ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 10 สัปดาห์ อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 10 สัปดาห์ อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

 

Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ ทารกจะมีขนาดประมาณ 1.2 นิ้ว หนักประมาณ 1.9 กรัม มีขนาดใหญ่เท่ากับผลสตรอว์เบอร์รี หรือผลส้มจี๊ดค่ะ
  • อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ คุณแม่จะมีอาการแพ้ท้องที่รุนแรงมากขึ้น คุณแม่ที่ยังไม่เคยแพ้ท้อง ก็จะเริ่มมีอาการแพ้ท้องในระยะนี้
  • อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ ตัวอ่อนเริ่มมีลักษณะและรูปร่างที่เหมือนกับทารกแรกเกิดมากขึ้น ไม่ใช่เป็นตัวอ่อนกลม ๆ ไร้มิติอีกต่อไป

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 10 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 10
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 10 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 10 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
     • อาการคนท้อง 10 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
     • ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์ ต้องอัลตราซาวนด์หรือไม่
     • ท้อง 10 สัปดาห์ มีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่
     • ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

ท้อง 10 สัปดาห์ ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะที่คุณแม่ได้อุ้มท้องมาจนถึงช่วงเดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์แล้ว โดยอายุครรภ์ 10 สัปดาห์นี้ เจ้าตัวเล็กจะไม่ใช่ตัวอ่อนอีกต่อไป

แต่กลายมาเป็นทารกอย่างเป็นทางการ มีรูปร่างลักษณะที่เป็นทารกมากยิ่งขึ้น และยิ่งไปกว่านั้น คุณแม่ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์ ยังสามารถสังเกตเห็นการดิ้นของทารกผ่านการอัลตราซาวนด์ด้วยนะ

ท้อง 10 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้


อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ คุณแม่หลายคนยังหลีกหนีจากวังวนของอาการแพ้ท้องไปไม่พ้นค่ะ ส่วนคุณแม่ที่ยังไม่มีอาการแพ้ท้องก็อาจพบกับอาการแพ้ท้องได้ในสัปดาห์นี้ ซึ่งอดทนอีกไม่กี่สัปดาห์อาการเหล่านี้ก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นค่ะ ขณะที่ตัวอ่อนเริ่มมีลักษณะและรูปร่างที่เหมือนกับทารกแรกเกิดมากขึ้น ไม่ใช่เป็นตัวอ่อนกลม ๆ ไร้มิติอีกต่อไป

ท้อง 10 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

คุณแม่อาจจะเริ่มสงสัยกันว่า อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือนกันนะ ซึ่งเมื่อนับเทียบเป็นเดือนแล้ว อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ จะได้เท่ากับ 2 เดือน 2 สัปดาห์ เป็นการตั้งครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 3 เต็มตัวแล้วค่ะ และอีกไม่นานก็จะสิ้นสุดการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก และเข้าสู่ไตรมาสสอง

ท้อง 10 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหน

อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ กำลังเติบโตและมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ อยู่ภายในมดลูก ถ้าหากอัลตราซาวนด์ในช่วงนี้ก็จะพบว่ารูปร่างของตัวอ่อนมีลักษณะคล้ายกับทารกแรกเกิดมากเข้าไปทุกทีแล้วค่ะ

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์สัปดาห์ที่ 10 เป็นอย่างไร


ทารกในครรภ์ 10 สัปดาห์ ถือว่าพ้นช่วงที่เป็นตัวอ่อนโดยสมบูรณ์แล้ว ลักษณะของทารกในช่วงนี้ ถือว่ามีเค้าโครงและรูปร่างที่เป็นทารกอย่างชัดเจน มีแขน ขา และอวัยวะต่าง ๆ ที่มองเห็นคล้ายกับทารกแรกเกิดขนาดจิ๋ว

ภาพทารกในครรภ์ 10 สัปดาห์ มีขนาดเท่าไหนนะ

อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ ขนาดของทารกจะอยู่ที่ราว ๆ 1.2 นิ้ว หนักประมาณ 1.9 กรัม มีขนาดใหญ่เท่ากับผลสตรอว์เบอร์รี หรือผลส้มจี๊ดค่ะ

ท้อง 10 สัปดาห์ ลูกดิ้น แล้วหรือยัง

ทารกในครรภ์ 10 สัปดาห์ มีการเคลื่อนไหวและขยับไปมาได้แล้วจริงค่ะ ซึ่งสามารถมองเห็นผ่านการอัลตราซาวนด์ได้ แต่ตัวคุณแม่เองนั้นจะยังไม่สามารถสัมผัสกับการดิ้นของทารกในครรภ์ได้ค่ะ ต้องรอถึงไตรมาสสองจึงจะเริ่มสัมผัสลูกดิ้นได้ค่ะ

อวัยวะและระบบต่าง ๆ

การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 10 สัปดาห์ มีดังนี้

          • อวัยวะสำคัญทั้งหมดในร่างกายของทารกเริ่มสร้างขึ้นในสัปดาห์นี้

          • จมูก ปาก และตาของทารกเริ่มเป็นโครงร่างที่ชัดเจน ทำให้ลักษณะใบหน้าของทารกเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

          • เริ่มมีการสร้างหน่อฟันและฝาครอบฟัน

          • นิ้วมือและนิ้วเท้าของทารกจะไม่ได้มีลักษณะเป็นพังผืดอีกต่อไป แต่เริ่มขยายขนาดยาวขึ้น

          • แขนและขาเล็ก ๆ ของทารกในขณะนี้เริ่มได้สัดส่วนมากขึ้น เริ่มมีการเคลื่อนไหวเตะแขนเตะขาไปมา

          • เปลือกตาของทารกยังคงปิดอยู่ และยังอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อกลายเป็นเปลือกตาที่สมบูรณ์

          • เริ่มมีการสร้างหูชั้นนอกที่บริเวณศีรษะ

เข้าใจการเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่อายุครรภ์ 10 สัปดาห์


ทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น มดลูกก็ขยายตัวมากขึ้น ทำให้คุณแม่เริ่มรู้สึกถึงความอึดอัดมากกว่าสัปดาห์ก่อน จนตอนนี้เริ่มเปลี่ยนมาใส่กางเกงที่เอวใหญ่ขึ้น หรือเริ่มเปลี่ยนเป็นกางเกงยางยืด เพราะขนาดเอวของคุณแม่เริ่มกว้างขึ้น และหน้าท้องเริ่มนูนขึ้นมาเล็กน้อย แต่ยังไม่นูนโค้งออกมาอย่างชัดเจน

ท้อง 10 สัปดาห์ ท้องไม่โต ปกติไหม

ขนาดท้อง 10 สัปดาห์ โดยมากแล้วจะต้องเริ่มขยาย มีการนูนออกเล็กน้อยก็จริงค่ะ แต่...ไม่ใช่คุณแม่ทุกคนที่จะเริ่มท้องนูนในช่วงนี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงของหน้าท้องในคนท้องนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น

         • คุณแม่ตั้งครรภ์ครั้งแรก หน้าท้องจึงมักไม่ขยายใหญ่

         • คุณแม่ออกกำลังกายกายมาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ทำให้มีผนังหน้าท้องที่หน้า เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ หน้าท้องจึงไม่นูนออกมาง่าย ๆ

         • คุณแม่ตั้งครรภ์ตอนอายุยังน้อย

         • คุณแม่มีสรีระที่เล็ก ขนาดหน้าท้องจึงไม่ขยายใหญ่เกินกว่าสรีระของคุณแม่

ดังนั้น ถ้าหากท้อง 10 สัปดาห์แล้วหน้าท้องยังไม่โต ก็ยังไม่ถือว่าผิดปกติแต่อย่างใดนะคะ ตราบเท่าที่อัลตราซาวนด์แล้วทารกในครรภ์ยังเป็นปกติ ขนาดหน้าท้องที่ไม่โตก็ไม่ส่งผลเสียใด ๆ ค่ะ

อาหารคนท้อง 10 สัปดาห์ ต้องกินอะไรบ้าง


แม่ท้อง 10 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่

         • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

         • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

         • โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

         • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

         • ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

         • โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

         • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม บางวันคุณแม่อาจกินอาหารได้น้อย หรือมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ได้รับอาหารได้ไม่ตรงตามที่ต้องการในแต่ละวัน หรือมีอาการแพ้อาหาร เป็นต้น คุณแม่สามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ

โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง

Enfamama TAP No. 1

อาการคนท้อง 10 สัปดาห์ เป็นแบบไหน แพ้ท้องมากไหมนะ


อาการคนท้อง 10 สัปดาห์ ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้

         • มีอาการแพ้ท้องรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะง่าย

         • เต้านมมีการเปลี่ยนแปลง เช่น เต้านมขยายใหญ่ขึ้น หัวนมสีดำคล้ำ มีเส้นเลือดขึ้นที่เต้านม

         • อ่อนเพลียง่าย เพราะร่างกายต้องทำงานหนักเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารก

         • อารมณ์แปรปรวน ทั้งหงุดหงิดง่าย เศร้าง่าย เสียใจง่าย อันเป็นผลพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน

         • ปัสสาวะบ่อย เพราะมดลูกที่ขยายออกเริ่มไปกดทับบริเวณไต และไตเริ่มทำงานหนัก จึงผลิตปัสสาวะออกมามากขึ้น

         • มีตกขาวมากขึ้น เพราะมีการไหลเวียนเลือดไปที่ช่องคลอดมากขึ้น และฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้คุณแม่หลายคนมีอาการตกขาวออกมามากขึ้น

ซึ่งไม่ใช่แม่ท้องทุกคนจะมีอาการคนท้องเสมอไปค่ะ มีคุณแม่หลายคนที่ไม่มีอาการใด ๆ เลย หรือมีอาการแค่เพียงนิดหน่อย กรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าผิดปกติแต่อย่างใดค่ะ ตราบที่ทารกในครรภ์ยังมีการเจริญเติบโตตามปกติ และถือเป็นความโชคดีของคุณแม่ด้วยซ้ำที่ไม่ต้องทรมานกับอาการคนท้อง

ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์ ต้องทำอัลตราซาวนด์ไหมนะ


ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์ อัลตราซาวนด์ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นค่ะ เพราะแพทย์สามารถที่จะวัดขนาดของทารกในครรภ์ และตรวจการเต้นของหัวใจ เพื่อดูว่าทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตตามปกติหรือไม่

ตลอดจนมีการวัดความหนาของน้ำที่สะสมบริเวณต้นคอทารก (NT:Nuchal Translucency) เพื่อดูว่าทารกมีความเสี่ยงของดาวน์ซินโดรมหรือไม่ เพื่อประกอบข้อมูลการตัดสินใจว่าจะยุติการตั้งครรภ์ หรือจะดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไป เพราะไม่ใช่ทุกครอบครัวที่สามารถรับมือและมีความพร้อมมากพอที่จะดูแลทารกที่เกิดมาพร้อมกับความผิดปกติได้

ท้อง 10 สัปดาห์ แล้วมีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่?


อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้อง หรือเป็นสัญญาณอันตราย ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่ และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ

ท้อง 10 สัปดาห์ มีเลือดออก

หากมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะอายุครรภ์เท่าไหร่ก็ตาม ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการวินิจฉัยว่าอาการเลือดออกนั้นเกิดจากสาเหตุใด เพราะอาจจะเป็นเลือดที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ตามปกติ หรือเกิดจากภาวะความผิดปกติอื่น ๆ เช่น การแท้ง การท้องนอกมดลูก ภาวะแท้งคุกคาม

ดังนั้น อย่ารอรีหรือมัวแต่ชะล่าใจนะคะ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอาการเลือดออกตอนท้องนี้มีสาเหตุมาจากอะไรจนกว่าจะได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ค่ะ

ท้อง 10 สัปดาห์ ท้องไม่โต

ท้อง 10 สัปดาห์ ขนาดท้องยังไม่โตเป็นลูกแตงโมแน่นอนค่ะ แต่ขนาดหน้าท้องของคุณแม่ก็จะเริ่มขยายออกมามากขึ้น จนคุณแม่รู้สึกได้ว่าไม่สามารถใส่กางเกงไซซ์เดิมได้อีกต่อไป

ซึ่งขนาดหน้าท้องที่ไม่โตนั้น ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติเสียทีเดียวค่ะ เพราะไม่ใช่คุณแม่ทุกคนที่จะหน้าท้องโตทั้งแต่อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ มากไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงของหน้าท้องยังขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น

         • สรีระของคุณแม่
         • การตั้งครรภ์ครั้งแรก
         • การตั้งครรภ์ตอนอายุน้อย
         • มีกล้ามเนื้อหน้าท้องที่หนา หน้าท้องจึงไม่ขยายมากนัก

ท้อง 10 สัปดาห์ ปวดท้องจี๊ด ๆ

อาการปวดท้องจี๊ด ๆ อาจเกิดจากอาการจุกเสียดแน่นท้องโดยทั่วไป หรือเกิดจากการขยายตัวของมดลูก หรืออาจเป็นสัญญาณของอาการแท้งบุตรก็ได้เช่นกัน

มากไปกว่านั้น คุณแม่ควรสังเกตดูอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีเลือดออกไหม มีไข้ไหม หรือมีอาการปวดท้องติดต่อกันนานจนผิดปกติไหม หากมีอาการปวดท้องหลายวันแล้วไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุของอาการปวดท้อง

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 10 สัปดาห์


คุณแม่อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

มากไปกว่านั้น ยังต้องหมั่นสังเกตอาการความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดท้อง มีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ หรือมีอาการแพ้ท้องรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยไว้อาจส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ และทำให้สุขภาพของคุณแม่แย่ลงได้

การฝากครรภ์และตรวจสุขภาพ

การฝากครรภ์และไปพบแพทย์ตามกำหนดทุกครั้งเพื่อตรวจสุขภาพและตรวจครรภ์ จะช่วยให้คุณแม่ทราบถึงสถานะการตั้งครรภ์ในแต่ละไตรมาสว่าทารกในครรภ์ยังเป็นปกติไหม หรือมีความเสี่ยงใด ๆ เกิดขึ้นหรือไม่

การอัลตราซาวนด์จะช่วยให้คุณแม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของทารกในครรภ์ตามลำดับ และแพทย์ยังสามารถนำข้อมูลที่ได้ในแต่ละครั้งมาประกอบการวินิจฉัยดูด้วยว่าทารกเจริญเติบโตตามปกติไหม หรือมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ในขณะตั้งครรภ์หรือไม่ แพทย์สามารถที่จะประเมิน ป้องกัน และดูแลสุขภาพของแม่และทารกในครรภ์ได้อย่างทันท่วงที

น้ำหนักช่วงตั้งครรภ์

น้ำหนักตัวของแม่ตั้งครรภ์ในแต่ละไตรมาสจะต้องสัมพันธ์กับค่าดัชนีมวลกาย จะมากไปหรือน้อยไปไม่ได้ โดยคุณแม่ที่มีค่า BMI ปกติ น้ำหนักช่วงตั้งครรภ์ควรจะเป็นดังนี้

         • ไตรมาสที่ 1 ไตรมาสแรกนี้ทารกยังตัวเล็กอยู่ คุณแม่ยังไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มน้ำหนักให้มากเกินกว่า 1-2 กิโลกรัม

         • ไตรมาสที่ 2 ระยะนี้ทารกมีขนาดตัวที่โตขึ้น ทำให้คุณแม่อาจจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นระหว่าง 5-6 กิโลกรัม

         • ไตรมาสที่ 3 ไตรมาสสุดท้ายทารกมีขนาดตัวที่พร้อมสำหรับการคลอดที่เริ่มใกล้มาถึง คุณแม่ควรจะดูแลน้ำหนักให้เพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นระหว่าง 3.5-4.5 กิโลกรัม แม้ว่าจะมีขนาดท้องที่ใหญ่และทำให้กินอาหารได้น้อยลงก็ตาม

คำนวณวันกำหนดคลอด

การคำนวณวันคลอดนั้น แพทย์จะใช้ข้อมูลหลายส่วนประกอบกันค่ะ ก่อนอัลตราซาวนด์ แพทย์จะคำนวณจากวันแรกที่มีประจำเดือน มาจนถึงวันที่ตรวจพบการตั้งครรภ์ เพื่อให้สามารถคำนวณอายุครรภ์ได้คร่าว ๆ ว่าขณะนี้ท้องได้กี่สัปดาห์ และอีกกี่สัปดาห์จะมีการคลอด

ดังนั้น หากคุณแม่อายุครรภ์ 9 สัปดาห์มาอัลตราซาวนด์ แพทย์ก็จะใช้ข้อมูลจากขนาดของถุงตั้งครรภ์และขนาดตัวอ่อนมาใช้ในการคำนวณอายุครรภ์และคำนวณวันคลอดค่ะ

1,000 วันแรก คืออะไร และสำคัญอย่างไร

ช่วงเวลา 1,000 วันแรก คือช่วงเวลาที่นับตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงวันเกิดครบ 2 ขวบของลูกน้อย ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากที่คุณแม่จะต้องใส่ใจกับการดูแลตนเองและลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งลืมตาออกมาดูโลก

หมั่นฟูมฟักทั้งโภชนาการที่มีประโยชน์ ปลูกฝังอารมณ์ สภาพจิตใจ ความรัก ความอบอุ่น รวมทั้งการเสริมสร้างพัฒนาการด้วยการเล่น การพูดคุย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่สมบูรณ์ สมวัย และมีสุขภาพที่ดี พร้อมสำหรับการเจริญเติบโตในทุก ๆ วัน

โดยช่วงเวลา 1,000 วันของลูกน้อย สามารถแยกออกได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่

          • ช่วงที่ 1: ตั้งครรภ์ (270 วัน)
          • ช่วงที่ 2: วัยแรกเกิด – 6 เดือน (180 วัน)
          • ช่วงที่ 3: วัย 6 เดือน – 2 ปี (550 วัน)

ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งท้อง 10 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club


ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน?

อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ เท่ากับตั้งครรภ์ได้ 2 เดือน 2 สัปดาห์

อัลตราซาวนด์ท้อง 10 สัปดาห์ ไม่เห็นตัวอ่อน หมายความแท้งหรือไม่?

หากอัลตราซาวนด์ตอนอายุครรภ์ 10 สัปดาห์แล้วไม่พบตัวอ่อน มีโอกาสเป็นไปได้สูงว่าคุณแม่จะมีการแท้งบุตรหรือมีภาวะท้องลม แต่ก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญค่ะ และแพทย์อาจขอให้มาตรวจครรภ์อีกครั้งในสัปดาห์ถัดไปเพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้น

เพราะอาจเป็นไปได้ว่ามีการนับอายุครรภ์ไม่ตรงกับความเป็นจริง ทำให้ยังตรวจไม่พบตัวอ่อน มากไปกว่านั้น แพทย์จะไม่วินิจฉัยการแท้งหรือภาวะท้องลมจากการอัลตราซาวนด์แค่เพียงครั้งเดียวค่ะ จำเป็นจะต้องมีการติดตามดูผลในครั้งต่อไปค่ะ

อาการคนท้อง 10 สัปดาห์ ที่คุณแม่อาจจะมีอาการ?

แม่ท้องอายุครรภ์ 10 สัปดาห์ อาจพบกับอาการคนท้องต่าง ๆ ดังนี้

          • มีอาการแพ้ท้องรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะง่าย
          • เต้านมขยายใหญ่ขึ้น
          • หัวนมสีดำคล้ำ
          • มีเส้นเลือดขึ้นที่เต้านม
          • อ่อนเพลียง่าย
          • อารมณ์แปรปรวน ทั้งหงุดหงิดง่าย เศร้าง่าย เสียใจง่าย
          • ปัสสาวะบ่อย
          • มีตกขาวมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คุณแม่ทุกคนที่จะมีอาการคนท้องนะคะ คุณแม่บางคนไม่มีอาการคนท้องใด ๆ ปรากฎเลย ซึ่งก็ไม่ถือว่าผิดปกติค่ะ ตราบเท่าที่ตรวจครรภ์กับแพทย์แล้วพบว่าทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตตามปกติ หัวใจเต้นตามปกติ ถุงตั้งครรภ์โตขึ้น

ท้อง 10 สัปดาห์ ไม่เห็นหัวใจ แบบนี้ปกติหรือไม่?

การอัลตราซาวนด์ในอายุครรภ์ 10 สัปดาห์แล้วไม่พบหัวใจของทารก ไม่พบการเต้นหัวใจของทารก มีโอกาสสูงค่ะที่อาจจะเกิดการแท้งหรือมีภาวะท้องลม

แต่...แพทย์จะไม่วินิจฉัยจากการอัลตราซาวนด์แค่เพียงครั้งเดียวค่ะ จำเป็นจะต้องมีการติดตามตรวจอัลตราซาวนด์ในครั้งถัดไปเพื่อนำข้อมูลมาประกอบการวินิจฉัย และดูว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิมไหม หรือตรวจอัลตราซาวนด์อีกครั้งแล้วพบหัวใจของทารกไหม

เพราะกรณีที่ตรวจไม่พบหัวใจเด็กนั้น อาจเป็นไปได้ว่ามีการนับอายุครรภ์ผิดพลาดและไม่ตรงกับอายุครรภ์จริงก็เป็นไปได้ค่ะ

ท้อง 10 สัปดาห์ รู้เพศยัง?

ทารกอายุครรภ์ 10 สัปดาห์ อยู่ระหว่างกระบวนการสร้างระบบสืบพันธุ์ จึงยังไม่สามารถรู้เพศของทารกได้ในระยะนี้ค่ะ และการตรวจเพศลูกจะพบได้เมื่อมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12-15 สัปดาห์ขึ้นไปค่ะ

ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์ มีเลือดออก อันตรายไหม?

เลือดออกขณะตั้งครรภ์ อาจเป็นเพียงเลือดที่ออกหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งแบบนี้ถือว่าปกติ หรืออาจเกิดจากการแท้งบุตร หรือภาวะแท้งคุกคามก็ได้เหมือนกัน

ดังนั้น หากมีเลือดออกตอนท้อง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุทันทีค่ะ

ท้อง 10 สัปดาห์ ขนาดท้องใหญ่แค่ไหน?

ขนาดท้องของคุณแม่อายุครรภ์ 10 สัปดาห์จะยังไม่ขยายหรือนูนโค้งออกมาค่ะ แต่คุณแม่จะสามารถรับรู้ได้ว่าหน้าท้องกำลังยายใหญ่ขึ้น เพราะกางเกงตัวเดิมเริ่มใส่ไม่ได้แล้ว หรือถ้าหากวัดรอบเอวเป็นประจำทุกเดือนตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ก็จะพบว่ารอบเอวของคุณแม่ขยายขึ้นค่ะ

ท้อง 10 สัปดาห์ ปวดหลัง ปกติหรือไม่?

อาการปวดหลังในคนท้องไตรมาสแรกสามารถพบได้ค่ะ โดยอาจมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้ข้อต่อ กระดูก เส้นเอ็นเกิดการอ่อนตัวลง

ทำให้ช่วงหลังของคุณแม่ต้องรับน้ำหนักมากขึ้น หรือหากมีความเครียดเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็จะทำให้กล้ามเนื้อเกิดการตึงตัว และส่งผลให้มีอาการปวดหลังได้เหมือนกันค่ะ

ซึ่งถ้าหากอาการปวดหลังไม่ทุเลาลง ให้คุณแม่หาเวลาไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไปค่ะ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

can-you-dye-your-hair-while-pregnant
อายุ 40 มีลูกได้ไหม ตั้งท้องตอน 40 ช้าไปหรือเปล่า
แม่ท้องต้องรู้ กินยังไงให้ลงลูก กินยังไงให้ลูกแข็งแรง
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner