เคยได้ยินเมนูเหล่านี้กันไหมคะ ฟักทองบด กล้วยบด ข้าวบด อาหารเหล่านี้เป็นอาหารสำหรับเด็กทารก ซึ่งเป็นอาหารตามวัยเสริมเพิ่มเติมจากนมแม่ แต่คุณแม่สงสัยกันไหม ว่าเราจะเริ่มให้อาหารเหล่านี้ในช่วงเวลาไหน และอย่างไรกัน

อย่างที่เราทราบกันดีว่า อาหารสำหรับเด็กทารกตลอดช่วง 6 เดือนแรก คือ นมแม่ ลูกน้อยของเราจะได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนจากนมแม่ แต่เมื่อลูกน้อยผ่านพ้นช่วงอายุ 6 เดือนไป ก็จำเป็นจะต้องได้รับสารอาหาร และพลังงานประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ โปรตีน เหล็ก แคลเซียม สังกะสี ไอโอดีน ฯลฯ เพื่อการเจริญเติบโตของลูกน้อย

อาหารชนิดอื่น ๆ ที่ว่านี้ คืออาหารที่เรียกว่า “Solid Foods” หรืออาจจะรู้จักกันในชื่อ อาหารตามวัยเด็กทารก หรืออาหารแข็ง

รู้จักกับ “Solid Foods”


Solid Foods หรือที่รู้จักกันในชื่อ อาหารตามวัยเด็กทารก หรืออาหารแข็ง คืออาหารอื่นที่ทารกได้รับเป็นมื้อ นอกเหนือจากนมแม่ หรือนมผสม เพื่อให้ทารกได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน และเพียงพอต่อการเจริญเติบโต อีกทั้งยังช่วยให้ทารกสามารถปรับตัวจากการกินอาหารเหลว เป็นอาหารแข็ง ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงตามพัฒนาการการกินในแต่ละวัย

ช่วงเวลาไหนที่เหมาะสมสำหรับการให้อาหารตามวัยเด็กทารก (Solid Foods)


เมื่อคุณแม่จะเปลี่ยนอาหารจากนมแม่ มาสู่อาหารตามวัยเด็กทารก ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะให้ลูกน้อยของเราได้รู้จักอาหารใหม่ ได้แก่

          • อายุ 6 เดือนขึ้นไป
          • สามารถชันคอ และนั่งบนเก้าอี้รับประทานอาหารสำหรับเด็กได้
          • แสดงพฤติกรรมพร้อมที่จะรับประทานอาหาร เช่น อ้าปากเมื่อมีอาหารยื่นเข้ามา
          • สามารถเริ่มกลืนอาหารที่ป้อนจากช้อนได้เอง หรือสามารถหยิบจับอาหารเข้าปากได้ด้วยตัวเอง

ในช่วงอายุ 6 เดือนเป็นต้นไป เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับให้ลูกน้อยได้รู้จักกับอาหารชนิดอื่น นอกจากเพื่อจะเสริมสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตแล้ว ช่วงเวลานี้ ยังเป็นช่วงเวลาที่ลูกน้อยสามารถปรับตัวที่จะรับประทานอาหารชนิดอื่น และมีพัฒนาการในการย่อยอาหารชนิดอื่น นอกเหนือจากนมแม่ได้ดีขึ้น สามารถเริ่มเคี้ยว หรือกลืนอาหาร รวมทั้งยังสามารถเริ่มรับรส และสัมผัสของอาหารเบื้องต้นได้

แล้วจะเริ่มเปลี่ยนอาหารยังไง


เมื่อคุณแม่เริ่มให้ลูกน้อยได้ลองรับประทานอาหารตามวัยเด็กทารก ในช่วงแรกควรเริ่มให้เขาได้ลองอาหารใหม่ ทีละน้อย ๆ ก่อน ให้ลูกได้ค่อย ๆ รู้กจักว่าสิ่งนี้เป็นอาหารใหม่ มีรสชาติอย่างไร มีสัมผัสแบบไหน ควบคู่กับการให้นมตามปกติ ลูกน้อยอาจจะยังไม่กลืนอาหารใหม่โดยทันที ค่อย ๆ ฝึกเขาไปเรื่อย ๆ เมื่อเขาคุ้นชินกับอาหารใหม่ คุ้นกับการกลืน เขาก็จะสามารถรับประทานอาหารใหม่ได้มากขึ้น

ข้อแนะนำสำหรับการเริ่มให้อาหารตามวัยเด็กทารก (Solid Foods)


          • การเปลี่ยนอาหารตามวัยเด็กทารก เป็นสิ่งใหม่สำหรับลูกน้อย ต้องใช้เวลาในการฝึก เด็กบางคนอาจจะสามารถเริ่มต้นกับอาหารใหม่ได้ง่าย บางคนอาจจะมีปัญหาในการเปลี่ยนอาหาร อาจจะยังไม่ยอมกิน คายทิ้ง ค่อย ๆ ฝึก และปรับไปเรื่อย ๆ ลูกน้อยจะเริ่มคุ้นชินกับอาหารใหม่
          • เผื่อเวลาในมื้อที่มีอาหารใหม่ โดยเฉพาะครั้งแรกที่เริ่มฝึก คุณแม่อาจจะต้องใช้เวลาในมื้ออาหารนั้น นานกว่าปกติ
          • ป้อนอาหารตามจังหวะการกินของลูก รอให้ลูกอ้าปากก่อนที่จะป้อนอาหารให้ และหยุด เมื่อลูกแสดงอาการอิ่ม ไม่ต้องการอาหาร เช่น ปิดปาก หรือเบือนหน้าหนี ไม่ควรบังคับให้ลูกกินต่อ
          • เปลี่ยนอาหารให้หลากหลายอยู่เสมอ รวมไปถึงอาหารที่ลูกไม่ชอบ ลองสลับปรับเปลี่ยนให้เขาได้ลองกลับมากินอีกครั้ง ให้เขาได้คุ้นชินกับอาหาร คุณแม่ไม่ต้องกังวลไป หากบางวันลูกน้อยกินน้อยลงจากเดิม หรือปฎิเสธอาหารในสิ่งที่เขาเคยกินมาแล้ว เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องปกติของเด็ก
          • ลองให้ลูกได้สัมผัสอาหารด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะแตะ หรือถืออาหาร ลองให้เขาได้ลองสัมผัสด้วยมือ เขาอาจจะใช้นิ้วจิ้มไปที่อาหาร และเอาเข้าปาก หรือหากใช้ช้อน เขาอาจจะชอบจับช้อนถือระหว่างกิน คุณแม่อาจจะหาช้อนอีกคัน ไว้สำหรับให้เขาถือระหว่างการกิน
          • ระหว่างการป้อนอาหาร หลีกเลี่ยงสิ่งที่สามารถรบกวนสมาธิการกินของลูกน้อย เช่น การนั่งหน้าโทรทัศน์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ให้ลูกน้อยจดจ่อ และมีสมาธิกับมื้ออาหารให้มากที่สุด
          • แสดงให้ลูกน้อยได้เห็นว่า เรากินอย่างไร ทำเป็นตัวอย่างให้ดู เช่น ให้ลูกน้อยได้นั่งร่วมโต๊ะอาหารระหว่างมื้ออาหารในครอบครัว เขาจะเริ่มจดจำ และเลียนแบบตาม ว่านี่คือวิธีการกินอาหาร

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ควรเตรียมอาหารแบบไหน


เริ่มต้นจากอาหารที่มีลักษณะเหลว หรือมีเนื้อค่อนข้างละเอียด โดยปรุงอาหารโดยใช้วิธีการบด ไม่ควรให้อาหารปั่น เพราะจะทำให้ลูกน้อย ไม่ได้ฝึกทักษะในการเคี้ยวและกลืน เลือกวัตถุดิบในการประกอบอาหารที่สดใหม่ ไม่ควรใช้อาหารกระป๋อง อาหารที่ถนอมอาหารโดยใช้เกลือ หรือปรุงแต่งรสชาติเพิ่มเติม เช่น การเพิ่มเกลือ เพิ่มน้ำตาล เน้นไปที่รสชาติธรรมชาติของวัตถุดิบ อาหารแนะนำ ได้แก่

          • ไข่ อุดมไปด้วยโปรตีน วิตามินเอ และแร่ธาตุ สามารถใช้ได้ทั้งไข่ไก่ และไข่เป็ด ควรปรุงให้สุก ไม่ควรให้เป็นยางมะตูม หรือทำเป็นไข่ลวก แนะนำให้เริ่มที่ไข่แดงก่อน เนื่องจากเด็กทารกมีโอกาสในการแพ้ไข่ขาวได้มากกว่าไข่แดง และค่อยกลับมาเริ่มไข่ขาวเมื่ออายุ 7 เดือนขึ้นไป

          • ตับ อาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โปรตีน วิตามินเอ วิตามินบี 1 และบี 2 จะเลือกเป็นตับไก่ หรือตับหมูก็ได้ เน้นการปรุงสุก

          • เนื้อสัตว์ต่าง ๆ เช่น เนื้อหมู ไก่ ปลา เป็นต้น อุดมไปด้วยโปรตีน วิตามินต่าง ๆ เหล็ก สังกะสี DHA เน้นปรุงให้สุกก่อนให้ลูกน้อยกินเสมอ

          • ถั่วเมล็ดแห้ง และผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว เต้าหู้ เป็นต้น อุดมไปด้วยโปรตีน และแร่ธาตุต่าง ๆ สำหรับการทำมาประกอบอาหารให้เด็กทารกต้องต้มให้สุด และบดให้ละเอียด จะได้ย่อยง่าย และท้องไม่อืด

          • ผักต่าง ๆ ผักมีสารอาหารอย่างวิตามิน และแร่ธาตุ รวมทั้งยังมีกากใย ช่วยในการขับถ่ายได้ดี เช่น ตำลึง แครอท ผักบุ้ง ฟักทอง เป็นต้น เน้นปลุกให้สุกก่อนรับประทาน

          • ผลไม้ ผลไม้อุดมไปด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ ควรให้เด็กทารกได้กินผลไม้ที่สะอาด เป็นอาหารว่างวันละครั้ง เริ่มต้นแนะนำเป็นผลไม้ที่มีลักษณะนิ่ม ง่ายต่อการกิน เช่น กล้วยน้ำว้าสุก มะละกอสุก ส้มเขียวหวาน เป็นต้น

ข้อแนะนำสำหรับการเตรียมอาหารตามวัยเด็กทารก (Solid Foods)


          • เลือกอาหารให้เหมาะสม เน้นไปที่อาหารสด ไม่แนะนำให้ใช้อาหารกระป๋อง หรืออาหารที่ถนอมโดยการใช้เกลือ เพราะจะทำให้ลูกน้อยได้รับเกลือมากเกินไป
          • การเตรียมอาหารจำพวกผัก หรือผลไม้ ควรล้างให้สะอาด ในกรณีที่ใช้ผัก หรือผลไม้แช่แข็งควรรอให้น้ำแข็งละลายก่อนนำมาปรุง แกะเปลือก เมล็ด แกน หรือก้านแข็งออกให้หมด ปรุงด้วยวิธีต้ม หรือนึ่ง และควรใช้น้ำจากการต้ม หรือนึ่งเป็นตัวผสมในการบด เพื่อช่วยรักษาสารอาหารไว้
          • การเตรียมอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ถ้าหากเป็นปลาลอกหนัง ถอดเกล็ด และก้างออกให้หมด สับ หรือบดเนื้อสัตว์ให้ละเอียด ทำให้สุกด้วยการตุ๋น อบ นึ่ง หรือทอด
          • การจัดเก็บอาหารที่เตรียมเสร็จแล้ว ควรเก็บในภาชนะปิดสนิท แล้วเก็บในตู้เย็น และรับประทานอาหารให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง ในกรณีที่จะเก็บนานกว่านั้น ควรแบ่งใส่ 1 ภาชนะต่อ 1 มื้อ จัดเก็บในช่องแช่แข็ง ไม่ควรเก็บนานเกิน 1 สัปดาห์ เมื่อต้องการใช้นำออกมาอุ่นก่อนรับประทานเสมอ

ตัวอย่างแนะนำอาหารตามวัยสำหรับเด็กทารกอายุ 6 – 8 เดือน


แบ่งการส่วนประกอบในการปรุงอาหารตามวัยสำหรับเด็กออกเป็น 4 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่

          1. ข้าวสวย หรือข้าวตุ๋นข้น: 4 ช้อนโต๊ะ
          2. น้ำแกงจืด หรือน้ำซุป: 8 – 10 ช้อนโต๊ะ
          3. ผักใบเขียว หรือเหลืองส้ม ที่อ่อนนุ่ม กลิ่นไม่แรง: 1 – 2 ช้อนโต๊ะ
          4. เนื้อสัตว์ หรืออาหารจำพวกโปรตีน ที่อ่อนนุ่ม บดง่าย: 1 – 3 ช้อนโต๊ะ นำทั้ง 4 ส่วนมาผสมด้วยกัน ปรุงอาหารให้มีเนื้อสัมผัสที่เหลว หรือข้นพอไม่มาก ให้ลูกน้อยสามารถกลืนได้ง่าย คุณแม่อาจจะเหยาะน้ำมันพืชสักครึ่งช้อนชาหลังการปรุงเสร็จ เพื่อช่วยดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน และเพิ่มความเข้มข้นของพลังงาน

ตัวอย่างแนะนำอาหารตามวัยสำหรับเด็กทารกอายุ 6 – 8 เดือน
ส่วนผสม (ต่อ 1 มื้อ):

          - ข้าวสวย 4 ช้อนโต๊ะ (40 กรัม)
          - น้ำแกงจืด 10 ช้อนโต๊ะ (100 กรัม)
          - ไข่แดง ½ ฟอง (7 กรัม)
          - ตำลึง 1 ½ ช้อนโต๊ะ (12 กรัม)
          - น้ำมันพืช ½ ช้อนชา (2.5 กรัม)

อาหารเมนูนี้จะให้พลังงาน 106 กิโลแคลอรี โปรตีน 3.1 กรัม และความเข้มข้นของพลังงาน 0.8 กิโลแคลอรี/กรัม

คุณแม่สามารถเริ่มให้อาหารตามวัยเด็กทารกเมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ลูกน้อยจะได้ทำความรู้จักกับอาหารชนิดใหม่ นอกเหนือจากนมแม่เป็นครั้งแรก ในช่วงแรกนี้ ลูกน้อยอาจจะยังไม่ได้รับประทานอาหารใหม่มากนัก แต่ค่อย ๆ ให้เขาได้ลิ้มลอง และสัมผัสอาหารใหม่ ควบคู่ไปกับการให้นมแม่

และเมื่อลูกน้อยสามารถรับประทานอาหารตามวัยได้มากขึ้น คุณแม่ค่อย ๆ ปรับอาหารจากเหลว เป็นข้น เป็นหยาบ ตามลำดับ เพื่อให้ลูกน้อยได้เรียนรู้ในการเคี้ยวอาหาร และสัมผัสของอาหาร ที่สำคัญอย่าลืมว่า ต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่บังคับลูก หากเขาปฎิเสธที่จะกิน คุณแม่ค่อยกลับมาเริ่มต้นใหม่ในมื้อถัดไปค่ะ

นมแม่ดีที่สุดโดยเฉพาะน้ำนมเหลืองที่มีแลคโตเฟอร์ริน


เพราะในน้ำนมเหลืองมี แลคโตเฟอร์ริน โปรตีนในนมแม่ที่จะพบได้มากที่สุดในน้ำนมเหลือง หรือน้ำนมระยะแรกที่จะไหลออกมาใน 1-3 วันแรกหลังคลอด ซึ่งทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา จึงช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย

นมแม่ดีที่สุดโดยเฉพาะน้ำนมเหลืองที่มีแลคโตเฟอร์ริน

ชวนคุณแม่อ่านความรู้ดี ๆ สำหรับลูกน้อย และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ พร้อมสิทธิพิเศษอีกมาก เพียงร่วมเป็นสมาชิกกับ Enfa Smart Club เพียง"คลิกที่นี่"

Reference:

          - คู่มืออาหารตามวัย สำหรับทารกและเด็กเล็ก
          - When, What, and How to Introduce Solid Foods
          - Starting Solid Foods
          - Feeding your baby: When to start with solid foods
          - Your baby's first solid foods