ตรวจสอบข้อมูลโดย : ผศ.พญ.ดิษจี ลุมพิกานนท์
กุมารแพทย์ สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล
อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทารก เนื่องจากระบบทางเดินอาหารของเด็กยังบอบบาง เอนไซม์ในการย่อยโปรตีน และแลคโตสยังทำงานไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้โปรตีน และแลคโตสผ่านจากลำไส้เล็กไปสู่ลำไส้ใหญ่ ที่มีแบคทีเรียอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
โดยแบคทีเรียเหล่านี้ เป็นตัวย่อยน้ำตาลแลคโตส และโปรตีนที่ตกค้างในลำไส้ จึงทำให้เกิดแก๊สในทางเดินอาหารของลูก และเป็นสาเหตุทำให้ลูกน้อยท้องอืด ท้องเฟ้อ ไม่สบายท้อง จนลูกร้องไห้กวนโยเยอย่างที่คุณแม่ประสบอยู่
เมื่อเราเข้าใจสาเหตุที่ทำให้ลูกท้องอืด ท้องเฟ้อแล้ว มาดูวิธีดูแลลูกน้อยแก้ปัญหาอาการท้องอืด และท้องเฟ้อ โดยสามารถทำได้ดังนี้
• จัดท่าให้นมที่ถูกต้อง: เพื่อไม่ให้ลม หรืออากาศเข้าท้องลูก ขณะให้นมลูกควรยกศีรษะลูกให้อยู่สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย
• จับลูกไล่ลมทุกครั้งที่ลูกอิ่มนมแล้ว: คุณแม่ต้องไม่ลืมที่จะจับลูกไล่ลมเพื่อให้เรอออกมา ลูกจะได้สบายตัว และสบายท้อง
• รักษาความสะอาดอุปกรณ์ให้นม: ต้องพิถีพิถัน ใส่ใจในการล้าง และจัดเก็บเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคที่อาจส่งผลให้เกิดอาการทารกท้องอืด และท้องเฟ้อได้
• หลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะ: ทารกที่กินนมแม่ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะมาก เช่น ถั่วชนิดต่าง ๆ ผักบางชนิด เป็นต้น
• ลองเปลี่ยนนม: หากในกรณีที่คุณแม่มีความจำเป็นต้องให้นมผง แทนการให้นมแม่ และลองทุกวิธีแล้ว ยังพบว่าลูกยังมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้ออยู่ คุณแม่ควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาสาเหตุอาการของลูกน้อย และหาวิธีรักษาที่เหมาะสม เช่น หากลูกกินนมผง ลองปรึกษาคุณหมอเพื่อเปลี่ยนนมเป็นนมสูตรย่อยง่าย ที่มีโปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วน และมีน้ำตาลแลคโตสต่ำกว่านมสูตรปกติ ซึ่งจะเหมาะสมกับระบบการย่อยที่ยังบอบบางของลูก นมประเภทนี้จะช่วยให้ลูกกลับมาสบายตัว ไม่มีปัญหาท้องอืด ท้องเฟ้อ และไม่สบายท้อง
ในสมัยก่อน เมื่อเด็กท้องอืด ท้องเฟ้อ ไม่สบายท้องจนร้องกวนโยเย ก็จะหาวิธีการต่าง ๆ มาบรรเทาอาการ อย่างการใช้ภูมิปัญญาไทยในการใช้สมุนไพรมาบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังเป็นภูมิปัญญาไทยที่ยังคงใช้กันอยู่ เช่น
• ใข้มหาหิงค์: สมุนไพรที่ใช้กันบ่อย และเป็นเคล็ดลับที่เหล่าคุณแม่แนะนำกัน หากลูกมีอาการท้องอืด หรือท้องเฟ้อ ใช้มหาหิงค์ทาที่ท้อง ในปัจจุบันนี้ เราสามารถหาซื้อมหาหิงค์ในรูปแบบของทิงเจอร์ได้แล้ว
• ใช้หัวไพล ใบกะเพรา: สมุนไพรอีกชนิดที่ใช้แก้ท้องอืด นำหัวไพลสดมาตำ แล้วนำน้ำมันที่ได้มาทาบริเวณท้องของลูก เพื่อบรรเทาอาการเด็กท้องอืด หรือนำใบกะเพราที่มีติดครัวแทบทุกบ้านมาต้มให้ลูกกินน้ำ เพื่อขับลมในกระเพาะให้เด็กสบายท้อง
• ใบพลูอังไฟ: นำใบพลู 4 – 5 ใบ มาอังไฟ หรือลนกับเทียน เพื่อให้ใบพลูอ่อน และพออุ่นแล้วนำไปวางบนท้องเด็กซ้อนกันหลายชั้น เมื่อใบพลูเย็นก็ให้เปลี่ยนใบใหม่ เชื่อว่าใบพลูมีน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยบรรเทาอาการเด็กท้องอืด ท้องเฟ้อได้เช่นกัน
การใช้สมุนไพรแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อกับเด็กทารก ต้องคำนึงถึงข้อควรระวังเป็นพิเศษ ทั้งเรื่องปริมาณการใช้ให้เหมาะกับวัยของลูก การเลือกส่วนต่าง ๆ ของสมุนไพรมาใช้ให้ถูก แต่ละชนิดจะต้องใช้ราก ใบ ดอก หรือผล เพื่อการออกฤทธิ์ที่ได้ผล รวมถึงวิธีการใช้ ก็จะต้องศึกษาให้ดีด้วย บางชนิดต้องนำมาต้ม บางชนิดต้องใช้สดถึงจะช่วยลดอาการของลูกได้ หากใช้ไม่ถูกวิธี ผลที่คิดว่าจะดี อาจกลายเป็นผลเสีย คุณแม่จึงต้องระมัดระวังในการใช้
เมื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด อาการท้องอืด ท้องเฟ้อก็บรรเทาลง ลูกน้อยก็จะสบายตัว พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ดี คุณแม่ก็เตรียมชื่นใจไปกับพัฒนาการในแต่ละชั่วโมงของลูกได้เลยค่ะ
Enfa สรุปให้ ลูกท้องผูก 3 ขวบ มักเกิดจากพฤติกรรมการกินเป็นหลัก เช่น กินอาหารไม่มีกากใย ไม่กินผัก...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ ลูกท้องผูก 4 ขวบ เป็นปัญหากวนใจที่พบได้บ่อยในวัยอนุบาล มักเกิดจากการขาดไฟเบอร์ ดื่ม...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ ลูกท้องผูก 2 ขวบ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด ความกลัวในการขับถ่าย ดื่มน้ำน...
อ่านต่อ