Leaving page banner
 

ปั๊มนมยังไงให้ถูกวิธี ปั๊มแบบไหนให้นมเกลี้ยงเต้า

ปั๊มนมยังไงให้ถูกวิธี ปั๊มแบบไหนให้นมเกลี้ยงเต้า

 

Enfa สรุปให้

  • ปั๊มนม หรือปั๊มนมแม่ (Pumping Breast Milk) คือ วิธีการเก็บสำรองน้ำนมแม่สำหรับใช้ป้อนนมลูก โดยจะปั๊มเอาน้ำนมออกจากเต้ามาเก็บใส่ไว้ในขวดหรือถุงสำหรับจัดเก็บน้ำนมแม่ แล้วนำไปแช่ไว้ในตู้เย็น

  • รอบปั๊มนมของแม่แต่ละคนจะแตกต่างกันออกไปตามความสะดวกของคุณแม่ และไลฟ์สไตล์การทำงานหรือการใช้ชีวิต ซึ่งบางครั้งก็อาจจำเป็นจะต้องลองผิดลองถูก จนกว่าจะพบช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการปั๊มนมที่เหมาะกับคุณแม่แต่ละคน

  • การปั๊มนมจะช่วยให้ทารกได้กินนมอย่างเพียงพอ ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนจากการกินนมแม่ โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก ทารกจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับนมแม่ เพื่อให้เติบโตได้อย่างแข็งแรงและสมวัย มีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง และช่วยให้คุณแม่มีน้ำนมเพียงพอที่จะป้อนทารกในแต่ละวัน ทั้งยังช่วยประหยัดเวลาในการให้นมลูก ไม่ต้องคอยกังวลว่าจะต้องเสียเวลาให้นมลูกและไม่ทันไปทำงาน เพราะเมื่อปั๊มนมไว้แล้ว ก็สามารถให้คนอื่นมาป้อนนมให้กับทารกได้

  • คุณแม่ไม่ควรพลาดการปั๊มนมในช่วงน้ำนมระยะแรกที่เรียกว่า ระยะน้ำนมเหลือง ที่จะไหลออกมาเพียง 1-3 วัน น้ำนมระยะนี้จะมีสีเหลืองเข้ม และพบแลคโตเฟอร์รินได้มากที่สุด ซึ่งแลคโตเฟอร์รินคือ โปรตีนสำคัญในนมแม่ ทำหน้าที่ส่งเสริมภูมิคุ้มกัน โดยการออกฤทธิ์ในลำไส้เพื่อต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา จึงช่วยป้องกันลูกน้อยจากอาการเจ็บป่วย

เลือกอ่านตามหัวข้อ

ปั๊มนมคืออะไร
เริ่มปั๊มนมได้เมื่อไหร่
การปั๊มนมดีอย่างไร
ปั๊มนมในระยะน้ำนมเหลือง
วิธีปั๊มนมทำอย่างไร
ปั๊มนมแต่ละครั้งนานแค่ไหน
นมแม่ที่ปั๊มแล้ว เก็บไว้ได้นานแค่ไหน
เทคนิคการปั๊มให้เกลี้ยงเต้า
ตารางปั๊มนม
• ไขข้อข้องใจเรื่องการปั๊มนมกับ Enfa Smart Club

อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้คุณแม่มีน้ำนมเก็บสำรองไว้อย่างเพียงพอ ประหยัดเวลา และไม่ต้องกังวลว่าจะให้นมลูกไม่ได้ในช่วงเวลาที่เร่งรีบ เรากำลังพูดถึงการ ปั๊มนม ทางเลือกที่ช่วยให้คุณแม่มีน้ำนมเก็บสำรองไว้ และสามารถให้นมทารกเมื่อไหร่ก็ได้ โดยที่คุณแม่ไม่จำเป็นต้องอยู่คอยป้อนนมให้เจ้าตัวเล็กตลอดเวลา สามารถให้คนอื่นช่วยป้อนได้เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เร่งรีบหรือยุ่งกับการทำงาน แต่ปั๊มนมคืออะไร คุณแม่ควรเริ่มทำการปั๊มนมเมื่อไหร่ วิธีปั๊มนมที่ถูกต้องเป็นอย่างไร เรามาติดตามกันที่บทความนี้ได้เลยค่ะ

ปั๊มนมคืออะไร


ปั๊มนม หรือปั๊มนมแม่ (Pumping Breast Milk) คือ วิธีการเก็บสำรองน้ำนมแม่สำหรับใช้ป้อนนมลูก โดยจะปั๊มเอาน้ำนมออกจากเต้ามาเก็บใส่ไว้ในขวดหรือถุงสำหรับจัดเก็บน้ำนมแม่ แล้วนำไปแช่ไว้ในตู้เย็น การปั๊มนมจะช่วยให้คุณแม่มีน้ำนมเพียงพอที่จะป้อนทารกในแต่ละวัน ทั้งยังช่วยประหยัดเวลาในการให้นมลูก ไม่ต้องคอยกังวลว่าจะต้องเสียเวลาให้นมลูกและไม่ทันไปทำงาน เพราะเมื่อปั๊มนมไว้แล้ว ก็สามารถให้คนอื่นมาป้อนนมให้กับทารกได้ ซึ่งการปั๊มนมก็สามารถที่จะปั๊มได้เองโดยการใช้มือบีบเอง ใช้เครื่องปั๊มนมทั่วไป หรือจะใช้เครื่องปั๊มนมไฟฟ้า ก็สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมและความสะดวกของคุณแม่

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

คุณแม่ควรเริ่มปั๊มนมเมื่อไหร่


แม่แต่ละคนเริ่มต้นการปั๊มนมไม่เหมือนกัน แม่บางคนอาจจะเริ่มปั๊มนมตั้งแต่หลังคลอดทันที บางคนอาจรอหลังคลอดผ่านไปแล้ว 2-3 สัปดาห์ ขณะที่แม่อีกหลายคนเลือกที่จะเริ่มปั๊มนมเมื่อถึงเวลาที่จะต้องกลับไปทำงาน

เป็นอันว่า การเริ่มต้นปั๊มนมนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการและความพร้อมของคุณแม่ล้วน ๆ แต่สิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืมเลยก็คือ เมื่อทารกอายุได้ 4-6 สัปดาห์ ทารกจะเริ่มกินนมเยอะขึ้น และน้ำนมแม่ควรจะมีเพียงพอที่จะป้อนให้กับทารกได้ตลอดเวลา ดังนั้น อาจจะเริ่มปั๊มนมจากช่วงเวลานี้เป็นต้นไปก็ได้ หรือจะเริ่มก่อนหน้านั้นก็ได้เช่นกัน ไม่มีถูก ไม่มีผิด

การปั๊มนมสำคัญอย่างไร ทำไมคุณแม่ต้องปั๊มนม


การปั๊มนมสำคัญทั้งต่อแม่และทารก ทั้งสองชีวิตจะได้ประโยชน์ร่วมกันจากการปั๊มนม สำหรับทารกแล้ว การปั๊มนมจะช่วยให้ทารกได้กินนมอย่างเพียงพอ ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนจากการกินนมแม่ โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก ทารกจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับนมแม่อย่างเพียงพอ เพื่อให้เติบโตได้อย่างแข็งแรงและสมวัย และมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง เพราะสารอาหารในนมแม่มีส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันของทารก ส่วนคุณแม่เองก็ได้ประโยชน์โดยตรงจากในเรื่องของการประหยัดเวลาให้นมลูก แถมไม่ต้องกังวลว่าจะหาเวลามาให้นมลูกไม่ได้ เพราะเมื่อนมถูกปั๊มใส่ขวดไปแล้ว ก็สามารถไหว้วานคนใกล้ตัวให้ช่วยป้อนนมเจ้าตัวเล็กได้ ไม่กระทบงาน แล้วก็ไม่กระทบกับสุขภาพของลูกน้อย ไม่ต้องห่วงว่าเจ้าตัวเล็กจะหิวนมหรือกินนมไม่พอ

ปั๊มนมในระยะน้ำนมเหลือง


คุณแม่ไม่ควรพลาดการปั๊มนมในช่วงแรกที่น้ำนมเพิ่งเริ่มไหล หรือที่เรียกกันว่า น้ำนมระยะแรก หรือ น้ำนมเหลือง น้ำนมเหลืองมีลักษณะเป็นสีเหลืองเข้ม ซึ่งจะไหลออกมาเพียงแค่ 1-3 วันแรกหลังคลอด เป็นน้ำนมที่พบแลคโตเฟอร์รินปริมาณสูงที่สุด ซึ่งแลคโตเฟอร์ริน คือ โปรตีนในนมแม่ที่มีคุณสมบัติส่งเสริมภูมิคุ้มกัน โดยการออกฤทธิ์ในลำไส้เพื่อต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา จึงช่วยป้องกันลูกน้อยจากอาการเจ็บป่วย

 

นมแม่ดีที่สุดโดยเฉพาะน้ำนมเหลืองที่มีแลคโตเฟอร์ริน

 

วิธีปั๊มนมทำอย่างไร


วิธีปั๊มนมนั้น ไม่ได้ยากเกินจนแม่มือใหม่จะทำไม่ได้ แค่เพียงรู้สึกว่าพร้อมแล้วที่จะเริ่มปั๊มนม ก็สามารถลงมือปั๊มนมได้เลยทันที โดยมีวิธีปั๊มนมพื้นฐาน ดังนี้

  • ล้างมือ เครื่องปั๊มนม และอุปกรณ์สำหรับเก็บนมให้สะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้มีเชื้อแบคทีเรียหรือสิ่งสกปรกอื่น ๆ แฝงไปกับน้ำนมหรือขวดนม

  • ผ่อนคลายก่อนเริ่มปั๊ม สำหรับการปั๊มนมครั้งแรกคุณแม่อาจจะตื่นเต้น กังวล หรือประหม่าได้ ให้พยายามทำกายและใจให้สบาย เลือกที่สงบ ๆ และนั่งในท่าที่รู้สึกสบายที่สุด ก่อนที่จะเริ่มปั๊มนม นอกจากนี้คุณแม่ยังสามารถเปิดดูรูปลูกขณะที่กำลังปั๊มนมเพื่อสร้างบรรยากาศและความรู้สึกของการให้นมบุตร

  • ค่อย ๆ นวดเต้านม นวดอย่างเบา ๆ และนุ่มนวลเพื่อให้หน้าอกคล้อยและพร้อมสำหรับการปั๊มนม

  • หากปั๊มด้วยมือ ให้ทำมือเป็นรูปตัว C ให้นิ้วโป้งอยู่ด้านบนหัวนม นิ้วชี้อยู่ด้านล่างหัวนม และไม่บีบตรงไปที่หัวนม แต่ให้นิ้วมือทั้งสองอยู่ห่างจากบลานประมาณ 1 นิ้ว จากนั้นค่อย ๆ บีบที่ลานนม พยายามเปลี่ยนจุดที่บีบไปมาจนกว่าน้ำนมจะค่อย ๆ ไหลออกมา

  • หากปั๊มนมด้วยเครื่องปั๊ม ให้วางกรวยปั๊มอยู่กึ่งกลางลานนม แล้วจึงเริ่มทำการปั๊ม ขณะปั๊มนมควรปั๊มอย่างเบามือ เพราะหากกดแรงเกินไปอาจทำให้ลานนมเป็นรอยหรือเกิดการบาดเจ็บได้ และควรเริ่มจากแรงปั๊มต่ำสุดก่อน แล้วจึงค่อย ๆ ไล่ไปหาระดับที่สูงขึ้น ค่อย ๆ เพิ่มแรงปั๊มเมื่อน้ำนมไหลออกมา

  • เก็บน้ำนมลงในภาชนะบรรจุนมให้เรียบร้อย ปิดปากถุงหรือขวดนมให้สนิท เขียนระบุวัน-เวลาที่ปั๊มนมเอาไว้ให้ชัดเจน แล้วนำไปแช่ไว้ในตู้เย็น

ปั๊มนมกี่นาทีถึงจะได้น้ำนมพอ


โดยทั่วไปแล้วการปั๊มนมด้วยมือจะใช้เวลาตั้งแต่ 10-15 นาที แต่ถ้าอยู่ในภาวะเร่งรีบหรือไม่สะดวก หรือต้องปั๊มนมในที่ทำงาน การใช้ที่ปั๊มนมหรือเครื่องปั๊มนม ก็อาจจะใช้เวลาน้อยกว่านั้น

นมแม่ที่ปั๊มแล้ว เก็บไว้ได้นานแค่ไหน


หลังจากนมแม่ปั๊มใส่ขวดหรือถุงนมแล้ว จะมีระยะเวลาของการเก็บนมแม่ที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • นมแม่ที่เก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง สามารถอยู่ได้นานถึง 4 ชั่วโมง

  • นมแม่ที่แช่ในตู้เย็นช่องปกติ สามารถเก็บไว้ได้ 8 วัน

  • นมแม่ที่แช่ในช่องแช่แข็ง สามารถเก็บได้ 2 สัปดาห์

  • นมแม่ที่แช่ไว้ในช่องแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า 18 องศา สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 6 เดือน

วิธีบีบน้ำนมด้วยมือทำอย่างไร


การบีบน้ำนมด้วยมือนั้น เป็นการปั๊มนมที่เบสิกที่สุด โดยคุณแม่สามารถทำเองได้ง่าย ๆ ดังนี้

  • ล้างมือ และอุปกรณ์สำหรับเก็บนมให้สะอาด ทั้งก่อนและหลังจากปั๊มนมเสร็จแล้ว

  • เมื่อพร้อมแล้วให้ทำมือเป็นรูปตัว C ให้นิ้วโป้งอยู่ด้านบนหัวนม นิ้วชี้อยู่ด้านล่างหัวนม และไม่บีบตรงไปที่หัวนม แต่ให้นิ้วมือทั้งสองอยู่ห่างจากบลานประมาณ 1 นิ้ว

  • จากนั้นค่อย ๆ บีบที่ลานนม พยายามเปลี่ยนจุดที่บีบไปมาจนกว่าน้ำนมจะค่อย ๆ ไหลออกมา

รู้จักเครื่องปั๊มนม ตัวช่วยของคุณแม่ลูกอ่อน


คุณแม่บางคนอาจจะไม่สะดวกที่จะต้องมานั่งใช้มือบีบเต้าเพื่อปั๊มนมเอง อาจจะไม่สะดวกด้วยเรื่องของเวลาหรือสถานที่ การใช้ที่ปั๊มนมก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เหมาะสม เพราะช่วยให้ปั๊มนมได้เร็วขึ้น และสะดวกในการใช้งานในสถานการณ์ที่อาจจะไม่เอื้ออำนวยให้นั่งปั๊มนมได้นาน ๆ

ซึ่งวิธีใช้เครื่องปั๊มนม ก็ไม่ยาก เพราะมีคู่มือการใช้งานบอกไว้ละเอียด และมีวิธีปั๊มดังนี้

  • ล้างมือ เครื่องปั๊มนม และอุปกรณ์สำหรับเก็บนมให้สะอาด ทั้งก่อนและหลังจากปั๊มนมเสร็จแล้ว

  • ให้วางกรวยปั๊มนมลงบนหัวนม โดยให้ลานนมอยู่ตรงกึ่งกลางของจุดปั๊ม

  • เมื่อกรวยปั๊มอยู่กึ่งกลางของลานนมแล้วจึงเริ่มทำการปั๊ม

  • ขณะปั๊มนมควรปั๊มอย่างเบามือ เพราะหากกดแรงเกินไปอาจทำให้ลานนมเป็นรอยหรือเกิดการบาดเจ็บได้ จึงควรเริ่มจากแรงปั๊มต่ำสุดก่อน แล้วจึงค่อย ๆ ไล่ไปหาระดับที่สูงขึ้น ค่อย ๆ เพิ่มแรงปั๊มเมื่อน้ำนมไหลออกมา

เทคนิคการปั๊มให้เกลี้ยงเต้า


เพื่อให้สามารถปั๊มนมได้มากที่สุด และป้องกันไม่ให้มีน้ำนมไหลซึมระหว่างวัน คุณแม่สามารถปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้าได้ ดังนี้

  • ปั๊มมือและปั๊มด้วยเครื่อง บางครั้งปั๊มด้วยมืออาจบีบน้ำนมออกมาไม่หมด การใช้ที่ปั๊มสลับมาช่วยอีกแรงก็จะช่วยให้ปั๊มน้ำนมออกมาได้มากขึ้นและเกลี้ยงเต้า

  • เลือกใช้ที่ปั๊มนมเกรดโรงพยาบาลเท่านั้น เพื่อให้ได้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพ และสามารถปั๊มน้ำนมได้ในปริมาณที่เหมาะสม อุปกรณ์ที่ไม่ได้คุณภาพอาจปั๊มน้ำนมได้ไม่เต็มที่

  • ระวังอย่าบีบที่หัวนมแรงเกินไป เพราะยิ่งหัวนมเกิดอาการเจ็บปวด จะทำให้น้ำนมไหลออกมาน้อย ไม่ว่าจะปั๊มด้วยมือหรือใช้เครื่องปั๊มนม ควรระวังไม่ให้เกิดการบาดเจ็บที่หัวนมและลานนม

  • ขณะปั๊มควรสลับแรงบีบให้เร็วและช้า เพื่อให้มีลักษณะคล้ายกับตอนที่ทารกกินนม ก็จะมีจังหวะที่ดูดช้าและเร็วสลับกันไป เป็นการเลียนแบบการกินนมของทารก ทำให้ได้บรรยากาศของการให้นม ช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ปั๊มนมได้นานขึ้น เพลินขึ้น

  • ทำความสะอาดมือ อุปกรณ์ปั๊มนม และอุปกรณ์บรรจุนมให้สะอาดเสมอ เพื่อป้องกันสิ่งสกปรก เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส

  • ปั๊มนมไป ดูภาพลูกไป การดูภาพลูก วิดิโอเกี่ยวกับลูก หรือนั่งปั๊มนมอยู่ใกล้ ๆ ลูก เป้นการสร้างบรรยากาศของการให้นม ช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ปั๊มนมได้นานขึ้น เพลินขึ้น

  • กินอาหารให้เพียงพอ หลากหลาย และเหมาะสม เพื่อให้สารอาหารไปกระตุ้นการผลิตน้ำนม ทำให้มีน้ำนมอย่างเพียงพออยู่เสมอ

คุณแม่มือใหม่ จะรู้ได้อย่างไรว่าปั๊มนมเกลี้ยงเต้าแล้ว


วิธีดูว่าแม่ปั๊มนมเกลี้ยงเต้าแล้วหรือยังนั้นให้สังเกตจากการไหลของน้ำนม หากน้ำนมเริ่มไหลน้อยลงก็ให้สลับไปปั๊มอีกข้างหนึ่ง สลับไปสลับมาจนน้ำนมจะเริ่มไหลช้ามาก ๆ หรือหยุดไหลไปเลย จึงหยุดการปั๊มนม แล้วบรรจุนมลงภาชนะเก็บนม แช่ตู้เย็นให้เรียบร้อย

ตารางปั๊มนมที่เหมาะสมเป็นอย่างไร


รอบปั๊มนมของแม่แต่ละคนจะแตกต่างกันออกไปตามความสะดวกของคุณแม่ และไลฟ์สไตล์การทำงานหรือการใช้ชีวิต ซึ่งบางครั้งก็อาจจำเป็นจะต้องลองผิดลองถูก จนกว่าจะพบช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการปั๊มนมที่เหมาะกับคุณแม่แต่ละคน

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วคุณแม่สามารถที่จะใช้รอบปั๊มนมพื้นฐานได้ ดังนี้

  • ทารกแรกเกิด 1-3 เดือน ควรปั๊มนม 8-9 ครั้งในรอบ 24 ชั่วโมง โดยเริ่มจากเวลา05:00 น. 7:00 น. 09:00 น. 11:00 น. 13:00 น. 15:00 น. 17:00 น. 19:00 น. และ 12:00 น. หรืออาจจะปรับได้ตามต้องการ ขึ้นอยู่กับเวลาที่ปั๊มครั้งแรกของวัน

  • ทารกอายุ 3 เดือน ควรปั๊มนม 5-6 ครั้งต่อวัน โดยเริ่มจากเวลา 06.00 น. 10.00 น. 14.00 น. 20.00 น. และ 23.00 น. หรืออาจจะปรับได้ตามต้องการ ขึ้นอยู่กับเวลาที่ปั๊มครั้งแรกของวัน

  • ทารกอายุ 6 เดือน ควรปั๊มนม 4 ครั้งต่อวัน โดยเริ่มจากเวลา 6.00 น. 10.00 น. 14.00 น. และ 22.00 น. หรืออาจจะปรับได้ตามต้องการ ขึ้นอยู่กับเวลาที่ปั๊มครั้งแรกของวัน

ไขข้อข้องใจเรื่องการปั๊มนมกับ Enfa Smart Club


 ปั๊มนมกี่นาทีถึงจะดี

โดยทั่วไปแล้วการปั๊มนมในแต่ละครั้งจะใช้เวลาตั้งแต่ 10-15 นาที ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความสะอวดของแม่แต่ละคน บางคนอาจอยู่ในสถานการณ์ที่เร่งรีบ ก็อาจจะปั๊มแค่ 10 นาที โดยเฉพาะถ้าใช้เครื่องปั๊มนมก็จะใช้เวลาน้อยลง สิ่งสำคัญคือให้ได้ปริมาณน้ำนมที่เหมาะสมในแต่ละครั้ง

 ปั๊มนมทุก 5 ชั่วโมงได้ไหม

รอบในการปั๊มนมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจเว้นว่างแค่ 2 ชั่วโมงแล้วจึงปั๊มหนึ่งครั้ง แต่บางคนก็อาจจะเว้นนานถึง 5 ชั่วโมงแล้วจึงปั๊มหนึ่งครั้งก็ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคน

 ปั๊มนม เจ็บหัวนม ทำไงดี

หากมีอาการเจ็บหัวนม ควรดูแลให้หัวนมหายดีก่อน และเวลาปั๊มนมในแต่ละครั้งไม่ควรกดหรือบีบที่หัวนมและลานนมแรงเกินไป เพราะเสี่ยงจะทำให้เกิดการบาดเจ็บ และเสี่ยงที่จะทำให้น้ำนมไหลออกมาน้อย

 ตกรอบปั๊มนมควรทำอย่างไร

หากตกรอบปั๊มนมไปแล้ว ให้เตรียมพร้อมและรอปั๊มในรอบใหม่ได้เลย โดยไม่ต้องกังวลกับรอบที่ลืมไป

 ปั๊มนมได้วันละกี่ออนซ์

แม่แต่ละคนปั๊มน้ำนมได้ไม่เท่ากัน เนื่องจากปัจจัยในการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน อาหารการกินต่างกัน การพักผ่อนต่างกัน ปริมาณน้ำนมจึงต่างกันไปด้วย แต่โดยทั่วไปแล้วสำหรับเด็กทารกที่อายุ 1-6 เดือน จะต้องกินนมต่อวัน วันละ 25-30 ออนซ์ คุณแม่จึงควรปั๊มนมให้ได้ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของทารก

 ลูกเข้าเต้าแล้วควรปั๊มไหม

การปั๊มนมขึ้นอยู่กับความต้องการและความพร้อมของคุณแม่เป็นสำคัญ แม้ลูกจะเข้าเต้าแล้ว แต่ถ้าต้องกลับไปทำงาน หรือมีภารกิจอื่น ๆ ที่เร่งรีบ การปั๊มนมก็จะช่วยให้ทารกได้มีนมไว้กินอย่างเพียงพอ ดังนั้น การปั๊มนมจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าลูกเข้าเต้าแล้วหรือยัง แต่อยู่ที่ว่าปัจจัยในการเลี้ยงลูกของคุณแม่เป็นอย่างไร

 เข้าเต้าอย่างเดียว ไม่ปั๊มได้ไหม

หากลูกเข้าเต้าแล้ว คุณแม่จะตัดสินใจปั๊มหรือไม่ปั๊มนมเลยก็ได้ แต่ถ้าลูกเข้าเต้าแล้ว และคุณแม่ต้องกลับไปทำงาน การปั๊มนมสำรองเก็บไว้ ก็จะช่วยให้ทารกมีนมไว้กินอย่างเพียงพอ และคุณแม่ไม่ต้องกังวลเรื่องการให้นมด้วย เพราะสามารถให้คนอื่นป้อนนมแทนได้ขณะที่กลับไปทำงาน

 รอบปั๊มนมแม่ทำงาน ควรปั๊มกี่รอบ

เนื่องจากตารางการทำงานของแม่แต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ที่ทำงานมีความยืดหยุ่นต่างกัน ดังนั้น ตารางการปั๊มนมสำหรับแม่ที่ทำงานจึงจะแตกต่างกันออกไป บางคนอาจปั๊มรอบน้อย หรือมีรอบปั๊มที่ถี่ ก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของคุณแม่และการทำงานของคุณแม่เป็นสำคัญ


บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

EFB Form

EFB Form

X