Leaving page banner
 

ท้อง 1 เดือน

ท้อง 1 เดือนใหญ่แค่ไหน อาการคนท้อง 1 เดือนเป็นอย่างไร

Enfa สรุปให้

  • อาการคนท้อง 1 เดือนแรก มักจะไม่มีอาการอะไรรุนแรงนัก เพราะอาการต่าง ๆ ของการตั้งครรภ์จะเริ่มรุนแรงขึ้นเมื่ออายุครรภ์ได้ 2 เดือนขึ้นไป ในช่วงเดือนแรกจึงมีเพียงสัญญาณของอาการคนท้องบางอย่างที่ทำให้คุณแม่หลาย ๆ คนเริ่มสงสัยว่าตัวเองอาจจะกำลังตั้งครรภ์ เช่น เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย คัดตึงเต้านม ปวดหน่วง คล้ายเป็นตะคริวที่ท้อง อาการแพ้ท้องอ่อน ๆ

  • อายุครรภ์ 1 เดือน ทารกจะมีขนาดตัวเล็กเพียงเมล็ดข้าวเท่านั้น แต่ตัวอ่อนที่กำลังจะเติบโตไปเป็นทารกนั้นก็เริ่มมีพัฒนาการเกิดขึ้นแล้วในช่วงที่อายุครรภ์ 1 เดือน ได้แก่ เริ่มมีการสร้างรก สายสะดือ สร้างอวัยวะ เซลล์เม็ดเลือด และเริ่มมีการไหลเวียนของเลือด เริ่มสร้างใบหน้า ดวงตา ปาก กรามล่าง และลำคอเริ่มมีการพัฒนา

  • ส่วนขนาดท้องของคนท้อง 1 เดือนนั้น แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิมที่เป็นอยู่ เพราะถึงแม้มดลูกจะเริ่มมีการขยายตัวเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของตัวอ่อนแล้ว แต่มดลูกก็ยังมีขนาดที่ค่อนข้างเล็กอยู่ดี จึงทำให้พุงคนท้อง 1 เดือน ยังไม่มีการขยายใหญ่ขึ้นในช่วงเดือนแรก

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 1 เดือน แปลว่าลูกในท้องอายุ 1 เดือนหรือเปล่า
     • อาการคนท้อง 1 เดือน เป็นอย่างไร
     • อัลตราซาวนด์ท้อง 1 เดือน
     • พัฒนาการทารกในครรภ์ 1 เดือนแรก
     • ท้อง 1 เดือนควรกินอะไรดี
     • เช็กลิสต์สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 1 เดือนแรก
     • ไขข้อข้องใจเรื่องการตั้งครรภ์ 1 เดือนกับ Enfa Smart Club

หลังจากตรวจพบว่ามีการตั้งครรภ์ และมีอายุครรภ์ได้ 1 เดือนแล้ว คุณแม่หลาย ๆ คนก็อาจจะรู้สึกตื่นเต้นและปลาบปลื้มใจที่กำลังมีสิ่งมีชีวิตตัวน้อย ๆ กำลังเติบโตและเตรียมออกมาดูโลกในอีก 7-8 เดือนข้างหน้า

อายุครรภ์ 1 เดือน จึงเป็นเสมือนจุดสตาร์ทสำคัญที่คุณแม่จะต้องเริ่มปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะคลอดลูก บทความนี้จาก Enfa จะพาคุณแม่มารู้จักพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงในช่วงที่ตั้งท้อง 1 เดือนกันค่ะ 

ท้อง 1 เดือน แปลว่าลูกในท้องอายุ 1 เดือนหรือเปล่า? มาทำความเข้าใจการนับอายุครรภ์กันก่อน


เวลาที่เราพูดถึงอายุครรภ์ 1 เดือน หรือตั้งครรภ์ 1 เดือน เรากำลังหมายถึงอายุครรภ์ของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ได้ 1 เดือนแล้ว โดยเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่มีประจำเดือนครั้งล่าสุด 

แต่อายุครรภ์ 1 เดือน ไม่ได้หมายความว่าลูกในท้องมีอายุได้ 1 เดือน เพราะหากนับจากครั้งสุดท้ายที่มีประจำเดือน คุณแม่ต้องรออีกราว ๆ 28 วันที่จะมีประจำเดือนในครั้งต่อไป

ซึ่งก่อนจะมีประจำเดือนนั้น ในช่วงกลางเดือนก็จะมีการตกไข่เกิดขึ้น และหากคุณแม่มีเพศสัมพันธ์ในวันไข่ตก และไข่กับตัวอ่อนทำการปฏิสนธิ หลังจากนั้น 12-14 วัน ก็จะพบว่าประจำเดือนขาด เพราะมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น  

ก็จะเห็นได้ว่าอายุของตัวอ่อนในครรภ์นั้นเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการปฏิสนธิ ซึ่งกระบวนการปฏิสนธิและการฝังตัวอ่อนก็จะเกิดขึ้นและเสร็จสมบูรณ์ในช่วง 12-14 วัน ก็เท่ากับว่าตัวอ่อนในครรภ์เพิ่งมีอายุได้ราว ๆ 2 สัปดาห์ หรือ 14 วันเท่านั้นเอง 

แต่ในกรณีที่หลังวันตกไข่ไป 14 วันแล้วประจำเดือนมาปกติ ก็แปลว่าไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น 

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

อาการคนท้อง 1 เดือน เป็นยังไงบ้าง


อาการคนท้อง 1 เดือนแรก มักจะไม่มีอาการอะไรรุนแรงนัก อาการจะเริ่มรุนแรงขึ้นเมื่ออายุครรภ์ได้ 2 เดือนขึ้นไป

อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนแรกของการตั้งครรภ์ก็ยังมีสัญญาณของอาการคนท้องบางอย่างที่ทำให้คุณแม่หลาย ๆ คนเริ่มสงสัยว่าตัวเองอาจจะกำลังตั้งครรภ์ ดังนี้ 

  • มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เพราะร่างกายกำลังเริ่มกระบวนการปรับตัวและสร้างสภาพแวดล้อมภายในให้พร้อมต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ 

  • เจ็บหน้าอก คัดตึงเต้านม เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ ฮอร์โมนในร่างกายก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงและผกผัน โดยเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจนที่จะค่อย ๆ เพิ่มระดับสูงมากขึ้น ส่งผลให้คุณแม่รู้สึกเจ็บหรือคัดตึงเต้านม 

  • ปวดหน่วง คล้ายเป็นตะคริวที่ท้อง อาการอาจจะคล้าย ๆ กับอาการปวดตอนเป็นประจำเดือน นั่นเป็นเพราะมดลูกก็เริ่มกระบวนการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารก จึงอาจทำให้คุณแม่รู้สึกปวดหรือเป็นตะคริวที่ท้อง 

  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น เมื่อฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง ก็จะส่งผลต่อระบบปัสสาวะด้วย คุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะเริ่มมีอาการปัสสาวะบ่อยตั้งแต่ไตรมาสแรกไปจนกระทั่งไตรมาสสุดท้าย 

  • อาการแพ้ท้อง ส่วนมากแล้วอาการแพ้ท้องมักจะพบเมื่อตั้งครรภ์ได้ 6 สัปดาห์เป็นต้นไป แต่ก็มีบางกรณีที่คุณแม่บางคนอาจจะเริ่มรู้สึกคลื่นไส้ วิงเวียน ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 4 เป็นต้นไป 

ท้อง 1 เดือนตรวจเจอไหม


อายุครรภ์ 1 เดือน สามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้ แต่โดยทั่วไปแล้วระยะเวลาที่เร็วที่สุดที่จะตรวจพบการตั้งครรภ์ได้ก็คือราว ๆ 12-14 วัน หลังจากที่มีเพศสัมพันธ์ในวันที่มีการตกไข่ 

ท้อง 1 เดือนใหญ่แค่ไหน: รูปอายุครรภ์ 1 เดือนและลักษณะหน้าท้องของคนท้อง 1 เดือน


ท้อง 1 เดือน

หลายคนที่ยังไม่เคยท้อง หรือกำลังเตรียมพร้อมที่จะตั้งครรภ์ หรือเป็นคุณแม่มือใหม่ อาจจะสงสัยว่า แล้วท้อง 1 เดือนท้องใหญ่แค่ไหนกันนะ?  

ซึ่งนั่นอาจจะเกิดจากมายาคติว่าเวลาท้องแล้วท้องจะใหญ่ขึ้นทันทีตั้งแต่เดือนแรก แต่จริง ๆ แล้ว ขนาดท้องคนท้อง 1 เดือนนั้น แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิมที่เป็นอยู่ เพราะถึงแม้มดลูกจะเริ่มมีการขยายตัวเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของตัวอ่อนแล้ว แต่มดลูกก็ยังมีขนาดที่ค่อนข้างเล็กอยู่ดี จึงทำให้พุงคนท้อง 1 เดือน ยังไม่มีการขยายใหญ่ขึ้นในช่วงเดือนแรก 

ท้อง 1 เดือน ลูกอยู่ตรงไหนของท้อง


หลังการปฏิสนธิ ตัวอ่อนหรือทารกจะเคลื่อนตัวไปที่ท่อนำไข่ และผ่านไปถึงมดลูก ก่อนจะทำการฝังตัวอ่อนลงในโพรงมดลูก และเริ่มกระบวนการเจริญเติบโตต่อไป 

ลูกน้อยในครรภ์มีขนาดใหญ่แค่ไหน


ช่วงท้ายของอายุครรภ์ 1 เดือน ทารกจะมีขนาดเพียง 6-7 มิลลิเมตรเท่านั้น หรือมีขนาดเล็กเท่ากับเมล็ดข้าว หรือเม็ดทราย 

การอัลตราซาวนด์ท้อง 1 เดือน


การอัลตราซาวนด์ในช่วงอายุครรภ์ 1 เดือนนั้นมักไม่เป็นที่นิยมนัก เพราะจริง ๆ แล้วในเดือนแรกนั้นทารกมีขนาดเท่ากับเมล็ดข้าว หรือเม็ดทรายเท่านั้นเอง แม้ว่าจะไปอัลตราซาวนด์ก็อาจจะยังมองไม่เห็นรูปร่างของทารกอยู่ดี 

โดยในสัปดาห์แรก ๆ นั้น ทารกจะมีขนาดเล็กมาก แต่พอเริ่มเข้าสัปดาห์ที่ 3 ทารกก็จะเริ่มมีขนาดเปลี่ยนแปลงขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังถือว่ามีขนาดเล็กมากอยู่ดี

ท้อง 1 เดือน

อายุครรภ์ 3 สัปดาห์ มีขนาดเท่ากับเมล็ดทราย

ท้อง 1 เดือน

อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ มีขนาดเท่ากับเมล็ดดอกป๊อปปี้

พัฒนาการทารกในครรภ์ 1 เดือน แรกที่คุณแม่ควรรู้


ท้อง 1 เดือน

แม้จะเพิ่งเริ่มทำการฝังตัวอ่อนลงในมดลูก และมีขนาดตัวเล็กเพียงเมล็ดข้าวเท่านั้น แต่ตัวอ่อนที่กำลังจะเติบโตไปเป็นทารกนั้นก็เริ่มมีพัฒนาการเกิดขึ้นแล้วในช่วงที่อายุครรภ์ 1 เดือน ดังนี้ 

อายุครรภ์ 1 เดือน สมองของลูกในครรภ์มีพัฒนาการอย่างไร

ตั้งแต่มีการปฏิสนธิ สมองของทารกก็เริ่มพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ลูกน้อยอยู่ในครรภ์จนกระทั่งหลังคลอด พัฒนาการหรืออายุครรภ์จะถูกวัดเป็นรายสัปดาห์ หรือรายเดือน ซึ่งจะถูกแบ่งเป็นไตรมาส ในหนึ่งเดือนสมองของทารกมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แล้วเดือนต่อไปล่ะเจ้าตัวเล็กจะมีพัฒนาการอะไรเพิ่มเติมบ้าง มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราเพื่อหาคำตอบสิคะ 

อายุครรภ์ คือคำที่ใช้ระบุระยะเวลาการตั้งครรภ์ ซึ่งมักนับเป็นสัปดาห์ โดยจะนับตั้งแต่วันแรกของการมีรอบเดือนครั้งสุดท้ายจนถึงเวลาปัจจุบัน ระยะเวลาการตั้งครรภ์มักอยู่ระหว่าง 38 ถึง 42 สัปดาห์ ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ คือช่วงการพัฒนาของหลอดประสาท (neural tube) ซึ่งเป็นโครงสร้างรูปร่างคล้ายท่อที่จะเติบโตกลายเป็นสมอง ไขสันหลัง ระบบประสาท และกระดูกสันหลังของทารกต่อไป 

ช่วงอายุครรภ์หกสัปดาห์แรก สมองของทารกจะเริ่มแบ่งออกเป็นซีกซ้ายและซีกขวาอย่างชัดเจน แต่ไม่ได้มีเพียงสมองเท่านั้นที่กำลังพัฒนาขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง เมื่อลูกในครรภ์อายุครบ 2 เดือน หัวใจและระบบไหลเวียนเลือดจะเริ่มพัฒนาขึ้นเช่นกัน นั่นหมายความว่าหัวใจของทารกจะเริ่มเต้นอยู่ในตัวคุณ และเต้นเร็วกว่าหัวใจของคุณแม่สองเท่าเลยทีเดียว 

คุณแม่จะช่วยสร้างเสริมพัฒนาการของลูกในครรภ์ 1 เดือนแรกได้อย่างไรบ้าง

คุณแม่สามารถช่วยสร้างพัฒนาการของสมองลูกในครรภ์ได้โดยการรับประทานอาหารที่มีโภชนาการที่สมดุล มีสารอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน เช่น DHA (Docosahexanoic acid)   เป็นกรดไขมันสำคัญที่พบมากในสมองและจอประสาทตาของทารก ไขมันดีเหล่านี้พบได้มากในปลา เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และปลาอินทรี

ในช่วงอายุครรภ์เดือนแรก คุณแม่ควรทานปลาที่มีไขมัน เช่น ปลาแซลมอน ให้ได้อย่างน้อย 2 หน่วยบริโภคในแต่ละสัปดาห์แพทย์ส่วนใหญ่แนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์รับประทานวิตามินรวมที่มีกรดโฟลิกอย่างน้อย 400 ไมโครกรัม (0.4 มิลลิกรัม)* ในแต่ละวันตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ และทานต่อเนื่องไปตลอดช่วงตั้งครรภ์ เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันการเกิดความผิดปกติแต่กำเนิดในทารกแล้ว ยังช่วยบำรุงระบบประสาทของทารก และช่วยให้เซลล์สามารถแบ่งตัวได้อย่างเป็นปกติอีกด้วย 

ท้อง 1 เดือนควรกินอะไรดี: เช็กเมนูอาหารคนท้อง 1 เดือน


คนท้องควรเริ่มกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายตั้งแต่เดือนแรกที่รู้ว่ากำลังตั้งครรภ์ เพื่อเป็นการปูทางสุขภาพที่ดีของแม่และทารกในครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ  

โดยในช่วงไตรมาสแรก (เดือนที่ 1-3) คุณแม่ควรจะเน้นกินเมนูอาหารที่ให้สารอาหารจำพวก  

  • DHA เพื่อช่วยในการสร้างจอประสาทตา และสร้างเซลล์สมองของทารก พบได้มากใน ปลาต่าง ๆ เช่น ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า เป็นต้น 

  • โฟเลต ไม่ควรขาดโฟเลตในช่วงไตรมาสแรก เพราะโฟเลตจะช่วยป้องกันความพิการแต่กำเนิด พบได้มากใน ผักต่าง ๆ ผลไม้ต่าง ๆ ถั่วและธัญพืชต่าง ๆ 

  • ธาตุเหล็ก เพื่อช่วยในการสร้างเซลล์เม็ดเลือด ที่จะช่วยในการส่งต่ออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงสมองของทารก พบได้มากในเนื้อสัตว์ และเครื่องในต่าง ๆ เช่น ตับ เป็นต้น 

  • ไอโอดีน เพื่อช่วยสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน รวมถึงสร้างเซลล์ร่างกายและสมอง พบได้มากในอาหารทะเลต่าง ๆ เช่น ปลาทะเล เป็นต้น 

โดยคุณแม่อาจจะนำวัตถุดิบเหล่านั้นมาประกอบเป็นเมนูอร่อยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพได้อีหลายเมนู เช่น 

  • มะเขือม่วงอบชีส และถั่วลูกไก่ 

  • กุยช่ายผัดตับ 

  • เต้าหู้หน้ากุ้ง 

  • ปลาแซลมอนย่างกับผักโขมผัด และเลมอน  

  • ไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์  

นมสำหรับแม่ตั้งครรภ์ อีกหนึ่งอาหารคนท้องที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพการตั้งครรภ์ที่แข็งแรงได้  

บางครั้งคุณแม่หลาย ๆ คนอาจจะมีปัญหาเรื่องของการแพ้นมวัว หรือแพ้นมจากพืชชนิดอื่น ๆ นมสำหรับแม่ตั้งครรภ์ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีที่จะช่วยเสริมสุขภาพสำหรับแม่ตั้งครรภ์ ที่สำคัญคือควรเลือกนมสำหรับคนท้องที่มี DHA และโฟเลตสูง ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญสำหรับแม่ตั้งครรภ์   

  • DHA ซึ่งเป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ จำเป็นต้องได้รับจากการกินอาหาร โดย DHA มีสำคัญต่อกระบวนการสร้างเซลล์ต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ เช่น สมอง ผิวหนัง ดวงตา ทั้งยังช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์บางอย่าง เช่น การคลอดก่อนกำหนด หรือโรคซึมเศร้าหลังคลอด  

  • โฟเลต ซึ่งเป็นกลุ่มวิตามินบีที่สำคัญมาก หากคุณแม่ได้รับโฟเลตไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้ลูกน้อยเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทได้ เพราะโฟเลตทำหน้าที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง คุณแม่ตั้งครรภ์ในเดือนแรกจำเป็นต้องได้รับโฟเลตเพื่อช่วยในการสร้างหลอดประสาท และสมองที่สมบูรณ์ของทารก 

Enfamama TAP No. 1

เช็กลิสต์สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 1 เดือนแรก


เมื่อรู้ตัวว่าขณะนี้กำลังตั้งครรภ์ และมีอายุครรภ์ได้ 1 เดือนแล้ว คุณแม่ต้องเริ่มที่จะทำการมองภาพรวมตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันคลอด และเริ่มทำการเช็กลิสต์สิ่งต่าง ๆ ที่ควรเริ่มทำ ดังนี้ 

  • ไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจยืนยันการตั้งครรภ์อีกครั้ง และทำการฝากครรภ์ทันที 

  • ปรับเวลาการนอน พยายามพักผ่อนให้มากขึ้น งดนอนดึก เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ เนื่องจากช่วงตั้งครรภ์คุณแม่จะอ่อนเพลียมากเป็นพิเศษ 

  • ปรับอาหารการกิน เมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ คุณแม่ก็ต้องเริ่มปรับเรื่องอาหารการกิน กินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย เพื่อให้ร่างกายของแม่และทารกในครรภ์ได้รับสารอาหารที่ดีต่อการเจริญเติบโต 

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ 

  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์ ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การเสพสารเสพติด 

  • ใส่ใจกับสารอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะสารอาหารสำคัญในช่วงไตรมาสแรก ได้แก่ DHA โฟเลต ไอโอดีน ธาตุเหล็ก 

  • เริ่มกินวิตามินบำรุง คุณแม่ควรเริ่มกินวิตามินต่าง ๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะโฟเลต คุณแม่ควรได้รับอย่างเพียงพอในช่วงไตรมาสแรก เพื่อลดความเสี่ยงของความพิการแต่กำเนิด ซึ่งคุณแม่สามารถปรึกษากับแพทย์ก่อนที่จะเริ่มกินวิตามินต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย  

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายในช่วงไตรมาสแรก จะช่วยควบคุมระดับของฮอร์โมนในร่างกาย ช่วยควบคุมน้ำหนัก และทำให้นอนหลับสบายขึ้น 

  • ไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพราะผู้หญิงที่ตั้งครรภ์มีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย และยังช่วยป้องกันทารกจากการติดโรคไข้หวัดใหญ่หลังคลอดได้อีกด้วย 

  • ไปฝากครรภ์ หลังจากพบว่าตั้งครรภ์ ควรไปทำการฝากครรภ์โดยเร็วที่สุด เพื่อให้แพทย์สามารถติดตามพัฒนาการในการตั้งครรภ์ ตลอดจนตรวจหาความเสี่ยงและความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ตลอดจนคำแนะนำในการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยทั้งแม่และทารกในครรภ์ด้วย 

ข้อห้ามคนท้อง 1 เดือน มีอะไรบ้าง


พฤติกรรมหรือไลฟ์สไตล์แรก ๆ ที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อรู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์ก็คือ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์ ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การเสพสารเสพติด เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อความปกติในการตั้งครรภ์ได้ เช่น การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด ภาวะครรภ์เป็นพิษ 

หากคุณแม่ท้อง 1 เดือนมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์

หากคุณแม่มีอาการดังต่อไปนี้ในช่วงเดือนแรกของการตั้งครรภ์ ควรไปพบแพทย์ทันที 

  • ปวดท้องอย่างรุนแรง 

  • มีสัญญาณของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหรือการติดเชื้อยีสต์ 

  • มีเลือดออกทางช่องคลอด 

  • มีไข้สูง 

  • อาการวิงเวียนศีรษะหรือปวดศีรษะรุนแรง 

  • คลื่นไส้หรืออาเจียนรุนแรง 

ไขข้อข้องใจเรื่องการตั้งครรภ์ 1 เดือนกับ Enfa Smart Club


 มีเลือดออกตอนท้อง 1 เดือนอันตรายไหม

หากมีเลือดออกตอนท้องเดือนแรก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณอันตรายอย่างการแท้งได้ 

 ท้อง 1 เดือนท้องแข็งไหม

ปกติแล้วอาการท้องแข็งมักจะพบได้ในช่วงไตรมาส 3 หากมีอาการท้องแข็งตั้งแต่เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย 

 อาการปวดท้องของคนท้อง 1 เดือน ปกติหรืออันตราย

อาการปวดท้องเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุที่ไม่อันตราย และสาเหตุที่รุนแรง ดังนั้น หากมีอาการปวดท้องตั้งแต่เดือนแรก หรือปวดท้องรุนแรง ปวดท้องนาน 1 วันแล้วไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย 

 ท้อง 1 เดือนกินยาสตรีอันตรายต่อลูกไหม

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ไม่ควรกินยาบำรุงครรภ์เองตามใจชอบ หากแพทย์ไม่ได้วินิจฉัยว่าสามารถกินได้ ไม่ควรกินอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะยาสตรีที่อาจมีผลข้างเคียงต่อการตั้งครรภ์ได้ หากกินในปริมาณที่ไม่ถูกต้อง หรือตัวยาบางอย่างในยาอาจมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพคุณแม่ 

 สะดือคนท้อง 1 เดือนจะแตกต่างจากตอนก่อนท้องไหม

อายุครรภ์ 1 เดือน ขนาดท้องของคุณแม่จะยังไม่ขยาย ทุกอย่างจึงยังคงอยู่ปกติเช่นเดิม ทั้งขนาดท้องและสะดือ แต่จะเริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงไตรมาสสอง  

 ตั้งท้อง 1 เดือนต้องระวังอะไรบ้าง

ช่วง 1 เดือนแรก คุณแม่ควรระมัดระวังในหลาย ๆ เรื่อง ตั้งแต่เรื่องอาหารการกินที่ต้องเริ่มปรับให้เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์มากขึ้น การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตต่าง ๆ งดกาแฟ งดแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ ไม่เสะสารเสพติด รวมถึงพยายามดูแลสุขภาพจิตใจเพื่อไม่ให้เครียดด้วย เพราะความเครียดอาจส่งผลต่อสุขภาพอื่น ๆ อย่างโรคซึมเศร้าได้ 

 คนท้อง 1 เดือนแพ้ท้องไหม

โดยทั่วไปแล้วอาการแพ้ท้องมักจะเริ่มในช่วงเดือนที่สองของการตั้งครรภ์ แต่ก็อาจมีบางกรณีที่คุณแม่มีอาการแพ้ท้องเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนแรก 

 ตั้งครรภ์ 1 เดือน ท้องเต้นตุ๊บ ๆ ปกติไหม

อายุครรภ์ 1 เดือน ตัวอ่อนในครรภ์ยังถือว่ามีขนาดเล็กเกินไปที่จะดิ้นหรือเคลื่อนไหวได้ จึงยังไม่มีการดิ้นของลูกในช่วงไตรมาสนี้ 

 อาการปวดหลังของคนท้อง 1 เดือนเกิดจากอะไร

อาการปวดหลังของคนท้องนั้นสามารถพบได้ตลอดการตั้งครรภ์ ซึ่งในช่วงเดือนแรกนั้น อาการปวดหลังอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้ 

 ท้องแฝด 1 เดือนต่างจากท้องทั่วไปไหม

ในช่วง 1 เดือนแรก ไม่ว่าจะเป็นท้องแฝด หรือท้องลูกคนเดียว ก็จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นมากนัก หน้าท้องยังไม่ขยาย และอาการแพ้ท้องก็ยังไม่ได้รุนแรงในระยะนี้ 

 คนอ้วนท้อง 1 เดือนดูออกไหม

เนื่องจากขนาดท้องจะยังไม่ขยายในอายุครรภ์ 1 เดือน ดังนั้น คนที่มีรูปร่างอวบหรืออ้วนอยู่แล้ว จึงยังไม่สามารถแยกออกได้อย่างชัดเจนว่ากำลังตั้งครรภ์ 

 ตกขาวขณะตั้งครรภ์ 1 เดือนต่างจากตอนก่อนท้องไหม

โดยปกติแล้วตกขาวตอนท้องกับตกขาวก่อนท้องนั้นแทบไม่มีความแตกต่างกันอยู่แล้ว  

 วิธีบํารุงครรภ์ 1 เดือนต้องทำอย่างไร

นอกเหนือไปจากการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต นอนให้เพียงพอ งดแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ และงดสารเสพติดแล้ว คุณแม่ก็จะต้องใส่ใจกับอาหารการกินมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรก ควรจะได้รับสารอาหารเหล่านี้อย่างเพียงพอ เพื่อช่วยในการบำรุงครรภ์ 

  • DHA เพื่อช่วยในการสร้างจอประสาทตา และสร้างเซลล์สมองของทารก พบได้มากใน ปลาต่าง ๆ เช่น ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า เป็นต้น 

  • โฟเลต ไม่ควรขาดโฟเลตในช่วงไตรมาสแรก เพราะโฟเลตจะช่วยป้องกันความพิการแต่กำเนิด พบได้มากใน ผักต่าง ๆ ผลไม้ต่าง ๆ ถั่วและธัญพืชต่าง ๆ 

  • ธาตุเหล็ก เพื่อช่วยในการสร้างเซลล์เม็ดเลือด ที่จะช่วยในการส่งต่ออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงสมองของทารก พบได้มากในเนื้อสัตว์ และเครื่องในต่าง ๆ เช่น ตับ เป็นต้น 

  • ไอโอดีน เพื่อช่วยสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน รวมถึงสร้างเซลล์ร่างกายและสมอง พบได้มากในอาหารทะเลต่าง ๆ เช่น ปลาทะเล เป็นต้น 

 ท้อง 1 เดือนกินทุเรียนได้ไหม

คนท้องสามารถกินทุเรียนได้ เพียงแต่ไม่ควรกินมากเกินไป เพราะทุเรียนมีพลังงานและแคลอรีสูง อาจเสี่ยงต่อน้ำหนัก ทั้งยังอาจมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตสูงด้วย ผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน ไต ความดันโลหิตสูง จึงควรกินแต่พอดี 

 ท้อง 1 เดือนเดินทางไกลได้ไหม

ท้อง 1 เดือน ขนาดครรภ์ยังไม่ใหญ่พอ และยังไม่มีอาการแพ้ท้องที่รุนแรง คุณแม่จึงยังสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เป็นปกติ รวมถึงการเดินทางไกลด้วย เพียงแต่ต้องใส่ใจกับตนเองมากขึ้น 

 ตั้งครรภ์ 1 เดือนฉีดวัคซีนได้ไหม

โดยมากแล้ว อายุครรภ์ 1 เดือนสามารถที่จะฉีดวัคซีนได้ โดยเฉพาะวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่คุณแม่ควรรีบไปฉีดตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ต่อตนเอง และป้องกันไข้หวัดใหญ่ของทารกหลังคลอดด้วย 

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะฉีดข้อมูล ควรสอบถามกับแพทย์ก่อนทุกครั้งว่าสามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่ เพราะอาจมีวัคซีนบางชนิดที่ไม่เหมาะจะฉีดขณะตั้งครรภ์ 

 ท้อง 1 เดือน เลือดออก อันตรายไหม

หากมีเลือดออกตอนท้องเดือนแรก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณอันตรายอย่างการแท้งได้ 


    บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

    EFB Form

    EFB Form