กล้วยบด เมนูง่าย ๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังงาน ผลไม้ยอดฮิต ที่คุณแม่เลือกให้ลูกน้อยรับประทาน เนื่องจากสามารถหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด ราคาถูก มีทุกฤดูกาล และยังเต็มไปด้วยสารอาหารหลายชนิด อาทิ ไฟเบอร์ วิตามินบี 6 วิตามินซี โพแทสเซียม เป็นต้น

แต่คุณแม่เคยสงสัยกันบ้างไหม ว่าเมื่อไหร่ลูกน้อยของเราจะกินกล้วยบดได้ เริ่มกินได้ตั้งแต่แรกเกิดเหมือนที่คนแก่เขาบอกกันหรือไม่ วันนี้เอนฟา จะพาไปหาคำตอบกันค่ะ

เลือกอ่านตามหัวข้อ

• คุณแม่ควรเริ่มป้อนกล้วยลูกตอนกี่เดือน
หากให้ทารกกินกล้วยจะเกิดอันตรายหรือไม่
ทำไมจึงห้ามป้อนกล้วยเด็กทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน
อาการอันตรายที่ควรรีบไปพบแพทย์
วิธีขูดกล้วยให้ทารกกิน สำหรับทารกที่มีอายุเกิน 6 เดือนขึ้นไป
เมนูกล้วย ๆ แนะนำสำหรับลูกน้อย
ลูกกินกล้วยถ่ายเป็นสีอะไร
ลูกกินกล้วยแล้วท้องผูก เกิดจากอะไร
รู้จักกับอาการแพ้กล้วยของเด็กทารก
ไขข้อข้องใจกับเรื่องการให้เด็กทารกกินกล้วยกับ Enfa Smart Club

เด็กกินกล้วยได้ไหม และคุณแม่ควรเริ่มป้อนกล้วยลูกตอนกี่เดือน


เด็กสามารถกินกล้วยได้ แต่จะเริ่มกินได้ก็ต่อเมื่อลูกน้อยมีอายุ 6 เดือน ขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกน้อยพร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยนอาหาร จากของเหลวอย่างนมแม่ ไปเป็นอาหารแข็ง หรืออาหารตามวัยเด็กทารก (Solid Foods) เพราะระบบย่อยอาหารของเด็กทารกวัยนี้ จะสามารถย่อยอาหารประเภทอื่น ๆ ได้ดีกว่าเดิม รวมทั้งยังเป็นช่วงอายุที่เด็กเริ่มฝึกเคี้ยว กลืน รับรส และเนื้อสัมผัสของอาหารเบื้องต้นได้

หากให้ทารกกินกล้วยจะเกิดอันตรายหรือไม่


หากคุณแม่เริ่มให้ลูกน้อยกินกล้วย หรืออาหารตามวัยเด็กทารกชนิดอื่น ๆ เร็วก่อนอายุ 6 เดือน จะก่อให้เกิดปัญหากับสุขภาพของลูก เนื่องจากระบบย่อยอาหารของเด็กทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน ยังไม่แข็งแรง และยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ทำให้เมื่อทารกกินกล้วยเข้าไป จะเกิดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก ท้องเสีย ลำไส้ตันจนติดเชื้อ เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ทำไมจึงห้ามป้อนกล้วยเด็กทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน


ต้องเข้าใจก่อนว่า ระบบย่อยอาหารของเด็กทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน ยังไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่เหมือนกับระบบย่อยอาหารของผู้ใหญ่ ดังนั้นการป้อนกล้วย หรืออาหารชนิดอื่น ๆ นอกเหนือจากนมแม่ ให้กับเด็กทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน จะทำให้กระเพาะของเด็กไม่สามารถย่อยอาหาร หรือดูดซึมสารอาหารได้

เมื่อกระเพาะไม่สามารถย่อยกล้วยที่กินเข้าไปได้ จะทำให้เกิดปัญหากับระบบย่อยอาหาร และระบบขับถ่ายตามมา อาทิ ท้องเสีย ท้องผูก ท้องอืด รวมทั้ง เศษอาหารที่ย่อยไม่สมบูรณ์จะไปอุดตันลำไส้ เกิดอาการติดเชื้อ หรือภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนต้องผ่าตัด และอาจจะเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ ลูกน้อยอาจจะพบปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อย่าง โรคภูมิแพ้ เนื่องจากเยื่อบุลำไส้ของเด็กทารก ยังไม่ผสานกันแน่น เพื่อช่วยดูดซึมสารอาหารที่มีโมเลกุลใหญ่ อย่างโปรตีน และคาร์โบไฮเดรต จากนมแม่นำไปพัฒนาระบบต่าง ๆ ของร่างกาย การที่เด็กทารกกินกล้วยเข้าไป จะทำให้ลำไส้ดูดซึมโปรตีนแปลกปลอม และเล็ดลอดเข้าไปสู่กระแสเลือด ซึ่งจะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงาน ต่อสู้กับโปรตีนแปลกปลอมนี้ จนเกิดเป็นอาการแพ้ตามมา

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

อาการอันตรายที่ควรรีบไปพบแพทย์ เมื่อป้อนกล้วยให้กับเด็กทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน


ในกรณีที่มีการป้อนกล้วย หรืออาหารประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากนมแม่ให้กับเด็กทารกที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือน อาการที่จะเกิดขึ้นกับเด็กทารก ได้แก่

          - ท้องผูก หรือท้องอืด
          - ท้องเสีย หรือถ่ายเหลว
          - ร้องไห้ ไม่สบายท้อง
          - อาเจียน หรืออาเจียน ร่วมกับอาการไข้ขึ้น
          - ลำไส้อุดตัน และติดเชื้อ

หากพบอาการเหล่านี้ หลังจากป้อนกล้วย หรืออาหารประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากนมแม่ ให้กับเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือน ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์โดยด่วน หรือไม่ต้องรอให้อาการเกิดขึ้น ก็สามารถไปพบแพทย์ เพื่อขอรับคำปรึกษา และรักษาอาการได้ สิ่งที่ดีที่สุด คือไม่ควรให้ลูกน้อยกินอาหารอื่น ๆ นอกเหนือจากนมแม่ หากลูกยังอายุไม่เกิน 6 เดือน

วิธีขูดกล้วยให้ทารกกิน สำหรับทารกที่มีอายุเกิน 6 เดือนขึ้นไป


ถึงแม้ว่า เด็กทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป จะสามารเริ่มกินอาหารตามวัยเด็กทารก (Solid Foods) ได้แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนอาหารได้ทันที โดยช่วงแรกจะยังคงให้กินนมแม่ตามปกติอยู่ แต่จะเริ่มให้อาหารตามวัยเด็กทารกควบคู่กันไปทีละน้อย ๆ เพื่อเป็นการฝึกให้เขาได้คุ้นชินกับอาหารชนิดใหม่

หากคุณแม่เลือกที่จะให้ลูกกินกล้วย เพื่อเริ่มฝึกเปลี่ยนอาหารตามวัยให้กับลูกน้อย สามารถทำตามได้ ดังนี้

          1. เลือกกล้วยที่สุก มีลักษณะนิ่ม ง่ายต่อการกิน เช่น กล้วยน้ำว้า

          2. ใช้วิธีการบด บี้ หรือขูด ให้เนื้อกล้วยออกมาในลักษณะเละ แต่ยังมีความหยาบของเนื้อกล้วยร่วมด้วย เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้รสสัมผัสจากอาหาร

          3. หากคุณแม่พึ่งเริ่มต้นให้อาหารตามวัยเด็กทารก และเลือกที่จะป้อนกล้วยให้ลูกน้อย ให้เริ่มต้นด้วยกล้วยปริมาณครึ่งลูกของครึ่งลูก หรือ ¼ ลูก ผ่าตามแนวยาว ขูด บี้ หรือบด ตักใส่ช้อนพอดีคำ ค่อย ๆ ป้อนให้ทีละน้อย นอกจากนี้ยังสามารถนำกล้วยบด ผสมกับน้ำนมแม่ในปริมาณที่เท่ากัน เพื่อให้กินได้ง่ายมากขึ้น

          4. ในบางครั้ง กล้วยอาจจะมีความเหนียวไป คอยหมั่นสังเกตุเวลาป้อนลูกทุกครั้งว่า ยังมีกล้วยติดอยู่ในช่องปากหรือไม่

เมนูกล้วย ๆ แนะนำสำหรับลูกน้อยเริ่มฝึกรับประทานอาหารตามวัยเด็กทารก (Solid Foods)


นอกจากการให้ลูกน้อยกินกล้วยอย่างเดียวแล้ว คุณแม่ยังสามารถนำกล้วยไปปรุงเป็นอาหารเมนูอื่น ๆ ได้อีกด้วย ตัวอย่างเมนูกล้วย ง่าย ๆ ที่คุณแม่สามารถทำได้เองที่บ้าน

กล้วยและอโวคาโดข้น สำหรับเด็กทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป

ส่วนผสม (ต่อ 1 มื้อ):

          - กล้วยสุก                       2 ช้อนโต๊ะ (10 กรัม)
          - อโวคาโดสุก                  2 ช้อนโต๊ะ (10 กรัม)
          - น้ำต้มสุก หรือน้ำนมแม่     

วิธีทำ:

          - เลือกกล้วย และอโวคาโดที่สุก ไม่แข็งเกินไป มีเนื้อที่นิ่มกำลังดี นำผลไม้ทั้งสองชนิดมาบดด้วยส้อม ผสมรวมกันในชามผสม ในปริมาณที่เท่ากัน หากลูกน้อยสามารถกินอาหารตามวัยทารกได้มากกว่าเดิมแล้ว คุณแม่สามารถเพิ่มอัตราส่วนของสวนผสมได้

          - เมื่อผสมเข้ากันแล้ว หากคุณแม่ต้องการเพิ่มเนื้อสัมผัสอาหารให้มีมีความเนียน หรือไม่ข้นเกินไป สามารถผสมน้ำต้มสุก หรือน้ำนมแม่ ในปริมาณที่เท่ากับเนื้อกล้วย และอโวคาโด

          - ผสมส่วนผสมให้เนียน ละเอียด และเข้ากัน ก็สามารถให้ลูกน้อยรับประทานได้แล้ว ไม่แนะนำให้ใส่ส่วนผสมอื่น ๆ เพิ่ม เช่น น้ำตาล น้ำผึ้ง เนื่องจากระบบย่อยอาหารของเด็กยังไม่แข็งแรงพอ อาจจะก่อให้เกิดอาการแพ้อาหาร หรืออาการเป็นพิษได้

ลูกกินกล้วยถ่ายเป็นสีอะไร


เมื่อลูกน้อยเริ่มกินอาหารเสริมตามวัยเด็กทารก (Solid Foods) นอกเหนือจากนมแม่ จะมีสีอุจจาระที่เปลี่ยน โดยจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หรือน้ำตามเข้ม จากเดิมที่เคยเป็นสีเหลือสด เหลือสว่าง เหลือเข้ม หรือส้ม นอกจากนี้ หากลูกน้อยกินกล้วย คุณแม่อาจจะพบว่า มีเส้นใยสีดำเล็ก ๆ ในอุจจาระของลูกน้อย ซึ่งเป็นส่วนกลางของผลกล้วย ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด

ลูกกินกล้วยแล้วท้องผูก เกิดจากอะไร และคุณแม่ควรรับมืออย่างไรดี


ถึงแม้กล้วยจะอุดมไปด้วยไฟเบอร์ ที่มีส่วนช่วยในการขับถ่าย แต่สำหรับเด็กวัยทารกที่พึ่งเริ่มกินอาหารเสริมตามวัยเด็กทารก อาจจะพบปัญหาการกินกล้วย รวมทั้งอาหารชนิดอื่น ๆ ทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ในช่วงแรก ๆ ที่เริ่มปรับเปลี่ยนอาหาร

หากพบว่าลูกมีปัญหาท้องผูก คุณแม่ควรปรับเปลี่ยนอาหาร ให้ลูกน้อยได้กินอาหารที่มีกากใย เน้นไปที่ผัก และผลไม้ รวมถึงการให้ดื่มน้ำร่วมด้วย หากอาการไม่ดีขึ้น ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการรักษาอาการท้องผูก

รู้จักกับอาการแพ้กล้วยของเด็กทารก อาการอันตรายที่คุณแม่ควรระวัง


กล้วยอาจจะเป็นอาหารที่พบอาการแพ้ได้น้อย แต่เด็กทารกก็สามารถแพ้กล้วยได้เช่นกัน โดยการแพ้กล้วยจะมีอาการแพ้ที่เกี่ยวข้องกับการแพ้ยาง เนื่องจากโปรตีนบางตัวในต้นกล้วย คล้ายคลึงกับโปรตีนในยาง ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดการแพ้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการกิน หรือการสัมผัสกล้วย โดยอาการแพ้กล้วยที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้

          - มีผื่นคัน และปาก ลิ้น คอ บวม
          - เป็นลมพิษ
          - ตาแดง คัน หรือบวม
          - จาม และน้ำมูกไหล
          - หายใจถี่
          - ปวดท้อง อาเจียน หรือท้องเสีย

หากคุณแม่พบว่าลูกมีอาการเหล่านี้ หลังจากกิน หรือสัมผัสกล้วย ให้รีบนำลูกน้อยส่งโรงพยาบาล เพื่อทำการรักษาโดยด่วน

ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้เด็ก

ไขข้อข้องใจกับเรื่องการให้เด็กทารกกินกล้วยกับ Enfa Smart Club


ลูก 3 เดือนกินกล้วยได้ไหม
ไม่ได้ เนื่องจากระบบย่อยอาหารของเด็กทารกอายุ 3 เดือน ยังไม่พร้อมสำหรับอาหารชนิดอื่น คุณแม่ควรให้ลูกกินแต่นมแม่ หรือนมผงสำหรับเด็กทารก ในกรณีคุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ แต่เพียงเท่านั้น

ป้อนกล้วยลูก 4 เดือน ได้ไหม
ไม่แนะนำให้ป้อนกล้วยลูกก่อนอายุ 6 เดือน เนื่องจากระบบย่อยอาหารยังไม่พร้อมสำหรับการย่อยอาหารชนิดอื่น นอกเหนือจากนมแม่ อย่างไรก็ตาม ในเด็กบางรายสามารถเริ่มกินอาหารเสริมตามวัยเด็กทารกได้ก่อนอายุ 6 เดือน แต่ต้องไม่เริ่มก่อนอายุ 17 สัปดาห์ ทั้งนี้เด็กจะต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้วว่า พร้อมสำหรับการเริ่มกินอาหารเสริมตามวัยเด็กทารก

เด็กที่เริ่มกินกล้วยได้แล้ว สามารถเริ่มให้กินข้าวได้หรือยัง
สามารถเริ่มให้กินข้าวได้ แต่ในช่วงแรกของการเริ่มนั้น เนื้อสัมผัสของอาหารจะต้องมีความหยาบละเอียด เพื่อให้ลูกน้อยกลืนอาหารได้ง่าย เน้นการประกอบอาหารด้วยการบด ไม่ควรให้อาหารปั่นจนเหลว เนื่องจากลูกน้อยจะไม่ได้ฝึกการสัมผัสความหยาบของอาหาร รวมทั้งการฝึกเคี้ยว และกลืน

เมื่อลูกน้อยสามารถเคี้ยว และกลืนได้ดีแล้ว คุณแม่ค่อย ๆ เพิ่มความหยาบของข้าว เช่น ก่อนหน้าให้กินในลักษณะค่อนข้างละเอียด เป็นนิ่ม แต่ไม่ละเอียดเหมือนมากเหมือนแต่ก่อน เป็นต้น

ลูกกินกล้วยบดแล้วมีผื่นขึ้น เกิดจากอะไร และคุณแม่ควรทำอย่างไร
หากพบว่าหลังจากที่ให้ลูกน้อยกินกล้วยบดแล้ว มีอาการผื่นขึ้น อาจจะเป็นไปได้ว่าลูกน้อยมีอาการแพ้กล้วย หรือแพ้ส่วนผสมอื่น ๆ ที่ผสมกับกล้วยบด เช่น นมวัว ผัก หรือผลไม้บดที่ผสมลงไปด้วย คุณแม่ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการรักษา และหาสาเหตุที่แน่ชัด ว่าเกิดจากการกินกล้วยหรือมไม่