Enfa สรุปให้

  • เด็กทารกสามารถเดินทางบนเครื่องบินได้ แต่โดยมากมักจะรอให้เด็กอายุ 4-8 สัปดาห์ก่อนจึงพาขึ้นเครื่องบิน เพราะทารกที่อายุยังน้อย มีโอกาสติดเชื้อจากการเดินทางได้ง่าย

  • ก่อนพาทารกขึ้นเครื่องบิน ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขภาพก่อนว่ามีความพร้อมสำหรับการเดินทางทางอากาศหรือไม่ เพราะเด็กบางคนอาจมีร่างกายที่อ่อนแอและยังไม่พร้อมสำหรับการขึ้นเครื่องบิน

  • ความกดอากาศบนเครื่องบิน จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความดันให้ชั้นหู ทำให้เด็กหูอื้อ รู้สึกปวดหู และร้องไห้ได้ ควรพกที่อุดหู ยาหยอดหู หรือให้นมขณะเดินทาง เพื่อลดอาการหูอื้อ

    เลือกอ่านตามหัวข้อ

         • ทารกขึ้นเครื่องบินได้ไหม
         • ทารกขึ้นเครื่องบินต้องเตรียมอะไรบ้าง
         • เตรียมตัวอย่างไร เมื่อต้องพาทารกขึ้นเครื่องบิน
         • ไขข้อข้องใจเรื่องการพาทารกขึ้นเครื่องบินกับ Enfa Smart Club

    การเดินทางบนเครื่องบินร่วมกับเด็กทารก บางครั้งก็เป็นสถานการณ์ที่ยากจะหลีกเลี่ยง เพราะปัจจัยและความจำเป็นที่บังคับให้ต้องพาเด็กขึ้นเครื่องบินไปด้วยกัน

    แต่ก่อนที่จะพาลูกขึ้นเครื่องบินนั้น เรามาดูกันก่อนว่ามีเรื่องอะไรที่จะต้องรู้ และมีสิ่งใดที่ควรเตรียมพร้อมก่อนออกเดินทางกันบ้าง

    ทารกขึ้นเครื่องบินได้ไหม


    โดยทั่วไปแล้วทารกส่วนใหญ่สามารถที่จะโดยสารบนเครื่องบินได้ค่ะ แต่ก็ไม่ใช่เด็กทุกคนนะคะที่จะทำได้ เพราะเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานสุขภาพที่แตกต่างกัน

    แพทย์อาจแนะนำให้เด็กบางคนรอจนอายุอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ก่อน จึงสามารถเดินทางบนเครื่องบินร่วมกับครอบครัวได้ แต่เด็กบางคนอาจสามารถเดินทางได้ตั้งแต่มีอายุครบ 7 วัน

    ทั้งนี้เพราะระบบภูมิคุ้มกันของทารกยังไม่แข็งแรง จึงมีโอกาสที่จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย อย่าลืมว่าทั้งที่สนามบินและบนเครื่องบินนั้นมีผู้โดยสารรวมกันอยู่มากมาย เด็กเล็ก ๆ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการติดเชื้อได้ค่ะ 

    มากไปกว่านั้น ความกดอากาศยังอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความดันในชั้นหู ทำให้ทารกมีอาการเจ็บหูได้ หูอื้อได้ ถือว่าเป็นความท้าทายทางสุขภาพของทารกอยู่ไม่น้อยเลยค่ะ 

    แต่คนเรามีเหตุปัจจัยในชีวิตที่แตกต่างกันไป บางคนอาจจำเป็นต้องมีการอพยพ อาจจะเป็นภัยการเมือง ภัยธรรมชาติ จำเป็นต้องไปดูแลญาติพี่น้อง หรือมีความจำเป็นที่จะต้องพาลูกเดินทางบนเครื่องบินด้วยเนื่องจากปล่อยไม่สามารถทิ้งลูกไว้ที่บ้านโดยไม่มีผู้ดูแลได้ เป็นต้น 

    ดังนั้น หากมีเหตุจำเป็นจะต้องพาลูกนั่งเครื่องบิน คุณพ่อคุณแม่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใส่ใจกับความปลอดภัยของลูก อาจจะต้องมีการพาลูกไปตรวจสุขภาพกับแพทย์ว่าพร้อมสำหรับการเดินทางบนเครื่องบินไหม และถ้าจำเป็นอาจจะต้องมีการฉีดวัคซีนบางชนิดเพื่อป้องกันโรคติดต่อด้วย 

    ทารกขึ้นเครื่องบิน ต้องมีอายุอย่างน้อยเท่าไหร่ 

    ทารกส่วนมากที่อายุตั้งแต่ 7-14 วันสามารถเดินทางบนเครื่องบินได้ค่ะ แต่เพื่อความปลอดภัย แพทย์อาจจะแนะนำให้รอจนกระทั่งเด็กมีอายุ 4-8 สัปดาห์ขึ้นไปจึงค่อยเดินทางด้วยเครื่องบิน

    เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อจากการเดินทางบนอากาศได้ค่ะ เนื่องจากเด็กทารกมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อได้ง่าย เพราะระบบภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง 

    อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางจริง ๆ อาจจะต้องพาลูกไปตรวจสุขภาพกับแพทย์ รับวัคซีนป้องกันโรคติดต่อ และศึกษาวิธีการดูแลลูกบนเครื่องบินให้พร้อมก่อนการเดินทาง เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย 

    สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

    เด็กทารกขึ้นเครื่องบินต้องเตรียมอะไรบ้าง


    การพาทารกเดินทางบนเครื่องบินนั้น ถือว่าเป็นด่านวัดใจของคุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่น้อยค่ะ นอกจากจะต้องดูแลความปลอดภัยแก่ลูกน้อยแล้ว ยังต้องคอยระวังไม่ให้ลูกรบกวนผู้โดยสารคนอื่น ๆ บนเที่ยวบินด้วย เรียกได้ว่าไม่ง่ายเลยจริง ๆ 

    มากไปกว่านั้น ไม่ใช่ทุกสายการบินที่จะอนุญาตให้ทารกเดินทางด้วย คุณพ่อคุณแม่จำเป็นจะต้องเช็กรายละเอียดกับสายการบินที่จะซื้อตั๋วเครื่องบินให้ดีก่อนนะคะ ว่ามีข้อกำหนดการเดินทางร่วมกับทารกอย่างไรบ้าง  

    อย่างสายการบินในประเทศไทย ก็จะมีข้อกำหนดการเดินทางกับทารกเอาไว้หลายข้อ ดังนี้ 

    ทารกขึ้นเครื่องบินการบินไทย 

    สายการบินไทย มีข้อกำหนดการเดินทางบนเที่ยวบินร่วมกับทารกตามที่ระบุไว้บนเว็บไซต์ของสายการบิน ดังนี้ 

    • เมื่อทำการจองตั๋วโดยสารให้แจ้งข้อมูลของผู้โดยสารที่เป็นเด็กแก่เจ้าหน้าที่เพื่อให้สายการบินเตรียมการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารที่เป็นเด็ก
      เช่น เตรียมเปลสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 เดือน และหนักน้อยกว่า 10 กิโลกรัม และสูงไม่เกิน 67 เซนติเมตร เก้าอี้ติดรถยนต์สามารถนำขึ้นมาใช้ได้สำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี โดยซื้อที่นั่งเพิ่ม แต่ต้องเป็นรุ่นที่ได้รับการอนุญาตโดยองค์กรการบินระหว่างประเทศ 
    • ควรอุ้มเด็กเล็กไว้ระหว่างที่เครื่องขึ้นลง 
    • จัดเตรียมเสื้อผ้าที่อุ่นพอเนื่องจากอุณหภูมิบนเครื่องจะเย็นกว่าปกติ 
    • การเดินทางโดยเครื่องบิน ไม่แนะนำในทารกแรกเกิดอายุน้อยกว่า 2 สัปดาห์ เพราะทารกยังต้องปรับตัวจากการใช้ชีวิตนอกครรภ์มารดา และเพื่อให้แน่ใจได้ว่าทารกนั้นแข็งแรง และไม่มีความผิดปกติมาแต่กำเนิด 
    • เด็กที่มีโรคประจำตัว ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนขณะโดยสารอยู่บนเครื่องบิน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทางทุกครั้ง 
    • การเปลี่ยนความดันบรรยากาศภายในห้องโดยสารของเครื่องบิน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของความดันในหูชั้นกลาง ทำให้เกิดอาการปวดหูได้ เพื่อลดอาการดังกล่าวควรให้เด็กดื่มนมหรือใช้จุกยางสำหรับเด็ก (เด็กโตอาจให้ดื่มนมจากแก้วหรือให้เคี้ยวหมากฝรั่ง) โดยเฉพาะขณะที่เครื่องทำการลง ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดภาวะสมดุลของความดันในหูชั้นกลางได้ 
    • เด็กที่มีอาการเมาเครื่องบินควรรับประทานยาครึ่งชั่วโมงก่อนออกเดินทาง 

    ทารกขึ้นเครื่องบินแอร์เอเชีย 

    สายการบินแอร์เอเชีย มีข้อกำหนดการเดินทางบนเที่ยวบินร่วมกับทารกตามที่ระบุไว้บนเว็บไซต์ของสายการบิน ดังนี้ 

    • หากคุณได้สำรองที่นั่งและต้องเดินทางกับทารกในเที่ยวบินดังกล่าว คุณจะต้อง เพิ่มผู้โดยสารทารก ในบุ๊คกิ้งของคุณ  
    • หากคุณต้องการเดินทางร่วมกับทารก ท่านจะต้องชำระค่าธรรมเนียมสำหรับทารกตามที่กำหนดไว้ใน ตารางค่าธรรมเนียม   
    • แอร์เอเชีย และ แอร์เอเชียเอ็กซ์ สงวนสิทธิ์ในการจำกัดจำนวนการอนุญาตให้ผู้โดยสารทารกเดินทางในแต่ละเที่ยวบิน เนื่องจากในแต่ละเที่ยวบินมีเสื้อชูชีพสำหรับทารกจัดเตรียมไว้ในจำนวนจำกัด เราขอแนะนำให้คุณสำรองที่นั่งล่วงหน้า!  
    • สำหรับเที่ยวบินแอร์เอเชียเอ็กซ์ เราขอแนะนำให้คุณสั่งจองบริการ เลือกที่นั่งถูกใจ ที่มาพร้อมกับที่นั่งสำหรับทารกเพื่อความสะดวกในการเดินทางกับคนที่คุณรัก  ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ตำแหน่งที่นั่งสำหรับทารก บนเที่ยวบินแอร์เอเชียเอ็กซ์ 
    • ทารกจะไม่ได้รับโควตาน้ำหนักสัมภาระแต่ผู้โดยสารสามารถเช็คอินสัมภาระใต้ท้องเครื่องสำหรับใช้กับผู้โดยสารเด็กหรือทารกเพียงคนเดียวเท่านั้น  นอกเหนือจากนั้น ผู้โดยสารต้องซื้อน้ำหนักสัมภาระใต้ท้องเครื่องล่วงหน้า  
    • ผู้โดยสารสามารถใช้รถเข็นเด็กได้จนถึงประตูขึ้นเครื่อง จากนั้นต้องนำไปโหลดเป็นสัมภาระใต้ท้องเครื่อง  ทั้งนี้ ผู้โดยสารสามารถใช้รถเข็นเด็กได้ที่บันไดขั้นสุดท้าย ภายนอกประตูเครื่องบิน หรือบริเวณสายพานลำเลียงกระเป๋าได้ โดยขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของสนามบินปลายทางในแต่ละเที่ยวบิน  
    • สามารถพกพารถเข็นเด็กแบบพับได้เป็นสัมภาระพกพาโดยต้องมีน้ำหนักไม่เกินที่กำหนดตาม ข้อกำหนดสัมภาระพกพาขึ้นเครื่อง 
    • ผู้โดยสารทารกทั้งหมดได้รับอนุญาตให้นั่งบนตักของผู้ใหญ่ได้ โดยอนุญาตให้ผู้ใหญ่หนึ่ง (1) คน ต่อทารกหนึ่ง (1) คนเท่านั้น  และห้ามไม่ให้นำรถเข็นหรือที่นั่งสำหรับเด็กขึ้นบนห้องโดยสาร 
    • เรามีเข็มขัดนิรภัยสำหรับทารกให้บริการจำนวนจำกัดและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจะเป็นผู้แจกเข็มขัดนิรภัยสำหรับทารก 
    • หากคุณต้องเดินทางกับทารก กรุณาเตรียม อาหารและอุปกรณ์สำหรับทารก ให้เพียงพอ เนื่องจากไม่ได้มีการติดตั้งเครื่องอุ่นขวดนม/อาหารสำหรับเด็ก  
    • ผู้โดยสารที่เดินทางมากับทารกและเด็กเป็นครอบครัวจะได้รับสิทธิ์ขึ้นเครื่องก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อให้ผู้ปกครองมีเวลามากขึ้นในการจัดเก็บสัมภาระพกพาและดูแลให้เด็กนั่งได้อย่างเรียบร้อยและพร้อมสำหรับการเดินทาง 
    • เพื่อความปลอดภัยของเด็ก สายการบินฯ จึงอนุญาตให้ใช้เตียงพับนอนเฉพาะที่นั่งติดหน้าต่างสำหรับเที่ยวบินแอร์เอเชีย และในที่นั่งติดหน้าต่างหรือที่นั่งตรงกลางระหว่างทางเดินทางสำหรับเที่ยวบินแอร์เอเชียเอ็กซ์เท่านั้น ทั้งนี้ เด็กต้องสามารถรัดเข็มขัดไว้ใต้แขนของเด็กได้ในระหว่างการใช้เตียงพับนอนบนเที่ยวบิน 
    • สายการบินฯ ไม่อนุญาตให้ทารกใช้เตียงพับนอนบนเที่ยวบิน 

    ทารกขึ้นเครื่องบินนกแอร์ 

    สายการบินนกแอร์ มีข้อกำหนดการเดินทางบนเที่ยวบินร่วมกับทารกตามที่ระบุไว้บนเว็บไซต์ของสายการบิน ดังนี้ 

    • ลูกนก (Nok Infant) คือ เด็กทารกที่มีอายุมากกว่า 14 วัน แต่ไม่ถึง 2 ปีบริบูรณ์ ในวันเดินทาง เด็กทารกที่อายุต่ำกว่า 14 วัน บริษัทฯ จะไม่อนุญาตให้เดินทาง 
    • ผู้โดยสารเด็กทารก อายุตั้งแต่ 14 วัน แต่ไม่ถึง 2 ปีบริบูรณ์ ในวันเดินทาง ต้องโดยสารบนตักของผู้ใหญ่ โดยผู้ใหญ่ 1 คนต่อเด็กทารก 1 คน ในการเดินทางเท่านั้น 
    • ผู้โดยสารอายุ 2 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ถึง 12 ปีบริบูรณ์ ในวันเดินทาง ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางโดยลำพัง จำเป็นต้องมีผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปีร่วมเดินทางด้วย โดยมีอัตราค่าโดยสารเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ 
    • ผู้โดยสารอายุตั้งแต่ 12 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ถึง 16 ปีบริบูรณ์ ในวันเดินทาง สามารถเดินทางโดยลำพังได้ แต่ไม่สามารถพาเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีเดินทางด้วยกัน โดยมีอัตราค่าโดยสารเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ 
    • ผู้โดยสารผู้ใหญ่ มีอายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ในวันเดินทาง สามารถพาเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีเดินทางด้วยกันได้ 
    • ผู้ใหญ่เดินทางพร้อมเด็กทารกอายุตั้งแต่ 14 วัน แต่ไม่ถึง 2 ปีบริบูรณ์ ในวันเดินทาง มีค่าธรรมเนียมนกอินแฟนต์ (Nok Infant) 500 บาทต่อเที่ยวบิน โดยสงวนสิทธิ์เด็กทารก 1 ท่านนั่งโดยสารบนตักของผู้ใหญ่ 1 ท่าน โดยนกแอร์จะทำการเก็บค่าธรรมเนียมนกอินแฟนต์ (Nok Infant) 

    ทารกขึ้นเครื่องบินไลอ้อนแอร์ 

    สายการบินไลอ้อนแอร์ มีข้อกำหนดการเดินทางบนเที่ยวบินร่วมกับทารกตามที่ระบุไว้บนเว็บไซต์ของสายการบิน ดังนี้ 

    • อัตราค่าโดยสารสำหรับทารก อายุตั้งแต่ 8 วันถึง 2 ปี หรือ 24 เดือน นับถึงวันเดินทาง ท่านสามารถตรวจสอบได้จากตารางอัตราค่าธรรมเนียมบนเว็บไซต์ของสายการบินไลอ้อนแอร์ 
    • สายการบินขอสงวนสิทธิ์ไม่อนุญาตให้เดินทางสำหรับทารกที่มีอายุต่ำกว่า 8 วัน  
    • สายการบินอนุญาตให้ผู้ใหญ่หนึ่งคน ต่อเด็กทารกหนึ่งคนเท่านั้น  
    • สายการบินไม่อนุญาตให้นำรถเข็นหรือที่นั่งสำหรับเด็กขึ้นบนห้องโดยสารของเครื่องบิน 
    • ผู้โดยสารประเภท ทารก (อายุต่ำกว่า 2 ปี) ไม่สามารถซื้อบริการเลือกที่นั่งล่วงหน้าได้ 
    • สายการบินไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขนส่งสัมภาระสำหรับรถเข็นเด็กทารก รถเข็นวิลแชร์ อุปกรณ์ช่วยเดิน/ไม้เท้าค้ำยัน ทั้งนี้ทารกจะไม่ได้รับสิทธิการขนส่งสัมภาระแม้ว่าสายการบินจะยกเว้นค่าธรรมเนียมการขนส่งรถเข็นเด็กทารกก็ตาม 

    ทารกขึ้นเครื่องบิน ราคา เท่าผู้ใหญ่ไหม 

    บางสายการบินอาจมีการลดอัตราค่าโดยสารสำหรับเด็ก แต่บางสายการบินก็ไม่มี ขึ้นอยู่กับนโยบายราคาของแต่ละสายการบิน  

    คุณพ่อคุณแม่สามารถเช็กราคาสำหรับผู้โดยสารทารกได้จากเว็บไซต์หรือสอบถามโดยตรงกับแผนกให้บริการของสารการบินที่สนใจ  

    พาเด็กขึ้นเครื่องบิน คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมตัวอย่างไร


    ก่อนที่จะพาลูกน้อยเดินทางบนเครื่องบิน หลังจากเช็กเรียบร้อยดีแล้วว่าสายการบินที่ต้องการจะใช้บริการอนุญาตให้ทารกร่วมเดินทางได้ คราวนี้คุณพ่อคุณแม่ก็จะต้องมาเตรียมเช็กลิสต์อื่น ๆ เพื่อให้พร้อมรับมือกับการเดินทางไกลบนเครื่องบินของเจ้าตัวเล็ก 

    โดยการเตรียมตัวก่อนพาลูกน้อยเหินฟ้าด้วยเครื่องบิน มีดังนี้ 

    • พาลูกไปตรวจสุขภาพกับแพทย์ ว่าพร้อมสำหรับการเดินทางหรือไม่ รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ สำหรับเด็กให้เรียบร้อยก่อนการเดินทางด้วย 

    • หากเป็นการเดินทางไปต่างประเทศ ควรพาลูกไปทำพาสปอร์ตให้เรียบร้อย

    • หากเป็นการเดินทางไปต่างประเทศ เตรียมวีซ่าและเอกสารการเดินทางต่าง ๆ ที่จำเป็นให้เรียบร้อย เพื่อความสะดวกในการเดินทางและผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง

    • ทารกนั้นค่อนข้างหลับง่าย ดังนั้นควรเลือกช่วงเวลาเดินทางที่ตรงกับการเข้านอนตามปกติของลูก อาจช่วยให้เด็กไม่ร้องอแงรบกวนผู้อื่น

    • เลือกที่นั่งที่ติดริมหน้าต่าง หากเป็นไปได้ หลีกเลี่ยงที่นั่งติดทางเดิน เพราะแขนขาเล็ก ๆ ของทารกอาจจะไปเกี่ยวเข้ากับผู้โดยสารคนอื่น ๆ ที่เดินไปมา อาจเกิดอุบัติเหตุระหว่างการให้บริการอาหารและน้ำดื่ม เครื่องดื่มชนิดร้อนอาจหกใส่ทารกได้ขณะส่งต่อให้ผู้โดยสารคนอื่น ๆ หรือถ้าหากมีคาร์ซีท สายการบินส่วนใหญ่มักจะกำหนดให้ติดตั้งคาร์ซีทไว้ตรงที่นั่งริมหน้าต่าง 

    • พยายามเลือกที่นั่งที่มีพื้นที่ทางเดินมากหน่อย เช่น ที่นั่งติดผนังกั้น ที่นั่งใกล้ทางออก เผื่อกรณีฉุกเฉิน 

    • เสื้อผ้าที่สวมให้ลูก ควรเลือกที่ถอดง่าย หรือง่ายต่อการเปลี่ยนผ้าอ้อม เพื่อเป็นการย่นเวลาและลดความวุ่นวายในการเปลี่ยนผ้าอ้อมและเปลี่ยนเสื้อผ้า 

    • เตรียมยาหยอดหู จุกหลอก ที่อุดหูสำหรับทารกไว้ให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันไม่ให้ทารกปวดหูและรู้สึกผ่อนคลายเมื่อต้องเผชิญกับความกดอากาศที่เปลี่ยนไปบนเครื่องบิน 

    • ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมลูกก่อนขึ้นเครื่องบิน เพราะสายการบินอาจจะไม่มีโต๊ะสำหรับเปลี่ยนผ้าอ้อมให้บริการ การเปลี่ยนผ้าอ้อมบนฝาชักโครกจึงอาจจะมีความทุลักทุเลได้ 

    • เตรียมของเล่น ตุ๊กตา หนังสือนิทาน สมุดภาพต่าง ๆ ไว้ให้เรียบร้อย เพื่อช่วยผ่อนคลายจิตใจของลูกน้อยในขณะเดินทาง  

    เมื่อพาทารกขึ้นเครื่องบิน คุณพ่อคุณแม่ควรให้นมลูกน้อยอย่างไรดี

    ก่อนที่จะขึ้นเครื่องบิน คุณแม่สามารถที่จะปั๊มนมเก็บไว้ก่อนได้ และสามารถฝากพนักงานบนเครื่องบินให้แช่นมได้เช่นกันค่ะ เพราะนมแม่ถ้าหากไม่นำไปแช่เย็น จะอยู่ได้แค่เพียง 3-4 ชั่วโมงหลังจากปั๊มออกมาแล้ว แต่ถ้านำไปแช่เย็นในตู้เย็นจะอยู่ได้นาน 3-5 วัน 

    เด็กทารกควรจะต้องได้รับนมแม่ติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน ดังนั้น หากลูกน้อยขึ้นเครื่องบินตอนอายุยังน้อยกว่า 6 เดือน คุณแม่จำเป็นจะต้องดูแลให้ลูกน้อยได้กินนมแม่อย่างเพียงพอในแต่ละวัน ไม่เว้นแม้กระทั่งตอนอยู่บนเครื่องบิน

    โดยนมแม่ ถือว่าจำเป็นสำหรับเด็กทารกเป็นอย่างมาก เพราะมีสารอาหารและสารภูมิคุ้มกันที่จำเป็นและเหมาะสำหรับเด็กอายุ 0-6 เดือน ไม่จำเป็นต้องได้รับอาหารอื่น ๆ ในช่วงเวลานี้

    มากไปกว่านั้น นมแม่ยังมีสารอาหารสำคัญที่พบได้แต่ในนมแม่ นั่นก็คือ MFGM (Milk Fat Globule Membrane) ที่มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายและระบบการป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสและแบคทีเรีย ช่วยให้ร่างกายเด็กต่อสู้กับการติดเชื้อได้

    ไขข้อข้องใจเรื่องการพาทารกขึ้นเครื่องบินกับ Enfa Smart Club


     เด็กนั่งเครื่องบินแล้วร้องไห้ ควรทำยังไงดี? 

    อย่างแรก หากคุณที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ และยังไม่มีลูก หรือไม่คิดจะมีลูก ขอให้เข้าใจในธรมชาติของเด็กทารกก่อนค่ะว่ามันเป็นเรื่องปกติที่เด็กจะร้องไห้งอแง

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสภาพแวดล้อมบนเครื่องบินซึ่งเป็นสิ่งใหม่สำหรับเด็ก และความดันของบรรยากาศที่เปลี่ยนไป ล้วนแล้วแต่มีผลทำให้เด็กร้องไห้ขณะโดยสารบนเครื่องบิน คนเราใจดีต่อกันได้ค่ะ และตอนที่เราเป็นเด็ก เราก็ร้องไห้บ่อย ๆ เช่นกัน เพียงแต่เราเล็กเกินกว่าจะรับรู้หรือจดจำได้ 

    สำหรับคุณพ่อคุณแม่ จริงอยู่ที่การร้องไห้เป็นเรื่องธรรมชาติของเด็ก แต่คุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่ที่จะช่วยให้ลูกหยุดร้องไห้ และรู้สึกผ่อนคลายขึ้น เพื่อไม่ให้รบกวนผู้โดยสารคนอื่น ๆ เพื่อให้ลูกและตนเองไม่เหนื่อยล้าจากการร้องไห้ตลอดการเดินทางด้วย 

    โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถรับมือได้หลายวิธี อาทิ

    • ควรให้นมลูกขณะอยู่บนเครื่องบิน การกลืนนมจะช่วยปรับความดันในหูชั้นกลาง ช่วยป้องอาการหูอื้อ ทำให้ลูกไม่ร้องไห้ได้ค่ะ 
    • พาลูกเดินไปมา แต่ระวังอย่ารบกวนผู้โดยสารคนอื่น ๆ นะคะ การอุ้ม การพูดคุย และเขย่าตัวลูกเบา ๆ ขณะเดินไปมา ช่วยสร้างความผ่อนคลายและช่วยให้ลูกหยุดร้องไห้ได้ค่ะ 
    • เตรียมของเล่น สมุดภาพ สิ่งใดก็ตามที่เป็นความบันเทิงที่ช่วยให้ลูกสนุก ผ่อนคลาย ไม่ร้องไห้งอแง ให้เตรียมไปให้พร้อมค่ะ  
    • หากเป็นไปได้ ควรเลือกเดินทางในช่วงเวลาเดียวกับที่ลูกนอนตามปกติ อาจช่วยให้ลูกรู้สึกเพลียและนอนหลับตามปกติ ไม่ร้องไห้ขณะเดินทาง 
    • คุณพ่อคุณแม่รู้สึกเกรงใจผู้โดยสารคนอื่น ๆ ได้ ทว่าอย่ามัวแต่อายหรือสนใจกับสายตาของคนรอบข้างมากเกินไป การร้องไห้ของเด็กเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ทำในสิ่งที่ต้องทำอย่างเต็มที่ที่สุดก็พอค่ะ 

     เด็กทารกขึ้นเครื่องบิน อันตรายไหม? 

    ทารกสามารถเดินทางบนเครื่องบินได้ค่ะ แต่โดยมากมักจะรอให้อายุครบ 4-8 สัปดาห์ขึ้นไปก่อน เนื่องจากในเด็กทารกแรกเกิดที่ยังอายุน้อยมากนั้น มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ จากการเดินทางบนเครื่องบินได้ เช่น การติดเชื้อในชั้นหู รวมไปถึงการติดเชื้อโควิด-19 ด้วย 

    ดังนั้น ก่อนพาลูกเดินทางด้วยเครื่องบิน ควรพาลูกไปตรวจสุขภาพกับแพทย์ก่อนว่าลูกแข็งแรงดีไหม พร้อมต่อการเดินทางบนอากาศหรือยัง 

     ลูก 3 เดือนขึ้นเครื่องบิน ได้ไหม? 

    เด็กอายุ 3 สามารถเดินทางบนเครื่องบินได้ค่ะ แต่ควรพาลูกไปตรวจสุขภาพกับแพทย์ก่อนว่าแข็งแรงดีและพร้อมต่อการเดินทางบนเครื่องบินจริง ๆ เพราะไม่ใช่เด็กอายุ 3 เดือนทุกคนจะมีสุขภาพที่แข็งแรงและพร้อมสำหรับการนั่งบนเครื่องบินเป็นระยะเวลานาน ๆ 

     พาลูก 3 ขวบขึ้นเครื่องบิน ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง? 

    สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 7 ปี คุณพ่อคุณแม่จะต้องเตรียมเอกสารอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นฉบับจริง เพื่อยืนยันตัวตนลูกก่อนการเดินทาง ดังนี้ 

    • สูติบัตร 
    • บัตรประจำตัวผู้พิการ 
    • ทะเบียนบ้าน 
    • หนังสือสุทธิสำหรับพระภิกษุสงฆ์และสามเณร 
    • หนังสือเดินทาง (Passport) 

    สำหรับการเดินทางไปต่างประเทศ ควรจะต้องมีพาสปอร์ต และวีซ่าให้เรียบร้อย (ในกรณีที่ประเทศปลายทางกำหนดให้ต้องขอวีซ่า)

    แต่ถ้าหากเด็กเดินทางไปต่างประเทศกับญาติและไม่มีพ่อหรือแม่ร่วมเดินทางไปด้วย จะต้องมีหนังสือยินยอมให้เด็กเดินทางออกนอกประเทศมาด้วย

     เด็กกี่เดือนถึงจะขึ้นเครื่องบินได้? 

    เด็กทารกสามารถขึ้นเครื่องบินได้ แต่เพื่อความปลอดภัย จึงมักจะรอให้เด็กมีอายุ 4-8 สัปดาห์หรือมีอายุราว ๆ 2-3 เดือนก่อน เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อต่าง ๆ ในขณะที่โดยสารบนเครื่องบิน เพราะเด็กที่ยังอายุน้อยมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย 

    อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นจะต้องพาลูกขึ้นเครื่องบินตั้งแต่อายุยังไม่ครบเดือน ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายก่อนว่าลูกมีสุขภาพที่แข็งแรง และพร้อมสำหระบการเดินทางทางอากาศ 

     ลูก 1 เดือนพาไปเที่ยวได้ไหม? 

    ลูก 1 เดือน พาไปเที่ยวได้ค่ะ แต่จำเป็นจะต้องใส่ใจดูแลเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยของเด็กให้มาก ๆ เพราะระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังไม่แข็งแรง มีโอกาสที่จะติดเชื้อและเจ็บป่วยได้ง่ายค่ะ 



    บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ดูแลลูกน้อย