ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
คลอดลูกบนรถ คลอดลูกในรถ การคลอดเฉียบพลันมีโอกาสเกิดขึ้นกับใครบ้าง?

คลอดลูกบนรถ คลอดลูกในรถ การคลอดเฉียบพลันมีโอกาสเกิดขึ้นกับใครบ้าง?

Enfa สรุปให้

  • การคลอดลูกบนรถ รวมถึงสถานที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่โรงพยาบาล เนื่องจากความก้าวหน้าในการคลอดเร็วผิดปกติ มีชื่อเรียกว่า “ภาวะคลอดเฉียบพลัน” โดยจะใช้ระยะเวลาตั้งแต่เจ็บท้องคลอดจนกระทั่งคลอดทารกออกมาไม่ถึง 3 ชั่วโมง ทำให้คุณแม่หลายๆ คนไปโรงพยาบาลไม่ทันจนเกิดเหตุการณ์คลอดในรถ คลอดในแท็กซี่ หรือคลอดในสถานที่แปลกๆ อย่างที่มักเห็นในข่าว
  • ยังไม่มีการระบุสาเหตุของการคลอดเฉียบพลันไว้ชัดเจน แต่ในหลายๆ เคส มักจะพบว่าคุณแม่มีประวัติคลอดมาก่อนหน้ามากกว่า 1 ครั้ง มีประวัติคลอดเร็วในครรภ์ก่อนหน้า มีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ หรือทารกตัวเล็กกว่าปกติ
  • เมื่อจำเป็นต้องคลอดลูกในรถ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีสติ แล้วโทรหาสายด่วน 1669 ซึ่งสามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมงและมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถช่วยเหลือคุณแม่ให้ผ่านขั้นตอนการคลอดไปได้อย่างราบรื่น

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • การคลอดลูกบนรถมีโอกาสเกิดมากน้อยแค่ไหน
     • ระยะของการคลอดคืออะไร
     • คุณแม่คนไหนมีโอกาสเสี่ยงสูง
     • รับมืออย่างไรหากเกิดเหตุการณ์คลอดลูกบนรถ

หนึ่งในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทีไรก็เป็นข่าวดังได้ทุกครั้ง ก็คือการคลอดลูกแบบฉุกละหุกในสถานที่ที่ไม่ใช่โรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการคลอดลูกบนรถ คลอดลูกบนแท็กซี่ คลอดลูกบนรถทัวร์ ไปจนถึงคลอดในร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านสะดวกซื้อ หรือคุณแม่บางคนแค่จะไปเข้าห้องน้ำ แต่ดันคลอดลูกออกมาเฉยเลยก็มี และสถานการณ์การคลอดที่แสนฉุกละหุกแบบนี้ก็ดูจะเกิดขึ้นได้กับคนทุกชาติทุกภาษาเสียด้วย

แม้ว่าข่าวมักจะถูกนำเสนอแบบชวนให้รู้สึกทึ่งหรือขำขัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว การคลอดแบบนี้อันตรายทั้งต่อคุณแม่และลูกน้อย เพราะนอกจากกระบวนการคลอดจะไม่ได้อยู่ในการดูแลใกล้ชิดของสูตินรีแพทย์แล้ว คุณแม่และลูกน้อยก็มักได้รับผลกระทบจากการคลอด เช่น ทารกหล่นกระแทกพื้นเพราะคุณแม่หรือคนช่วยทำคลอดรับไม่ทัน ทำให้เกิดอาการเลือดออกในสมอง เคสแบบนี้แม้จะดูแปลก แต่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริงค่ะ

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่กำลังนึกหวั่นใจว่าเหตุการณ์แบบนี้มีโอกาสจะเกิดขึ้นกับฉันมากน้อยแค่ไหนนะ? ฉันคือหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงหรือเปล่า? Enfa Smart Club หาคำตอบมาให้แล้วค่ะ

คลอดลูกบนรถ เหตุการณ์คลอดฉุกละหุกแบบนี้มีโอกาสเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน?


ยังไม่มีตัวเลขจากการสำรวจในกลุ่มคุณแม่ชาวไทยโดยเฉพาะ แต่เว็บไซต์ medicinenet.com ให้ข้อมูลไว้ว่า มีการศึกษาที่ระบุว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ชาวอเมริกัน 2-3 คนจาก 100 คนมีโอกาสคลอดลูกเฉียบพลัน กล่าวคือ ประมาณ 2-3% ของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มีโอกาสที่จะประสบกับเหตุการณ์คลอดแบบฉุกละหุกแบบนี้ โดยคุณแม่กลุ่มนี้จะมีระยะของการคลอดไม่เกิน 3 ชั่วโมง เทียบกับคุณแม่ทั่วไปที่จะมีระยะของการคลอดอยู่ที่ประมาณ 6-18 ชั่วโมง

ภาวะที่คุณแม่ใช้เวลาคลอดเร็วกกว่าปกตินี้มีชื่อเรียกว่า “ภาวะคลอดเฉียบพลัน” หรือ Precipitous Labor ซึ่งคุณแม่ที่มีอาการดังกล่าวจะมีความก้าวหน้าในการคลอดเร็วมาก โดยคุณแม่จะรู้สึกถึงการหดเกร็งอย่างรุนแรง และการหดเกร็งจะกินเวลานานและเจ็บปวดมาก เนื่องจากมดลูกหดรัดตัวถี่มากจนแทบไม่มีเวลาหยุดพัก ในคุณแม่บางรายอาจรู้สึกอย่างเบ่งขับถ่าย โดยระยะเบ่งคลอดอาจใช้เวลาเพียง 5-10 นาที

ส่วนการคลอดลูกบนรถ หรือสถานที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่โรงพยาบาลนั้นมักเรียกว่า Unplanned Out-of-Hospital Birth ซึ่งสามารถแปลตรงตัวได้ว่าเป็นการคลอดนอกโรงพยาบาลโดยที่ไม่ได้มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า ซึ่งในหลายๆ ครั้งก็จะเกิดการจากที่คุณแม่มีภาวะคลอดเฉียบพลันจนทำให้เกิดการคลอดระหว่างทางก่อนจะถึงโรงพยาบาลนั่นเองค่ะ 

ระยะของการคลอด (Stages of Labor) คืออะไร?


เมื่อคุณแม่เริ่มเข้าสู่กระบวนการคลอด แพทย์จะมีการประเมินความก้าวหน้าของการคลอดตามระยะการคลอด ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ

1. ระยะปากมดลูกเปิด ระยะนี้เริ่มเมื่อคุณแม่มีอาการเจ็บครรภ์จริงจนปากมดลูกเปิดครบ 10 เซนติเมตร โดยระยะนี้จะใช้เวลาต่างกันระหว่างคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรกและคุณแม่ที่เคยคลอดบุตรมาก่อน โดยทั่วไปมักจะใช้เวลาประมาณ 10-14 ชั่วโมงสำหรับครรภ์แรก และประมาณ 7-9 ชั่วโมงสำหรับครรภ์หลัง

2. ระยะเบ่งคลอด ระยะนี้เริ่มตั้งแต่ปากมดลูกเปิดครบ 10 เซนติเมตรจนกระทั่งทารกคลอดออกมา โดยคุณแม่ครรภ์แรกมักใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ส่วนคุณแม่ที่เคยคลอดบุตรแล้วจะใช้เวลาประมาณ 30 นาทีหรือเร็วกว่า

3. ระยะรกคลอด เป็นระยะของการคลอดรกที่มักจะใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที โดยคุณแม่จะรู้สึกว่ามดลูกบีบตัวอีกครั้งแต่ไม่รุนแรงเท่าระยะเบ่งคลอด จากนั้นรกที่หลุดลอกแล้วจะดันผ่านปากมดลูกและช่องคลอดออกมา 

4. ระยะ 2 ชั่วโมงแรกหลังคลอด เป็นระยะที่ร่างกายคุณแม่ปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ และเป็นระยะเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนหลังคลอด เช่น อาการตกเลือด

คุณแม่ที่มีภาวะคลอดเฉียบพลันจะผ่าน 3 ระยะแรกของการคลอดภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมง บางรายอจะมีระยะปากมดลูกเปิดไปจนถึงเบ่งคลอดกระชั้นมากจนไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้ทัน ทำให้เกิดเหตุการณ์คลอดลูกบนรถอย่างที่มักปรากฎในข่าวนั่นเอง 
 

คลอดลูกบนรถอาจเกิดกับใคร: คุณแม่คนไหนมีโอกาสเกิดภาวะคลอดเฉียบพลันสูง?


แม้ภาวะคลอดเฉียบพลันจะพบได้น้อย แต่หากคุณแม่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้ เมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์ไตรมาสสุดท้าย คุณแม่ควรเฝ้าระวังอาการเจ็บครรภ์คลอดอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าคุณแม่จะถูกพาตัวไปยังโรงพยาบาลได้ทันท่วงที และลดโอกาสที่จะเกิดการคลอดบนรถหรือสถานที่อื่นๆ ที่ไม่เตรียมไว้สำหรับการคลอดค่ะ

กรณีที่คุณแม่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก

  • คุณแม่อายุน้อย
  • คุณแม่มีความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด
  • คุณแม่มีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์

กรณีที่คุณแม่เคยผ่านการคลอดบุตรมาแล้ว

  • คุณแม่มีประสบการณ์คลอดลูกเฉียบพลันมาก่อน
  • คุณแม่ผ่านการคลอดบุตรมาแล้ว 2 ครั้ง
  • ทารกในครรภ์ตัวเล็กกว่าปกติ
  • แพทย์เคยวินิจฉัยว่าคุณแม่มีความต้านทานที่คอมดลูก พื้นเชิงกราน ช่องคลอด และฝีเย็บน้อย หรือมีอุ้งเชิงกรานกว้าง 
  • มดลูกมีอาการหดตัวอย่างรุนแรง ซึ่งมีทั้งกรณีที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และกรณีที่กล้ามเนื้อมดลูกของคุณแม่ไวต่อยาเร่งคลอด
  • คุณแม่มีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ 

หากเหตุการณ์คลอดลูกในรถเกิดขึ้นกับคุณแม่ จะมีวิธีรับมือยังไงดี


เมื่อคุณแม่เริ่มมีอาการท้องแข็งถี่

  • คุณแม่ควรสังเกตอาการท้องแข็งให้ดี หากมีอาการท้องแข็งถี่ๆ ต่อเนื่องทุก 5-10 นาที นั่นคือสัญญาณพร้อมคลอดแล้วค่ะ โดยอาการปวดในลักษณะนี้จะเกิดต่อเนื่องประมาณ 30 นาทีก่อนที่ปากมดลูกจะเปิด เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ ควรรีบบอกสามี ญาติ หรือคนใกล้ตัวที่สามารถช่วยเหลือได้ให้รีบพาไปโรงพยาบาลทันที
  • อย่าลืมว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการไปคลอดในสถานที่ที่มีการจัดเตรียมไว้สำหรับการคลอด มีแพทย์และพยาบาลสามารถเข้าช่วยเหลือคุณแม่ได้ทันที ซึ่งก็คือโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลที่คุณแม่ฝากครรภ์ไว้

หากมีแนวโน้มที่จะคลอดก่อนถึงโรงพยาบาล 

  • สิ่งแรกที่ต้องทำคือตั้งสติค่ะ หากสามีหรือญาติกำลังขับรถอยู่ ควรให้จอดรถข้างทางทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเนื่องจากความตื่นเต้นของญาติ 
  • จากนั้นรีบให้สามีหรือญาติโทรแจ้งสายด่วน 1669 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำคลอดคอยช่วยเหลือคุณแม่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

หากคุณแม่รู้สึกว่าศีรษะของทารกดันออกมาแล้ว และต้องคลอดลูกบนรถ

  • ไม่ต้องพยายามหยุดการคลอด ควรติดต่อกับเจ้าหน้าที่ 1669 ทางโทรศัพท์ตลอดเวลา คุณแม่และญาติต้องฟังและทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ในทุกๆ ขั้นตอน 
  • ปรับท่านั่งเป็นท่าที่คุณแม่รู้สึกว่าสะดวกต่อการคลอดมากที่สุด และมีระยะพอให้คุณแม่หรือญาติสามารถรับทารกที่คลอดออกมาได้พอดี สิ่งสำคัญคือต้องไม่ปล่อยให้ทารกกระแทกกับพื้นผิวแข็งๆ ควรเตรียมผ้าห่มหรือเสื้อนุ่มๆ ไว้รองรับเด็ก
  • ศีรษะของลูกจะออกมาก่อน และอาจจะต้องหยุดครู่หนึ่งเพื่อรอให้มดลูกบีบตัวอีกครั้งก่อนที่ไหล่และตัวออกทารกจะคลอดออกมา คุณแม่หรือญาติอาจช่วยพยุงศีรษะของทารกไว้ ปล่อยให้ทารกคลอดออกมาเองตามกลไกธรรมชาติ อย่าดึงคอ ลำตัว หรือสายสะดือของลูกเพื่อช่วยคลอด เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายแก่ทารกและคุณแม่ได้
  • เมื่อทารกผ่านพ้นช่องคลอดออกมาทั้งตัวแล้ว วางทารกในอ้อมอกของคุณแม่อย่างนุ่มนวลเพื่อให้ทารกได้รับความอบอุ่นจากร่างกายของคุณแม่ ใช้ผ้าห่มหรือเสื้อนุ่มๆ คลุมร่างกายของทารกและคุณแม่ไว้  
  • หากลูกไม่ร้องไห้ออกมาทันทีหลังคลอด อย่าวิตกกังวลจนเกินไปค่ะ เพราะลูกยังคงได้รับออกซิเจนผ่านสายสะดืออีกราวๆ 5 นาที หากรถพยาบาลฉุกเฉินยังมาไม่ถึง คุณแม่ควรช่วยประคองคอและศีรษะของลูกน้อยไว้ให้ดี ให้ศีรษะของลูกหงายไปด้านหลังเล็กน้อยเพื่อทำให้ทางหายใจของลูกเปิดโล่งและหายใจได้ง่ายขึ้น หากพบว่ามีมูกหรือน้ำคร่ำบริเวณปากและจมูกของลูก ค่อยๆ เช็ดเบาๆ ด้วยผ้าสะอาดหรือนิ้วของคุณแม่ การลูบหลังอย่างอ่อนโยนและตบก้นลูกเบาๆ จะช่วยกระตุ้นทารกให้เริ่มหายใจด้วยตัวเองครั้งแรก 
  • ใช้ผ้าที่สะอาดและนุ่มเช็ดตัวลูกจนแห้ง พยายามให้ลูกได้รับความอบอุ่นมากที่สุดจนกว่ารถพยาบาลฉุกเฉินจะมาถึง แต่อย่าให้ผ้าคลุมหน้าลูกจนหายใจไม่สะดวก  

ทั้งนี้ ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญคือคุณแม่ต้องมีสติ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคุณแม่และลูกน้อยจะถูกส่งถึงมือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างปลอดภัยและรวดเร็วที่สุด

หากชอบเนื้อหาของ Enfa Smart Club อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อนๆ นะคะ

อ้างอิง

คลอดลูกบนรถ คลอดลูกในรถ การคลอดเฉียบพลันมีโอกาสเกิดขึ้นกับใครบ้าง?
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner