แม่ทราบกันหรือไม่ว่า กว่า 70% ของเด็กมีอาการไม่สบายท้อง โดยอาการไม่สบายท้องต่าง ๆ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำกับเด็กทุก ๆ คน เพราะระบบบ่อยอาหารของเด็กนั้น ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์เหมือนกับของผู้ใหญ่ ทำให้ย่อยโปรตีน และแลคโตสได้ไม่หมด เกิดเป็นแก๊สในระบบทางเดินอาหาร และก่อให้เกิดอาการไม่สบายท้อง ไม่ว่าจะเป็นอาการท้องผูก ท้องอืด จุกเสียด อาเจียน แหวะนม ร้องกวน โคลิก จนไปถึงปัญหาการขับถ่าย
คุณแม่ทุกคนทราบกันดีว่า นมแม่เป็นสารอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย และยังย่อยได้ง่าย จึงเหมาะสำหรับระบบย่อยอาหารของเด็กเล็ก ที่ยังไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ แต่ในบางครั้ง คุณแม่อาจจะมีความจำเป็นไม่สามารถให้ลูกกินนมแม่ได้ และต้องให้นมผงสำหรับเด็กทดแทนนมแม่ การเลือกนมที่ใช่ และเป็นนมย่อยง่ายจึงเข้ามาเป็นตัวเลือกสำคัญ เพื่อช่วยลดอาการไม่สบายท้องต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกน้อยได้
สำหรับเด็กเล็กแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการถ่ายอุจจาระในช่วงแรก โดยหลังคลอด ลูกน้อยจะถ่ายอุจจาระที่เรียกว่า ขี้เทา เป็นระยะเวลา 2 – 3 วัน หลังจากนั้น อุจจาระก็จะเปลี่ยนสี เช่น สีเหลือง สีเขียว สีส้ม เป็นต้น โดยลูกน้อยจะมีความถี่ในการถ่าย ตามช่วงอายุ ดังนี้
ประเภทนม |
ช่วง 1 – 3 วันแรก หลังคลอด |
6 สัปดาห์แรก |
หลังเริ่มกินอาหารเสริมนอกเหนือจากนมแม่ |
เด็กที่กินนมแม่ |
ในช่วง 24 – 48 ชั่วโมงแรก จะอุจจาระออกมาเป็น สีเทา หรือขี้เทา และอุจจาระจะเปลี่ยนสีเป็น สีเขียว หรือเหลือง ในวันที่ 4 เป็นต้นไป |
อุจจาระนิ่ม หรือเหลว มีสีเหลือง อาจจะถ่ายอย่างน้อย 3 ครั้งต่อวัน ในเด็กบางคนอาจจะถ่าย 4 – 12 ครั้งต่อวัน หลังจาก 6 สัปดาห์ เด็กทารกจะถ่ายทุก ๆ 2 – 3 วัน
|
จะเริ่มถ่ายมากขึ้นจากเดิม และอุจจาระจะเปลี่ยนเป็นลักษณะที่แข็งขึ้น |
เด็กที่กินนมผง |
อุจจาระจะมีสีน้ำตาล หรือสีเขียว ในช่วงแรกอาจจะถ่ายอย่างน้อย 1 – 4 ครั้งต่อวัน หลังจาก 1 เดือนแรก เด็กทารกจะเปลี่ยนการถ่ายเป็นวันเว้นวัน
|
จะถ่ายประมาณ 1 – 2 ครั้ง ต่อวัน |
หากคุณแม่พบว่าลูกท้องผูก ลูกไม่ถ่ายหลายวัน คุณแม่สามารถบรรเทาอาการท้องผูกของลูกน้อยได้ ดังนี้
1. การนวดท้อง การนวดท้องสามารถช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้ ซึ่งเหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป โดยการนวดท้องจะช่วยกระตุ้นให้ลำไส้เกิดการเคลื่อนที่ คุณแม่สามารถนวดท้องให้ลูกน้อยได้ง่าย ๆ ด้วยการนวดเบา ๆ บริเวณหน้าท้อง หมุนเป็นวงกลมทวนเข็มนาฬิกา นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวร่างกาย อาทิ การจับนอนราบกับพื้น ยกขาทั้งสองข้างขึ้น ทำท่าปั่นจักรยาน ก็ช่วยได้เช่นกัน
2. เปลี่ยนนม ในกรณีที่คุณแม่มีความจำเป็นต้องให้นมผง เพื่อทดแทนนมแม่ คุณแม่ควรเลือกนมที่มี PHP (Partially Hydrolyzed Protein) หรือโปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วน ทำให้มีโมเลกุลขนาดเล็ก ย่อยได้ง่าย และดูดซึมได้ดี จึงช่วยลดอาการไม่สบายท้องได้เป็นอย่างดีภายใน 24 ชั่วโมง ทำให้อุจจาระของลูกน้อยมีลักษณะอ่อนนุ่ม ไม่แข็ง ขับถ่ายได้ง่าย
3. ปรับเปลี่ยนอาหาร สำหรับเด็กเล็กที่เริ่มกินอาหารเสริมเพิ่มเติม นอกเหนือจากนมแม่ รวมทั้งเด็กโตที่สามารถรับประทานอาหารแข็งได้เป็นปกติเหมือนกับผู้ใหญ่ ลองปรับเปลี่ยนให้ลูกกินอาหารที่มีไฟเบอร์ หรือเส้นใยประกอบมากขึ้น อย่างผัก และผลไม้ต่าง ๆ เช่น แอปเปิล ลูกแพร์ ลูกพรุน รวมทั้งหมั่นให้ลูกน้อยได้ดื่มน้ำให้เหมาะสมกับที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน
นอกจากนี้ การออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวร่างกาย ยังสามารถช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากบรรเทาอาการเบื้องต้นแล้ว ไม่ได้ผล คุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวินิจฉัยสาเหตุ และทำการรักษาต่อไป
หากลูกน้อยมีอาการอาเจียนติดต่อกันเป็นเวลานาน 1 – 2 วัน อาเจียนบ่อยจนผิดปกติ หรืออาเจียนและมีไข้ร่วมด้วย อาจจะเป็นสัญญาณว่าลูกมีอาการติดเชื้อ หรืออาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ไม่ควรรักษาด้วยตัวเอง
โดยปกติแล้ว เด็กเล็กในวัยที่ยังไม่สามารถสื่อสารออกมาเป็นภาษาได้ จะใช้การร้องไห้เป็นการสื่อสารกับคนรอบข้าง เพื่อบอกสิ่งที่ต้องการ หรือสิ่งที่ทำให้ไม่สบายตัว โดยสาเหตุที่ลูกร้องไห้ มีด้วยกันหลายสาเหตุ เช่น
• หิว
• อึดอัด ไม่สบายตัว ต้องการเปลี่ยนผ้าอ้อม
• เบื่อหน่าย เหนื่อยหล้า ต้องการให้มีคนมาปลอบ กอด อุ้ม หรือเล่นด้วย
• มีสิ่งเร้ารอบตัวมากเกินไป เช่น แสงสว่าง ลม อากาศ
• มีอาการไม่สบายท้อง เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ปวดท้อง
• หากเกิดขึ้นกับเด็กเล็กในวัยระหว่างแรกเกิด – 6 เดือน อาจจะเป็นโคลิก
มหาหิงค์คือยาชนิดหนึ่ง ซึ่งมีส่วนผสมของชันน้ำมัน หรือยางจากลำต้น และรากของพืชในตระกูล Ferula โดยมีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ คุณแม่สามารถใช้มหาหิงค์บรรเทาอาการข้างต้นได้ ด้วยการชุบสำลี ทาที่หน้าท้อง รอบสะดือ ต้นขา และฝ่าเท้าของลูกน้อย
อย่างไรก็ตาม การใช้มหาหิงคุ์เป็นการช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง เป็นการบรรเทาอาการชั่วคราว คุณแม่ควรบรรเทาอาการเหล่านี้ ด้วยการหาสาเหตุที่แน่ชัด เช่น
• หากลูกท้องอืด ท้องเฟ้อ จากการดื่มนมเร็ว หรือช้าไป ทำให้กลืนอากาศเข้าไปด้วย ควรปรับเปลี่ยนท่าให้นม หรือจุกขวดนมที่เหมาะสม ในกรณีที่คุณแม่มีความจำเป็นต้องให้นมผง เพื่อทดแทนนมแม่ ระหว่างการผสมนมควรปล่อยให้ฟองอากาศที่เกิดขึ้นระหว่างการชงแตกตัวเสียก่อนที่จะให้ลูกน้อยดื่ม
• หมั่นจับลูกเรอทุกครั้ง หลังการกินนมเสร็จ เพื่อเป็นการระบายแก๊สที่สะสมออกจากกระเพาะ
• หลีกเลี่ยงอาการที่ก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะ สำหรับแม่ที่ให้นมลูก หรือเด็กเล็กที่สามารถเริ่มกินอาหารแข็งได้แล้ว การหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส เช่น ถั่วชนิดต่าง ๆ ผักบางชนิด ก็จะสามารถช่วยป้องกันอาการท้องอืด ท้องเฟ้อได้ ในกรณีที่คุณแม่มีความจำเป็นที่ทำให้ไม่สามารถให้นมแม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ลูกได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง
• หากอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ของลูกน้อยไม่ดีขึ้น ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ และทำการรักษาต่อไป