หลังจากที่ลาคลอดมาสักพักแล้ว คุณแม่อาจจะกำลังเริ่มคิดว่า จะกลับไปทำงานช่วงไหนดี และต้องวางแผนอะไรบ้าง ก่อนที่จะกลับไปทำงานหลังคลอด เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมทั้งคุณแม่ และเจ้าตัวเล็ก เรามีข้อแนะนำดี ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการกลับไปทำงานอีกครั้งของคุณแม่มาฝากกันค่ะ

ช่วงเวลาไหนดี ที่เหมาะกับการไปทำงานหลังคลอด

โดยปกติแล้ว ในประเทศไทยสามารถลาคลอดได้เป็นเวลาไม่เกิน 98 วัน หรือประมาณ 3 เดือน สิ่งที่คุณแม่ต้องประเมินเป็นอันดับแรกคือ วันลาที่เหลืออยู่ทั้งหมด มีมาก หรือน้อยขนาดไหน เพื่อกำหนดวันที่จะกลับไปทำงาน แนะนำให้คุณแม่กลับไปเริ่มทำงานในวันพุธ ซึ่งเป็นกลางสัปดาห์พอดี

สาเหตุที่แนะนำให้เริ่มงานในวันพุธ เนื่องจากเป็นช่วงเวลากลางสัปดาห์ และเหลือเวลาอีก 2 วัน ในการทำงานสัปดาห์นั้น เพื่อลดความกระชั้นชิดในการทำงานสัปดาห์แรก และยังช่วยให้คุณแม่ประเมินเวลาในการทำงาน และเวลาในการเลี้ยงลูกได้อีกด้วย ว่าเราต้องใช้เวลามาก หรือน้อยขนาดไหน

ในบางองค์กรอาจจะมีสวัสดิการ หรือมีความยืดหยุ่นในการทำงานให้กับพนักงานที่ลาคลอด สามารถขยายเวลาลาคลอดเพิ่ม หรือเปลี่ยนเป็นการทำงานที่บ้านแทนการเข้าออฟฟิศแทน เพื่อให้ได้ใช้เวลากับลูกน้อยมากขึ้น คุณแม่สามารถสอบถามไปยังฝ่ายบุคคล หรือปรึกษากับหัวหน้าฝ่าย เพื่อประกอบการวางแผนในการกลับไปทำงานหลังคลอดได้

เช็กงานล่วงหน้าเพื่อวางแผน

บอกได้เลยว่า อาทิตย์แรก ๆ ที่คุณแม่กลับมาทำงานหลังคลอด อาจจะเต็มไปด้วยความโกลาหลพอสมควร ยิ่งถ้าหากคุณแม่เป็นหน่วยหลักของทีมในที่ทำงานด้วยแล้ว ทุกคนในทีมอาจจะรอการกลับมาของคุณแม่ เพื่อสานต่องานอย่างใจจดใจจ่อ

เพื่อเตรียมตัวกลับไปทำงาน แนะนำให้คุณแม่สอบถาม และพูดคุยกับทีมในที่ทำงานเบื้องต้น ก่อนสัปดาห์ที่จะเข้าไปทำงาน เพื่อติดตามงานที่คุณแม่จะต้องกลับไปสานต่อ มีงานอะไรบ้าง มีชิ้นไหนที่ต้องรีบจัดการหรือไม่ หรือในช่วงที่คุณแม่กำลังจะเข้าไป มีงานชิ้นที่กำลังประสบปัญหาอยู่

การทำแบบนี้ จะช่วยให้คุณแม่ติดตามงานได้เร็วขึ้น และยังช่วยลดการทำงานที่โหลด หรือหนักเกินไป ซึ่งอาจจะไปกระทบสุขภาพ และช่วงเวลาที่ต้องกลับไปเลี้ยงลูกที่บ้านได้

เวลางาน และเวลาให้ลูกต้องบาลานซ์

ไม่ว่างานจะมากมาย ท่วมล้นขนาดไหน คุณแม่ก็อย่าลืมว่า ตอนนี้เราไม่ได้ตัวคนเดียวแล้วนะ ยังมีลูกน้อย และครอบครัวที่กำลังรอเราอยู่ ดังนั้นการแบ่งเวลางาน และเวลาให้ลูกกับครอบครัวก็เป็นสิ่งสำคัญ อย่าทำงานหนักจนไม่มีเวลาให้ลูกน้อย

เวลาสำหรับการทำงาน และเวลาให้ลูกน้อย จะต้องบาลานซ์กัน แรก ๆ อาจจะฟังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แนะนำให้คุณแม่ลองแบ่งเวลาคร่าว ๆ ค่ะ ว่าเวลาไหนที่เราจะหยุดทำงาน หรือเวลาไหนที่เราจะเลี้ยงลูก ค่อย ๆ ปรับตารางเวลาในแต่วันให้ลงตัวค่ะ

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

สต็อกนมให้พร้อม

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการสต็อกน้ำนมให้ลูกน้อย ลองสังเกตจำนวนน้ำนมที่ลูกต้องการในแต่ละวัน ว่ามีมากหรือน้อยขนาดไหน อย่างไรก็ตามลูกน้อยอาจจะมีความต้องการในแต่ละวันไม่เท่ากัน คุณแม่ควรปั๊มนมเก็บสต็อกไว้ให้มากกว่าจำนวนปกติอีกเท่าตัว นอกจากนี้ คุณแม่อาจจะปั๊มนมที่ทำงานเพื่อเก็บสต็อกนมเพิ่มในแต่วันเพิ่มด้วยก็ได้

          อ่านบทความแนะนำ: ปั๊มนมทำสต็อกก่อนแม่กลับไปทำงาน

ตามหาคนมาเลี้ยงลูกแทน

ในบางบ้าน อาจจะได้คุณปู่ คุณย่า หรือญาติ ๆ มาช่วยเลี้ยงลูกตั้งแต่หลังคลอด แต่ในบางบ้านอาจจะเป็นคุณแม่ และคุณพ่อช่วยดูแลกันเอง เรื่องการหาคนมาช่วยเลี้ยง อาจจะเป็นสิ่งที่ต้องทำตั้งแต่เนิ่น ๆ หลังคลอด เพื่อเลือกคนที่เหมาะสมในการเลี้ยงดูลูกน้อยแทนเรา

ไม่ว่าจะเป็นพี่เลี้ยงเด็ก หรือญาติ ที่จะต้องมารับหน้าที่ดูแลลูกน้อยในช่วงที่เราทำงาน คุณแม่ควรแนะแนว และลองฝึกเลี้ยงด้วยกันก่อน เพื่อให้เมื่อถึงเวลาจริง พี่เลี้ยง หรือญาติที่มารับหน้าที่แทนเรา จะสามารถรับมือกับการเลี้ยงดูได้อย่างไม่มีปัญหา

ในช่วงแรก ๆ คุณแม่อาจจะกังวลกับหลาย ๆ เรื่อง เมื่อต้องห่างจากลูกน้อย แต่การวางแผนเพื่อเตรียมพร้อมก่อนกลับไปทำงานหลังคลอด จะช่วยให้คุณแม่คลายความกังวลใจไปได้ ในระหว่างวันที่ทำงาน คุณแม่อาจจะติดต่อกับคนบ้าน เพื่ออัปเดตเรื่องลูกน้อย ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยสักหน่อย แต่เชื่อว่า เมื่อกลับบ้านมาเห็นหน้าลูกน้อยของเรา ความเหนื่อยก็หายเป็นปลิดทิ้งเลย

References