ตอนนี้ลูกรู้ชื่อของตัวเองแล้ว เวลาคุณแม่เรียกหา ลูกจะขานรับและรีบเข้ามากอดรัดอย่างร่าเริง แล้วไม่ว่าทำกิจกรรมอะไร ลูกก็จะขอมีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือเต็มที่ เพราะต้องการเป็นที่รักและได้รับการยอมรับนั่นเอง...มาดูพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกน้อยเดือนนี้กันค่ะ
เล่นของเล่นไม่กี่อย่างซ้ำๆ กันทุกวัน และเล่นพลิกแพลงตามจินตนาการได้เรื่อยๆ
ลูกคิดอย่างไร คับข้องใจ ดีใจ เสียใจ อึดอัดใจ ก็แสดงออกมาผ่านการเล่นทั้งหมด
วัยนี้พร้อมจะเข้าใจเรื่องเวลาและปริมาณได้ ถ้าคุณแม่ค่อยๆ สอนด้วยการบอกลำดับก่อนหลังหรือพูดเปรียบเทียบให้เห็นภาพ เช่น ถ้าลูกร้องขอกินขนม คุณแม่อาจพูดว่า “ลูกต้องกินข้าวก่อน ถึงจะกินขนมได้” หรือ “กินลูกอมได้เม็ดเดียวนะ กินสองเม็ดไม่ได้”
มีส่วนร่วมในการแต่งตัวมากขึ้น ถอดเสื้อผ้าตัวเองได้หมดทุกชิ้นแล้ว เด็กหลายคนใส่รองเท้าได้แต่ยังแก้เชือกรองเท้าเองไม่เป็น
สนใจหนังสือที่มีรูปและเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว เช่น คน สัตว์ สิ่งของและสถานที่ต่างๆ มักเปิดหาภาพที่เคยผ่านตามาก่อน สำรวจดูรายละเอียดแต่ละภาพและจินตนาการไปเรื่อยๆ พอวันหนึ่งที่ลูกสั่งสมประสบการณ์ไว้มากพอ ลูกจะรู้และเข้าใจว่าหนังสือแต่ละเล่มนั้นบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ กันไป
วัยนี้ลูกวอกแวกง่าย และตั้งใจทำอะไรได้ไม่นานนัก ทางที่ดีคือ ถ้าลูกไม่อยากทำสิ่งนั้นแล้ว คุณแม่ไม่ต้องบังคับ แต่ใช้ท่าทีสนุกสนานดึงดูดใจให้ลูกมีสมาธิต่อกิจกรรมเดิมต่อ
ลูกเคลื่อนไหวตลอดเวลา แต่เดือนนี้จะกระตือรือร้นและมั่นใจกว่าเดิมมาก
เปลี่ยนจากท่านั่งมาลุกขึ้นยืนได้รวดเร็ว
เวลาเดินๆ อยู่ก็จะวิ่งไปทันที แต่ยังชะลอฝีเท้าไม่เป็น
การทรงตัวดีขึ้น สามารถเตะลูกบอลลูกใหญ่ได้โดยไม่ล้ม
กล้ามเนื้อและการควบคุมการทำงานบริเวณข้อมือของลูกยังพัฒนาไม่เต็มที่ จะสังเกตว่าลูก หมุนปุ่มวิทยุ ปิดเปิดทีวี พลิกหนังสือทีละ 2-3 หน้าได้ แต่ยังหมุนฝาเกลียวไม่ถนัดนัก
เมื่อลูกจับดินสอขีดๆ เขียนๆ ตอนนี้คุณแม่พอจะมองออกได้ชัดเจนแล้วว่าลูกถนัดใช้มือข้างไหนมากกว่า
เด็กวัยนี้จะเรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ ได้เพิ่มขึ้นเมื่อได้ยินคำนั้นซ้ำๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น กินข้าว อาบน้ำ แต่งตัว นอน ฯลฯ หรือเมื่อพาลูกพบเห็นสิ่งต่างๆ ก็ชี้ชวนให้ลูกรู้จัก พอกลับมาบ้านก็หารูปมาให้ลูกดู แล้วถามเพื่อทดสอบความจำ
ลูกพยายามสื่อสารความรู้สึกและความต้องการของตนออกมาเป็นคำพูดมากกว่าการกระทำ สังเกตได้ว่า ถ้าลูกต่อภาพต่อไม่ได้ก็จะไม่ตะโกนโวยวายเหมือนก่อนแล้ว แต่จะพูดว่า “ยาก” หรือ “ใหญ่” เกินไปแทน หรือ เมื่ออยากให้เปลี่ยนกางเกงให้ แทนที่จะร้องไห้ ลูกจะพูดว่า “เปลี่ยน” หรือ “เปียกแล้ว” คุณแม่จึงควรสอนให้ลูกรู้จักคำศัพท์เกี่ยวกับคำบอกลักษณะและความรู้สึกต่างๆ ให้มากขึ้น เช่น เจ็บ หนัก เบา เหนื่อย เบื่อ เกลียด ฯลฯ ลูกจะได้ไม่ต้องเก็บกดไว้แล้วร้องกรี๊ดๆ นั่นเอง
ลูกชายจะสนใจเรียนรู้สิ่งรอบกายมากและอยู่ห่างจากแม่ได้บ้าง ต่างกับลูกสาววัยนี้ที่ติดแม่ เรียกร้องต้องการสูง ถ้าไม่ได้อย่างใจก็โกรธ เวลาทำอะไรไม่ได้จะขอให้แม่ช่วยโดยไม่พยายามทำเอง ช่วงนี้ลูกสาวดื้อมาก และเอาแต่ปฏิเสธท่าเดียว
ลูกกำลังอยากรู้ว่าตนเองสามารถควบคุมอะไรหรือใครได้บ้าง จึงฝึกใช้คำสั่งดูบ้าง เช่น เมื่อคุณแม่กำลังร้องเพลง ลูกจะตะโกนว่า “หยุดร้อง” เพื่อดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น จึงไม่ควรจริงจังและเข้าใจผิดว่าลูกก้าวร้าว
ลูกต้องการให้พ่อแม่ชมเชย เห็นด้วย และยอมรับในความพยายามของตน ลูกจะพูดว่า “ดูนี่ๆ” เพื่อเรียกร้องความสนใจ คุณแม่ควรใช้โอกาสนี้สอนลูกว่าสิ่งไหนควรทำ ไม่ควรทำ แต่ต้องไม่เข้าไปจัดการกับลูกมากเกินไป ไม่อย่างนั้นลูกจะขาดความมั่นใจได้
วัยนี้มีอารมณ์อิจฉารุนแรง ลูกจะอารมณ์เสีย หงุดหงิดเมื่อคุณแม่พาน้องใหม่เข้าบ้าน อาจแสดงพฤติกรรมถดถอย เช่น ชอบเอาชนะ ร้องไห้เก่ง ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ติดแม่มาก บางครั้งก็พูดแบบเด็กเล็กๆ
ไม่ว่าลูกจะมีพัฒนาการแต่ละด้านเป็นแบบใด คุณแม่ควรยอมรับในความเป็นตัวตนของลูก เพื่อให้ลูกมั่นใจในศักยภาพของตน แล้วจากนั้นการกระตุ้นส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีค่ะ
Enfa สรุปให้ เด็ก 2 ขวบ เป็นวัยที่พัฒนาการสมบูรณ์รอบด้าน เด็กวัยนี้จึงพร้อมสำหรับการเรียนรู้สิ่ง...
อ่านต่อด้านสติปัญญาและการเรียนรู้ ส่งเสริมการเรียนรู้ให้ลูกน้อยจากชีวิตประจำวัน กิจกรรมต่อไปนี้เป็น...
อ่านต่อด้านสติปัญญาและการเรียนรู้ เล่น เรียนรู้การแก้ปัญหา เด็กวัย 2-3 ขวบนั้น พัฒนาการด้านค...
อ่านต่อ