การมีสมาธิ คือ การมีความสนใจ ความจดจ่อ และความมุ่งมั่นอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตามระยะเวลาที่เหมาะสม จะส่งผลให้เด็กมีกระบวนการเรียนรู้ที่ดี มีประสิทธิภาพ เป็นระบบอย่างต่อเนื่องและครบวงจร ทั้งในด้านทักษะการฟัง การคิด การพูด การเขียน การอ่าน หรือการทำกิจกรรมอื่นๆ

สมาธิ พื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ในอนาคต

มีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าสมาธิมีความสัมพันธ์กับการทำงานของสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนหน้า เพราะเวลาเด็กนิ่ง (Focus) เป็นเวลานานระยะหนึ่ง สมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ควบคุมดูแลการทำงาน เช่น ความจำ การมีเหตุมีผล และการแก้ปัญหา จะเกิดคลื่นสมองอย่างหนึ่งชื่อว่า อัลฟา (Alpha) ที่ทำให้เด็กรับและเก็บข้อมูลในเรื่องที่สนใจเข้าไปไว้ในสมองได้ดี เกิดการเรียนรู้ได้ดี เข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ง่าย และเกิดความจำที่ดี

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

สมาธิสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กในยุคหน้าอย่างไร ?

หากไม่มีสมาธิ เด็กก็เรียนรู้ได้ไม่ดี อย่างเด็กที่มีปัญหาสมาธิสั้นก็นับว่าเป็นหนึ่งในปัญหาการเรียนรู้ การมีสมาธิที่ตั้งมั่น มีจิตใจที่จดจ่อ นับเป็นคุณลักษณะพื้นฐานที่สำคัญของกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ รวมทั้งนำไปสู่การอดทน มุ่งมั่น พยายามทำสิ่งต่างๆ จนสำเร็จ ไม่เสร็จ ไม่เลิกรา อันเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต

 

สมาธิ พื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ในอนาคต

เด็กที่มีสมาธิจดจ่อดี ดูได้จากการที่เขาสามารถทำงานต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายหรืองานในความรับผิดชอบได้เสร็จและงานนั้นออกมาเรียบร้อย เช่น ต่อบล็อกจนเสร็จแล้วไปเล่นอย่างอื่น นั่งทำการบ้านจนเสร็จ ไม่ค้างๆ คาๆ

แต่ปัจจุบันด้วยวิถีชีวิตที่รวดเร็ว อาจทำให้เด็กถูกรบกวนจากสภาพแวดล้อมรอบข้าง ส่งผลให้มีสมาธิจดจ่อน้อยลง เด็กไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องหรือทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จ เพราะวอกแวกไปกับสิ่งเร้ารอบข้าง ไม่สามารถอดทนต่อสิ่งเร้าเหล่านั้นได้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่พ่อแม่ต้องเสริมสร้างทักษะนี้ให้ลูก

ในชีวิตประจำวัน การที่คุณพ่อคุณแม่กำหนดเวลาในการทำกิจวัตรแต่ละวันให้ลูกอย่างต่อเนื่อง เป็นขั้นตอนตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน จะช่วยให้เขามีใจจดจ่อต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ให้เสร็จเป็นอย่างๆ ก่อนจะทำกิจกรรมอื่นต่อไป ไม่ใช่ทำสิ่งนี้ไม่เสร็จ ก็ไปทำสิ่งอื่นๆ แล้ว เป็นต้น

เด็กที่ถูกฝึกในเรื่องการวางแผนและบริหารเวลามาเป็นอย่างดี จะมีวินัยสูง มีความรับผิดชอบ รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร เรียนเป็นเรียน เล่นเป็นเล่น เวลาไหนควรอ่านหนังสือ เวลาใดควรเป็นเวลาพักผ่อน ฯลฯ เด็กในกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นเด็กที่มีสมาธิจดจ่อที่ดี เนื่องจากเด็กจะรู้สึกมีความมั่นคงและสบายใจในสิ่งที่เขาสามารถควบคุมได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขารู้ว่าในแต่ละวันเขาจะต้องทำอะไรบ้าง

สมาธิ พื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ในอนาคต

กิจกรรมสำหรับ ลูกน้อยวัย 1-3 ขวบ

รายละเอียด

กำกับลูกช่วยเหลือตัวเองให้สำเร็จ

การให้ลูกช่วยตัวเองให้สำเร็จในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเขาตามวัยที่เขาทำได้ เช่น ตักกินข้าวกินเอง ใส่เสื้อเอง เก็บของเล่นเอง ฯลฯ จะช่วยให้ลูกมุ่งความจดจ่อไปที่การทำสิ่งนั้นให้เสร็จ เมื่อเขาทำได้ คุณแม่ก็ชมเขา หากเขายังทำไม่เสร็จหรือไม่เรียบร้อย คุณแม่ก็กำกับให้ทำให้เสร็จ หรือช่วยเหลือบ้างเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้งานนั้นเรียบร้อย

ทำกิจวัตรประจำวัน

 การให้ลูกทำกิจวัตรประจำวันอย่างการแปรงฟัน แปรงขึ้น–แปรงลง ฝึกแกะกระดุม หรือกิจกรรมที่เป็นขั้นเป็นตอน เช่น กรอกน้ำใส่ขวด เหล่านี้ช่วยเสริมสมาธิและการจดจ่อให้ลูกได้อย่างดี

ชวนลูกพูดคุย

เมื่อจะให้ลูกมีสมาธิจดจ่อกับเรื่องใด สามารถเพิ่มสมาธิให้ลูกได้ด้วยการหาเทคนิคต่างๆ มาใช้กับลูก เช่น ตั้งคำถามต่อสิ่งนั้นๆ เพื่อให้ลูกมีสมาธิอยู่กับสิ่งนั้นต่อ เช่น ของที่อยู่ในมือเรียกว่าอะไร เราใช้ทำอะไรนะ ชวนคุย เช่น เมื่ออ่านหนังสือให้ลูกฟังจบแล้ว ก็ตั้งคำถามถึงเรื่องราวต่างๆ ในหนังสือ เป็นต้น

ชวนลูกเล่นศิลปะ

คุณแม่เตรียมโต๊ะญี่ปุ่น (การเล่นบนโต๊ะจะดีกับพัฒนาการทางร่างกายของเด็ก) อุปกรณ์ เช่น กระดาษ สี ดินน้ำมัน ไว้ให้ใกล้ตัวเด็ก สำหรับกิจกรรมที่ต้องใช้ระยะเวลาในการทำ สร้างเป็นชิ้นงาน เช่น ปั้นดินน้ำมัน พับกระดาษ วาดภาพ ระบายสี ฉีกปะ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้กว่าจะสำเร็จเป็นชิ้นงานหนึ่งๆ เด็กจะต้องใช้ “ความนิ่ง” นั่งลงเพื่อจดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่ และเมื่อทำเสร็จ เด็กจะเกิดความภูมิใจ สนุก เป็นสมาธิที่เกิดจากความตั้งใจที่เป็นไปอย่างธรรมชาติ ไม่ถูกบังคับฝืนใจ เพื่อต้องทำ

ต่อบล็อก

เวลาเล่นต่อบล็อก เด็กจะมีสมาธิจดจ่อกับการที่จะวางบล็อกให้ได้ตามต้องการ โดยบล็อกไม่ล้มลง เมื่อเขาทำได้ก็ชมเขา หากยังทำไม่ได้ก็กระตุ้นให้เขาพยายามใหม่

อ่านนิทานด้วยกัน

เด็กทุกคนชอบฟังนิทาน การอ่านนิทานเป็นกิจกรรมสร้างสมาธิที่ทำได้ง่ายมาก ขณะที่อ่านหนังสือ คุณพ่อคุณแม่ต้องอยู่ในความเงียบสงบร่วมกับเด็กๆ เป็นการสร้างบรรยากาศเพื่อให้สามารถเข้าถึงเรื่องราวที่ได้ฟังได้อย่างลึกซึ้ง สังเกตได้ว่าลูกจะนิ่งเมื่อได้ฟังนิทาน

เล่นปิดตาฟังเสียง

เมื่อปิดตาลง ประสาทสัมผัสที่เกี่ยวกับการฟังและได้ยิน จะทำงานดีขึ้น เราจะมีสมาธิจดจ่อมากขึ้น คุณแม่หาของเล่นที่เคาะ เขย่า เป่ามีเสียง ให้ลูกฟังเสียงของเหล่านั้น ซึ่งของที่มีเสียงจะช่วยให้เขาสนใจได้มาก ให้ลูกหันหลัง จากนั้นเคาะ เขย่า เป่าของเหล่านั้นทีละอย่าง แล้วทายว่าเป็นเสียงจากอะไร ลูกก็ยิ่งมีสมาธิจดจ่อ ตั้งใจฟัง เพื่อสังเกต จดจำ และนำไปสู่การแยกเสียงและเชื่อมโยงจับคู่ได้ในที่สุด

สร้างบรรยากาศในบ้านที่สงบ

บรรยากาศรอบตัวที่สงบ ไม่วุ่นวายด้วยเสียง จะช่วยสร้างสมาธิให้ลูกได้ดีกว่าบ้านที่เต็มไปด้วยเสียงอึกทึก

ปิดทีวี คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน

ทีวี คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ได้ชื่อว่าเป็นตัวการที่ส่งเสริมให้เด็กมีสมาธิไม่จดจ่อได้ง่าย คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจเข้าใจผิดว่าการที่ลูกสามารถนั่งจ้องสิ่งที่อยู่ในทีวี คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนเป็นเวลานานๆ คือ การที่ลูกมีสมาธิดี จริงๆ แล้วสิ่งที่เด็กสนใจมองคือสี ภาพต่างๆที่เป็นช่วงสั้นๆ ต่อๆ กัน การดูสิ่งเหล่านี้จึงไม่ได้ช่วยยืดสมาธิของเด็กเลย และกลับทำให้เด็กมีสมาธิในกิจกรรมอื่นๆ ลดลงด้วย

ฟังเพลงดีๆ

การเปิดเพลงดีๆ ให้ลูกฟังเบาๆ ในบรรยากาศสงบๆ เช่น เพลงคลาสสิกบรรเลง ช่วยให้ลูกมีสมาธิได้ ทำให้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น และดนตรียังช่วยให้คลื่นสมองสามารถเรียบเรียงความคิด พัฒนาการใช้เหตุผล และมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นด้วย

เล่นทีละอย่าง

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้ลูกเล่นของเล่นครั้งละหลายอย่าง เพราะจะทำให้ลูกไม่มีสมาธิจดจ่อที่จะเล่นของชิ้นใดชิ้นหนึ่งจนจบ เพราะอยากไปเล่นของเล่นชิ้นใหม่ มีงานวิจัยหลายชิ้นให้ผลตรงกันว่า การที่พ่อแม่ให้ของเล่นกับเด็กมากกว่า 1 ชนิดในคราวเดียวกัน ส่งผลเสียต่อเด็กมากกว่าผลดี โดยเฉพาะเด็กวัยต่ำกว่า 5 ขวบนั้น เพราะการให้ของเล่นเด็กมากเกินไป ทำให้เด็กรู้สึกตื่นเต้น และไม่สามารถใช้เวลาจดจ่ออยู่กับของเล่นใดของเล่นหนึ่งได้นานๆ จนเกิดการเรียนรู้และมีพัฒนาการจากของเล่นที่กำลังเล่นอยู่นั้นๆ เพราะใจอยากจะเล่นของเล่นอื่นแล้วนั่นเอง

เดินบนที่แคบ

การชวนลูกเดินบนที่แคบๆ หรือบนขอนไม้ เพื่อให้ลูกประคองตัวบนขอนไม้หรือสะพานไม้แคบๆ เตี้ยๆ นั้น จะให้ลูกมีสมาธิจดจ่อกับการเดินโดยไม่ตก ช่วงแรกคุณแม่อาจจะจับมือลูกไว้ก่อน เมื่อลูกเริ่มพยายามทรงตัวได้บ้างแล้วก็ค่อยๆ ปล่อยมือ ลูกอาจจะเดินได้ในระยะสั้นๆ ไม่ไกลนัก หรือลูกอาจเดินพลาด ร้องโวยวาย ให้กำลังใจ ลูกจะมุ่งมั่นกับการประคองตัวเดินไปบนไม้แคบๆ ให้ได้

เล่นถือแก้วปริ่มน้ำ

คุณแม่รินน้ำใส่แก้วให้ปริ่มแก้ว ค่อยๆ ประคองส่งให้ลูก และให้ลูกประคองส่งให้คุณพ่อไปโดยไม่ให้น้ำหก ลูกจะจดจ่อกับการประคองแก้วน้ำเพื่อไม่ให้น้ำหก และเพื่อยืดสมาธิของลูกมากขึ้น อาจนับ 1-10 ก่อนให้เขาจะส่งแก้วน้ำให้คุณพ่อ

เล่นกับเงา

เมื่อมีแสงและเงา ก็เท่ากับว่าสีสันอื่นๆ ที่เร้าลูกถูกตัดออกไป มีเฉพาะเงาดำเท่านั้น ลูกจึงสามารถมีสมาธิจดจ่อกับเงาดำที่เห็นเพียงอย่างเดียว ตกกลางคืนให้คุณแม่เปิดโคมไฟเล่นเงามือที่กระทบผนัง หรือส่องไฟฉายไปยังสิ่งของรอบห้องเมื่อเกิดเงา ก็ชวนลูกพูดคุยหรือเล่าเรื่องจากเงาที่เห็น

โยนบอลลงตะกร้า

หาลูกบอลสีสดมาช่วยกันโยนลงตะกร้าใบโต ลูกจะได้จดจ่อกับการโยนลูกบอลให้ลงตะกร้า หรืออาจจะชวนลูกนับก้าวเดิน 1- 2 , 1 –2, ลูกมีสมาธิจดจ่อกับการก้าวเดินนั้น

เล่นทำตามคำสั่ง

คุณแม่ให้ลูกทำตามคำสั่ง เช่น “ไปเอาจานมาให้แม่ 2 ใบ” “เอาหนังสือบนโต๊ะไปให้คุณพ่อ” เป็นการฝึกสมาธิในการฟังเพื่อทำตามคำสั่งให้ถูกต้อง

ต่อจิ๊กซอว์

การต่อภาพจิ๊กซอว์ ช่วยให้ลูกจดจ่ออยู่กับการต่อภาพ เพื่อสังเกต จับจุดที่สำคัญของภาพ ฝึกมองภาพรวมของภาพนั้น และการสังเกตรายละเอียดจากภาพเล็กภาพน้อย ทั้งเเยกเเยะเเละผสมผสานลายเส้น สีสัน เเละรูปทรง ฝึกจินตนาการ และช่วยให้ลูกได้นำข้อมูลทุกอย่างที่มีอยู่เกี่ยวกับภาพนั้นออกมาใช้ เพื่อต่อจิ๊กซอว์ให้สำเร็จ