หนึ่งในหัวใจสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการลูกวัยนี้คือ ความสม่ำเสมอของคุณพ่อคุณแม่ในการการสร้างวินัยให้ลูก  การมีตารางประจำวันแบบคงที่จะช่วยเติมเต็มความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจให้ลูกในวัยที่กำลังก่อรูปบุคลิกภาพ... มาดูพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกน้อยเดือนนี้กันค่ะ 

ด้านสติปัญญาและการเรียนรู้

  • รูปแบบการเลียนรู้ของลูกค่อยๆ พัฒนาขึ้นตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากความสามารถทางภาษาและการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น จากการเฝ้ามองจดจำและเลียนแบบ

  • สามารถเข้าใจ ประมวลความคิดจากประสบการณ์เดิมๆ ได้บ้างแล้ว รวมทั้งเรียนรู้ที่จะใช้คำถามกับคนรอบข้างในสิ่งที่เขาสนใจใคร่รู้อีกด้วย

  • สมาธิและความจำของลูกก็ดีขึ้นมาตามลำดับเช่นกัน ดังนั้นหากที่ผ่านมา คุณแม่สอนให้ลูกจดจำพยัญชนะต่างๆ เดือนนี้เขาก็จะจำได้มากขึ้น สอนให้ลูกรู้จักสีต่างๆ เขาก็จะบอกชื่อสีต่างๆ ได้มากขึ้น และเริ่มนับเลข 1-3 ได้แล้ว

  • จากที่ลูกเริ่มเข้าใจความหมายของคำว่าใหญ่-เล็กได้แล้ว จำเป็นที่เราต้องทบทวนสิ่งที่ลูกเข้าใจเพื่อการเรียนรู้ที่จำติดฝังแน่น ซึ่งคุณแม่อาจใช้วิธีพูดคุยเปรียบเทียบให้ลูกเห็นถึงความแตกต่าง เช่น เรือลำใหญ่ เรือลำเล็ก มดตัวเล็ก ช้างตัวใหญ่ เชือกเส้นนี้สั้นเส้นนี้ยาว หมอนนุ่มนิ่ม เก้าอี้แข็งๆ เป็นต้น

ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว

  • วัยนี้ทำอะไรได้คล่องแคล่วมากขึ้น ทั้งการเดิน การวิ่ง ปีนป่าย กระโดด คุณแม่ควรสนับสนุนให้ลูกได้เคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ ด้วยการแบ่งเวลาให้ลูกได้วิ่งเล่น หรืออาจจะเล่นโยนรับลูกบอล พาลูกไปเดินเล่นตามสวนสาธารณะต่างๆ บ้าง

  • ชอบกระโดดโลดเต้น เกมสนุกๆ ที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและสติปัญญาที่อยากแนะนำคือ เกมทำท่าเลียนแบบสัตว์ค่ะ เช่น เลียนแบบท่าเดินของเป็ด โดยให้คุณแม่ร้องเพลงประกอบท่าทางไปด้วย แล้วให้ลูกๆ เดินตาม หรือทำท่ากบกระโดดแล้วร้องเสียงอ๊บอ๊บ ทำท่าลิงแล้วร้องเจี๊ยกๆ เด็กๆ จะได้เคลื่อนไหวร่างกายไปพร้อมความสนุก

  •  กล้ามเนื้อมัดเล็กทำงานได้แคล่วคล่องว่องไว หยิบจับสิ่งต่างๆ ได้แม่นยำมากขึ้น การทำงานประสานกันระหว่างตาและมือเป็นไปด้วยดี แต่ก็ยังต้องฝึกฝนต่อไปเรื่อยๆ ด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น ปั้นแป้ง ลากเส้น วาดเขียน โยนลูกบอล ตักทราย กรอกน้ำใส่ขวด ฯลฯ  

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ด้านภาษาและการสื่อสาร

  • ลูกรู้ภาษามากขึ้นตามลำดับ ซึ่งความสามารถทางภาษาของลูกจะสอดรับและเชื่อมโยงกับความสามารถด้านสติปัญญาและการเรียนรู้ เช่น เขารู้ว่าจำนวนของ 1 ชิ้น เรียกว่า หนึ่ง มีสัญลักษณ์เป็นตัวเลข 1 เช่นเดียวกับการหัดจำพยัญชนะต่างๆ นั่นเอง

  • ลูกวัยนี้จะช่างซักถาม คุณแม่ควรตอบคำถามของลูกอย่างใส่ใจ ด้วยคำพูดง่ายๆ สั้นๆ หากไม่รู้คำตอบว่า แม่ไม่รู้ หรือบางอย่างที่เราสามารถพาลูกไปค้นพบคำตอบได้ด้วยตัวเองก็ควรให้ลูกได้เรียนรู้ เช่น มดเดินไปไหน ก็พาลูกตามสังเกตว่ามดเดินไปไหน เป็นต้น

  • บอกชื่อเพื่อนได้อย่างน้อย 1 คน นอกจากเหนือจากรู้จักชื่อตัวเองและคนในบ้านได้แล้ว

ด้านอารมณ์และสังคม

  • ลูกวัยนี้มีความต้องการเป็นอิสระและต้องการพึ่งพาตัวเองให้มาก ซึ่งเป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องมาจากเดือนก่อนๆ  คุณแม่จึงควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ตัดสินใจและทำอะไรด้วยตัวเอง เช่น เลือกเสื้อผ้าใส่เอง เลือกซื้อแปรงสีฟันเอง เลือกตักอาหารกินเอง ฯลฯ สิ่งสำคัญคือ อย่าคาดหวังผลงานที่ดี  แต่เน้นให้โอกาสลูกได้ลองทำจะดีกว่า

  • ลูกต้องการการสร้างความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ  การทำกิจวัตรประจำวันตามตารางเวลา  นอกจากจะช่วยและสร้างพื้นฐานระเบียบวินัยแล้ว ยังช่วยให้จัดการกับความขัดแย้งภายในใจให้ลูกได้ เรียกว่าตัดตอนการปฏิเสธของลูกได้ เพราะเมื่อถึงเวลากินข้าว อาบน้ำ ลูกจะรู้ว่าเขาต้องทำสิ่งนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าที่ผ่านมาไม่มีตารางเวลาที่แน่นอน ลูกมีทางเลือกที่จะตอบรับหรือปฏิเสธ ซึ่งหากขณะนั้น ลูกยังไม่อยากกินข้าวอาบน้ำ เขาก็พร้อมจะปฏิเสธเสียงแข็งได้ และยิ่งหากถูกบังคับก็จะอาละวาดได้เช่นกัน

  • ลูกก่อรูปความรู้สึก “ของฉัน” ขึ้นมาจากการที่เขาเริ่มรู้ว่าอะไรบ้างที่เป็นของเขา เช่น หากคุณแม่ไปอุ้มเด็กคนอื่นเขาจะหวงและไม่ยอมให้คุณแม่อุ้ม หรือเมื่อมีเด็กอื่นมาเล่นด้วยเขาจะมีพฤติกรรม “หวงของเล่น”  ไม่ยอมให้เล่น ซึ่งเรื่องนี้คุณแม่ต้องค่อยๆ บอก ค่อยๆ สอนเรื่องการแบ่งปัน

     อย่าลืมนะคะว่า หน้าที่ของพ่อแม่คือการตอบสนองความต้องการของลูก และการเลี้ยงลูกจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดก็ต่อเมื่อพ่อแม่ให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกมากกว่าความต้องการของตัวเองนะคะ