ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ตรวจครรภ์ด้วยการอัลตราซาวน์ มีขั้นตอนอย่างไร?

ตรวจครรภ์ด้วยการอัลตราซาวน์ มีขั้นตอนอย่างไร?

เมื่อร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ประจำเดือนขาด คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะบ่อย เจ็บหน้าอก ผู้หญิงที่มีโอกาสในการตั้งครรภ์ก็มักจะคิดว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ และตัดสินใจ ตรวจครรภ์ หรือตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง โดยใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ที่หาซื้อง่าย ใช้สะดวก และได้ผลตรวจที่รวดเร็ว แต่ข้อเสียก็คือ หากเราใช้ที่ตรวจครรภ์ไม่ถูกวิธี ก็อาจทำให้ผลตรวจครรภ์ผิดพลาดได้ ฉะนั้น หากคุณอยากได้ผลตรวจครรภ์ที่แม่นยำ เราแนะนำให้คุณตรวจครรภ์ด้วยการอัลตราซาวน์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดีกว่า เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่แม่นยำ วันนี้ เอนฟาจึงมีความรู้เกี่ยวกับการการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ และขั้นตอนการทำอัลตราซาวน์มาฝากทุกคนกันค่ะ

การตรวจอัลตราซาวน์ คืออะไร

อัลตราซาวน์ (Ultrasound) คือ คลื่นเสียงความถี่สูงที่สูงเกินกว่าหูมนุษย์จะได้ยิน คลื่นเสียงชนิดนี้นิยมนำมาใช้ตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงการตรวจครรภ์ด้วย เมื่อเปิดเครื่องอัลตราซาวน์ หัวตรวจของเครื่องจะปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านลงสู่ผิวหนังเข้าไปยังอวัยวะภายในที่ต้องการตรวจ และเมื่อคลื่นเสียงกระทบกับเนื้อเยื่อที่แตกต่างกัน รวมไปถึงร่างกายของทารกในครรภ์ ก็จะสะท้อนกลับมายังอุปกรณ์ตรวจรับและถูกแปลผลจนปรากฏเป็นภาพบนหน้าจอ ทำให้แพทย์และคุณพ่อคุณแม่สามารถเห็นภาพของทารกในครรภ์ได้

การตรวจครรภ์ด้วยการอัลตราซาวน์ สามารถทำได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ นอกจากจะบอกว่าคุณตั้งครรภ์หรือไม่แล้ว วิธีนี้ยังบอกตำแหน่งการตั้งครรภ์ รวมถึงจำนวนทารกในครรภ์ได้อีกด้วย ทั้งยังถือเป็นวิธีนับอายุครรภ์ที่แม่นยำ อีกทั้งการอัลตราซาวน์ยังไม่สร้างความเจ็บปวดหรือเป็นอันตรายต่อผู้คุณแม่และทารกในครรภ์แต่อย่างใด จึงถือได้ว่าเป็นอีกวิธีที่ปลอดภัยเป็นอย่างยิ่ง

ขั้นตอนการตรวจครรภ์ด้วยการอัลตราซาวน์

การตรวจครรภ์ด้วยการอัลตราซาวน์นั้นมีด้วยกัน 2 วิธี ได้แก่ การตรวจอัลตราซาวน์ทางหน้าท้อง และการตรวจอัลตราซาวน์ทางช่องคลอด ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ว่าควรเลือกใช้วิธีไหน โดยแต่ละวิธีมีขั้นตอนดังนี้

1. การตรวจอัลตราซาวน์ทางช่องท้อง

เริ่มต้นจากการให้คุณแม่นอนบนเตียง ทำความสะอาดบริเวณหน้าท้องให้สะอาด ทาเจลสำหรับอัลตราซาวน์บนหน้าท้องในบริเวณที่ต้องการตรวจ เพื่อช่วยให้คลื่นเสียงความถี่สูงสามารถผ่านได้ดียิ่งขึ้น ก่อนจะแตะหัวตรวจของเครื่องอัลตราซาวน์บนหน้าท้อง แล้วค่อย ๆ เลื่อนหัวตรวจไปตามตำแหน่งที่ต้องการ คลื่นเสียงที่ส่งผ่านหัวตรวจจะสะท้อนกลับมายังเครื่องรับและแปลผลเป็นภาพบนหน้าจอให้เห็นทันที แพทย์ผู้ตรวจจะคอยอธิบายภาพที่เห็น บอกผล และให้คำแนะนำกับคุณแม่ หากคุณแม่มีข้อสงสัยอะไร สามารถสอบถามแพทย์ได้ตลอดการตรวจ เมื่อตรวจเสร็จแพทย์จะเช็ด เจลออกจากบริเวณหน้าท้อง โดยปกติแล้ววิธีนี้จะใช้เวลาประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง

2. การตรวจอัลตราซาวน์ทางช่องคลอด

คุณแม่ที่เพิ่งตั้งครรภ์ระยะแรก (อายุครรภ์ประมาณ 7-12 สัปดาห์) ถุงการตั้งครรภ์ยังมีขนาดเล็ก ทำให้ภาพจากการอัลตราซาวน์ทางหน้าท้องไม่ชัดเจน หรือคุณแม่มีภาวะน้ำหนักเกิน จนทำให้การตรวจอัลตราซาวน์ทางหน้าท้อง เห็นผลไม่ชัดเจน สามารถตรวจอัลตราซาวน์ทางช่องคลอดแทนได้ โดยแพทย์จะสอดหัวตัวที่มีลักษณะแตกต่างจากหัวตรวจทางหน้าท้องเข้าไปในช่องคลอด หัวตรวจจะเข้าใกล้ตำแหน่งของมดลูกและรังไข่ได้มากกว่าการตรวจทางช่องท้อง ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นภาพของมดลูกและรังไข่ได้ชัดเจนกว่า

การอัลตราซาวน์ นอกจากจะใช้ตรวจครรภ์ได้แล้ว ยังใช้ตรวจสุขภาพครรภ์ หรือสุขภาพคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ด้วย หากทราบว่าตั้งครรภ์ แพทย์จะแนะนำให้คุณเข้ารับการตรวจอัลตราซาวน์อย่างน้อย 1 ครั้งใน่ช่วงสัปดาห์ที่ 18-22 ของการตั้งครรภ์ และทางที่ดี ควรตรวจอัลตราซาวน์อย่างน้อย 1 ครั้งในทุกไตรมาสของการตั้งครรภ์ เพื่อประเมินสุขภาพและติดตามพัฒนาการของทารกในแต่ละระยะ โดยคุณแม่ควรตรวจอัลตราซาวน์ในช่วงอายุครรภ์ ดังนี้

          - ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เพื่อตรวจสอบตำแหน่งของการตั้งครรภ์ จำนวนทารกในครรภ์ คัดกรองโรคทางพันธุกรรมบางโรค และหากจำประจำเดือนไม่ได้ การอัลตราซาวน์ในช่วงไตรมาสแรกเพื่อกำหนดอายุครรภ์จะเชื่อถือได้มากที่สุด
          - ช่วงไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ เพื่อดูพัฒนาการของอวัยวะต่าง ๆ การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ คัดกรองความผิดปกติแต่กำเนิด ดูตำแหน่งรก และปริมาณน้ำคร่ำ รวมถึงเพศของทารกด้วย
          - ช่วงไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ เพื่อดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ว่าสมบูรณ์เติบโตตามเกณฑ์หรือไม่ ดูการเคลื่อนไหวของทารก ตรวจสอบท่าของทารกก่อนคลอด

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการอัลตราซาวน์ 

          - หากนัดอัลตราซาวน์ตอนเช้า ควรงดน้ำ และอาหาร ตั้งแต่หลังเที่ยงคืน หรืออย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนตรวจ หากนัดอัลตราซาวน์ตอนบ่าย ควรรับประทานอาหารเช้าที่ไม่มีไขมัน และงดน้ำ อาหาร และยาทุกชนิด ตั้งแต่หลัง 08.00 น. จนกว่าจะตรวจเสร็จ
          - หากตรวจทางช่องท้อง คุณจะต้องปวดปัสสาวะขณะตรวจ และต้องกลั้นปัสสาวะไว้จนกว่าจะตรวจเสร็จ หากคุณไม่ปวดปัสสาวะ แพทย์อาจให้ดื่มน้ำ 2-3 แก้ว ก่อนตรวจ 30-60 นาที เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะมีน้ำเต็ม และช่วยดันลำไส้ออกไป จนแพทย์สามารถมองเห็นมดลูกและรังไข่ได้ชัดขึ้น
          - หากตรวจทางช่องคลอด คุณควรปัสสาวะทิ้งก่อนเข้ารับการตรวจ

สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่กำลังสับสนว่าควรตรวจการตั้งครรภ์ตอนไหนถึงจะได้ผลที่แม่นยำที่สุด หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจครรภ์ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม หรืออ่านเรื่องราวดี ๆ ได้ ที่นี่

References

บทความที่แนะนำ

วิธีตรวจการตั้งครรภ์ และการใช้ที่ตรวจครรภ์ ที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้
เตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์แบบมั่นใจ
ตรวจตั้งครรภ์-ท้องหรือไม่
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner