Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 6 – 6.5 นิ้ว หนักประมาณ 290 กรัม มีขนาดเท่ากับมันเทศ

  • อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ทารกได้พัฒนาระบบและอวัยวะต่าง ๆ มาจนถึงครึ่งทางแล้ว และจะยังคงพัฒนาระบบและสร้างอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายต่อไปอีกเรื่อย ๆ

  • อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ คุณแม่อาจตรวจพบความเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง และอาจนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนด หรืออาจต้องยุติการตั้งครรภ์

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 20 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 20
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 20 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
     • อาการคนท้อง 20 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
     • 20 สัปดาห์ มีตรวจอะไรไหม
     • ท้อง 20 สัปดาห์ มีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่
     • ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ถือได้ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ครบ 5 เดือนแล้วค่ะ ครึ่งหลังถัดจากนี้อีก 4 เดือนคุณแม่ก็จะได้พบหน้าเจ้าตัวเล็กในครรภ์แล้ว

แต่ก่อนจะไปถึงตอนนั้นเรามาดูกันก่อนว่า ท้อง 20 สัปดาห์ ทารกในครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการที่สำคัญอะไรบ้าง แล้วท้อง 20 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหนกันนะ

ท้อง 20 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้


อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ รกจะมีขนาดใหญ่ขึ้น และค่อย ๆ เลื่อนขึ้นด้านบนเรื่อยๆ ขณะที่มดลูกของคุณแม่ก็จะมีขนาดโตขึ้นด้วย ทำให้ขนาดท้องของคุณแม่ขยายและเริ่มแอ่นไปข้างหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ

ท้อง 20 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหน

ทารกอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ เจริญเติบโตอยู่ในมดลูก ซึ่งขณะนี้ขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หน้าท้องของคุณแม่ขยายและเริ่มนูนแอ่นออกมาด้านหน้ามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

ตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือนกันนะ? สำหรับแม่ที่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ วันสุดท้ายของสัปดาห์นี้ จะเท่ากับคุณแม่ตั้งครรภ์ครบ 5 เดือนอย่างเป็นทางการค่ะ

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 20 สัปดาห์ เป็นอย่างไร


อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ทารกได้พัฒนาระบบและอวัยวะต่าง ๆ มาจนถึงครึ่งทางแล้ว และจะยังคงพัฒนาระบบและสร้างอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายต่อไปอีกเรื่อย ๆ

ท้อง 20 สัปดาห์ ลูกดิ้น แล้วหรือยัง

ตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ คุณแม่จะรู้สึกว่าลูกดิ้นได้บ่อยขึ้น โดยทารกในระยะนี้อาจจะดิ้นได้ตั้งแต่ 200-300 ครั้งต่อวัน และจะดิ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะระบบและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกจะมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นจนเกือบเต็มระบบ

หลาย ๆ ระบบก็จะทยอยเริ่มทำงาน ทำให้ทารกในครรภ์สามารถเคลื่อนไหวไปรอบๆ ท้องน้อยมากขึ้น และจะเริ่มดิ้นแรงจนคุณแม่จะรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์อย่างชัดเจน

ท้อง 20 สัปดาห์ น้ำหนักลูก ในครรภ์ ประมาณไหน

ทารกอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ จะมีน้ำหนักประมาณ 290 กรัมค่ะ

ตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ ขนาดทารก มีขนาดเท่าไหน

ทารกอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 6 – 6.5 นิ้ว หรือมีขนาดเท่ากับมันเทศค่ะ

อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ กระตุ้นพัฒนาการ ลูกในท้องได้อย่างไร

เนื่องจากประสาทสัมผัสของทารกวัย 20 สัปดาห์ เริ่มทำงานได้มากขึ้นแล้ว ระบบประสาทและเซลล์ประสาทต่าง ๆ ก็เริ่มมีการทำงานสื่อถึงกันได้ดีขึ้นด้วย จึงถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มกระตุ้นพัฒนาการของทารก เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการด้านการเรียนรู้ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์

โดยการเสริมพัฒนาการอย่างง่าย ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้เลยก็คือ การพูดคุยเรื่องต่าง ๆ กับลูก หรือการอ่านนิทานให้ลูกฟังค่ะ วิธีนี้จะส่งผลดีต่อพัฒนาการทางสติปัญญาและอารมณ์ของลูกน้อยในครรภ์ และช่วยเสริมสร้างพัฒนาการรอบด้านของลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง

อวัยวะและระบบอื่น ๆ

การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ มีดังนี้

          • เซลล์ประสาทภายในสมองของทารกกำลังพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์ประสาทควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ รวมทั้งระบบประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่น ต่อมรับรส การได้ยิน

          • ผิวหนังทั่วทั้งตัวทารกเริ่มหนาขึ้นและแบ่งเป็นสองชั้น มีการสร้างไขมันสีขาว ๆ ขึ้นมาปกคลุมผิวด้านนอก เพื่อช่วยลดการเสียดสีจากการที่ทารกดิ้นเคลื่อนไหวไปมาภายในครรภ์

          • ภายในช่องปากของทารก จะมีการสร้างปุ่มฟันน้ำนมซึ่งจะเจริญอยู่ใต้เหงือก และจะโผล่พ้นเหงือกขึ้นมาเมื่อทารกมีอายุประมาณ 24 สัปดาห์ หรือ 6 เดือนขึ้นไป

          • ทารกในครรภ์เริ่มมีการพัฒนาด้านการกลืนเพิ่มขึ้นทุกวัน ถือเป็นช่วงเริ่มต้นฝึกการทำงานของระบบทางเดินอาหาร

          • ทารกเริ่มมีการขับถ่ายเป็นครั้งแรก ซึ่งสิ่งที่ทารกขับถ่ายออกมานั้นจะประกอบด้วยเซลล์ของผนังลำไส้ที่หลุดลอกตายไป รวมกับน้ำย่อยและน้ำคร่ำต่าง ๆ

          • ทารกเริ่มมีอาการสะอึก ซึ่งเวลาที่ทารกสะอึกจะทำให้เกิดเป็นแรงกระตุกขึ้นเบา ๆ ที่หน้าท้อง

เข้าใจการเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์


แม่ท้อง 20 สัปดาห์ อาจต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายด้านต่าง ๆ ดังนี้

          • ในสัปดาห์นี้ เป็นช่วงที่หลายสิ่งหลายอย่างเริ่มขยายออกค่ะ รกจะมีขนาดใหญ่ขึ้น และเลื่อนขึ้นด้านบนเรื่อยๆ มดลูกของคุณแม่ก็จะมีขนาดโตขึ้นในช่วงที่ท้อง 20 สัปดาห์นี้ด้วย ซึ่งคุณแม่ที่มีรกเกาะต่ำเมื่ออายุครรภ์น้อยๆ บางครั้งเมื่อมดลูกโตขึ้นภาวะดังกล่าวอาจจะหายไปเองก็ได้

          • นอกจากขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้นในสัปดาห์นี้แล้ว หากส่องกระจกดูคุณแม่ก็จะพบว่าหน้าท้องของตัวเองเริ่มแอ่นไปข้างหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ

          • ปกติท้องไตรมาสสองอาจจะยังไม่ได้มีอาการท้องแข็งมากเท่ากับท้องไตรมาสสาม แต่แม่ท้อง 20 สัปดาห์หลายคนอาจจะเริ่มมีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและหายไปเอง การนอนพัก หรือกินยาแก้ปวด สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้

แต่ถ้าหากมีอาการปวดถี่ขึ้น ปวดมากขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

          • น้ำหนักตัวของคุณแม่ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่คุณแม่จะต้องคอยควบคุมดูแลไม่ให้เกิดตามที่แพทย์แนะนำนะคะ สำหรับอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ยังอยู่ในไตรมาสที่สอง คุณแม่ที่มีค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI ปกติควรจะต้องคอยดูแลน้ำหนักไม่ให้เกิน 5-6 กิโลกรัมค่ะ

อาหารคนท้อง 20 สัปดาห์ มีอะไรบ้างที่คุณแม่ควรกิน


ท้อง 20 สัปดาห์ ควรกินอะไร? ถึงจะมีสุขภาพแข็งแรงทั้งแม่และเด็ก สำหรับแม่ท้อง 20 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่

          • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

          • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

          • โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

          • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

          • ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

          • โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

          • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่ยังสามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น

ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง

Enfamama TAP No. 1

อาการคนท้อง 20 สัปดาห์ ที่พบได้บ่อย


อาการคนท้อง 20 สัปดาห์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้

          • คุณแม่อาจมีอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืดง่าย เนื่องจากขนาดมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นอาจไปกดทับลำไส้หรือกระเพาะอาหาร ทำให้กระบวนการย่อยอาหารทำได้น้อยลง จึงทำให้มีการย่อยอาหารทำได้ไม่เต็มที่

          • คุณแม่อาจนอนไม่ค่อยหลับ นอนไม่สบายตัว เพราะขนาดท้องที่นูนใหญ่ขึ้น หรือทารกมีการดิ้นบ่อยจนรบกวนการนอนหลับของแม่

          • ระดับฮอร์โมนในร่างกายที่สูงขึ้น ยังคงส่งผลทำให้คุณแม่หลายคนมีอาการตกขาวมากขึ้น

          • หิวบ่อยขึ้น กินเยอะขึ้น เนื่องจากทารกในครรภ์ต้องการสารอาหารที่เพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ซึ่งคุณแม่ควรกินในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ตามใจปาก เพราะอาจเสี่ยงทำให้น้ำหนักเกินเกณฑ์ได้

          • ปวดหลัง ปวดสะโพก เพราะน้ำหนักตัวเริ่มมากขึ้น ขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดการกดทับที่บริเวณช่วงหลังหรืออวัยวะช่วงล่าง

          • อาการท้องผูกยังคงเป็นปัญหาที่คุณแม่ไตรมาสสองพบเจอเป็นปกติ เพราะมดลูกที่ใหญ่ขึ้นเริ่มกดทับลำไส้ ทำให้กระบวนการย่อยอาหารและการขับถ่ายทำงานได้ไม่เต็มที่

อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ต้องตรวจอะไรบ้างไหม


แพทย์อาจนัดคุณแม่เข้ามาทำการตรวจครรภ์และอัลตราซาวนด์ประจำไตรมาสสอง หรือในช่วงอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ค่ะ ซึ่งถ้าหากคุณแม่ยังไม่ทราบเพศลูก แพทย์ก็จะมีการตรวจดูเพศของทารกในครรภ์ตอนนี้เลย

นอกจากนี้แพทย์ยังจำเป็นจะต้องตรวจดูว่าทารกมีอวัยวะครบไหม มีการเจริญเติบโตที่ตรงตามอายุครรภ์ 20 สัปดาห์หรือไม่ รวมถึงการตรวจดูว่าคุณแม่มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดหรือไม่ด้วยค่ะ

อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ แล้วมีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่?


อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่

และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ

ท้อง 20 สัปดาห์ ลูกไม่ดิ้น ปกติไหม

คุณแม่ส่วนใหญ่สามารถรู้สึกถึงการดิ้นของลูกได้อย่างชัดเจนในสัปดาห์นี้ แต่ถ้าไม่รู้สึกเลย ก็ยังเร็วไปที่จะสรุปว่าผิดปกติค่ะ เพราะการที่ลูกไม่ดิ้น อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

          • ผนังหน้าท้องของคุณแม่อาจจะหนาจนสัมผัสการดิ้นของทารกได้ยาก

          • ช่วงที่ทารกดิ้นอาจทำกิจกรรมอย่างอื่นที่มีการเคลื่อนไหว จึงทำให้ไม่รู้สึก

          • ตอนที่ทารกดิ้น คุณแม่นอนหลับ ตอนที่คุณแม่ตื่น ทารกหลับ ช่วงเวลาที่ลูกดิ้นจึงคลาดเคลื่อนไปจากการรับรู้ของคุณแม่

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ยังไม่ต้องคิดมากค่ะ เพราะหากที่อัลตราซาวนด์แล้วพบว่าทารกยังมีหัวใจเต้นตามปกติ และยังสามารถเคลื่อนไหวตามปกติ ก็ยังไม่มีอะไรต้องกังวล และอาจจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นมากขึ้นในสัปดาห์ถัดไปก็ได้ค่ะ

ท้อง 20 สัปดาห์ ท้องแข็ง อันตรายไหม

โดยทั่วไปแล้วอาการท้องแข็งนี้มักจะพบได้ในไตรมาสสามหรือช่วงก่อนใกล้คลอด แต่...ก็พบว่ามีคุณแม่หลายคนมีอาการท้องแข็งตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสสอง ซึ่งอาจจะเกิดจากสาเหตุเหล่านี้

          • ทารกดิ้นแรง
          • คุณแม่ทำงานหนัก หรือออกแรงมาก
          • คุณแม่อยู่ในท่าเดิมนาน ๆ เช่น เดินนาน ๆ หรือยืนนาน ๆ
          • มดลูกมีการหดรัดตัวตามปกติในระหว่างตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตาม หากอาการท้องแข็งในช่วงปลายไตรมาสสองนั้นมักจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและหายไปเอง การนอนพัก หรือกินยาแก้ปวด สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้

แต่ถ้าหากมีอาการปวดถี่ขึ้น ปวดมากขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

ท้อง 20 สัปดาห์ ท้องเล็ก ควรกังวลไหม

ท้องได้ 5 เดือนแล้ว หน้าท้องของคุณแม่ควรที่จะนูนออกมาชัดเจน แต่ถ้าท้องเล็กมาก หรือแทบไม่นูนออกมาเลย ก็ยังไม่ถือว่าผิดปกติเสียทีเดียวนะคะ เพราะการเปลี่ยนแปลงของหน้าท้องยังขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น

          • คุณแม่ตั้งครรภ์ครั้งแรก หน้าท้องจึงมักไม่ขยายใหญ่สำหรับท้องแรก

          • คุณแม่ออกกำลังกายกายมาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ทำให้มีผนังหน้าท้องที่หน้า เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ หน้าท้องจึงไม่นูนออกมาง่าย ๆ

          • คุณแม่ตั้งครรภ์ตอนอายุยังน้อย

          • คุณแม่มีสรีระที่เล็ก ขนาดหน้าท้องจึงไม่ขยายใหญ่เกินกว่าสรีระของคุณแม่

อย่างไรก็ตาม หากตรวจอัลตราซาวนด์แล้วพบว่าทารกยังมีการเจริญเติบโตตามปกติ หัวใจเต้นตามปกติ ก็ไม่มีอะไรต้องเป็นกังวลค่ะ นอกจากนี้สำหรับแม่ที่สังเกตว่ามีอาการปวดท้องรุนแรง และอาการปวดท้องไม่ทุเลาลงเลย หรือสังเกตว่ามีเลือดออกขณะตั้งครรภ์

หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยว่าอาการดังกล่าวเกิดจากอะไร และเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป เพราะถ้าหากปล่อยไว้แล้วมีสาเหตุมาจากภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะแท้งคุกคาม ครรภ์เป็นพิษ หรือเสี่ยงต่อการแท้ง จะส่งผลเสียต่อแม่และทารกในครรภ์ได้ค่ะ

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์


คุณแม่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

รวมถึงควรเริ่มลดกิจกรรมและการงานต่าง ๆ ที่ต้องออกแรงด้วยค่ะ การก้ม ๆ เงย ๆ บ่อย ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ ทำให้ปวดหลัง หรือปวดเมื่อยมากขึ้น ทั้งยังเสี่ยงต่อการพลัดตก หกล้ม ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์และทารกในครรภ์ได้

รู้จักกับภาวะแท้งคุกคามและสัญญาณอันตรายที่ควรเฝ้าระวัง

ภาวะแท้งคุกคาม (Threatened Abortion) คือ ความผิดปกติของการตั้งครรภ์ ที่สามารถพบได้ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยแม่ที่มีภาวะแท้งคุกคามจะมีเลือดออกทางช่องคลอดในขณะที่ปากมดลูกยังไม่เปิด

ซึ่งเลือดที่ไหลออกมานั้นอาจเป็นเลือดสีสด มูกเลือด หรือเลือดสีน้ำตาลก็ได้ ทั้งนี้ ภาวะแท้งคุกคาม เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น

          • โครโมโซมผิดปกติ
          • ทารกพิการตั้งแต่ในครรภ์
          • มดลูกและโพรงมดลูกผิดปกติ
          • การได้รับยาหรือสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย
          • มีประวัติการแท้งบุตรมาก่อน
          • ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก
          • แม่ท้องมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

ภาวะแท้งคุกคาม จำเป็นจะต้องรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพราะถือว่าเป็นภาวะการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ และเสี่ยงต่อการแท้งบุตรได้

ดังนั้น หากมีเลือดออกในขณะตั้งครรภ์ ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุว่าอาการเลือดออกนั้นมีที่มาจากอะไรกันแน่ ในกรณีที่เป็นสัญญาณของความผิดปกติ แพทย์จะได้ทำการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

ภาวะครรภ์เป็นพิษคืออะไร

ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ถือเป็นความผิดปกติที่อันตรายอย่างยิ่งสำหรับการตั้งครรภ์ค่ะ และส่วนใหญ่แล้วคุณแม่ก็มักจะมีภาวะครรภ์เป็นพิษตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์เป็นต้นไป

โดยภาวะครรภ์เป็นพิษ จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็น ความดันโลหิตสูง ไตเสียหาย โปรตีนในปัสสาวะสูง และอาจมีความเสียหายต่ออวัยวะอื่น ๆ ร่วมด้วย

ภาวะครรภ์เป็นพิษ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น

          • ตั้งครรภ์ครั้งแรก
          • ตั้งครรภ์ตอนอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือตั้งครรภ์ตอนมากกว่า 35 ปี
          • คุณแม่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานที่ควรจะเป็น
          • คุณแม่ตั้งครรภ์ลูกแฝด หรือตั้งครรภ์ทารกมากกว่า 2 คน
          • คุณแม่มีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
          • สมาชิกในครอบครัวมีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
          • ตั้งครรภ์โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
          • คุณแม่มีภาวะเลือดแข็งตัวง่ายอยู่แล้ว
          • คุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไต เบาหวาน โรคแพ้ภูมิตนเอง (SLE) ข้ออักเสบรูมาตอยด์

โดยสัญญาณและอาการที่อาจบ่งบอกว่าคุณแม่เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ มีดังนี้

          • ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ หรือมีภาวะความดันโลหิตสูงมาก่อนหน้านี้แล้ว
          • มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต หรือตรวจพบโปรตีนปริมาณมากในปัสสาวะ
          • ระดับเกล็ดเลือดลดลง
          • ค่าเอนไซม์ในตับสูง
          • มีอาการปวดศีรษะรุนแรง
          • มีอาการตาพร่ามัว หรือตาไวต่อแสง
          • มีอาการบวมน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการบวมที่ใบหน้าและมือ
          • หายใจถี่ ๆ
          • ปวดท้องช่วงบน หรือบริเวณใต้ซี่โครงด้านขวา
          • คลื่นไส้หรืออาเจียน
          • น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภาวะครรภ์เป็นพิษนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยอาจจะต้องได้รับยาลดความดันโลหิต หรือการรักษาตามอาการ

ในกรณีที่ฉุกเฉินมากจริง ๆ อาจจำเป็นจะต้องมีการทำคลอดด่วนทันที หรือร้ายแรงที่สุดแพทย์อาจวินิจฉัยให้ยุติการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันอันตรายต่อทั้งแม่และทารกในครรภ์

คุณแม่ท้องสามารถมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ได้ไหม

คนท้องสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ทุกช่วงอายุครรภ์ค่ะ แต่เมื่อขนาดครรภ์ใหญ่ขึ้นท่าเซ็กซ์ควรจะลดความผาดโผนลง เพื่อลดความเสี่ยงของการกระทบกระเทือนกับครรภ์

พยายามให้คุณแม่เป็นฝ่ายควบคุมจังหวะอยู่ด้านบนด้วยตนเอง หรือท่าเซ็กซ์ในลักษณะที่นอนราบด้วยกันทั้งคู่ หรือมีการสอดใส่จากด้านหลัง หรือมีเซ็กซ์ในท่ายืน พยายามหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในลักษณะที่เสี่ยงจะกระทบกระเทือนกับหน้าท้องเป็นดีที่สุด

มากไปกว่านั้น ความรุนแรง พุ่งโหน โจนทะยานใด ๆ ที่เคยปฏิบัติกันมา ก็ขอให้ลดลง และกระทำกันด้วยความนุ่มนวล เพื่อป้องกันไม่ให้มีเลือดออก หรือเกิดการฉีกขาดของช่องคลอด และลดแรงกระแทกที่อาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์ได้ค่ะ

1,000 วันแรกคืออะไร และสำคัญอย่างไร

การเริ่มต้นเสริมพัฒนาการของลูกน้อยให้เติบโตได้อย่างแข็งแรงและสมวัยนั้น หลายคนอาจจะเข้าใจว่าให้เริ่มตอนที่ลูกเริ่มรู้ความ เริ่มอ่านออกและเขียนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วการเสริมพัฒนาการของลูกนั้นควรเริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 วันแรกค่ะ โดยจะนับตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงวันเกิดครบ 2 ขวบของลูกน้อย และสามารถแยกช่วงเวลาได้ ดังนี้

          • ช่วงที่ 1: ตั้งครรภ์ (270 วัน)
          • ช่วงที่ 2: วัยแรกเกิด – 6 เดือน (180 วัน)
          • ช่วงที่ 3: วัย 6 เดือน – 2 ปี (550 วัน)

ตลอดระยะเวลา 1,000 วัน คุณแม่จะต้องใส่ใจกับการดูแลตนเองและลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งลืมตาออกมาดูโลก หมั่นฟูมฟักทั้งโภชนาการที่มีประโยชน์ ปลูกฝังอารมณ์ สภาพจิตใจ ความรัก ความอบอุ่น รวมทั้งการเสริมสร้างพัฒนาการด้วยการเล่น การพูดคุย เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่สมบูรณ์ สมวัย และมีสุขภาพที่ดี พร้อมสำหรับการเจริญเติบโตในทุก ๆ วัน โดยเฉพาะเรื่องของโภชนาการที่คุณแม่ควรจะเริ่มกินอาหารที่มีประโยชน์ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือเริ่มตั้งแต่วางแผนจะตั้งครรภ์ ไปจนกระทั่งตั้งครรภ์ คลอดลูก และให้นมบุตร

เมื่อคุณแม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ ทารกในครรภ์ก็จะได้รับสารอาหารเหล่านั้นด้วย การปูพื้นฐานเรื่องโภชนาการนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่พัฒนาการด้านอื่น ๆ เพราะเมื่อทารกแข็งแรง มีสุขภาพดี ก็พร้อมสำหรับการเรียนรู้ที่ไม่สะดุดและต่อเนื่องไปตามวัย

ไขข้อข้องใจเมื่อท้อง 20 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club


 ท่านอนคนท้องอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ นอนท่าไหนได้บ้าง?

ท่านอนที่ปลอดภัยสำหรับแม่ท้อง 20 สัปดาห์ ได้แก่

          • ท่านอนหงาย ท่านี้จะช่วยรองรับน้ำหนักทั้งหมดของมดลูกและทารกที่กำลังเติบโตลงไปที่หลัง ช่วยให้การลำเลียงเลือดกลับไปยังหัวใจได้ดีขึ้น และช่วยให้คุณแม่นอนหลับสบายด้วย

          • ท่านอนตะแคงซ้าย ถือได้ว่าเป็นท่าที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนท้องที่เริ่มมีขนาดท้องใหญ่ขึ้น โดยท่านี้จะช่วยให้เลือดไหลเวียนและลำเลียงสารอาหารไปยังรกได้ดี ลดแรงกดทับที่หลัง และช่วยเพิ่มการทำงานของไต ทำให้ร่างกายของคุณแม่สามารถกำจัดของเสียได้ดีขึ้น ลดอาการบวมที่เท้า ข้อเท้า และมือ

 ท้อง 20 สัปดาห์ ลูกดิ้นน้อย ต้องกังวลไหม?

โดยมากแล้วคุณแม่ส่วนใหญ่สามารถรู้สึกถึงการดิ้นของลูกได้อย่างชัดเจนในสัปดาห์นี้ แต่ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อย ดิ้นเบา หรือไม่ค่อยดิ้น ก็ยังเร็วไปที่จะสรุปว่าผิดปกติค่ะ เพราะการที่ลูกดิ้นน้อย อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

          • ผนังหน้าท้องของคุณแม่อาจจะหนาจนสัมผัสการดิ้นของทารกได้ยาก

          • หรือช่วงที่ทารกดิ้นอาจทำกิจกรรมอย่างอื่นที่มีการเคลื่อนไหว จึงทำให้ไม่รู้สึก

          • หรือตอนที่ทารกดิ้น คุณแม่นอนหลับ ตอนที่คุณแม่ตื่น ทารกหลับ ช่วงเวลาที่ลูกดิ้นจึงคลาดเคลื่อนไปจากการรับรู้ของคุณแม่

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ยังไม่ต้องกังวลมากจนเกินไปค่ะ หากคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อย ให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ หากตรวจแล้วพบว่าทารกยังมีหัวใจเต้นตามปกติ มีการเคลื่อนไหวเป็นปกติ ก็ยังไม่มีอะไรต้องกังวล และอาจจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นมากขึ้นในสัปดาห์ถัดไปก็ได้ค่ะ

 ท้อง 20 สัปดาห์ ควรกินอะไรดี?

แม่ท้อง 20 สัปดาห์ ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย ครบทั้ง 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์ และต้องกินอาหารที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสที่มากับอาหาร มากไปกว่านั้น ยังควรเน้นสารอาหารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อการตั้งครรภ์ ได้แก่

          • ดีเอชเอ พบได้มากในอาหารจำพวก ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

          • ธาตุเหล็ก พบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

          • โฟเลต พบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

          • แคลเซียม พบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

          • ไอโอดีน พบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

          • โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

          • โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

 ท้อง 20 สัปดาห์ มีนัดฝากครรภ์ไหม?

หากคุณแม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ช้า หรือเพิ่งตรวจพบการตั้งครรภ์ในสัปดาห์นี้ ก็จำเป็นจะต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการฝากครรภ์ทันที เพื่อที่แพทย์จะได้ทำการตรวจครรภ์และอัลตราซาวนด์ดูว่าทารกในท้องยังปกติไหม ตลอดจนคำนวณอายุครรภ์จริงและกำหนดวันคลอดด้วยค่ะ

ส่วนในกรณีที่คุณแม่ฝากครรภ์ไว้นานแล้ว ในสัปดาห์นี้แพทย์อาจจะนัดให้เข้ามาทำการตรวจครรภ์ตามปกติค่ะ อย่างไรก็ตาม คุณแม่แต่ละคนนั้นมีพื้นฐานสุขภาพและความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ที่แตกต่างกัน จึงอาจจะมีนัดพบแพทย์ในสัปดาห์นี้หรือไม่มีก็ได้ค่ะ

 คนท้อง 5 เดือน นอนหงายได้ไหม?

แม่ท้องในไตรมาสนี้ก็ยังสามารถนอนหงายได้ค่ะ ท่านอนหงายถือเป็นอีกหนึ่งท่านอนที่ปลอดภัยสำหรับคนท้อง เพราะช่วยกระจายแรงกดทับที่แผ่นหลังได้ดี ทั้งยังช่วยให้ร่างกายสามารถไหลเวียนเลือดกลับไปยังหัวใจได้ดีขึ้นด้วย

แต่...เนื่องจากคุณแม่เริ่มมีขนาดครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นแล้ว ขนาดของมดลูกและทารกอาจไปกดทับหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี หรือถ้าเริ่มรู้สึกว่านอนหงายแล้วหายใจไม่ค่อยออก ควรเปลี่ยนมานอนตะแคงซ้าย ซึ่งเป็นท่าที่ช่วยให้คุณแม่นอนได้สบายมากขึ้น และลดแรงกดทับของหน้าท้องได้ดีกว่าท่านอนหงายด้วย



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์