การรู้จักแก้ปัญหา เป็นกระบวนการของสมองโดยใช้ประสบการณ์มาเชื่อมโยงกับสิ่งเร้าและข้อมูลหรือสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ แม้จะเป็นเด็กเล็กๆ ก็สามารถคิด เรียนรู้ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้าเขาได้แล้ว เพียงแต่เขาอาจทำกับเรื่องเล็กๆ ที่สมตัวสมวัยเขา เช่น การคิดแก้ปัญหา เพื่อช่วยเหลือตัวเองกับกิจวัตรประจำวัน การผูกเชือกรองเท้าได้ การสามารถปีนขึ้นไปหยิบของในที่สูงๆ จนสำเร็จได้ ฯลฯ

รู้จักแก้ปัญหา พร้อมก้าวหน้าทันพัฒนาการ

แต่สิ่งเหล่านี้เป็นขั้นหนึ่งของพัฒนาการในวัยเล็กที่จะนำไปสู่การเรียนรู้อื่นๆ ที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตต่อไป ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กบอกว่า เด็กที่มีความสามารถคิดแก้ปัญหาซับซ้อนได้ตั้งแต่วัยเล็กๆ นั้น มีแนวโน้มที่จะมีพัฒนาการด้านสติปัญญาที่ดี ทั้งนี้เพราะความยินดี ความพึงพอใจของเด็กที่มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาได้สำเร็จตั้งแต่วัยเล็กๆ (Early Success)  จะเป็นแรงผลักดันให้เขามีความต้องการ มีแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ในสิ่งอื่นๆ เพิ่มขึ้น และต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการด้านต่างๆ ก้าวหน้าได้

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ฝึกแก้ปัญหาจากกิจวัตรประจำวัน

วิธีฝึกทักษะแก้ปัญหาให้ลูกที่ดีที่สุด คือ การให้ลูกช่วยตัวเองจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เพราะจะทำให้เขาได้ใช้ทักษะนี้กับเรื่องใกล้ตัวที่มีความหมายกับเขา  เช่น การปล่อยให้ลูกเรียนรู้ลองผิดลองถูกกับการจัดเตรียมอุปกรณ์การเรียนและเสื้อผ้า ชุดนักเรียนไปโรงเรียนเอง เมื่อเกิดปัญหา เช่น หาถุงเท้าไม่เจอ พ่อแม่อาจช่วยแนะนำให้ลูกได้เรียนรู้วิธีแก้ปัญหา เช่น เตรียมไว้ตั้งแต่ตอนเย็น  เรียนรู้การวางแผนล่วงหน้าเพื่อวางของให้ค้นหาง่ายจะได้ไม่เกิดปัญหาในครั้งต่อๆ ไป
 

รู้จักแก้ปัญหา พร้อมก้าวหน้าทันพัฒนาการ

ซึ่งต่างจากเด็กที่มีคนจัดเตรียมทุกอย่างไว้ให้หมดแล้ว อาจไม่เคยพบปัญหาเลยหรือเมื่อเกิดปัญหา ก็ไม่ต้องเรียนรู้อะไรเพราะมีคนคอยแก้ไขให้หมดแล้ว เด็กที่คอยพึ่งพาผู้อื่นจะขาดความมั่นใจ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ขาดความอดทน ขาดประสบการณ์ มีแนวโน้มว่าเด็กที่ไม่ได้ถูกฝึกให้ช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน โตขึ้นมาจะคิดแก้ไขปัญหาไม่เก่ง คิดได้ช้า หรือคิดวิธีแก้ปัญหาได้น้อย
 

รู้จักแก้ปัญหา พร้อมก้าวหน้าทันพัฒนาการ

กิจกรรมสำหรับ ลูกน้อยวัย 1-3 ขวบ

รายละเอียด

มอบหมายงานบ้านให้ทำ

เรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเด็ก ก็สามารถนำมาฝึกการคิดแก้ปัญหาให้ลูกได้ เช่น มอบหมายให้เขาทำงานบ้าน เริ่มจากง่ายๆ เช่น เก็บที่นอน กวาดบ้าน หยิบเสื้อผ้าที่จะซักใส่เครื่องซักผ้า วางช้อนส้อมบนโต๊ะอาหาร จับคู่ถุงเท้าของพ่อที่ซักสะอาดแล้วให้เข้าคู่ได้ เมื่อลูกทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ นี้จนเริ่มชินแล้ว จึงค่อยมอบหมายให้ลูกทำงานที่ยากขึ้นไปเมื่อลูกโตขึ้นได้  การได้ทำงานจะทำให้สมองของเขารู้จักคิดหาวิธีที่จะทำงานให้เสร็จตามที่พ่อแม่มอบหมาย 

ให้ช่วยเหลือตัวเอง

การให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง เช่น กินอาหารเอง (เขาต้องกะปริมาณการตักอาหารในช้อนไม่ให้มากจนหก, การกะระยะการตักอาหารเข้าปาก)  แปรงฟันเอง (การบีบยาสีฟันให้ได้ขนาดเม็ดถั่วเขียวตามที่ต้องการ) ฝึกถอดฝึกสวมเสื้อ (การค่อยๆ สอดแขนเข้าไปในแขนเสื้อ)  สวมถุงเท้ารองเท้าเอง ฯลฯ ครั้งแรกๆ เขาอาจทำไม่ได้ แต่สมองเขาจะพยายามคิดเชื่อมโยงประสบการณ์ก่อนหน้ากับสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้า ผ่านการลองผิดลองถูกจนสามารถทำกิจกรรมเหล่านั้นได้สำเร็จ

สร้างอุปสรรคให้ลูกแก้

การที่ลูกได้เผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรค ทำให้เขาไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ จะทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะคิดแก้ปัญหา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่เข้าไปช่วยลูกเสียทุกอย่าง แต่ควรจะได้ปล่อยให้เขาได้ช่วยตัวเองก่อน เช่น เมื่อลูกต้องการให้หยิบของให้ ไม่ควรหยิบให้ลูกทันที แต่ควรใส่อุปสรรคด้วยการใช้คำถามให้ลูกได้คิด เช่น “ทำไมลูกถึงหยิบเองไม่ได้” ลูกก็จะได้คิดแล้วว่าเพราะว่ามันหนัก อยู่สูง หรือมีขนาดใหญ่เกินไป  และตั้งคำถามต่อไปว่าหากเขาต้องหยิบมันด้วยตัวเองให้ได้ต้องทำอย่างไร ลูกจะได้คิดหาวิธีแก้ปัญหาต่อไป 

ปล่อยให้ลูกได้ใช้ร่างกาย

การที่คุณแม่คอยประคบประหงมลูกตลอดเวลา  เช่น อาจอยากอุ้ม เพราะลูกอาจจะยังเดินเองไม่คล่องนัก จะทำให้ลูกไม่ได้ใช้ทักษะในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากที่เขาเคลื่อนไหวร่างกายเอง เช่น หากเดินเจอสิ่งกีดขวาง แต่เขาไม่สามารถหาวิธีที่จะผ่านมันไปได้ ทักษะการแก้ปัญหาก็อาจจะไม่เกิด หรือไม่ได้ใช้มือทำกิจกรรมตอนเป็นเด็ก เมื่อโตขึ้นทักษะในการใช้มือก็ไม่คล่อง เป็นต้น

เล่นแบบปลายเปิด

การเล่นแบบปลายเปิด ก็คือการเล่นที่สามารถเล่นได้หลากหลายรูปแบบ ขึ้นกับจินตนาการและความคิดของเด็ก หากเป็นของเล่นก็จะไม่ใช่ของเล่นสำเร็จรูปที่มีรูปแบบการเล่นจำเพาะเจาะจง หากแต่เด็กสามารถใช้ความคิด จินตนาการของตนเองสร้างสรรค์ให้ออกมาได้หลากหลายอย่าง เช่น ข้าวของเครื่องใช้รอบตัว กะละมัง จาน ช้อน กล่องต่างๆ  บล็อก ทราย ดินน้ำมันหรือแป้งโดว์ ฯลฯ เพราะของเหล่านี้จะช่วยให้ลูกฝึกการใช้จินตนาการ ใช้ข้อมูลที่มีในสมองนำมาลงมือทำ ลองผิดลองถูก แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้เล่นได้อย่างที่ต้องการ

เล่นต่อบล็อก

การเรียนรู้เรื่องความสมดุลของบล็อกนั้น ไม่ได้มาจากการท่องจำ หากแต่มาจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง การวางบล็อกไม่ให้ล้ม แรกๆ เด็กอาจจะยังวางไม่ได้ แต่เมื่อหลายๆ ครั้งผ่านไป เขาจะค่อยๆ เรียนรู้ว่าจะวางอย่างไร บล็อกจึงจะต่อขึ้นไปได้ เด็กต้องใช้ทักษะในการคิดแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะเล่น ต้องลองผิดลองถูกจนสามารถแก้ปัญหาได้

ตั้งโจทย์ให้ลูกแก้

การตั้งโจทย์จากสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันให้ลูกแก้ เป็นวิธีเสริมสร้างทักษะการแก้ปัญหาให้ลูกได้ดี เช่น เวลาลูกวางของเล่นไว้เต็มโต๊ะ จนไม่เหลือพื้นที่จะวางของอื่น แทนที่พ่อแม่จะช่วยหยิบของออกเอง ควรตั้งคำถามก่อนว่า “แม่จะทำยังไงดี อยากได้ที่วางกระเป๋าบนโต๊ะ” คำถามหรือการตั้งโจทย์จะช่วยให้ลูกได้ใช้ความคิดและรู้จักวิธีแก้ปัญหามากขึ้น 

สร้างสถานการณ์ให้ลูกแก้

คุณพ่อคุณแม่อาจจำลองสถานการณ์สมมุติเพื่อให้ลูกฝึกแก้ปัญหา เช่น “ถ้านั่งอยู่ในรถบนถนน  ลูกปวดฉี่ จะทำอย่างไร”  นอกจากลูกจะได้ฝึกทักษะการแก้ปัญหาแล้ว พ่อแม่ยังรู้กระบวนการคิดวิเคราะห์ของลูกด้วยว่าเขาคิดอย่างไร หากลูกยังเข้าใจบางเรื่องไม่ถูกต้องก็สามารถบอกกล่าวแก้ไขกันได้ทันท่วงที

เล่นฝึกแก้ปัญหา

ให้คุณแม่ยื่นของเล่นชิ้นที่ 1 ให้ลูกถือไว้ จากนั้นยื่นของเล่นชิ้นที่ 2 ให้ลูกถือด้วยมืออีกข้าง แล้วก็ยื่นของเล่นชิ้นที่ 3 ให้ลูกอีก ดูว่าลูกทำอย่างไรกับของเล่นชิ้นที่ 3 เด็กบางคนก็วางของที่อยู่ในมือลงก่อนรับชิ้นที่ 3 บางคนก็บอกให้วางไว้ระหว่างของเล่น 2 ชิ้นแรก เป็นการเล่นง่ายๆ เพื่อฝึกการแก้ปัญหาของลูก คุณแม่สามารถหาการเล่นลักษณะนี้มาเล่นกับลูกได้

ทำของเล่นเอง 

การชวนลูกทำของเล่นจากเศษวัสดุเหลือใช้ เช่น กระดาษกล่องใส่ของ แก้วพลาสติก  เขาก็จะได้ใช้ความคิดว่าเขาจะต่อยอดสิ่งนั้นๆ ให้เป็นอะไร หรือหากทำไม่ได้อย่างที่คิดไว้ตอนแรก จะปรับจะเปลี่ยนอย่างไร 

เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นกับคนอื่น

การที่ลูกรู้จักเล่นกับคนอื่นจะช่วยให้เขาได้ใช้ความคิดในการแก้ปัญหา และคิดวางแผนที่จะเล่นด้วยกัน แบ่งของให้กัน และรู้จักวิธีประนีประนอมต่อกัน จะทำให้ลูกได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนอื่น ได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นขณะเล่นด้วยกัน