นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เอนฟาสนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดิอนไปจนถึง 2 ปี หรือนานกว่าตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ​Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

เด็กปวดท้องแล้วอ้วก เกิดจากอะไร ลูกปวดท้องอาเจียน กินยาอะไร

Enfa สรุปให้

  • เด็กปวดท้องแล้วอ้วกเกิดจากอะไร สามารถเกิดได้จากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร กินมากหรือเร็วเกินไป แพ้อาหารหรือแพ้นมวัว ภาวะเครียด หรือตื่นเต้น ซึ่งต้องพิจารณาจากสาเหตุ และปัจจัยแวดล้อมประกอบกัน
  • ลูกปวดท้องอาเจียน อาจไม่อันตรายเสมอไป ต้องพิจารณาระดับความรุนแรง ความต่อเนื่อง และอาการประกอบอื่น ๆ แต่ถ้าอาการรุนแรง ต่อเนื่อง มีความเสี่ยงขาดน้ำ หรือแสดงอาการผิดปกติอื่น ควรพาไปพบแพทย์โดยเร็ว
  • เด็กปวดท้องอาเจียนกินยาอะไร ก่อนที่จะหายาให้ลูกกิน ต้องไม่ลืมว่า ก่อนที่จะให้ยาใด ๆ ควรพิจารณาปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุของเด็ก น้ำหนัก สาเหตุของการปวดท้องและอาเจียน และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาเสมอ 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

เมื่อลูกปวดท้องแล้วอาเจียน ถือเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบาก และสร้างความกังวลให้กับคุณพ่อคุณแม่หลายๆ คน โดยเฉพาะกับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ที่ยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับอาการป่วยของลูกเล็ก เด็กบางคนอาจจะเพิ่งกินนมเสร็จแล้วอ้วกพุ่งออกมา บางคนร้องไห้โยเยเอามือจับท้อง ชี้บอกว่า “ปวดท้อง” แล้วอ้วกตามมา ทำเอาคนเป็นแม่ทำอะไรไม่ถูกเลยใช่ไหมคะ 

อาการเด็กปวดท้องแล้วอ้วก อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งที่ไม่รุนแรง เช่น กินอาหารไม่สะอาด หรือปรับตัวต่ออาหารไม่ทัน ไปจนถึงสาเหตุที่ต้องรีบไปพบแพทย์ เช่น ไวรัสลงกระเพาะ ลำไส้อักเสบ หรือแม้แต่ไส้ติ่งอักเสบในเด็กโต หรือ กระทั่ง “ภูมิแพ้” ที่อาจเกี่ยวข้องกับการแพ้นมวัวหรืออาหารบางชนิด ทำให้ลูกปวดท้อง อาเจียน หลังกินนม หรือกินอาหาร 

การเข้าใจสิ่งเหล่านี้อย่างครบถ้วน จะช่วยให้เรารับมือสถานการณ์ได้ดีขึ้น และให้การดูแลลูกได้อย่างเหมาะสม


เด็กปวดท้องแล้วอ้วก เกิดจากอะไร 


เมื่อเห็นลูกปวดท้องและอ้วกออกมา ก็กลายเป็นคำถามในใจคุณแม่ว่า เด็กปวดท้องแล้วอ้วกเกิดจากอะไร เพราะอาการนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก บางคนกินอาหารแล้วอ้วกพุ่งทันที หรือบางคนปวดท้องก่อนสักระยะแล้วจึงอาเจียนตามมา ซึ่งลูกปวดท้อง อ้วก มีสาเหตุมาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1. การติดเชื้อในทางเดินอาหาร
อาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) อาจเกิดจากการกินอาหารที่มีเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อโรคปนเปื้อน  ไวรัส หรือ เชื้อปรสิต หรือในบางครั้งอาจรวมถึงพิษจากโลหะหนักต่าง ๆ ด้วย ทำให้เกิดอาการทางระบบทางเดินอาหารที่มีความรุนแรงแตกต่างกันไปจากหลาย ๆ ปัจจัย โดยอาการที่มักพบบ่อยได้แก่ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเหลว มีไข้ เป็นต้น

ไวรัสลงกระเพาะหรือลำไส้ (Viral Gastroenteritis) ภาวะติดเชื้อไวรัสในกระเพาะอาหารและลำไส้ อาจเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุของโรค หรือใช้เครื่องใช้ที่มีอุจจาระ อาเจียน หรือน้ำลายปนเปื้อนเชื้อโรคติดอยู่ รวมทั้งการคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคนี้โดยตรง ผู้ป่วยมักอุจจาระเป็นน้ำ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

2. กินอาหารมากเกินไป หรือกินเร็วเกินไป
เด็กบางคนกินอาหารเร็ว ๆ หรือกินปริมาณมากเกินไปในเวลาสั้น ส่งผลให้กระเพาะอัดแน่น เกิดอาการปวดท้อง และอ้วกออกมาได้ กรดไหลย้อนในเด็กบางกรณีอาจทำให้รู้สึกแน่นเฟ้อ คลื่นไส้ และอาเจียนหลังอิ่ม

3. แพ้อาหารหรือแพ้นมวัว
เป็นอาการแพ้ที่พบมากในเด็ก โดยอาการแพ้อาหารที่พบได้บ่อยในเด็กก็คือ อาการแพ้นมวัว ยิ่งหากพบว่าหลังการให้นมวัว ลูกมีอาการปวดท้อง อาเจียน ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าแพ้นมวัว หรือในบางกรณี อาจจะเกิดจากภาวะย่อยแลคโตสผิดปกติก็เป็นได้ 

นอกจากนมวัวแล้ว เด็กสามารถมีอาการแพ้ได้จากอาหารชนิดอื่น ๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ถั่ว แป้งสาลี อาหารทะเลจำพวกมีเปลือก หรือไข่ การแพ้อาหารเหล่านี้ ก็สามารถให้ลูกน้อยมีอาการปวดท้องแล้วอ้วกได้เช่นกัน

4. ลำไส้อุดตันหรือไส้ติ่งอักเสบ
ในเด็กโต สาเหตุรุนแรงที่พบได้คือ ไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งอาจเริ่มด้วยอาการปวดบริเวณสะดือแล้วค่อย ๆ ย้ายไปด้านขวาล่าง ปวดแบบต่อเนื่อง มีไข้ต่ำ ๆ และอาเจียน หากเกิด “ลำไส้อุดตัน” หรือภาวะลำไส้กลืนกันในทารก (Intussusception) ก็ทำให้ลูกปวดท้องรุนแรง อ้วก และอุจจาระมีมูกเลือดปน

5. สาเหตุทางจิตใจหรือตื่นเต้น
เด็กบางคนเมื่ออยู่ในสถานการณ์กดดัน ตื่นเต้น หรือมีความเครียด ก็เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ และอาเจียนได้เช่นกัน แต่ควรตัดปัจจัยด้านกายภาพออกก่อน

ลูกปวดท้องแล้วอ้วก อาจมาจากสาเหตุที่ไม่รุนแรงอย่างการกินอาหารปนเปื้อน หรือกินมากเกินไป จนถึงสาเหตุที่รุนแรงอย่างไส้ติ่งอักเสบ หากลูกมีอาการปวดท้องเรื้อรังหรืออ้วกบ่อยครั้ง ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด

 

ลูกปวดท้อง อาเจียน อันตรายไหม 

นอกจากความกังวลถึงอาการลูกปวดท้องแล้วอ้วก คุณแม่หลายคนยังสงสัยว่า ลูกปวดท้อง อาเจียน อันตรายไหม คำตอบก็คือต้องพิจารณาระดับความรุนแรง ความต่อเนื่อง และอาการประกอบอื่น ๆ ด้วย ดังนี้ 

1. ประเมินความรุนแรงเบื้องต้น

  • ความถี่ของการอาเจียน: หากลูกอาเจียนบ่อย ๆ ติดต่อกันหลายชั่วโมง หรืออาเจียนเป็นสีเขียว สีเหลือง หรือมีเลือดปน ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
  • ลักษณะของอุจจาระ: ถ้ามีท้องเสียร่วมด้วย อุจจาระเป็นมูกเลือด หรือเด็กปวดท้องรุนแรงจนร้องไม่หยุด ต้องระวังภาวะลำไส้อุดตันหรือโรครุนแรง
  • ภาวะขาดน้ำ: สังเกตอาการปากแห้ง ตาลึก เบื่ออาหาร งอแง หรือไม่ปัสสาวะเกิน 6 ชั่วโมงในเด็กเล็ก แสดงว่ากำลังขาดน้ำ อาจต้องได้รับสารน้ำโดยเร็ว
  • มีไข้หรือไม่: หากอาเจียนร่วมกับไข้สูง เบื่ออาหาร อ่อนเพลียมาก อาจเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงกว่า เช่น ไวรัสหรือลำไส้อักเสบ

2. อาการที่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที

  • อาเจียนพุ่งอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในทารกเล็ก
  • ลูกปวดท้องอย่างรุนแรง กดท้องแล้วเจ็บ หรือปวดอยู่เฉพาะจุดมาก ๆ เช่น บริเวณด้านขวาล่าง (เสี่ยงไส้ติ่งอักเสบ)
  • ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย เกิน 6 ชั่วโมงในเด็กเล็ก หรือเกิน 12 ชั่วโมงในเด็กโต
  • มีผื่นขึ้นทั่วตัว ตาบวม หรืออาการแพ้อื่น ๆ แทรกซ้อน

3. อาการแบบไหนที่ดูไม่รุนแรง
หากลูกปวดท้องเล็กน้อย อาเจียน 1-2 ครั้ง แล้วหยุดเอง ไม่มีไข้ เด็กยังร่าเริง กินน้ำกินอาหารได้ปกติ กรณีนี้อาจเป็นแค่อาหารไม่ย่อยหรืออ่อนเพลียชั่วคราว แต่ก็ควรสังเกตต่อเนื่อง หรือ ลูกอาเจียนหลังกินขนมกรุบกรอบ หรือกินหวานเยอะไปครั้งสองครั้ง แล้วไม่มีอาการอื่นร่วม ก็อาจไม่มีอะไรน่ากังวลมาก แต่ต้องเฝ้าระวังว่าไม่เกิดซ้ำบ่อย ๆ

ลูกปวดท้อง อาเจียน อาจไม่อันตรายเสมอไป แต่ถ้าอาการรุนแรง ต่อเนื่อง มีความเสี่ยงขาดน้ำ หรือแสดงอาการผิดปกติอื่น ควรพาไปพบแพทย์โดยเร็ว

 

เด็กปวดท้องอาเจียนกินยาอะไร 

เมื่อเด็กปวดท้องแล้วอาเจียน คำถามสำคัญที่ตามมาทันที ก็คือ เด็กปวดท้องอาเจียนกินยาอะไร แต่อยากให้คุณพ่อคุณแม่ เอ๊ะ เอาไว้ตัวโตๆ ก่อนที่จะหายาให้ลูกกิน ต้องไม่ลืมว่า ก่อนจะให้ยาใด ๆ ควรพิจารณาปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุของเด็ก น้ำหนัก สาเหตุของการปวดท้องและอาเจียน แล้วปรึกษาแพทย์เสมอ ขณะที่ ตัวยาสำหรับแก้อาการอาเจียนของเด็กๆ มีอยู่หลายประเภท คือ 

1. ยาแก้อาเจียนเบื้องต้น
คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้ยาบางตัว เช่น ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนชนิดเม็ดหรือชนิดน้ำ ยาเหล่านี้ อาจใช้ได้สำหรับเด็กโต แต่ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร ส่วนในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ควรเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ เพราะอาจมีผลข้างเคียงต่อระบบประสาท

2. ยาแก้ปวดท้องหรือยาแก้ท้องอืด
บางครั้งการอาเจียนเกิดจากท้องอืด แน่นท้อง สามารถใช้ยาขับลม ในรูปแบบน้ำสำหรับเด็กเพื่อบรรเทาอาการ อย่างไรก็ตาม หากเด็กมีอาการปวดท้องรุนแรง ไม่ควรรีบให้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs หรือพาราเซตามอลเอง ควรให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยก่อน

3. สารละลายเกลือแร่ (ORS)
เมื่อเด็กอ้วกหรือท้องเสีย ต้องระวังภาวะขาดน้ำ ควรให้สารละลายเกลือแร่ (ORS) เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่เสียไป สารละลายเกลือแร่ ORS มีหลายรูปแบบ เช่น ผงชงน้ำหรือน้ำเกลือแร่ขวด หากลูกอาเจียนมาก ควรให้จิบทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง เพื่อไม่ให้กลับมาอ้วกอีก

4. ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
ในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น บางกรณีของอาหารเป็นพิษ หรือลำไส้อักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ แต่สำหรับไวรัสลงกระเพาะหรือไวรัสลำไส้อักเสบ ยาปฏิชีวนะไม่ช่วย เพราะไวรัสไม่ตอบสนองต่อยากลุ่มนี้

ข้อควรระวังและคำแนะนำสำคัญสำหรับการใช้ยาสำหรับคุณพ่อคุณแม่ก็คือ ห้ามซื้อยาแก้อาเจียนหรือยาแก้ปวดท้องให้ลูกกินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงอันตรายได้ หากลูกมีไข้สูงร่วมกับอาเจียนมาก อาจต้องให้ยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอลสำหรับเด็ก แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับขนาดยาเสมอ

 

ลูกอาเจียน ปวดท้อง หลังกินนม อาจเป็นสัญญาณอาการแพ้นม

บางคนพบว่า ลูกอาเจียน ปวดท้อง หลังกินนม เสร็จไม่นาน และเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาจเป็นนมผงสูตรปกติ หรือแม้กระทั่งนมวัวที่ลูกกินตามช่วงวัย พ่อแม่หลายคนอาจนึกถึงปัญหา “กรดไหลย้อน” หรือ “เด็กกินเร็วไป” แต่รู้ไหมคะว่าบางครั้งอาการนี้อาจบ่งบอกถึง “การแพ้นมวัว” ซึ่งจัดเป็นภาวะภูมิแพ้อีกประเภทหนึ่ง

ทำความเข้าใจการแพ้นมวัว
อาการแพ้นมวัว (Cow’s Milk Protein Allergy) เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของเด็กที่มองโปรตีนในนมวัวเป็นสิ่งแปลกปลอม ทำให้เกิดอาการตอบสนอง เช่น ผื่นขึ้น ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน หรือแม้แต่มีเลือดปนในอุจจาระ นอกจากนี้ อาการแพ้นมวัวยังพบได้หลายรูปแบบ อาจเกิดทันทีหรือภายใน 1 - 3 ชม. หรือใช้เวลานานหลายวันหรือเป็นสัปดาห์หลังกินนมวัว

ลูกปวดท้อง อาเจียน หลังกินนม = สัญญาณแพ้?
ถ้าลูกอาเจียนเกือบทุกครั้งหลังดื่มนมวัว หรือมีผื่นคันขึ้นบริเวณปาก หลัง ก้น ร่วมด้วย เป็นอีกหนึ่งข้อสังเกตที่น่าสงสัย เด็กบางคนมีอาการท้องอืด แหวะนมมากผิดปกติ จนถึงขั้นเบื่ออาหารและน้ำหนักไม่ขึ้น ก็ควรพิจารณาเรื่องแพ้นมวัว คุณแม่สามารถสังเกตอาการแพ้นมวัวอื่น ๆ ได้ ดังนี้ 

  1. ร้องงอแงผิดปกติหลังกินนม หงุดหงิดเมื่อถึงเวลาให้นม
  2. แหวะนมหรืออาเจียน
  3. มีผื่นแดง
  4. ถ่ายมีมูกเลือด
  5. ผิวแห้งและอาจเป็นขุย
  6. คันบริเวณผิวหนัง
  7. บวมริมฝีปาก ใบหน้า หรือรอบดวงตา
  8. เรอบ่อยกว่าปกติ
  9. ท้องเสีย
  10. ท้องผูก
  11. ปวดท้อง ไม่สบายท้อง
  12. คัดจมูก หายใจมีเสียงวี้ด
  13. บางรายน้ำหนักตัวไม่ปกติ
  14. ความอยากอาหารลดลง

ป้องกันและดูแลเด็กแพ้นมวัวได้อย่างไร
สัญญาณการแพ้นมวัว เมื่อเป็นที่ชัดเจนแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงต่อมาก็คือ แนวทางการรักษา ซึ่งมีทางเลือกในการดูแลลูกน้อย ดังนี้ 

  • หากคุณแม่ให้ลูกกินนมแม่อยู่แล้ว แนะนำให้กินนมแม่ต่อไป นอกจากนี้ คุณแม่ให้นมบุตรควรงดนมวัวหรืออาหารที่มีส่วนประกอบของนมวัวด้วยเช่นกัน
  • ลูกควรงดกินนมวัวหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของนมวัว
  • หากคุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อแนะนำโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับเด็กแพ้นมวัว ซึ่งแพทย์มักแนะนำ* โปรตีนที่ผ่านการย่อยอย่างละเอียด (eHP) ซึ่งมีคุณสมบัติ Hypoallergenic ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และโพรไบโอติกส์ แล็กโทบาซิลลัส รามโนซัส จีจี (LGG) เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง หยุดอาการแพ้นมวัว รวมถึงลดโอกาสในการเกิดภูมิแพ้อื่น ๆ ที่อาจตามมาในอนาคต

*ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย. (2555). แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคแพ้โปรตีนนมวัว (Cow Milk Protien Allergy).


  • pobpad. ไวรัสลงกระเพาะ. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.pobpad.com/ไวรัสลงกระเพาะ. [1 กุมภาพันธ์ 2568]
  • medpark. ภาวะอาหารเป็นพิษ. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.medparkhospital.com/disease-and-treatment/food-poisoning. [1 กุมภาพันธ์ 2568]
  • รพ.บางประกอก9.รู้ทัน โรคแพ้นม แพ้อาหาร. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://bpk9internationalhospital.com/care_blog/content/รู้ทันโรคแพ้นม%20แพ้อาหาร. [1 กุมภาพันธ์ 2568]
  • รพ.พญาไท. เมื่อลูกปวดท้อง พ่อแม่อย่าชะล่าใจ! เพราะอาจร้ายแรงกว่าที่คิด. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จากhttps://www.phyathai.com/th/article/2155-abdominal_pain_in_childrenbranchpyt2. [1 กุมภาพันธ์ 2568]
  • โรงพยาบาลรามาธิบดี. อาการปวดท้องในเด็ก ปวดแบบไหนบอกโรคอะไร ?. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/infographic/อาการปวดท้องในเด็ก/. [1 กุมภาพันธ์ 2568]

โปรดอ่านข้อมูลเบื้องต้น และคลิก

“เข้าสู่เว็บไซต์”

เพื่อดำเนินการต่อ

Line TH
Shopee TH Lazada TH Join Enfamama