Enfa สรุปให้

  • โคลิค คือ อาการที่เด็กทารกอายุตั้งแต่แรกเกิด – 4 เดือน มีอาการร้องไห้โดยฉับพลัน ไม่ทราบสาเหตุ ร้องเสียงดัง และยาวนาน 3 – 4 ชั่วโมง
  • สาเหตุของอาการโคลิค ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่มีข้อสันนิษฐานสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนี้ เช่น เกิดจากระบบย่อยอาหารของเด็กทารกยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ หรือมีแก๊สในกระเพาะ หรือเผลอกลืนลมเข้ามากจนเกินไป เป็นต้น
  • อาการโคลิคเกิดได้เด็กทุก ๆ คน และจะหายไปได้เอง

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • โคลิคคืออะไร
     • อาการของโคลิค
     • อายุเท่าไหร่ถึงจะเป็นโคลิค
     • ร้องไห้ vs. โคลิค
     • สาเหตุอาการโคลิค
     • วิธีแก้อาการโคลิค
     • รับมือเมื่อลูกเป็นโคลิค
     • ลูกเป็นโคลิคต้องไปหาหมอหรือไม่

คุณแม่ประสบปัญหาลูกร้องไห้ไม่หยุดกันหรือเปล่าเอ่ย ไม่ว่าจะทำยังไง ให้นมก็แล้ว เปลี่ยนผ้าอ้อม จับอุ้ม ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุดร้องไห้สักที ร้องไห้นาน ๆ ไม่หยุดแบบนี้ ลูกน้อยอาจจะกำลังเป็นโคลิคก็ได้นะ!

ทำความรู้จักกับโคลิค โคลิคคืออะไร


อาการโคลิค หรือบางคนอาจจะรู้จักในชื่อของ “ร้องไห้ร้อยวัน” คืออาการที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก ในช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิด จนไปถึง 4 เดือน พบได้ทั้งเด็กทารกเพศชาย และเพศหญิงในอัตราสัดส่วนไม่แตกต่างกันมากนัก คือร้อยละ 20 - 30 ของทารกแรกเกิด โดยเด็กจะมีอาการร้องไห้โดยฉับพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่ว่าจะลองหาทางแก้ไขใด ๆ แล้ว เด็กก็ยังไม่สามารถหยุดร้องไห้ได้ และไม่ทราบว่าร้องไห้จากสาเหตุอะไรกันแน่

เด็กที่เป็นโคลิคมีอาการอย่างไร


ถึงแม้ว่าเด็กทารกจะใช้การร้องไห้เพื่อสื่อสาร แสดงอารมณ์ หรือความต้องการกับคนรอบข้าง เช่น หิว ต้องการเปลี่ยนผ้าอ้อม ไม่สบายตัว เป็นต้น แต่การร้องไห้เมื่อเด็กเป็นโคลิคนั้นจะมีความแตกต่างกันออกไป โดยสามารถสังเกตได้ ดังนี้

          • ร้องไห้ขึ้นมาแบบฉับพลัน อย่างไม่มีสาเหตุ
          • ร้องไห้เป็นเวลานานมากกว่า 3 ชั่วโมง/วัน โดยอาการร้องไห้จะเกิดขึ้นมากกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ และร้องไห้ติดต่อกันในลักษณะนี้ติดต่อกัน 3 สัปดาห์ขึ้นไป
          • เวลาร้องไห้ จะแสดงอาการเหมือนเจ็บปวด ทั้งกำหมัด แอ่นหลังขึ้น และยกเข่าขึ้นมาชิดหน้าท้อง
          • หน้าแดงเวลาร้องไห้ และร้องเสียงดัง
          • ไม่ว่าจะยกอุ้ม ปลอบ กล่อม ลูกน้อยก็ไม่หยุดร้องไห้

โคลิคเกิดขึ้นได้กับเด็กอายุเท่าไหร่ และเมื่อไหร่อาการจะหายไป


อาการโคลิค จะเกิดขึ้นกับเด็กอายุตั้งแต่ แรกเกิด จนไปถึง 4 เดือน ในบางรายอาจจะ 6 เดือน โดยส่วนมากโคลิคจะเกิดขึ้นบ่อย ในช่วงอายุ 3 เดือน นอกจากนี้ อาการโคลิคสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุก ๆ คน และอาการจะหายไปเอง

แยกการร้องไห้ด้วยสาเหตุอื่น ๆ ออกจากอาการโคลิคได้อย่างไร


ในบางครั้ง การร้องไห้ของเด็กทารกอาจจะดูคล้าย ๆ กัน จนไม่สามารถบอกได้ว่า ลูกน้อยกำลังเป็นโคลิคหรือไม่ คุณแม่สามารถแยกอาการร้องไห้ด้วยสาเหตุอื่นได้ โดยลองมองหาความต้องการทั่วไปของลูกน้อย เช่น ลูกหิวหรือไม่ ต้องการเปลี่ยนผ้าอ้อม ต้องการจับเรอ ต้องการปลอบ เป็นต้น

หากลองแก้ไขตามความต้องการต่าง ๆ แล้ว ยังไม่เป็นผล ลูกยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดร้อง หรือการร้องไห้ครั้งนั้น เกิดขึ้นแบบฉับพลัน อาจจะเป็นไปได้ว่าลูกมีอาการโคลิค ซึ่งหากคุณแม่ไม่มั่นใจว่าการร้องไห้เกิดจากอาการโคลิคหรือไม่ หรือมีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของลูก สามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการวินิจฉัยอาการได้

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

อาการโคลิคเกิดจากอะไร


สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการโคลิค ในทางการแพทย์แล้วก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ว่า เกิดขึ้นจากอะไร แต่ก็มีข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการโคลิคได้ เช่น

          • ร่างกายของเด็กมีความไวต่อสิ่งเร้าต่อสภาพแวดล้อม: เนื่องจากร่างกายของเด็กทารกยังใหม่กับสภาพแวดล้อม ทำให้ในบางครั้งอาจจะยังไม่คุ้นชินกับสภาพแวดล้อม หรือสิ่งเร้าต่าง ๆ เช่น แสง สี เสียง อากาศ เป็นต้น จึงทำให้เด็กทารกมีความไวต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ และอาจจะไม่สามารถรับมือ ปรับตัวได้ทัน หรือไม่สามารถที่จะปลอบให้ตัวเองสงบได้

          • ร่างกายของเด็กมีความไวต่อระบบย่อยอาหาร: ระบบย่อยอาหารของเด็กทารกยังไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เหมือนกับของผู้ใหญ่ และยังใหม่กับอาหารที่รับประทานเข้าไป ซึ่งในบางครั้งอาจจะทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารย่อยอาหารไม่ได้ดี เกิดเป็นอาการไม่สบายท้อง สบายตัว เด็ก ๆ เลยอ่อนไหวต่อความผิดปกติของระบบย่อยอาหารได้ง่าย

          • แพ้อาหาร: ผู้เชี่ยวชาญบางรายชื่อว่า อาการโคลิคอาจจะเกิดจากภาวะแพ้อาหารของเด็ก อย่างการแพ้โปรตีนนมวัว รวมภาวะย่อยแลคโตสผิดปกติ โดยอาการแพ้เหล่านี้อาจจะกระตุ้นให้เกิดอาการโคลิคได้

อย่างไรก็ตาม สาเหตุเหล่านี้ ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานสาเหตุของอาการโคลิคเท่านั้น

จะทำอย่างไรเมื่อลูกมีอาการโคลิค มีวิธีแก้โคลิคอย่างไร


แม้ว่าในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีแก้อาการโคลิคให้หายขาดได้ แต่คุณแม่สามารถนำวิธี หรือเทคนิคบางอย่างไปปรับ และทดลองใช้กับลูกน้อยที่มีอาการโคลิคได้ อย่างไรก็ตาม บางวิธีอาจจะใช้ได้ผลในวันนี้ แต่วันถัดไปอาจจะใช้ไม่ได้ผล คุณแม่ควรลองปรับเปลี่ยนวิธีแก้อาการโคลิคที่เหมาะ และได้ผลกับลูกน้อย โดยสามารถนำวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้ได้

          • หมั่นจับลูกเรอ หลังจากให้นมเสร็จ นอกจากนี้ เวลาให้นม คุณแม่ควรให้นมในลักษณะที่เอียง ตั้งขึ้น หรืออุ้มลูกนั่ง เพื่อให้นมได้ไหลลงกระเพาะได้ง่าย ลดอากาศที่จะหลุดเข้าไปในกระเพาะจนทำให้เกิดอาการไม่สบายท้อง

          • ระหว่างที่ลูกร้องไห้ ให้อุ้มลูกน้อยชิดกับหน้าอก เพื่อให้เขาได้ยินเสียงหัวใจเต้นของคุณแม่ หรือลองโยกตัวเบาระหว่างที่อุ้มลูกร่วมด้วย ก็ได้เช่นกัน

          • ใช้การอาบน้ำอุ่น และการนวด เพื่อให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย

          • สร้างบรรยากาศรอบข้างให้สงบ เนื่องจากอาจจะมีสิ่งเร้ารอบตัวมากเกินไป เช่น ลมแรง แสงสว่าง เสียงดัง เป็นต้น พยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่หลีกเลี่ยงการรบกวน หรือสร้างความอ่อนไหวให้กับลูกน้อย เช่น ปิดเสียงทีวี หรี่ไฟ ปรับอุณหภูมิในห้องไม่ให้ร้อน หรือเย็นเกินไป เป็นต้น

          • แนะนำคุณแม่ให้นมแม่กับลูกน้อยตลอด 6 เดือนแรก เนื่องจากนมแม่มีคุณสมบัติที่ย่อยง่าย เหมาะสมกับระบบย่อยอาหารของเด็กทารกที่ยังพัฒนาไม่ได้เต็มที่เท่าผู้ใหญ่ ช่วยลดอาการไม่สบายท้องของลูกน้อยที่อาจจะเป็นสาเหตุของอาการโคลิค ในกรณีที่คุณแม่มีความจำเป็นที่ทำให้ไม่สามารถให้นมแม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ลูกได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ คุณแม่สามารถปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการเด็กของ Enfa Smart Club ได้ โดยโทรปรึกษาได้ที่ 02-035-1365 (เวลาทำการ: จันทร์ – ศุกร์ เวลา 08:30 – 17:30 น.) หรือพูดคุยกับพยาบาลผ่าน Line OpenChat “คุณแม่ถามพยาบาลตอล by A+” คลิกที่นี่

คำแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่ และครอบครัวในช่วงที่ลูกเป็นโคลิค


สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ และครอบครัวที่ต้องรับมือกับอาการโคลิคของลูกน้อย เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนในครอบครัวอาจจะต้องเผชิญกับอารมณ์ และความรู้สึกส่วนตัว ในระหว่างที่ลูกมีอาการโคลิค คุณพ่อคุณแม่อาจจะมีควาเราอาจจะมีความรู้สึกโทษตัวเองว่า ดูแลลูกไม่ดีพอ หรือเหนื่อยหล้าทางร่างกาย และอารมณ์

เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อาการโคลิคเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับเด็กทุก ๆ คน และอาการไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการเลี้ยงดู หรือรูปแบบการให้นม ไม่ว่าจะเป็นนมแม่ หรือนมผงก็ตาม

          1. ไม่ควรโทษตัวเองว่าเลี้ยงลูกไม่ดี เมื่อลูกมีอาการโคลิก คอยเตือนตัวเองเสมอว่า “เราทำดีที่สุดแล้ว” และ “เดี๋ยวมันก็ผ่านไป”
          2. ให้เวลาพักกับตัวเองบ้าง ถึงแม้ทั้งวันเราจะต้องดูแลลูกน้อย แต่ในช่วงที่ลูกนอนหลับ แบ่งเวลาพักมาอยู่กับตัวเองสักครู่ ก็เป็นเรื่องที่ดี นอกจากนี้ หากเรามีคนในครอบครัวที่สามารถช่วยดูแลลูกได้ ลองแบ่งเวลา ผลัดให้คุณพ่อ หรือครอบครัวช่วยดูแล เพื่อที่เราจะได้เวลาพัก
          3. เปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน การที่เราอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ทำวนไปวนมาเป็นกิจวัตร อาจจะสร้างความเครียดให้กับคุณแม่ได้ ลองปรับเปลี่ยนกิจวัตรในแต่ละวัน เช่น พาลูกออกไปเดินเล่นรอบ ๆ บ้าน ออกไปเปลี่ยนบรรยากาศ ปรับเปลี่ยนกิจวัตรไม่ให้จำเจ ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน
          4. นั่งสมาธิ อ่านหนังสือ ฟังเพลง และกิจกรรมอื่น ๆ ที่ช่วยให้คุณแม่สบายใจ และผ่อนคลาย ก็จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกสบายใจขึ้นได้

ลูกเป็นโคลิคจำเป็นต้องไปพบแพทย์หรือไม่


หากอาการร้องไห้ของลูกน้อยดูน่ากังวล เช่น ร้องไห้นานติดต่อเป็นเวลานานกว่าปกติ หรือมีอาการตัวร้อน ไข้สูง กินนมได้น้อย ถ่ายเหลว ไม่ร่าเริง เป็นต้น ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยอาการ และทำการรักษาต่อไป หรือหากคุณแม่มีความกังวล ไม่แน่ใจว่าลูกร้องไห้เพราะว่าโคลิค หรืออาการอื่นกันแน่ ก็สามารถขอรับคำปรึกษากับแพทย์ได้เช่นกัน

ไขข้อข้องใจเรื่องโคลิคกับ Enfa Smart Club


 อาการโคลิคเป็นยังไง

เด็กที่มีอาการโคลิค จะมีอาการร้องแบบฉับพลัน แบบไม่ทราบสาเหตุ สามารถร้องไห้ได้นานถึง 3 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน และร้องไห้อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ รวมทั้งจะร้องไห้ติดต่อกัน 3 สัปดาห์ขึ้นไป โดยเวลาร้องไห้จะแสดงอาการเหมือนเจ็บปวด หน้าแดง กำหมัด แอ่นหลังขึ้น ยกเข่าขึ้นมาชิดหน้าท้อง ไม่ว่าจะปลอบ กล่อม อุ้ม เด็กก็ไม่หยุดร้อง

 โคลิคเป็นกี่เดือนหาย

อาการโคลิคจะเริ่มเป็นในเด็กอายุตั้งแต่แรกเกิด จนไปถึง 4 เดือน ในบางรายอาการโคลิคอาจจะหายไปในช่วงอายุ 6 เดือน โดยระยะเวลาเฉลี่ยนในการเป็นโคลิคจะอยู่ที่ประมาณ 3 เดือน

 ลูกร้องเวลาเดิมทุกวัน เป็นโคลิคหรือไม่

หากพบว่าลูกน้อยวัยทารกในช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิด จนถึง 4 เดือน มีอาการร้องไห้เป็นเวลาเดิมทุกวัน ไม่ว่าจะปลอบอย่างไร ก็ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดร้อง อาจจะเป็นไปได้ว่าลูกน้อยกำลังเป็นโคลิค อย่างไรก็ตาม หากพบว่า ลูกร้องไห้นานกว่าปกติ และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้ขึ้น ถ่ายเหลว ซึม ไม่อยากอาหาร ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์โดยด่วน

 ลูกใครสามารถเป็นโคลิคได้บ้าง

อาการโคลิคสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ และไม่ได้เกิดขึ้นเพราะรูปแบบการเลี้ยงดู หรือรูปแบบการให้นม ไม่ว่าจะเป็นนมแม่ หรือนมผงก็ตาม

 โคลิคเป็นอาการร้ายแรงหรือไม่

อาการโคลิคไม่ใช่อาการร้ายแรง และอาการจะหายไปเองตามธรรมชาติ หากคุณแม่มีความกังวลว่าอาจจะเป็นอาการป่วยอื่น ๆ นอกเหนือจากโคลิคหรือไม่ สามารถพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการวินิจฉัย และรักษาต่อไปได้


บทความแนะนำสำหรับคุณแม่