อาเจียนบ่อย ตัวลาย ปากแห้ง ตาลึกโหล ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันที

สาเหตุที่อาจจะทำให้ ลูกถ่ายเหลว ถ่ายบ่อย ถ่ายทันทีหลังกินนม


สำหรับสาเหตุของปัญหาการถ่ายเหลว ถ่ายบ่อย ถ่ายทันทีหลังกินนมของลูกน้อย สามารถแยกได้เป็นสองประเภท ได้แก่ เด็กกินนมแม่ และเด็กกินนมผง

ในกรณีเด็กกินนมแม่

สำหรับลูกน้อยที่กินนมแม่ ในช่วงเดือนแรก ๆ คุณแม่จะสังเกตได้ว่า ลูกน้อยถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว ถ่ายทันทีหลังกินนม ซึ่งอาจจะทำให้คุณแม่เข้าใจว่าลูกมีอาการท้องเสีย ซึ่งที่จริงแล้ว อาการแบบนี้เป็นอาการปกติของเด็กที่กินนมแม่ เนื่องจากนมแม่มีคุณสมบัติที่ย่อยง่าย และสามารถดูดซึมสารอาหารได้เกือบหมด ทำให้อุจจาระของลูกน้อยเวลาถ่าย มีกากน้อย และมีน้ำมาก

ส่วนอีกสาเหตุ อาจจะเกิดจากคุณแม่ให้ลูกกินนมไม่เกลี้ยงเต้า คือ ดูดเต้าแรกไม่นานก็สลับเปลี่ยนให้ลูกไปกินนมอีกเต้า ทำให้ลูกได้กินน้ำนมเฉพาะแค่ส่วนหน้าของทั้งสองเต้าเท่านั้น หรือคุณแม่บางคนมีน้ำนมมาก ลูกน้อยกินนมเฉพาะส่วนหน้าก็อิ่มแล้ว ซึ่งในน้ำนมส่วนหน้าจะมีน้ำ และน้ำตาลแลคโตส เป็นส่วนประกอบค่อนข้างมาก จึงสามารถผ่านลงลำไส้ได้รวดเร็ว ทำให้ลำไส้ย่อยและดูดซึมไม่ทัน ลูกจึงถ่ายออกมาเลยหลังกินนมมื้อนั้น ๆ

แล้วจะทำอย่างไร ไม่ให้ลูกถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว ถ่ายทันทีหลังกินนมแม่

แนะนำให้ลูกดูดนมแม่ให้เกลี้ยงเต้า เพราะน้ำนมส่วนหลังมีไขมันสูง ลูกจะใช้เวลาย่อย และดูดซึมนานขึ้น ทำให้การขับถ่ายทิ้งช่วงห่างออกไปได้

แต่หากยังไม่ดีขึ้น หรือในกรณีที่คุณแม่มีน้ำนมมาก จนลูกอิ่มก่อนที่จะดูดนมจนเกลี้ยงเต้า คุณแม่อาจใช้วิธีบีบน้ำนมแม่ส่วนหน้าที่มีลักษณะใสทิ้งไปประมาณ 20 – 30 มิลลิลิตร หรือประมาณ 10 – 15 นาที ก่อนให้ลูกดูด เพื่อให้ลูกได้น้ำนมส่วนหลังที่ข้นและมีไขมันมากขึ้น ก็ช่วยแก้ปัญหาได้เช่นกัน

ในกรณีเด็กกินนมผง

สำหรับเด็กบางคนที่แพ้อาหารผ่านนมแม่ หรือคุณแม่มีน้ำนมไม่พอ และมีความจำเป็นต้องให้ลูกกินนมผง อาจเป็นไปได้ว่าลูกมีปัญหาในการย่อยสารอาหารในนมผง เนื่องจากระบบการย่อยอาหารของลูกยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเอนไซม์ในลำไส้ที่ใช้ย่อยโปรตีน และน้ำตาลแลคโตสยังทำงานไม่เต็มที่

เมื่อลูกกินนมสูตรปกติที่มีโปรตีนเป็นโมเลกุลใหญ่และมีน้ำตาลแลคโตสเป็นส่วนผสม ลำไส้จะย่อยได้ไม่หมด สารอาหารบางส่วนจึงตกค้างในลำไส้จนเกิดเป็นแก๊ส ซึ่งเป็นสาเหตุให้เด็กปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด ร้องกวน รวมทั้งอาการถ่ายทันทีหลังกินนม

แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้ลูกถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว ถ่ายทันทีหลังกินนมผง

อาการเหล่านี้ไม่ใช่อาการปกติ การถ่ายเหลวจะทำให้ลูกได้รับสารอาหารจากนมไม่เต็มที่ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย และพัฒนาการของลูก คุณแม่สามารถปรึกษาคุณหมอเพื่อเลือกนมสูตรย่อยง่าย ที่มีโปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วน และมีสัดส่วนของน้ำตาลแลคโตสต่ำกว่าปกติ ซึ่งสอดคล้องกับระบบการย่อยของลูกที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์

การเปลี่ยนสูตรนมผงนั้นสามารถทำได้ในกรณีที่เด็กมีอาการท้องอืด ไม่สบายท้อง ร้องกวน แหวะนมได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีนมผงสูตรผสมใยอาหารสุขภาพที่ช่วยในการขับถ่าย อย่างเช่น พีดีเอ็กซ์ (PDX) และ กอส (GOS) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก (Prebiotics) เป็นอาหารของจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้ จะช่วยปรับการทำงานของลำไส้ให้สมดุลได้

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ลูกถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว ถ่ายทันทีหลังกินนม แบบไหนที่คุณแม่ควรระวัง


ลูกถ่ายบ่อยแบบไหนที่แม่ควรระวัง

อย่างที่กล่าวไว้ก่อนหน้า หากลูกน้อยมีอาการถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว ถ่ายทันทีหลังกินนม แต่ลักษณะอุจจาระมีเนื้อปนออกมาด้วย ยังร่าเริงดี กินนมได้ เล่นได้ น้ำหนักตัวขึ้นเป็นปกติ ไม่มีท้องอืด แน่นท้อง อาเจียนบ่อย จะไม่ใช่อาการท้องเสีย

อาการท้องเสีย จะดูที่ลักษณะ และความถี่ของอุจจาระ โดยใช้ลักษณะอุจจาระที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ เช่น ลักษณะเป็นเนื้อเหลวโดยมีความถี่ 3 ครั้งขึ้นไป หรือเป็นมูกเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง หรือเป็นน้ำปริมาณมากกว่า 1 ครั้งขึ้นไป ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง โดยคำจำกัดความนี้ไม่รวมถึงเด็กเล็กที่กินนมแม่ ซึ่งมักจะถ่ายบ่อยแต่อุจจาระเป็นเนื้อดี และมีน้ำหนักตัวขึ้นได้ตามปกติ

ดังนั้น คุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตลักษณะอุจจาระของลูกเพื่อดูว่าเข้าข่ายท้องเสียหรือไม่ นอกจากนี้อย่าลืมสังเกตอาการร่วมอื่น ๆ เช่น มีไข้ ลูกเซื่องซึม ไม่อยากนม ร้องกวน ท้องอืด อาเจียนบ่อย ตัวลาย ปากแห้ง ตาลึกโหล หรือมีอาการงอแงผิดปกติก็ควรรีบพาไปหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเร็ว

ผลข้างเคียงจากการถ่ายบ่อย


การที่ลูกถ่ายบ่อยไป อาจทำให้ลูกก้นแดง เป็นแผล เกิดผื่นคล้าย ๆ ผื่นผ้าอ้อม รอบ ๆ ก้นและบริเวณขาหนีบ ซึ่งจะทำให้ลูกหงุดหงิด งอแง ร้องกวน ส่งผลต่อพัฒนาการด้านอารมณ์ และการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวก็ทำได้น้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น

หากเกิดอาการดังกล่าวขึ้น แนะนำให้หมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อม ทำความสะอาดหลังการขับถ่ายทุกครั้ง และเช็ดก้นของลูกให้แห้งอยู่เสมอ เพื่อลดความอับชื้นของผิวหนังบริเวณผ้าอ้อม รวมถึงทาครีมหรือ ออยเมนท์เพื่อช่วยเคลือบและปกป้องผิวของลูกจากการขับถ่าย

คุณแม่ที่กำลังเผชิญกับปัญหาลูกถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว ถ่ายทันทีหลังกินนม ลองใช้วิธีสังเกตุลักษณะ และอาการของลูกน้อย รวมทั้งทำตามคำแนะนำ ก็จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการขับถ่ายของลูกน้อยได้บ้าง ไม่มากก็น้อยค่ะ

คุณแม่มือใหม่ยังสามารถหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการดูแลลูกน้อย ได้ที่ Enfa Smart Club พร้อมรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ได้ที่ คลิก

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

ไขรหัสลับ MFGM สารอาหารสำคัญที่พบในนมแม่ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสมอง และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้เขาแข็งแรง