blighted-ovum

ท้องลม ท้องหลอก คือท้องจริง ๆ หรือว่าท้องเทียม

ท้องลม มักเป็นคำที่คุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินผ่านหู หรือได้รับชมผ่านละครโทรทัศน์ตอนที่ตัวละครแสร้งว่ากำลังตั้งท้อง ก่อนจะมาเฉลยเอาในตอนท้ายว่าแท้จริงเป็นท้องปลอม แต่คุณแม่รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้ว อาการท้องลม ถือเป็นความผิดปกติหนึ่งของการตั้งครรภ์นะ แต่ใครบ้างล่ะที่เสี่ยงเป็นท้องลม แล้วท้องลมนี่อันตรายไหม มาลองหาคำตอบกันเลย

เลือกอ่านตามหัวข้อ

ท้องลม คืออะไร
ท้องลม เกิดจากอะไร
ท้องลมอันตรายไหม
ค่า hCG เมื่อมีภาวะท้องลม
อาการท้องลมเป็นอย่างไร
สัญญาณของอาการท้องลมที่ควรรู้
ท้องลมกี่สัปดาห์ถึงรู้ตัว
ท้องลมรักษาอย่างไร
ท้องลมกับท้องหลอก ต่างกันอย่างไร
หากเคยมีภาวะท้องลมมาก่อน ควรวางแผนการตั้งครรภ์อย่างไรดี
ไขข้อข้องใจเรื่องอาการท้องลมกับ Enfa Smart Club

ท้องลม คืออะไร?


ท้องลม หรือ ภาวะไข่ฝ่อ (Blighted Ovum) เป็นความผิดปกติของการตั้งครรภ์ชนิดหนึ่ง กล่าวคือตามธรรมชาติของการตั้งครรภ์นั้นจะเกิดจากการปฏิสนธิของไข่และสเปิร์ม หลังจากปฏิสนธิแล้วก็จะไปฝังตัวในมดลูก และเติบโตเป็นตัวอ่อนไปเรื่อย ๆ

ซึ่งสำหรับภาวะท้องลม ก็มีการปฏิสนธิเช่นนั้นเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน และมีการฝังตัวอ่อนที่มดลูกครบสูตรของการตั้งครรภ์ตามปกติ แต่จู่ ๆ หลังจากฝังตัวได้ไม่นานตัวอ่อนก็เกิดการฝ่อและหายไปดื้อ ๆ เหลือไว้แค่เพียงถุงตั้งครรภ์เปล่า ๆ เอาไว้ดูต่างหน้า เรียกภาวะเช่นนี้ว่า ท้องลม และภาวะนี้มักเกิดขึ้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ และบางครั้งก็เกิดขึ้นก่อนที่จะรู้ตัวว่าตั้งครรภ์

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ท้องลม เกิดจากอะไร?


แม้จนทุกวันนี้ก็ยังไม่ทราบว่าท้องลมเกิดจากอะไร และก็เป็นเรื่องยากที่จะจำเพาะเจาะจงในการหาสาเหตุที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภาวะท้องลมที่พบโดยมากนั้นมักมีสาเหตุมาจาก

  • ปัญหาเกี่ยวกับโครโมโซม หรือโครโมโซมไม่สมบูรณ์

  • อสุจิหรือไข่ไม่สมบูรณ์

  • การตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป

  • การดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ

โอกาสเกิดท้องลมมีมากแค่ไหน?


ท้องลมสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงในทุกช่วงวัย แต่ยิ่งมีอายุมากและตั้งครรภ์ ก็มีโอกาสที่จะเป็นท้องลมมากกว่าปกติ ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ช่วงอายุน้อยกว่า 35 ปี มีโอกาสเกิดท้องลมประมาณร้อยละ 15 ขณะที่การตั้งครรภ์เมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไปมีโอกาสพบท้องลมมากกว่าประมาณร้อยละ 30

ท้องลมอันตรายไหม?


เมื่อเทียบกับความผิดปกติของการตั้งครรภ์ประเภทอื่น ๆ ภาวะท้องลมถือว่าเป็นความผิดปกติที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพน้อยมาก แต่ในแง่ของความผิดหวังและเสียใจนั้น คงไม่ต่างไปจากการแท้งลูก หรือความผิดปกติในการตั้งครรภ์รูปแบบอื่น ๆ

ค่า hCG เมื่อมีภาวะท้องลม


คนท้องโดยทั่วไปมักจะตรวจพบฮอร์โมน (Human Chorionic Gonadotropin หรือ hCG) หรือฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ซึ่งจะเพิ่มระดับขึ้นหลังการปฏิสนธิ

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่คนท้องบางคนจะมีอาการแพ้ท้องเช่นเดียวกับการตั้งครรภ์ปกติ แต่อาการจะไม่เท่ากับคนที่ตั้งท้องโดยสมบูรณ์ เนื่องจากระดับ hCG ในผู้ที่มีภาวะท้องลมจะไม่สูงเท่าค่า hCG ปกติ

อาการท้องลมเป็นอย่างไร?


ส่วนมากแล้วผู้ที่มีภาวะท้องลมแทบจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองมีภาวะท้องลมอยู่ เพราะไม่มีอาการใดแสดงออกให้ทราบเลยว่ามีการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติเกิดขึ้น

สัญญาณของอาการท้องลมที่ควรรู้


อาจไม่ใช่อาการท้องลมโดยตรง แต่ผู้ที่มีภาวะท้องลมอาจมีอาการตั้งครรภ์ตามปกติ เช่น ประจำเดือนไม่มา เจ็บหรือคัดตึงเต้านม วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรือตรวจครรภ์แล้วขึ้นสองขีด หรือตรวจพบค่า hCG เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหลังพบว่ามีการตั้งครรภ์มาสักพัก และเมื่อตัวอ่อนฝ่อไปแล้ว อาจพบสัญญาณดังต่อไปนี้เกิดขึ้น

  • ปวดท้องน้อย

  • ตกขาว หรือมีเลือดออกทางช่องคลอด

  • คิดว่าประจำเดือนมามากกว่าปกติ ในกรณีที่ยังไม่ทราบว่ากำลังตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่มีภาวะท้องลมบางรายก็ไม่พบอาการหรือสัญญาณใด ๆ เลย แต่ถ้ามีอาการดังที่กล่าวไปข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย

ท้องลมกี่สัปดาห์ถึงรู้ตัว?


ท้องลมสามารถตรวจพบได้โดยการอัลตราซาวด์ ซึ่งสามารถตรวจพบได้ในสัปดาห์ที่ 6-7 ของการตั้งครรภ์ขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม มีหลายกรณีที่ไม่ทราบว่ามีภาวะท้องลม หากไม่ได้มีเหตุจำเป็นจะต้องมาตรวจสุขภาพภายในที่โรงพยาบาลก็อาจจะไม่ทราบเลย

ท้องลมรักษาอย่างไร?


เมื่อแพทย์ตรวจพบภาวะท้องลม ก็จะวินิจฉัยให้มีการขูดมดลูกเพื่อนำเอาถุงตั้งครรภ์นี้ออกมา หรือในบางกรณีก็อาจรอให้เกิดกระบวนการแท้งขึ้นตามธรรมชาติ หรืออาจแนะนำให้กินยาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการแท้ง

ท้องลม จําเป็นต้องขูดมดลูกไหม?


การรักษาท้องลมนั้นสามารถทำได้หลายวิธี สิ่งสำคัญคือการกำจัดเอาถุงตั้งครรภ์ที่ไม่สมบูรณ์นั้นออกมาให้หมด ซึ่งหากรอให้มีการแท้งตามธรรมชาติเกิดขึ้นแล้ว หรือกินยาเพื่อเร่งการแท้งแล้ว แต่ยังไม่สามารถขับเอาถุงตั้งครรภ์ใบเก่านั้นออกมาได้ แพทย์ก็อาจพิจารณาทำการดูดหรือขูดมดลูกเพื่อเอาถุงตั้งครรภ์ออกมา

ท้องลม (Blighted Ovum) VS ท้องหลอก (Pseudocyesis): แตกต่างกันอย่างไร?


ท้องลม ท้องหลอก มักเป็นคำที่มาคู่กัน จนบางครั้งก็ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นอาการอย่างเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ท้องลม กับ ท้องหลอก มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

ท้องลม (Blighted Ovum) คือ มีการท้องเกิดขึ้นจริง ๆ เพียงแต่ด้วยปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้ตัวอ่อนหยุดการพัฒนาและฝ่อไปเอง เหลือไว้แค่ถุงตั้งครรภ์เปล่า ๆ

ท้องหลอก (Spurious Pregnancy หรือ Pseudocyesis) เป็นอาการทางจิตชนิดหนึ่ง และร่างกายมีการแสดงออกของอาการที่ทำให้รู้สึกว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่จริง ๆ แต่เมื่อไปตรวจกับแพทย์แล้วพบแค่มดลูกเปล่า ๆ ไม่มีร่องรอยการตั้งครรภ์แต่อย่างใด

โดยสรุปก็คือ ท้องลม มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นจริง แต่ท้องหลอก ไม่เคยมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น

หากเคยมีภาวะท้องลมมาก่อน ควรวางแผนการตั้งครรภ์อย่างไรดี?


ผู้ที่มีภาวะท้องลมมาก่อน ยังสามารถที่จะตั้งครรภ์แบบสมบูรณ์ได้ เพียงแต่หลังจากการท้องลมและเสร็จสิ้นกระบวนการกำจัดถุงตั้งครรภ์ใบเก่าออก ร่างกายจำเป็นที่จะต้องมีการพักฟื้นก่อนที่จะเริ่มวางแผนตั้งครรภ์รอบใหม่ได้

แต่โดยทั่วไปแล้วแพทย์มักจะแนะนำให้เริ่มวางแผนการตั้งครรภ์ครั้งใหม่เมื่อมีรอบเดือนครบ 3 รอบ ในระหว่างนี้ ควรดูแลตัวเองให้มากขึ้น หมั่นออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย รวมถึงตรวจความพร้อมการตั้งครรภ์ด้วย

ป้องกันท้องลมได้ยังไงบ้าง?


เนื่องจากท้องลมมีสาเหตุการเกิดที่ค่อนข้างหลากหลาย และมักเป็นปัจจัยที่ยากจะควบคุม จึงทำให้การป้องกันนั้นเป็นไปได้ยาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย

ไขข้อข้องใจปัญหาท้องลมกับ Enfa smart club


1. ท้องลมถือว่าท้องไหม?

ท้องลม ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ เพียงแต่ตัวอ่อนหยุดการพัฒนาไปก่อนที่จะสิ้นสุดกระบวนการตั้งครรภ์เท่านั้นเอง

2. ท้องลมแล้วจะท้องจริงได้ไหม?

หลังจากท้องลมแล้ว หากต้องการจะมีลูก ก็สามารถทำได้ และก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นการตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์ตามปกติ เพียงแต่ต้องรอให้ร่างกายฟื้นตัวหลังจากท้องลมครั้งก่อนหน้าเสียก่อน

3. ท้องลม มีอาการแพ้ท้องไหม?

แม้แต่คนท้องปกติ ก็ไม่ใช่คนท้องทุกคนที่จะมีอาการแพ้ท้อง ผู้ที่มีภาวะท้องลมก็เช่นกัน บางรายก็พบอาการแพ้ท้อง บางรายก็ไม่พบอาการใด ๆ เลย

อย่างไรก็ตาม อาการแพ้ท้องในผู้ที่มีภาวะท้องลมนั้นจะน้อยกว่าอาการแพ้ท้องของผู้ที่มีการตั้งครรภ์ปกติ

4. ท้องลมปวดฉี่บ่อยไหม?

อาการปวดฉี่บ่อย เป็นหนึ่งในอาการของคนท้อง เนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์และมดลูกที่มีการขยายตัวมากขึ้นจนไปเบียดอัดกระเพาะปัสสาวะ จึงทำให้รู้สึกปวดฉี่บ่อยขึ้น

ในส่วนของผู้ที่ท้องลมนั้น เนื่องจากท้องลมมักพบและจบลงในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ มดลูกจึงยังไม่มีการขยายตัวมากพอจะไปเบียดกับกระเพาะปัสสาวะจนทำให้รู้สึกปวดฉี่บ่อย

แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่าคนที่มีภาวะท้องลมอาจจะปวดฉี่บ่อย เพียงแต่อาจไม่ได้มาจากการตั้งครรภ์ แต่อาจเป็นปัจจัยอื่น ๆ เช่น ดื่มน้ำมากกว่าปกติ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ

5. ท้องลมเลือดออกกี่วัน?

ระยะเวลาเลือดออกเมื่อมีภาวะท้องลมนั้นมักแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่ถ้าหากพบว่ามีการตั้งครรภ์ และในช่วงแรกของการตั้งครรภ์มีเลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการรักษา เพราะอาจเป็นสัญญาณของการแท้งจากภาวะท้องลม

หรือในกรณีที่รุนแรงคือมีการตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์ตามปกติ แต่เกิดการแท้งขึ้น ก็ควรต้องไปพบแพทย์เช่นกัน

6. ท้องลมท้องโตไหม?

ท้องลมมักตรวจพบได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 6-7 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงแรกของการตั้งครรภ์ที่แม้จะเป็นการตั้งครรภ์ตามปกติขนาดท้องของแม่ก็ยังไม่ได้โตหรือนูนออกมา

เนื่องจากทารกยังมีขนาดตัวเล็กมาก ในส่วนของท้องลมที่ตัวอ่อนฝ่อไปแล้วนั้น ขนาดหน้าท้องก็จะไม่โตหรือนูนออกมาเช่นกัน

7. ท้องลมจะหลุดตอนไหน?

โดยทั่วไปแล้วท้องลมมักตรวจพบได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 6-7 ของการตั้งครรภ์ แต่ตัวอ่อนอาจจะหลุดไปแล้ว 1-2 สัปดาห์ก่อนหน้า และเมื่อตรวจพบว่าเหลือแต่ถุงตั้งครรภ์เปล่า ๆ แพทย์ก็จะนัดหรือแนะนำกระบวนการกำจัดถุงตั้งครรภ์ต่อไป

8. ท้องลมขึ้นสองขีดไหม?

เนื่องจากท้องลมเป็นการตั้งครรภ์จริง ๆ ดังนั้น ฮอร์โมนตั้งครรภ์จึงมีระดับที่สูงขึ้น แม้จะไม่ได้มีระดับที่สูงเท่ากับการตั้งครรภ์ตามปกติ แต่ก็มากพอที่จะทำให้ตรวจพบการตั้งครรภ์ ทำให้ในหลาย ๆ กรณีผู้ที่มีภาวะท้องลมได้ทำการตรวจครรภ์แล้วพบผลลัพธ์ขึ้นสองขีด ขณะที่ก็ยังมีอีกหลายกรณีที่มีภาวะท้องลมแต่ตรวจโดยที่ตรวจครรภ์แล้วก็ไม่พบการตั้งครรภ์

 

EFB Form

EFB Form