นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เอนฟาสนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนไปจนถึง 2 ปี หรือนานกว่าตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

ลูกพูดไม่ชัด พูดติดอ่าง พูดไม่ออก มีวิธีแก้ไหม

Enfa สรุปให้

  • พูดติดอ่าง พูดไม่ออก เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น พัฒนาการด้านภาษาและการพูดช้า พันธุกรรม ปัจจัยทางจิตใจและอารมณ์ สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู และอาจเกิดจากความผิดปกติของสมองและระบบประสาท เช่น ภาวะพัฒนาการล่าช้าทางภาษา หรือโรคออทิสติก
  • พูดติดอ่าง วิธีแก้เริ่มจากครอบครัว โดยคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองสามารถช่วยแก้ปัญหาเด็กพูดไม่ชัด พูดติดอ่าง ด้วยการฝึกฝนและปรับพฤติกรรมอย่างเหมาะสม ด้วยการกระตุ้นให้ฝึกพูด ฝึกการสนทนา โดยไม่กดดันให้ลูกรีบพูด
  • ลูกพูดไม่ชัด อาจเกิดจากปัญหาด้านกล้ามเนื้อที่ใช้ในการพูด ภาวะลิ้นติด ปัญหาการได้ยินบกพร่อง การเลียนแบบเสียงที่ผิดพลาดจากคนรอบตัว และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดู เช่น ขาดการพูดคุยหรือถูกปล่อยให้อยู่กับหน้าจอมากเกินไป

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

การที่ลูกพูดติดอ่างหรือพูดไม่ชัดเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก ซึ่งอาจสร้างความกังวลให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองได้ไม่น้อย บทความนี้ Enfa จะช่วยไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการพูดติดอ่าง วิธีแก้ ลูกพูดติดอ่าง พูดไม่ออก รวมถึงลูกพูดไม่ชัด คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้อย่างไร พร้อมแนะนำแนวทางการรับมือที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้ลูกสามารถพูดได้อย่างคล่องแคล่วค่ะ

 

ลูกพูดติดอ่าง พูดไม่ออก เกิดจากอะไร


ลูกพูดติดอ่าง พูดไม่ออก เกิดจากจากหลายปัจจัย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อลูกมีอาการพูดไม่ออกติดอ่างมักสร้างความกังวลใจให้คุณพ่อคุณแม่ อาการเหล่านี้อาจดีขึ้นได้เองเมื่อโตขึ้น หรืออาจต้องได้รับการช่วยเหลือและรักษา ซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุ ดังนี้

  1. พัฒนาการด้านภาษาและการพูดช้ากว่าเด็กทั่วไป มักพบในเด็กเล็ก และอาจดีขึ้นเองเมื่อโตขึ้น
  2. พันธุกรรม หากมีคนในครอบครัวเคยพูดติดอ่าง เด็กอาจมีโอกาสเป็นได้สูงขึ้น
  3. ปัจจัยทางจิตใจและอารมณ์ เกิดจากความเครียดหรือความกดดัน เช่น ถูกเร่งให้พูด หรือกลัวการพูดผิด มีปัญหาในครอบครัว ขาดความมั่นใจ
  4. สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู เช่น ผู้ปกครองพูดเร็วเกินไปหรือไม่รอฟัง มีคนพูดแทรกบ่อย ๆ
  5. ความผิดปกติของสมองและระบบประสาท เช่น ภาวะพัฒนาการล่าช้าทางภาษา หรือโรคออทิสติก

หากลูกมีอาการพูดไม่ออกติดอ่างหรือมีความผิดปกติทางพัฒนาการด้านอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและแก้ไขอย่างถูกวิธี

 

ลูกพูดไม่ชัด เกิดจากอะไร


ลูกพูดไม่ชัด พูดออกเสียงไม่ชัด หรือทำได้ยากกว่าจะหลุดคำพูดออกมา พูดไม่เป็นประโยค เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  1. พัฒนาการทางการพูดล่าช้า มักพบในเด็กที่เริ่มพูดคำแรกช้ากว่า 12-18 เดือน หรือยังไม่สามารถพูดเป็นประโยคเมื่ออายุ 2-3 ปี
  2. ปัญหาด้านกล้ามเนื้อที่ใช้ในการพูด เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือภาวะปากแหว่งเพดานโหว่
  3. ภาวะลิ้นติด เป็นภาวะที่เส้นใต้ลิ้นสั้นผิดปกติ ส่งผลให้เด็กออกเสียงบางคำยาก เช่น ร, ล, ส, ช
  4. ปัญหาการได้ยินบกพร่อง ทำให้เลียนเสียงพูดได้ไม่ดี พูดผิดเพี้ยน
  5. การเลียนแบบเสียงที่ผิดพลาดจากคนรอบตัว อาจทำให้ติดการพูดไม่ชัด
  6. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดู เช่น ขาดการพูดคุยหรือถูกปล่อยให้อยู่กับหน้าจอมากเกินไป
  7. ปัญหาทางระบบประสาทหรือพัฒนาการ เช่น ภาวะออทิสติก โรคสมาธิสั้น

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตพบว่าลูกไม่สามารถออกเสียงคำพื้นฐาน เช่น พ่อ แม่ ได้ หรือออกเสียงเพี้ยนคนอื่นฟังไม่เข้าใจ ไม่ตอบสนองต่อเสียง หรือมีพฤติกรรมอื่นร่วมด้วย เช่น ไม่สบตา ไม่สนใจพูดคุย ควรพาไปพบแพทย์

 

สัญญาณที่บอกว่าลูกพูดติดอ่าง


การพูดติดอ่างเป็นภาวะที่เด็กพูดไม่ลื่นไหล มีการหยุดชะงัก ซ้ำคำ หรือยืดเสียงขณะพูด ซึ่งสามารถสังเกตสัญญาณที่บอกว่าลูกพูดติดอ่างได้ ดังนี้

  1. พูดซ้ำพยางค์ ซ้ำคำ หรือซ้ำประโยค เช่น
    มา-มา-มาเล่นกัน
    แม่...แม่...แม่อยู่ไหน
    หนูอยาก...หนูอยาก...หนูอยากกินข้าว
  2. พูดยืดเสียง โดยลากเสียงบางพยางค์ให้นานกว่าปกติ เช่น มมมมมาเล่นกัน
  3. พูดติดขัด หรือหยุดชะงักกะทันหันเหมือนพูดไม่ออก หรืออ้าปากจะพูดแต่ไม่มีเสียงออกมา
  4. มีอาการเกร็งหรือใช้แรงมากขณะพูด เช่น ขยับปาก คอ หรือใบหน้าแรง ๆ ขณะพูด มีอาการหลับตา ขยับริมฝีปาก หรือกระพริบตาบ่อย ๆ ขณะพูด หรือมีลักษณะกำมือเมื่อพยายามพูด
  5. มีอาการหลีกเลี่ยงการพูด เพราะกลัวพูดติดอ่าง เช่น หลีกเลี่ยงคำที่ติดอ่าง หยุดพูดกะทันหันหรือเลี่ยงการสนทนา เครียดหรือกังวลเวลาต้องพูดต่อหน้าคนอื่น

หากสังเกตพบอาการดังกล่าว โดยเฉพาะสัญญาณที่บอกว่าลูกพูดติดอ่างมีต่อเนื่องเกิน 6 เดือนขึ้นไปในเด็กที่อายุมากกว่า 5 ปี ควรได้รับการประเมินอาการเพิ่มเติม คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์

 

สัญญาณที่บอกว่าลูกพูดไม่ชัด


เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการทางภาษาที่แตกต่างกัน การพบอาการลูกพูดไม่ชัดอาจตัดสินไม่ได้ทันทีว่าลูกกำลังมีปัญหาเรื่องการพูด แต่ต้องสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง โดยในเบื้องต้นคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตสัญญาณที่บอกว่าลูกพูดไม่ชัดได้ ดังนี้

  1. ออกเสียงผิดหรือพูดเพี้ยน พูดไม่ครบคำ พูดสลับเสียง เช่น
    คำว่า นม เป็น มม
    คำว่า กระเป๋า เป็น ตะเป๋า
  2. ออกเสียงบางตัวไม่ได้ เช่น
    ออกเสียง ร, ล, ส, ช, ฟ, ข ไม่ชัด
    พูด ข เป็น ค เช่น ไข่ เป็น ไค่
  3. พูดไม่เป็นประโยค หรือพูดติดขัด โดยสังเกตได้ตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบ เช่น พูดคำเดี่ยว ๆ พูดประโยคไม่สมบูรณ์ พูดติด ๆ ขัด ๆ หรือใช้คำผิดความหมายบ่อย
  4. พูดเร็วหรือเบาเกินไปจนฟังไม่ชัด ไม่ค่อยขยับปากขณะพูด ใช้เสียงจมูกมากเกินไปหรือเสียงแหบแห้ง
  5. มีปัญหาการควบคุมลิ้นและปาก ควบคุมกล้ามเนื้อปากลำบาก
  6. คนอื่นฟังไม่เข้าใจนอกจากคนในครอบครัว โดยอาจสังเกตได้ตั้งแต่อายุ 2 ปีขึ้นไป
  7. ลูกพูดช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน พูดประโยคไม่ได้ หรือพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง

หากพบสัญญาณที่บอกว่าลูกพูดไม่ชัดเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่ควรพาไปพบแพทย์เพื่อประเมินและช่วยกระตุ้นพัฒนาการพูดของลูกให้ดีขึ้น

 

เด็กพูดไม่ชัด พูดติดอ่าง วิธีแก้


เด็กพูดไม่ชัด พูดติดอ่าง พูดติด ๆ  ขัด ๆ วิธีแก้ติดอ่างที่ทำได้ง่ายคือเริ่มจากครอบครัว โดยคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองสามารถช่วยแก้ปัญหาเด็กพูดไม่ชัด พูดติดอ่าง ด้วยการฝึกฝนและปรับพฤติกรรมอย่างเหมาะสม ดังนี้

  • พูดช้า ๆ ชัด ๆ ให้ลูกฟัง ใจเย็น อย่าขัดจังหวะ และอย่าเร่งให้ลูกรีบพูด
  • กระตุ้นให้ลูกพูดบ่อย ๆ ตั้งใจฟังที่ลูกพูด
  • ลดการใช้จอ และเพิ่มเวลาสนทนา
  • ใช้ประโยคสั้น ๆ พูดช้า ๆ ฝึกพูดเป็นจังหวะ เช่น แม่-รัก-หนู
  • ลดความกดดันในการพูด สร้างบรรยากาศการพูดที่ผ่อนคลายและสนุกสนาน
  • ฝึกพูดผ่านกิจกรรมที่ลูกชอบ เช่น เล่นเป็นตัวละครจากนิทาน ฝึกให้ลูกพูดหน้ากระจก
  • หลีกเลี่ยงการใช้คำถามที่ต้องตอบยาว ๆ
  • เสริมสร้างความมั่นใจให้ลูก ให้กำลังใจ และอย่าทำให้ลูกอาย
  • พบผู้เชี่ยวชาญหากอาการไม่ดีขึ้น

การที่เด็กพูดไม่ชัด พูดติดอ่าง พูดติดๆ ขัดๆ มีวิธีแก้ด้วยการฝึกฝนอย่างถูกต้อง หากคุณพ่อคุณแม่ช่วยกระตุ้นการพูดด้วยวิธีที่เหมาะสม ลูกจะค่อย ๆ พัฒนาความสามารถทางการพูดได้ดีขึ้นเองค่ะ

 

รับมืออย่างไรเมื่อลูกพูดติดอ่าง ลูกพูดไม่ชัด


เมื่อพบว่าลูกพูดติดอ่างหรือพูดไม่ชัด คุณพ่อคุณแม่อาจรู้สึกกังวล แต่สิ่งสำคัญคือการเข้าใจและช่วยลูกพัฒนาการพูดอย่างถูกต้องโดยไม่กดดัน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถรับมือเมื่อลูกพูดติดอ่าง ลูกพูดไม่ชัด โดยการสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไม่บังคับให้ลูกพูด เพราะจะยิ่งทำให้ลูกกังวล สบตาระหว่างสนทนาและให้กำลังใจลูกเสมอ

นอกจากนี้ ควรเป็นคนเริ่มการสนทนาโดยพูดให้ลูกฟังช้า ๆ ชัดเจน เริ่มจากประโยคสั้น ๆ แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มความยาวประโยค อาจใช้เกมมาช่วยเป็นเครื่องมือในการฝึกพูด หรือเล่นบทบาทสมมุติ โดยไม่ตำหนิหรือล้อเลียนเมื่อลูกพูดผิด

ทั้งนี้ การฟังก็เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาการพูดของลูก คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามอดทนฟังลูกพูดจนจบ ไม่ขัดจังหวะหรือแทรกคำขณะลูกพูด การพูดติดอ่างและพูดไม่ชัดเป็นเรื่องที่พัฒนาได้หากมีการฝึกฝนอย่างถูกวิธีและไม่มีความกดดันจากผู้ปกครอง

 

นมแม่ที่มี MFGM เพื่อ IQ และทักษะสมองเพื่อความสำเร็จ EF ที่เหนือกว่า


นมแม่ที่มี MFGM หนึ่งเดียวที่มีงานวิจัยรองรับว่า* ช่วยให้มี IQ และทักษะสมองเพื่อความสำเร็จ EF ที่เหนือกว่าตั้งแต่ 5 ขวบปีแรก ให้ลูกพร้อมกว่าเมื่อถึงวัยเข้าเรียน โดย MFGM ในนมแม่ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างเส้นใยประสาท (Myelin Sheath) และเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งสัญญาณประสาทเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง ทำให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเรียนรู้และจดจดได้ดียิ่งขึ้น

*สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีและศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย. นมแม่กับการพัฒนาทักษะสมองส่วน Executive Function. 2561

 

ไขข้อข้องใจเรื่องลูกพูดติดอ่าง พูดไม่ออก กับ Enfa Smart Club


พูดติดอ่างตอนโต เกิดจากอะไร

การพูดติดอ่างตอนโตอาจเกิดจากความเครียดสูง การเปลี่ยนแปลงในชีวิต เช่น ย้ายโรงเรียน หรือปัญหาทางจิตใจ เช่น วิตกกังวล

 

ลูก 7 ขวบพูดไม่ชัด ผิดปกติไหม

หากลูก7 ขวบพูดไม่ชัด อาจเป็นสัญญาณของปัญหาทางกายภาพหรือพัฒนาการ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุและวิธีแก้ไข

 

ลูกพูดไม่ชัด 3 ขวบ ทำไงดี

เด็ก 3 ขวบพูดไม่ชัด ถือเป็นเรื่องปกติในบางกรณี ควรฝึกพูดด้วยการอ่านนิทาน เล่นเกมที่ส่งเสริมการออกเสียง และสังเกตพัฒนาการอย่างใกล้ชิด หากอาการไม่ดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

 

ลูกพูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง แก้ยังไง

หากลูกพูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง ควรฝึกให้ลูกบริหารกล้ามเนื้อลิ้น เช่น ให้แลบลิ้นแตะจมูก แลบลิ้นแตะคาง หรือดื่มน้ำจากหลอดเพื่อกระตุ้นการทำงานของลิ้น หากไม่ดีขึ้นควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูความผิดปกติทางกายภาพ และฝึกออกเสียงร่วมกับนักแก้ไขการพูด

 

โปรดอ่านข้อมูลเบื้องต้น และคลิก

“เข้าสู่เว็บไซต์”

เพื่อดำเนินการต่อ

Line TH
Shopee TH Lazada TH Join Enfamama