Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 7 – 7.5 นิ้ว หนักประมาณ 430 กรัม มีขนาดเท่ากับสปาเก็ตตี้สควอช (Spaghetti Squash) หรือมะพร้าว

  • อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ เค้าโครงหน้าของทารกตอนนี้ค่อนข้างสมบูรณ์มากแล้ว ริมฝีปากเปลือกตา คิ้ว เห็นชัดเจนขึ้น

  • อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ ทารกเพศชายลูกอัณฑะจะเริ่มเคลื่อนลงมาในตำแหน่งที่เหมาะสม ส่วนทารกเพศหญิงเริ่มมีการจัดวางรังไข่และมดลูกให้อยู่ตำแหน่งปกติ และช่องคลอดจะมีการพัฒนา

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 22 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 22
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 22 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 22 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
     • อาการคนท้อง 22 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
     • 22 สัปดาห์ มีนัดตรวจอะไรไหม
     • ท้อง 22 สัปดาห์ มีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่
     • ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

ท้อง 22 สัปดาห์ คุณแม่หลายคนเริ่มจะปรับตัวเข้ากับการเป็นคนท้องได้มากขึ้นแล้ว ทั้งขนาดครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และอาการคนท้องที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอทำให้คุณแม่เริ่มรู้สึกคุ้นชิน แม้จะเป็นความเคยชินที่ไม่ค่อยสบายตัวนักก็ตาม

บทความนี้จาก Enfa จะพามาดูกันว่าแม่ตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์จะพบกับความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในสัปดาห์นี้ แล้วทารกอายุครรภ์ 22 สัปดาห์ จะมีพัฒนาการที่น่าสนใจอะไรบ้าง

ท้อง 22 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้


แม่ท้อง 22 สัปดาห์ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่วงที่คุณแม่สามารถสัมผัสการดิ้นของลูกได้ถี่มาก ๆ ซึ่งนอกจากการดิ้นโดยปกติแล้ว ทารกในครรภ์ระยะนี้ยังตอบสนองต่อเสียงได้ดีมากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ

คุณแม่คนไหนที่ยังไม่เริ่มอ่านนิทาน เปิดเพลง หรือพูดคุยกับลูกล่ะก็ อย่ารอช้าค่ะ เพราะเจ้าตัวเล็กพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะรับฟังการสื่อสารจากคุณพ่อคุณแม่แล้ว

ท้อง 22 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหน

ทารกในครรภ์ 22 สัปดาห์ เจริญเติบโตอยู่ภายในมดลูก มีการเคลื่อนไหวไปมาอย่างอิสระ และเปลี่ยนท่าทางได้ตลอดทั้งวัน ตอนเช้าอาจเอาหัวลง แต่ตอนบ่ายก็อาจกลับเอาหัวขึ้น เนื่องจากมดลูกยังมีรูปทรงกลมอยู่ ยังมีพื้นที่ภายในกว้างขวาง ทารกจึงสามารถดิ้นได้อย่างอิสระค่ะ

อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 22 สัปดาห์ เมื่อเทียบเป็นจำนวนเดือนแล้วจะเท่ากับอายุครรภ์ 5 เดือน 2 สัปดาห์ค่ะ

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 22 สัปดาห์ เป็นอย่างไร


ทารกอายุครรภ์ 22 สัปดาห์ อาจเรียกได้ว่าเข้าสู่ช่วงทารกขนได้แล้วค่ะ เพราะขนอ่อน (Lanugo) เส้นเล็ก ๆ นั้นเริ่มหายไป และมีเส้นขนขึ้นมาปกคลุมผิวหนังอันบอบบางของทารกในครรภ์แทน

ขนาดทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 22 จะมีขนาดเท่าไหน

ทารกอายุครรภ์ 22 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 11 นิ้ว หรือมีขนาดเท่ากับสปาเก็ตตี้สควอช (Spaghetti Squash) หรือมะพร้าวค่ะ

ท้อง 22 สัปดาห์ ลูกหนักเท่าไหร่

อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ น้ำหนักทารกจะอยู่ที่ประมาณ 430 กรัมค่ะ

ท้อง 22 สัปดาห์ ลูกดิ้นมากไหม

เนื่องจากระบบและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกอายุครรภ์ 22 สัปดาห์นั้นพัฒนาการเกือบจะเต็มระบบ และเริ่มทำงานได้ทุกระบบแล้ว คุณแม่จึงรู้สึกได้ว่าทารกดิ้นบ่อยมากขึ้น

แต่จะดิ้นมากหรือน้อยแค่ไหนในแต่ละวันนั้นตอบได้ยากค่ะ เพราะทารกจะไม่ดิ้นเท่ากันทุกวัน และดิ้นมากดิ้นน้อยแตกต่างกันไป แต่ในระยะนี้ทารกอาจจะดิ้นได้มากถึง 200-300 ครั้งต่อวันค่ะ

อวัยวะและระบบอื่น ๆ

การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 22 สัปดาห์ มีดังนี้

          • รูปร่างหน้าตาของทารกที่อยู่ในท้อง 22 สัปดาห์ ตอนนี้ค่อนข้างสมบูรณ์มากแล้ว ริมฝีปากเปลือกตา คิ้ว เห็นชัดเจนขึ้น ซึ่งพอจะเดากันได้บ้างแล้วว่าเจ้าตัวเล็กมีหน้าตาละม้ายคล้ายพ่อหรือแม่มากกว่ากัน

          • ฟันซี่เล็ก ๆ ของทารกก็ขึ้นเป็นตุ่ม ๆ ใต้เหงือก จนกระทั่งลูกอายุได้ 6 เดือนขึ้นไป ตุ่มฟันเหล่านี้ก็จะงอกออกมา

          • ดวงตาของทารกเริ่มครบสมบูรณ์ แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าลูกมีดวงตาสีอะไร

          • ขนอ่อน ๆ เริ่มขึ้นทั่วทั้งร่างกายเพื่อยึดไขเคลือบผิวไว้ไม่หลุดร่อนออกไปง่าย ๆ

          • ผิวหนังหนาขึ้น ต่อมไขมันใต้ผิวหนังก็จะสร้างไขเคลือบผิวที่มีลักษณะคล้ายขี้ผึ้งออกมาเพื่อปกป้องผิวอันบอบบาง และลดการเสียดสีขณะทารกดิ้นอยู่ในครรภ์

          • ระบบสืบพันธุ์ของทารกจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทารกเพศชายลูกอัณฑะจะเริ่มเคลื่อนลงมาในตำแหน่งที่เหมาะสม ส่วนทารกเพศหญิงเริ่มมีการจัดวางรังไข่และมดลูกให้อยู่ตำแหน่งปกติ และช่องคลอดจะมีการพัฒนา รวมทั้งจะมีไข่เพียงพอสำหรับการเจริญพันธุ์ในอนาคต

เข้าใจการเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่อายุครรภ์ 22 สัปดาห์


แม่ท้อง 22 สัปดาห์หลายคนอาจต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหลายอย่างในช่วงสัปดาห์นี้ ดังนี้

          • ตั้งแต่อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ ไปจนถึงครบกำหนดคลอด อัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกายคุณแม่จะเพิ่มมากกว่าปกติถึงกว่า 20 % คุณแม่ที่ท้องได้ราว 22 สัปดาห์ จะรู้สึกขี้ร้อนมากทั้งกลางวันและกลางคืน ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งหรือที่อับนาน ๆ ควรดื่มน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศร้อน

          • มากไปกว่านั้น ช่วงนี้ผิวหนังเริ่มมีการยืดขยายและแตกลายมากขึ้น คุณแม่ที่ท้องมาแล้ว 22 สัปดาห์กว่าครึ่งต้องเจอกับอาการนี้ โดยเฉพาะที่หน้าท้อง ก้น ต้นขาสะโพก และหน้าอก สีผิวก็จะคล้ำขึ้นด้วยจากสีชมพูเป็นสีน้ำตาล (ขึ้นอยู่กับสีผิวของแต่ละคน)

          • ขนาดครรภ์ของคุณแม่ในช่วงนี้ยังคงขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และแอ่นออกมาข้างหน้ามากกว่าเดิม ซึ่งการที่หน้าท้องของคุณแม่ขยายมากเรื่อยๆ แบบนี้ก็ทำให้เกิดอาการปวดหลังตามมานั่นเอง

          • แม่ท้อง 22 สัปดาห์ อาจจะเริ่มมีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและหายไปเอง การนอนพัก หรือกินยาแก้ปวด สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้ แต่ถ้าหากมีอาการปวดถี่ขึ้น ปวดมากขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

          • น้ำหนักตัวของคุณแม่ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่คุณแม่จะต้องคอยควบคุมดูแลไม่ให้เกิดตามที่แพทย์แนะนำนะคะ สำหรับอายุครรภ์ 22 สัปดาห์ ยังอยู่ในไตรมาสที่สอง คุณแม่ที่มีค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI ปกติควรจะต้องคอยดูแลน้ำหนักไม่ให้เกิน 5-6 กิโลกรัมค่ะ

อาหารคนท้อง 22 สัปดาห์ มีอะไรบ้างที่คุณแม่ควรกิน


สำหรับแม่ท้อง 22 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่

          • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

          • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

          • โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

          • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

          • ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

          • โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

          • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่ยังสามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น

ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง

Enfamama TAP No. 1

อาการคนท้อง 22 สัปดาห์ ที่พบได้บ่อย


อาการคนท้อง 22 สัปดาห์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้

          • เมื่อมดลูกขยายใหญ่ขึ้น และเริ่มกดทับอวัยวะในระบบทางเดินอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณลำไส้ ทำให้การย่อยอาหารและการขับถ่ายทำได้ไม่เต็มที่ คุณแม่หลายคนจึงมีอาการท้องผูกบ่อย ๆ ในระยะนี้

          • อาหารไม่ย่อย ท้องอืดง่าย เนื่องจากขนาดมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นอาจไปกดทับลำไส้หรือกระเพาะอาหาร ทำให้กระบวนการย่อยอาหารทำได้น้อยลง จึงทำให้มีการย่อยอาหารทำได้ไม่เต็มที่

          • คุณแม่ที่ขาดแคลเซียมและแมกนีเซียม หรือไม่ได้เสริมแคลเซียมกับแมกนีเซียมมากตั้งแต่ต้น จะเริ่มมีอาการตะคริวเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในระยะนี้

          • อาการปวดหลังยังคงทรมานคุณแม่อยู่ เพราะน้ำหนักตัวเริ่มมากขึ้น ขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดการกดทับที่บริเวณช่วงหลังหรืออวัยวะช่วงล่าง

ตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์ มีนัดตรวจไหมนะ


คุณแม่แต่ละคนมีกำหนดนัดตรวจอัลตราซาวนด์ที่แตกต่างกันค่ะ คุณแม่อาจจะมีตรวจครรภ์ในสัปดาห์นี้ หรือไม่มีนัดก็ได้ ซึ่งสำหรับอายุครรภ์ 22 สัปดาห์นั้น หากคุณแม่เพิ่งรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ก็จำเป็นจะต้องเริ่มฝากครรภ์กันเลยทันที

เพื่อที่แพทย์จะได้มีการตรวจครรภ์และทำการอัลตราซาวนด์ดูว่าทารกในครรภ์ปกติไหม น้ำคร่ำน้อยหรือมากไปไหม การเคลื่อนไหวทารกเป็นยังไง หัวใจทารกเต้นปกติไหม ตำแหน่งรกอยู่ตรงไหน รวมถึงตรวจดูอวัยวะต่าง ๆ ของทารกว่าเป็นปกติหรือไม่ และยังใช้ข้อมูลจากการอัลตราซาวนด์มาใช้ในการคำนวณอายุครรภ์และกำหนดวันคลอดได้อย่างแม่นยำด้วยค่ะ

ส่วนกรณีที่คุณแม่ฝากครรภ์มาตั้งนานแล้ว แพทย์อาจนัดคุณแม่เข้ามาทำการตรวจครรภ์และอัลตราซาวนด์ประจำไตรมาสสอง หรือในช่วงอายุครรภ์ 22 สัปดาห์ค่ะ ซึ่งถ้าหากคุณแม่ยังไม่ทราบเพศลูก แพทย์ก็จะมีการตรวจดูเพศของทารกในครรภ์ตอนนี้เลย

นอกจากจะได้เห็นเพศลูกแล้ว ยังสามารถเห็นโครงหน้าของทารกได้ชัดเจนมากขึ้น อาจเริ่มเดาได้คร่าว ๆ แล้วว่าทารกมีเค้าโครงหน้าคล้ายพ่อหรือแม่กันนะ ทั้งนี้ แพทย์ยังจำเป็นจะต้องตรวจดูว่าทารกมีอวัยวะครบไหม มีการเจริญเติบโตที่ตรงตามอายุครรภ์ 22 สัปดาห์หรือไม่ รวมถึงการตรวจดูว่าคุณแม่มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดหรือไม่ด้วยค่ะ

ท้อง 22 สัปดาห์ แล้วมีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่นะ


อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่

และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ

ท้อง 22 สัปดาห์ ท้องแข็งปกติไหม

โดยทั่วไปแล้วอาการท้องแข็งนี้มักจะพบได้ในไตรมาสสามหรือช่วงก่อนใกล้คลอด แต่...ก็พบว่ามีคุณแม่หลายคนมีอาการท้องแข็งตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสสอง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากสิ่งเหล่านี้

          • ทารกดิ้นแรง
          • คุณแม่ทำงานหนัก หรือออกแรงมาก
          • คุณแม่อยู่ในท่าเดิมนาน ๆ เช่น เดินนาน ๆ หรือยืนนาน ๆ
          • มดลูกมีการหดรัดตัวตามปกติในระหว่างตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตาม หากอาการท้องแข็งในช่วงปลายไตรมาสสองนั้นมักจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและหายไปเอง การนอนพัก หรือกินยาแก้ปวด สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้

แต่ถ้าหากมีอาการปวดถี่ขึ้น ปวดมากขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

ตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์ ลูกไม่ค่อยดิ้น ควรกังวลไหม

โดยมากแล้วคุณแม่ส่วนใหญ่สามารถรู้สึกถึงการดิ้นของลูกได้อย่างชัดเจนในสัปดาห์นี้ แต่ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อย ดิ้นเบา หรือไม่ค่อยดิ้น ก็ยังเร็วไปที่จะสรุปว่าผิดปกติค่ะ เพราะการที่ลูกดิ้นน้อย อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

          • ผนังหน้าท้องของคุณแม่อาจจะหนาจนสัมผัสการดิ้นของทารกได้ยาก

          • หรือช่วงที่ทารกดิ้นอาจทำกิจกรรมอย่างอื่นที่มีการเคลื่อนไหว จึงทำให้ไม่รู้สึก

          • หรือตอนที่ทารกดิ้น คุณแม่นอนหลับ ตอนที่คุณแม่ตื่น ทารกหลับ ช่วงเวลาที่ลูกดิ้นจึงคลาดเคลื่อนไปจากการรับรู้ของคุณแม่

          • หรือทารกอาจจะขี้เกียจดิ้น คือยังดิ้นตามปกติ แต่บางครั้งอาจจะดิ้นน้อยลงไปบ้าง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทารกในไตรมาสนี้ยังดิ้นไม่ค่อยเป็นเวลา อาจจะดิ้นพักหนึ่งแล้วก็หายไป แล้วก็กลับมาดิ้นอีก ซึ่งเดี๋ยวมาเดี๋ยวไป ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กัน ทำให้การนับลูกดิ้นในระยะนี้เป็นไปได้ยากค่ะ ต้องรอจนอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ทารกจึงจะเริ่มดิ้นเป็นเวลา ถึงค่อยเริ่มนับลูกดิ้น

หากคุณแม่รู้สึกว่าลูกไม่ค่อยดิ้น เพื่อความสบายใจ ให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ดูว่าทารกยังปกติอยู่ไหม เพราะการที่ลูกไม่ค่อยดิ้น นอกจากจะเป็นเพราะว่าลูกขี้เกียจดิ้นแล้ว อาจมีความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น รกเสื่อม ทารกขาดออกซิเจน เป็นต้น

ท้อง 22 สัปดาห์ ลูกดิ้นน้อยลง อันตรายไหม

เป็นเรื่องยากค่ะที่จะฟันธงเลยทันทีว่าลูกดิ้นน้อยลงนั้นอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสัปดาห์นี้ เพราะทารกยังดิ้นไม่ค่อยเป็นเวลา แต่เพื่อความปลอดภัย หากคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยกว่าทุกวัน หรือวันนี้ลูกยังไม่ดิ้นเลย ให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจครรภ์ทันที เพราะอาจเป็นไปได้ว่าเกิดความผิดปกติเกิดขึ้นก็ได้ค่ะ

ท้อง 22 สัปดาห์ ปวดท้องน้อย หมายความว่าจะคลอดหรือเปล่า

อาการปวดท้องน้อยอาจมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของมดลูกและเส้นเอ็นบริเวณหน้าท้อง จึงทำให้มีอาการปวดหน่วงที่ท้องน้อยเกิดขึ้น แต่อาการนั้นก็มักจะหายได้เอง หรือกินยาบรรเทาปวดแล้วอาการดีขึ้น ซึ่งอาการปวดท้องน้อยในลักษณะนี้มักจะไม่ใช่อาการปวดท้องใกล้คลอดค่ะ

แต่ถ้าหากมีอาการปวดท้องน้อยถี่ ๆ และอาการไม่ทุเลาลง หรือตรวจดูมดลูกแล้วพบว่าปากมดลูกขยาย ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะกรณีแบบนี้อาจเป็นไปได้ว่าทารกจะคลอดก่อนกำหนด หรือมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 22 สัปดาห์


คุณแม่อายุครรภ์ 21 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

รวมถึงควรเริ่มลดกิจกรรมและการงานต่าง ๆ ที่ต้องออกแรงด้วยค่ะ การก้ม ๆ เงย ๆ บ่อย ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ ทำให้ปวดหลัง หรือปวดเมื่อยมากขึ้น ทั้งยังเสี่ยงต่อการพลัดตก หกล้ม ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์และทารกในครรภ์ได้

รู้ทันภาวะครรภ์เป็นพิษและสัญญาณอันตรายที่ควรระวัง

ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ถือเป็นความผิดปกติที่อันตรายอย่างยิ่งสำหรับการตั้งครรภ์ค่ะ และส่วนใหญ่แล้วคุณแม่ก็มักจะมีภาวะครรภ์เป็นพิษตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์เป็นต้นไป

ภาวะครรภ์เป็นพิษ จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็น ความดันโลหิตสูง ไตเสียหาย โปรตีนในปัสสาวะสูง และอาจมีความเสียหายต่ออวัยวะอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยภาวะครรภ์เป็นพิษ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น

          • ตั้งครรภ์ครั้งแรก
          • ตั้งครรภ์ตอนอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือตั้งครรภ์ตอนมากกว่า 35 ปี
          • คุณแม่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานที่ควรจะเป็น
          • คุณแม่ตั้งครรภ์ลูกแฝด หรือตั้งครรภ์ทารกมากกว่า 2 คน
          • คุณแม่มีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
          • สมาชิกในครอบครัวมีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
          • ตั้งครรภ์โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
          • คุณแม่มีภาวะเลือดแข็งตัวง่ายอยู่แล้ว
          • คุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไต เบาหวาน โรคแพ้ภูมิตนเอง (SLE) ข้ออักเสบรูมาตอยด์

โดยสัญญาณและอาการที่อาจบ่งบอกว่าคุณแม่เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ คือ

          • ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ หรือมีภาวะความดันโลหิตสูงมาก่อนหน้านี้แล้ว
          • มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต หรือตรวจพบโปรตีนปริมาณมากในปัสสาวะ
          • ระดับเกล็ดเลือดลดลง
          • ค่าเอนไซม์ในตับสูง
          • มีอาการปวดศีรษะรุนแรง
          • มีอาการตาพร่ามัว หรือตาไวต่อแสง
          • มีอาการบวมน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการบวมที่ใบหน้าและมือ
          • หายใจถี่ ๆ
          • ปวดท้องช่วงบน หรือบริเวณใต้ซี่โครงด้านขวา
          • คลื่นไส้หรืออาเจียน
          • น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภาวะครรภ์เป็นพิษนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยอาจจะต้องได้รับยาลดความดันโลหิต หรือการรักษาตามอาการ หรือในกรณีที่ฉุกเฉินมากจริง ๆ อาจจำเป็นจะต้องมีการทำคลอดด่วนทันที หรือร้ายแรงที่สุดแพทย์อาจวินิจฉัยให้ยุติการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันอันตรายต่อทั้งแม่และทารกในครรภ์

รับมือกับอาการปวดหลังระหว่างตั้งครรภ์อย่างไร

หากคุณแม่มีอาการปวดหลัง สามารถบรรเทาอาการปวดหลังได้ง่าย ๆ ดังนี้

          • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัวแทน

          • พยายามเคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกายบ้าง เช่น การเดิน ปั่นจักรบาน โยคะ เพื่อช่วยยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ

          • เวลานอนให้ใช้หมอนรองที่หว่างขา หรือเอว หรือหลัง เพื่อลดแรงกดทับที่หลัง

          • ปรับเปลี่ยนอริยาบถให้เหมาะสม ไม่นั่งท่าเดิมนาน ๆ เปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ นั่งหลังตรง ไม่นั่งหลังงอ เพราะจะทำให้อาการปวดหลังแย่ลงได้

          • ทาครีมยาบรรเทาอาการปวดหลัง

          • ไปนวดกับแพทย์แผนไทยที่เชี่ยวชาญการนวดคนท้อง และควรแจ้งกับคนนวดทุกครั้งว่ากำลังตั้งครรภ์

          • กินยาบรรเทาอาการปวดตามที่แพทย์แนะนำ

1,000 วันแรกคืออะไร และสำคัญอย่างไร

การเริ่มต้นเสริมพัฒนาการของลูกน้อยให้เติบโตได้อย่างแข็งแรงและสมวัยนั้น หลายคนอาจจะเข้าใจว่าให้เริ่มตอนที่ลูกเริ่มรู้ความ เริ่มอ่านออกและเขียนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วการเสริมพัฒนาการของลูกนั้นควรเริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 วันแรกค่ะ ซึ่ง 1,000 วันแรก จะนับตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงวันเกิดครบ 2 ขวบของลูกน้อย ดังนี้

ช่วงเวลา 1,000 วันของลูกน้อย สามารถแยกออกได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่

          • ช่วงที่ 1: ตั้งครรภ์ (270 วัน)
          • ช่วงที่ 2: วัยแรกเกิด – 6 เดือน (180 วัน)
          • ช่วงที่ 3: วัย 6 เดือน – 2 ปี (550 วัน)

ตลอดระยะเวลา 1,000 วัน คุณแม่จะต้องใส่ใจกับการดูแลตนเองและลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งลืมตาออกมาดูโลก หมั่นฟูมฟักทั้งโภชนาการที่มีประโยชน์ ปลูกฝังอารมณ์ สภาพจิตใจ ความรัก ความอบอุ่น รวมทั้งการเสริมสร้างพัฒนาการด้วยการเล่น การพูดคุย เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่สมบูรณ์ สมวัย และมีสุขภาพที่ดี พร้อมสำหรับการเจริญเติบโตในทุก ๆ วัน โดยเฉพาะเรื่องของโภชนาการที่คุณแม่ควรจะเริ่มกินอาหารที่มีประโยชน์ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือเริ่มตั้งแต่วางแผนจะตั้งครรภ์ ไปจนกระทั่งตั้งครรภ์ คลอดลูก และให้นมบุตร

เมื่อคุณแม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ ทารกในครรภ์ก็จะได้รับสารอาหารเหล่านั้นด้วย การปูพื้นฐานเรื่องโภชนาการนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่พัฒนาการด้านอื่น ๆ เพราะเมื่อทารกแข็งแรง มีสุขภาพดี ก็พร้อมสำหรับการเรียนรู้ที่ไม่สะดุดและต่อเนื่องไปตามวัย

ไขข้อข้องใจเมื่อท้อง 22 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club


 22 สัปดาห์ ลูกดิ้นเก่งมาก หมายความว่าอะไร?

การที่ลูกดิ้นบ่อย ดิ้นเก่งมาก ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีค่ะ การดิ้นของลูกคือสัญญาณที่บอกว่าลูกเจริญเติบโตแข็งแรงเป็นปกติ การที่ลูกดิ้นน้อย หรือไม่ดิ้นเลยต่างหากที่อาจเป็นสัญญาณอันตรายค่ะ

 ท้อง 22 สัปดาห์ ลูกหนักกี่กรัม?

ทารกอายุครรภ์ 22 สัปดาห์ จะมีน้ำหนักประมาณ 430 กรัม และมีขนาดเท่ากับสปาเก็ตตี้สควอช (Spaghetti Squash) หรือมะพร้าวค่ะ

 เมนูแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์?

สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในไตรมาสสองนี้ จำเป็นอย่างยิ่งนะคะที่จะต้องกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย เพื่อให้ทั้งสุขภาพของแม่และทารกใสนครรภ์แข็งแรงไปพร้อม ๆ กัน

อย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์ในไตรมาส 2 นั้น ทารกเริ่มมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น คุณแม่เองก็จำเป็นที่จะต้องเริ่มเพิ่มน้ำหนักให้เหมาะสมตามเกณฑ์ อาหารในช่วงนี้จึงจะเน้นโปรตีนมากหน่อย แต่ก็ยังจำเป็นจะต้องได้สารอาหารอื่น ๆ ครบถ้วนด้วย โดยอาจจะทำเป็นเมนูอร่อย ๆ เช่น

          • ต้มยำทะเล
          • ต้มส้มปลาทู
          • แกงส้มผักรวม
          • ตับผัดกระเพรา
          • ยำไข่ดาว
          • ข้าวกล้องคลุกกะปิ
          • ยำปลาทู
          • แกงเลียง
          • ยำหัวปลี
          • ฟักทองผัดไข่



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์