สัปดาห์ที่ 19 คำแนะนำ
* ทำกิจกรรมที่ทำให้คุณแม่เกิดความสงบ หากคุณแม่มีความกังวลใจ ให้ทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสงบ เช่น ฟังเพลง ทำงานฝีมือ หัวใจคุณแม่จะเต้นอย่างสม่ำเสมอ ในความรับรู้ของสมองลูก ความสม่ำเสมอนี้หมายถึงความปลอดภัยของเขา เมื่อลูกรู้สึกมั่นคงปลอดภัย จะส่งผลดีต่อพัฒนาการด้านอารมณ์ของเขาค่ะ
* พาดขาบนเก้าอี้ขณะนั่งทำงาน ขณะนั่งทำงาน คุณแม่ควรหาเก้าอี้ที่มีความสูงเท่ากับตัวที่นั่งมาวางพาดขา เพื่อป้องกันอาการเท้าบวม และอาการเจ็บหลังจากน้ำหนักท้องที่มากขึ้น
* นวดตัวด้วยน้ำมันหรือเบบี้ออยล์บ่อยๆ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง และกระตุ้นการไหลเวียนของเลือก ป้องกันผิวแตกและเส้นเลือดบริเวณหน้าท้องและขาขอด
* งดทานของขบเคี้ยว เพราะต้นทางของสู่อัจฉริยะตัวน้อยของลูก นับหนึ่งช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่ควรทานอาหารที่มีประโยชน์ในช่วงตั้งครรภ์มากกว่าทานของขบเคี้ยวที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ทานผักและผลไม้ และเลือกทานธัญพืชและขนมปังแบบโฮลเกรนให้มากขึ้น

 

สัปดาห์ที่ 20 คำแนะนำ
* พูดคุยกับลูกในครรภ์บ่อยๆ ช่วงนี้ประสาทการรับเสียงของลูกพัฒนาแล้ว สามารถได้ยินเสียงคุณแม่ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พูดคุยกับลูกในครรภ์บ่อยๆ จะช่วยให้ระบบประสาทและสมองที่ควบคุมการได้ยินมีพัฒนาการที่ดี และเตรียมพร้อมสำหรับพัฒนาการด้านภาษาของลูกหลังคลอดด้วย
* เปลี่ยนขนาดเสื้อยกทรง หน้าอกคุณแม่ขยายใหญ่ขึ้น จึงต้องเปลี่ยนขนาดของเสื้อยกทรงให้ใหญ่ขึ้นด้วย เพราะเสื้อไซส์เดิม คุณแม่จะอึดอัด และเกิดการกดทับ ควรเลือกยกทรงแบบปลายทรงแหลมเพื่อไม่ให้กดทับหัวนม สายบ่าควรมีขนาดใหญ่ เพื่อกระจายการรับน้ำหนักที่ไหล่ได้ดีขึ้น
* นอนยกขาสูง เวลานอนตอนกลางคืน ควรเอาหมอนสัก 1-2 ใบมาหนุนที่เท้าเพื่อยกเท้าให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าหัวใจ ก็จะช่วยให้เลือดที่คั่งอยู่ไหลเวียนกลับเข้าสู่หัวใจได้สะดวกขึ้น
* นับการดิ้นของลูก ช่วงนี้คุณแม่จะรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกอย่างชัดเจน การนับและทำบันทึกการดิ้นของลูก เป็นอีกวิธีหนึ่งที่คุณสามารถตรวจเช็คสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ได้ด้วยตัวคุณแม่เอง และแจ้งการดิ้นของลูกแก่คุณหมอทุกครั้งที่หมอนัดด้วย

 

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

 

สัปดาห์ที่ 21 คำแนะนำ
* นอนตะแคงซ้าย ท้องที่โตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ปริมาตรของปอดเล็กลง คุณแม่จึงรู้สึกอึดอัด หายใจไม่สะดวก การนอนตะแคงซ้าย จะทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น จะช่วยบรรเทาความอึดอัดได้ และจะรู้สึกสบายขึ้น
* อ่านหนังสือนิทานสำหรับเด็กให้ลูกฟัง การอ่านหนังสือจะต่างจากการพูดคุย เพราะจังหวะจะโคนมีความแตกต่าง เป็นการพัฒนาระบบประสาทและสมองที่ควบคุมการได้ยินของลูกในครรภ์อีกวิธีหนึ่ง
* ปัสสาวะหลังมีเพศสัมพันธ์ หลังมีเพศสัมพันธ์ คุณแม่ควรปัสสาวะทันที เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากขนาดมดลูกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกดกระเพาะปัสสาวะ และหลังจากปัสสาวะให้ใช้กระดาษซับจากหน้าไปทางด้านหลังเสมอ
* บริหารเท้า เพื่อป้องกันอาการเท้าบวม คุณแม่ควรดูแลเท้าเป็นพิเศษ เช่น พักเท้าบ้างเมื่อมีโอกาส บริการข้อเท้าด้วยการหมุนข้อเท้าเป็นวงกลมเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก เป็นต้น

 

สัปดาห์ที่ 22 คำแนะนำ
* เปิดเพลงให้ลูกฟัง ช่วงนี้ ประสาทการรับเสียงของลูกพัฒนาแล้ว การเปิดเพลงทำนองช้าๆ นุ่มนวล ผสมผสานกับจังหวะที่เป็นระบบ จะทำให้ทั้งคุณแม่และลูกอารมณ์ดี โดยเปิดวันละ 1 ครั้ง 10-15 นาทีให้ลำโพงอยู่ห่างหน้าท้อง 1 ฟุตขึ้นไป และในระดับเสียงที่ไม่ดังเกินไป จะส่งผลดีต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูก
* ชวนพ่อพูดคุยกับลูก เสียงทุ้มต่ำของพ่อที่แตกต่างจากเสียงเล็กแหลมของแม่ จะช่วยพัฒนาประสาทรับฟังเสียง ซึ่งจะส่งผลต่อการฟังและแยกแยะเสียงให้ลูกหลังคลอดได้ ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นพื้นฐานของพัฒนาการด้านการเรียนรู้ภาษาของเขา
* เน้นโปรตีนจากปลา ปลาเป็นแหล่งโปรตีนที่ดี ย่อยง่าย และมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของดีเอชเอ ที่ช่วยพัฒนาสมองของลูกน้อย
* ปรึกษาคุณหมอเรื่องการรับธาตุเหล็ก ปริมาณเลือดของคุณแม่จะเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการของครรภ์ ปริมาณเลือดส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นพลาสมาซึ่งจะไปเจือจางเลือด ทำให้คุณแม่เสียงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางได้ คุณแม่ปรึกษาคุณหมอว่าจำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กเสริมหรือไม่