ตรวจสอบข้อมูลโดย : ผศ.พญ.ดิษจี ลุมพิกานนท์
กุมารแพทย์ สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล

 

เด็กเล็กๆ นั้น มักตื่นขึ้นมากินนมในตอนกลางคืน แต่เมื่อถึงวัยหนึ่งคุณแม่ควรงดหรือเลิกความเคยชินนี้ เพื่อผลดีหลายๆ อย่าง ที่จะตามมาเมื่อลูกเติบโตขึ้น แต่คุณแม่อาจมีคำถามว่าลูกอายุเท่าไหร่ที่ควรเลิกนมมื้อดึกกับเขา และมีวิธีเลิกอย่างไร เรามีข้อมูลให้คุณแม่ค่ะ

งดนมมื้อดึกให้ลูกฝึกเมื่อไหร่ดี

เมื่อลูกเข้าสู่วัย 4-6 เดือน เขามักนอนกลางคืนนาน 4-6 ชั่วโมง โดยไม่ตื่นมากินนมมื้อดึกได้ หากได้รับการฝึกอย่างเหมาะสม ลูกน้อยจะสามารถเลิกนมมื้อดึกได้เมื่ออายุประมาณ 6 เดือน ซึ่งเป็นวัยที่สามารถนอนกลางคืนได้นาน 6-8 ชั่วโมง โดยไม่หิวแล้ว คุณแม่ก็สามารถเริ่มฝึกได้ตั้งแต่ช่วงอายุดังกล่าวค่ะ

สมัครสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับสิทธิ์! รถเข็นเด็กสุดพรีเมี่ยม ฟรี!

วิธีการฝึกลูกเลิกนมมื้อดึกทำได้ดังนี้

  • เริ่มต้นจากมื้อกลางวัน การเลิกนมมื้อดึกเริ่มฝึกจากมื้อกลางวันก่อน โดยให้ลูกกินนมห่างขึ้น ด้วยการเพิ่มเวลาขึ้นเรื่อยๆ ให้ได้เวลาห่างระหว่างมื้ออย่างน้อย 4 ชั่วโมง และควรมีมื้อนมก่อนเข้านอนด้วย เพื่อให้ลูกไม่หิวมากตอนดึก

  • วิธีค่อยๆ ลดปริมาณนม วิธีนี้จะใช้เวลานานกว่าวิธีหยุดมื้อนมทันที สำหรับเด็กกินนมผง ให้คุณแม่ชงนมลดลง โดยลดปริมาณออนซ์ลงทีละน้อย หลังจากนั้นก็ให้ลูกกินน้ำอย่างเดียว ลูกจะปรับตัวได้ในที่สุดค่ะ หากลูกกินนมแม่ก็จำกัดการให้นมตอนกลางคืนเหลือแค่ 5 นาทีใน 2 คืนแรก แล้วลดเหลือ 3 นาทีใน 2 คืนต่อมา คืนต่อไปก็งดนมแม่มื้อนั้น หลังจากนั้นก็ให้แต่น้ำอย่างเดียว ในที่สุดลูกจะค่อยๆ งดนมมื้อดึกได้

  • วิธีหยุดนมมื้อดึกทันที ลูกอาจจะร้องช่วงแรกๆ ปล่อยให้เขาร้องไปสัก 10 นาที คุณแม่จึงเข้าไปกล่อมสัก 2-3 นาที โดยไม่ต้องอุ้มขึ้นมา แล้วปล่อยไป หากลูกยังร้องก็ให้รออีก 10 นาที ค่อยเข้ามากล่อมสั้นๆ เหมือนเดิม ทำจนกว่าลูกจะหยุดร้องและหลับไปเอง วิธีนี้จะได้ผลเร็ว ส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 สัปดาห์ แต่คุณแม่ต้องอดทน ใจแข็งกับเสียงร้องของลูก

สิ่งสำคัญที่แม่ควรใส่ใจ

เลิกนมมื้อดึกลูก คุณแม่ควรฝึกลูกตั้งแต่อายุ 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกนอนกลางคืนนาน 6-8 ชั่วโมง

 
  • ถ้าลูกขยับตัวเหมือนครึ่งหลับครึ่งตื่น คุณแม่ไม่ต้องกังวลและรีบเข้ามาอุ้มลูก ป้อนนม หรือกล่อมลูก เพราะบางครั้งลูกจะดูเหมือนตื่น แต่ก็สามารถหลับต่อได้เองในเวลาต่อมา อาจสัมผัสเบาๆ คอยตบก้นให้ลูกหลับได้เอง ไม่ควรรีบตอบสนองกับเสียงร้องด้วยการให้นม เพราะลูกจะชินและหลับต่อเองไม่ได้หากไม่ได้กินนม เป็นการฝึกให้ลูกหลับยาวด้วย

  • ดูแลและแก้ไขเสียงร้องของลูกตามสาเหตุ เช่น ลูกเจ็บป่วยไม่สบาย ผ้าอ้อมชื้นแฉะ หรือมีแมลงกัด ทำให้รู้สึกไม่สบายตัวหรือเจ็บปวด ก็หาสาเหตุและแก้ไข

  • เมื่อลูกร้องและตื่นขึ้นมา ไม่ควรเปิดไฟในห้องให้สว่างหรือทำเสียงดัง ควรคงบรรยากาศแบบเดิมไว้ เพื่อให้ลูกหลับต่อได้

  • การให้นมลูกมื้อกลางวันแต่ละมื้อให้อิ่ม ฝึกกินนมให้อิ่มก่อนนอน ไม่ควรให้ลูกดูดนมทุกครั้งที่ลูกตื่น เพราะจะทำให้ลูกเคยชินกับการตื่นแล้วต้องดูดนม และในบางครั้งลูกไม่ได้ตื่นเพราะหิวจะทำให้การงดนมมื้อดึกไม่มีปัญหาต่อสุขภาพลูกแต่อย่างใด

ลูกเลิกนมมื้อดึกจะส่งผลต่อน้ำนมแม่มั้ย

สำหรับคุณแม่ที่ให้นมลูกอาจกังวลว่าการที่ลูกไม่กินนมมื้อดึกจะส่งผลต่อการสร้างน้ำนมหรือไม่ เนื่องจากฮอร์โมนโปรแลกตินที่ช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมมีมากในเวลากลางคืน หากลูกไม่ได้ดูดกระตุ้นจะทำให้น้ำนมน้อยลงหรือไม่ ในกรณีที่คุณแม่ต้องการทำสต๊อกนม หรือ น้ำนมคุณแม่ยังไม่มากพอ คุณแม่อาจต้องลุกมาปั๊มนมสัก 1 ครั้งเพื่อระบายน้ำนมออก ป้องกันเต้านมคัดและกระตุ้นการสร้างน้ำนมใหม่ ตอนเช้าก็ให้ลูกรีบดูดหรือคุณแม่รีบปั๊มออก ก็จะไม่มีปัญหาเต้านมคัดหรือร่างกายสร้างน้ำนมน้อยลงค่ะ

ลูกติดนมมื้อดึกจะเกิดอะไรขึ้น

หากคุณแม่ไม่ได้ฝึกลูกเลิกนมมื้อดึก แล้วลูกยังเลิกนมมื้อดึกไม่ได้เมื่อถึงวัยที่ควรจะเลิกแล้ว จะเลิกได้ยากขึ้นและส่งผลเสียหลายๆ อย่าง เช่น...

  • การนอนหลับของลูกไม่ต่อเนื่อง ลูกไม่ได้หลับยาว เพราะต้องตื่นมากินนม ส่งผลต่อการหลั่งของฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโตในช่วงเวลาที่หลับสนิท

  • มีน้ำนมค้างอยู่ในช่องปากลูกตลอดคืน เมื่อฟันลูกขึ้นจะเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ

  • คุณแม่ไม่ได้พักผ่อนเต็มที่ เพราะต้องตื่นตามลูกนั่นเอง

สิ่งสำคัญในการเลิกนมมื้อดึกคือ คุณแม่ต้องใจแข็ง อดทน มีความตั้งใจ อาจต้องกำหนดว่าจะเลิกให้ได้ภายในระยะเวลาเท่าใด เช่น  ภายใน 1 เดือน แล้วต้องทำให้ได้ แรกๆ ลูกอาจจะโยเย ไม่ยอมนอนต่อ เพราะยังไม่คุ้น แต่หากฝึกไปเรื่อยๆ ลูกจะเลิกนมมื้อดึกได้ภายในไม่กี่เดือนค่ะ

 

นมแม่ดีที่สุดโดยเฉพาะน้ำนมเหลืองที่มีแลคโตเฟอร์ริน

นมแม่ดีที่สุดเพราะมีแลคโตเฟอร์ริน

เพราะมี Lactoferrin โปรตีนสำคัญในนมแม่ที่ทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา อันเป็นสาเหตุของการป่วย จึงช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารก, MFGM เยื่อหุ้มอนุภาคไขมันในน้ำนม ช่วยให้เซลล์ไขมันคงรูปอยู่ได้ในน้ำนม MFGM ประกอบด้วยสารอาหารต่างๆ เช่น โปรตีนต่างๆ และไขมันเชิงซ้อน ซึ่งล้วนแต่เป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสมองเด็ก และมีดีเอชเอ กรดไขมันที่ช่วยพัฒนาสมองเด็กนั่นเอง เมื่อ MFGM และดีเอชเอ ทำงานร่วมกัน จะเพิ่มโอกาสการเชื่อมต่อเซลล์สมองของเด็ก

 

นมแม่มีประโยชน์มากกว่าที่คิด พบข้อมูล เคล็ดลับที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้ได้ที่นี่