ตรวจสอบข้อมูลโดย : ผศ.พญ.ดิษจี ลุมพิกานนท์
กุมารแพทย์ สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล

 

เด็ก ๆ แต่ละคนไม่เหมือนกัน สิ่งหนึ่งที่เหมาะกับเด็กคนหนึ่ง อาจไม่เหมาะกับอีกคน แต่มีสิ่งหนึ่งที่เด็กทุกคนเหมือนกันคือ ร้องไห้เพื่อสื่อสารหรือบอกความต้องการของตนเองไมใช่ว่าลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุ ซึ่งคุณแม่มือใหม่ต้องเฝ้าสังเกตและเรียนรู้ว่าเสียงร้องของลูกบอกอะไร งานนี้ไม่มีกูเกิ้ลมาช่วยแปลซะด้วย! แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลไปนะคะ การร้องไห้ของเด็กมีสาเหตุบางอย่างร่วมกัน  เช่น ท้องอืด ไม่สบายตัว และอื่นๆ เรามาดูสาเหตุเหล่านั้นและวิธีปลอบโยนลูกกันค่ะ

10 สาเหตุที่ลูกร้องไห้

คุณแม่ลองเช็กดูนะคะว่าลูกของเราร้องไห้ด้วยสาเหตุใดบ้างจาก 10 สาเหตุนี้

1. ลูกร้องไห้ เพราะ...ท้องอืด ไม่สบายท้อง

หากคุณแม่สังเกตว่าลูกร้องไห้เสียงสั้นๆ หลังกินนม หลังดูดหัวนมหลอก หรือหลังการสะอึก ซึ่งลูกดูดนมเข้าไป พร้อมอาการหลังแอ่น ถีบขา บิดตัวไปมา แสดงให้คุณแม่รู้ว่าลูกท้องอืด ไม่สบายท้อง อึดอัดจากการมีลมในท้อง คุณแม่ต้องไล่ลมให้ลูกเพื่อคลายอาการ ซึ่งทำได้ด้วยการอุ้มลูกพาดบ่า ให้คางลูกเกยไหล่คุณแม่ แล้วลูบหลังลูกขึ้นลงสักพัก หรือจับลูกขาลูกปั่นจักรยานอากาศ เพื่อให้ลูกเรอหรือผายลมออกมา จะได้สบายตัวขึ้น

นอกจากนี้ หากลูกกินนมผง การเลือกนมสูตรย่อยง่ายให้ลูก จะช่วยลดอาการท้องอืด ไม่สบายท้องได้ส่วนหนึ่ง เพราะเป็นนมที่มีโปรตีนผ่านการย่อยบางส่วนและมีน้ำตาลแลคโตสต่ำกว่านมสูตรปกติ ซึ่งสอดคล้องกับระบบการย่อยของลูกเล็กที่ยังทำงานไม่สมบูรณ์ พร้อมกับการไล่ลมหลังมื้อนม จะช่วยลด การร้องไห้ของลูกด้วยสาเหตุนี้ลงได้

2. ลูกร้องไห้ เพราะ...โคลิก

อาการร้องโคลิกมักเกิดกับทารกอายุประมาณ 2-3 สัปดาห์ไปจนถึง 3 เดือน ทารกนั้นเมื่อรู้สึกหิว เบื่อ เหนื่อย หรือรู้สึกเปียกชื้นจะดูเหมือนลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุ แต่หากมีอาการโคลิกลูกจะร้องไห้หนักมาก และร้องไห้ในช่วงเวลาเดิม ๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะเวลาเย็นหรือหัวค่ำ เสียงร้องดัง แหลม และนานกว่าปกติ โดยรวมแล้วจะร้องไห้ประมาณวันละ 3 ชั่วโมง มากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ และร้องยาวนานติดกันเกือบ 1 เดือนหรือบางรายอาจนานกว่านั้น และอาจมีอาการดีขึ้นเมื่ออายุประมาณ 3-4 เดือน

หากลูกร้องโคลิก ให้คุณแม่อุ้มลูกไว้ในอ้อมแขนแล้วโยกไปมาเบาๆ หรือนั่งโยกตัวบนเก้าอี้โยก ให้ลูกรู้สึกถึงความใกล้ชิดกับคุณแม่ หรืออุ้มลูกออกไปเดินเปลี่ยนบรรยากาศภายนอก อาจช่วยให้ลูกสงบลงได้

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

3. ลูกร้องไห้ เพราะ...หิว

เมื่อลูกร้องไห้เพราะหิว คุณแม่จะได้ยินลูกร้องเป็นจังหวะด้วยเสียงต่ำๆ สั้นๆ และลิ้นจะพยายามดุนปากเพื่อหานมมาดูด หรือเด็กบางคนก็ดูดกำปั้นตนเอง หากคุณแม่ตอบสนองไม่ทันใจ ลูกจะเริ่มโกรธและร้องไห้ดังขึ้น พออุ้มลูกเข้าหาเต้า ลูกจะส่ายหัวไปมาเพื่อหาหัวนม พอได้กินนมก็จะหยุดร้องไห้

4. ลูกร้องไห้ เพราะ...ง่วง

เมื่อง่วง ลูกจะร้องเสียงอาวด้วยลักษณะอ้าปากและห่อปากลงเหมือนการดูดงับเอาออกซิเจนเข้าไปในปากคล้ายกับการหาว พร้อมกับหาวจริงๆ และเอามือขยี้หน้าตา เมื่อลูกร้องเสียงแบบนี้และแสดงท่าทางดังกล่าว คุณแม่กล่อมนอนได้เลย สักพักเขาก็จะหลับค่ะ

5. ลูกร้องไห้ เพราะ...ผ้าอ้อมเปียกแฉะ

เด็กบางคนสามารถอยู่กับผ้าอ้อมเปียกแฉะได้นานๆ แต่เด็กบางคนก็ทนไม่ได้ ซึ่งหากทารกร้องไห้ ถีบขา หรือทำท่าขยับเนื้อตัว คุณแม่ลองเช็กผ้าอ้อมลูกดูว่าเปียกแฉะจนถึงเวลาต้องเปลี่ยนหรือยัง

ลูกร้องไห้ งอแง

6. ลูกร้องไห้ เพราะ...เจ็บเหงือก

เด็กจะเริ่มฟันขึ้นเมื่อประมาณเดือนที่ 5 เมื่อเริ่มปวดๆ ตรงเหงือก ลูกจะร้องไห้พร้อมน้ำลายไหล ช่วงนี้น้ำลายของลูกจะออกมามาก เพราะเมื่อเหงือกได้รับการกระตุ้นด้วยฟันที่เริ่มงอกก็จะทำให้มีน้ำลาย เพิ่มขึ้น เหงือกบวมแดง และเด็กมักจะกัดทุกอย่างที่อยู่ใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นของเล่น มือหรือเท้าของตัวเอง รวมทั้งหัวนมแม่ สังเกตได้ว่าเหงือกของลูกจะมีอาการแดงหรือบวมมากกว่าปกติ

หากเหงือกของลูกไม่บวมหรือเจ็บมาก และลูกยอมให้คุณแม่สอดนิ้วเข้าไปในปาก ให้ล้างมือให้สะอาดแล้วลองนวดเหงือกของลูกเบาๆ เพราะการนวดจะช่วยให้ลูกผ่อนคลายและช่วยบรรเทาอาการปวดได้ รวมทั้งหาของเย็นๆ ให้ลูกกัด เช่น ยางกัด จุกนมหลอก หรือผ้าสะอาดเปียกหมาดๆ แช่ตู้เย็นแล้วเอามาให้ลูกกัดบรรเทาอาการเจ็บเหงือก

7. ลูกร้องไห้ เพราะ...เหนื่อย

การที่เด็กที่ถูกกระตุ้นเกินไปจากคนรอบข้าง เช่น มีแขกมาเยี่ยมบ่อยๆ คุณพ่อคุณแม่ชวนเล่นมากเกินไป ทำให้ลูกเหนื่อย อ่อนเพลีย อยากพักผ่อน ลูกจึงร้องไห้บอกให้ส่งสัญญาณให้รู้ คุณแม่จึงควรให้ลูกได้อยู่ในที่เงียบๆ ที่ไม่มีใครรบกวนสักระยะ การเล่นกับลูกเป็นเรื่องที่ดีและต้องทำ แต่ต้องไม่มากเกินไปจนทำให้ลูกเหนื่อย

8. ลูกร้องไห้ เพราะ...เหงา

สาเหตุที่แล้ว ลูกร้องไห้เพราะมีคนมาเล่นมากเกินไปจนเพลีย แต่สาเหตุข้อนี้คือลูกไม่มีคนเล่นด้วยจนรู้สึกเหงา เบื่อ จึงร้องไห้เพื่อเรียกร้องความสนใจ เพราะเด็กๆ นั้นเขามีความสุขเมื่อมีคนที่เขาคุ้นเคยอยู่ด้วย เมื่อลูกตื่น คุณแม่จึงไม่ควรปล่อยลูกให้นอนในเปลตามลำพัง ต้องมาคุยมาเล่นกับเขา หรืออย่างน้อยที่สุด หากเราไม่ว่างจะมาคุยหยอกล้อจริงๆ แค่การไกวเปลให้รู้ว่ามีคนอื่นอยู่กับเขาด้วย เขาก็อุ่นใจแล้วค่ะ

9. ลูกร้องไห้ เพราะ...ป่วย

ไม่มีใครชอบอาการป่วย เด็กก็เช่นกัน หากลูกป่วยคุณแม่จะสังเกตได้ว่าลูกร้องไห้บ่อยและนานกว่าปกติ รวมทั้งมีอาการข้างเคียงคือ มีไข้ ตัวร้อน กระสับกระส่าย ไม่กินนม ฯลฯ คุณแม่ต้องรีบพาลูกไปหาคุณหมอนะคะ

10. ลูกร้องไห้ เพราะ...มีสิ่งรบกวน

เพราะลูกยังเล็กยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เมื่อมีสิ่งต่างๆ มารบกวน เช่น มีเสียงดัง มีแสงจ้าเข้าตา อากาศหนาว มดกัด มีผ้าห่มมาบังใบหน้า ฯลฯ เหล่านี้เป็นสาเหตุให้ลูกร้องเพื่อสื่อสารให้คุณแม่รู้จะได้มาดูและแก้ปัญหาให้เขา คุณแม่จึงต้องหมั่นสังเกตในเปลลูกว่ามีสิ่งใดรบกวนลูกหรือไม่ สิ่งแวดล้อมรอบข้างเป็นอย่างไร เพื่อจะได้ไม่รบกวนลูกค่ะ

เหล่านี้เป็นสาเหตุโดยรวมที่ทำให้ลูกร้องไห้ คนที่จะช่วยลูกแก้ไขสาเหตุเหล่านี้ได้ก็คือคุณแม่ที่ต้องการเห็นลูกน้อยมีความสุขอยู่เสมอ การดูแลอย่างเอาใจใส่จะเปลี่ยนเสียงร้องไห้ของลูกเป็นเสียงหัวเราะได้ไม่ยากค่ะ

อึไม่ออก ต้องทำยังไง พบคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญได้ที่นี่