ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 21 สัปดาห์ อายุครรภ์ 21 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 21 สัปดาห์ อายุครรภ์ 21 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

 

Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 21 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 7 นิ้ว หนักประมาณ 300 - 310 กรัม และทารกมีขนาดตัวยาวพอ ๆ กับกล้วยหอมขนาดยาวหนึ่งผล
  • อายุครรภ์ 21 สัปดาห์ กระดูกอ่อนของทารกตอนนี้เริ่มกลายเป็นกระดูกแข็งทั่วทั้งร่างกาย และไขกระดูกก็จะเริ่มสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงเพื่อใช้ในการลำเลียงออกซิเจนในช่วงไตรมาสที่ 3
  • อายุครรภ์ 21 สัปดาห์ ทารกเริ่มมีพัฒนาการในระบบทางเดินอาหาร สามารถกลืนน้ำคร่ำได้

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 21 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 21
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 21 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 21 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
     • อาการคนท้อง 21 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
     • 21 สัปดาห์ มีนัดตรวจอะไรไหม
     • ท้อง 21 สัปดาห์ มีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่
     • ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 21 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 21 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

ตั้งครรภ์ 21 สัปดาห์ คุณแม่กำลังนับถอยหลังสู่อายุครรภ์ 6 เดือน ซึ่งท้อง 21 สัปดาห์ถือเป็นสัปดาห์แรกก่อนที่จะครบรอบ 6 เดือนของการตั้งครรภ์อย่างเป็นทางการ

โดยในช่วงอายุครรภ์ 21 สัปดาห์นี้ คุณแม่หลายคนอาจเริ่มพบว่ามีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นค่ะ แต่อาการท้องแข็งกับคนท้องไตรมาสสองถือว่าปกติไหม หรือเป็นสัญญาณอันตรายที่คุณแม่ควรระวัง

ท้อง 21 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้


แม่ท้องอายุครรภ์ 21 สัปดาห์ จะเริ่มมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น โดยอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5-6 กิโลกรัม มากไปกว่านั้น คุณแม่หลายคนยังเริ่มรู้สึกว่ามดลูกมีการหดเกร็งตัว และส่งผลให้เกิดอาการท้องแข็งตามมา

อายุครรภ์ 21 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 21 สัปดาห์ เมื่อเทียบเป็นจำนวนเดือนแล้วจะเท่ากับอายุครรภ์ 5 เดือน 1 สัปดาห์ค่ะ

ท้อง 21 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหน

ทารกอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ เจริญเติบโตอยู่ในมดลูกซึ่งขณะนี้ขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หน้าท้องของคุณแม่ขยายและเริ่มนูนแอ่นออกมาด้านหน้ามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 21 สัปดาห์ เป็นอย่างไร


อายุครรภ์ 21 สัปดาห์ ทารกได้พัฒนาระบบและอวัยวะต่าง ๆ มาจนถึงครึ่งทางแล้ว และจะยังคงพัฒนาระบบและสร้างอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายต่อไปอีกเรื่อย ๆ

ขนาดทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 21 จะมีขนาดเท่าไหน

ทารกอายุครรภ์ 21 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 7 นิ้ว ซึ่งเมื่อวัดความยาวของทารกแล้วพบว่าทารกมีขนาดยาวพอ ๆ กับกล้วยหอมขนาดยาวหนึ่งผลค่ะ

ท้อง 21 สัปดาห์ ลูกหนักเท่าไหร่

ทารกอายุครรภ์ 21 สัปดาห์ จะมีน้ำหนักประมาณ 300 - 310 กรัมค่ะ

ท้อง 21 สัปดาห์ ลูกดิ้นมากไหม

เนื่องจากระบบและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกอายุครรภ์ 21 สัปดาห์นั้นพัฒนาการเกือบจะเต็มระบบ และเริ่มทำงานได้ทุกระบบแล้ว คุณแม่จึงรู้สึกได้ว่าทารกดิ้นบ่อยมากขึ้น แต่จะดิ้นมากหรือน้อยแค่ไหนในแต่ละวันนั้นตอบได้ยากค่ะ เพราะทารกจะไม่ดิ้นเท่ากันทุกวัน และดิ้นมากดิ้นน้อยแตกต่างกันไป แต่ในระยะนี้ทารกอาจจะดิ้นได้มากถึง 200-300 ครั้งต่อวันค่ะ

อวัยวะและระบบอื่น ๆ

การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 21 สัปดาห์ มีดังนี้

          • ตับและม้ามของทารกจะเริ่มทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตเม็ดเลือดแดง

          • ทารกเริ่มมีพัฒนาการในระบบทางเดินอาหาร สามารถกลืนน้ำคร่ำได้ ซึ่งในน้ำคร่ำจะมีน้ำตาลและสารอาหารอยู่หลายชนิด สำไส้ของทารกจะเริ่มดูดซึมน้ำตาลและสารอาหารเหล่านี้จากน้ำคร่ำที่กินเข้า แต่อาหารที่ได้มาจากน้ำคร่ำที่กลืนเข้าไปมีไม่มากนัก เพราะสารอาหารส่วนใหญ่ทารกจะได้รับมาทางรกและสายสะดือ

          • ผิวหนังของทารกเริ่มมีความเรียบเนียน และเริ่มปรากฎริ้วรอยต่าง ๆ ด้วย

          • ทักษะการดูดของทารกพัฒนาได้ดี และทารกเริ่มมีการดูดนิ้วมือบ่อยขึ้นด้วย

          • กระดูกอ่อนของทารกตอนนี้เริ่มกลายเป็นกระดูกแข็งทั่วทั้งร่างกาย และไขกระดูกก็จะเริ่มสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงเพื่อใช้ในการลำเลียงออกซิเจนในช่วงไตรมาสที่ 3

เข้าใจการเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่อายุครรภ์ 21 สัปดาห์

แม่ท้อง 21 สัปดาห์หลายคนรู้สึกสบายตัวมากขึ้น อาจเป็นเพราะเริ่มปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงในขณะตั้งครรภ์ได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม คุณแม่อาจต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายด้านต่าง ๆ ในช่วงสัปดาห์นี้ ดังนี้

          • ต่อมไขมันใต้ผิวหนังเริ่มผลิตน้ำมันมากขึ้น คุณแม่อาจเป็นสิวมากขึ้น ให้หมั่นล้างหน้าให้สะอาดวันละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย ควรเลี่ยงการกินยาแก้สิวเพราะอาจจะมีผลกระทบกับลูกได้

          • การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนขณะที่มีอายุครรภ์ 21 สัปดาห์ อาจทำให้เส้นเลือดต่างๆโป่งพองเป็นเส้นเลือดขอดมากขึ้น คุณแม่จะรู้สึกปวดขาได้มากขึ้นพยายามหลีกเลี่ยงการยืน การเดินนานๆ หาเวลาออกกำลังกายเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด

          • สัปดาห์นี้คุณแม่จะมีขนาดครรภ์ใหญ่ขึ้น แนะนำให้คุณแม่ใส่แบบหลวม ๆ โดยเฉพาะชุดชั้นในก็ต้องเลือกที่พอดีตัว อย่าให้คับจนเกินไปเพราะขอบของชุดชั้นในอาจไปกดทับเส้นเลือดทำให้เลือดไหวเวียนไม่ดี และเป็นที่มาของอาการปวดเมื่อย

          • น้ำหนักตัวของคุณแม่ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่คุณแม่จะต้องคอยควบคุมดูแลไม่ให้เกิดตามที่แพทย์แนะนำนะคะ สำหรับอายุครรภ์ 21 สัปดาห์ ยังอยู่ในไตรมาสที่สอง คุณแม่ที่มีค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI ปกติควรจะต้องคอยดูแลน้ำหนักไม่ให้เกิน 5-6 กิโลกรัมค่ะ

อาหารคนท้อง 21 สัปดาห์ มีอะไรบ้างที่คุณแม่ควรกิน


สำหรับแม่ท้อง 21 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่

          • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

          • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

          • โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

          • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

          • ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

          • โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

          • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่ยังสามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น

ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง

Enfamama TAP No. 1

อาการคนท้อง 21 สัปดาห์ ที่พบได้บ่อย


อาการคนท้อง 21 สัปดาห์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้

          • ต่อมไขมันใต้ผิวหนังเริ่มผลิตน้ำมันมากขึ้น คุณแม่หลายคนจึงอาจเป็นสิวมากขึ้น ผิวมันมากขึ้น

          • ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่พุ่งสูงในขณะนี้ อาจทำให้เส้นเลือดต่างๆโป่งพองเป็นเส้นเลือดขอดมากขึ้น และทำให้คุณแม่จะรู้สึกปวดขาได้มากขึ้นด้วย

          • มดลูกที่ขยายตัวใหญ่ขึ้น อาจไปกดทับเส้นเลือดทำให้เลือดไหวเวียนไม่ดี และเป็นที่มาของอาการปวดเมื่อย

          • มดลูกมีการหดรัดตัวขึ้น ทำให้เกิดอาการท้องแข็ง ซึ่งปกติแล้วจะหายได้เอง และเกิดเป็นครั้งคราว

          • เต้านมคุณแม่ที่ขยายใหญ่ขึ้นมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ขณะนี้ถือว่าเป็นเต้านมที่พร้อมให้นมลูกแล้ว คุณแม่บางคนอาจเริ่มพบว่ามีน้ำนมไหลออกมาในช่วงนี้

          • ปวดหลัง ปวดสะโพก เพราะน้ำหนักตัวเริ่มมากขึ้น ขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดการกดทับที่บริเวณช่วงหลังหรืออวัยวะช่วงล่าง

ตั้งครรภ์ 21 สัปดาห์ อัลตราซาวนด์ไหมนะ มีนัดแพทย์หรือเปล่า


คุณแม่แต่ละคนมีกำหนดนัดตรวจอัลตราซาวนด์ที่แตกต่างกันค่ะ คุณแม่อาจจะมีตรวจครรภ์ในสัปดาห์นี้ หรือไม่มีนัดก็ได้ ซึ่งสำหรับอายุครรภ์ 21 สัปดาห์นั้น หากคุณแม่เพิ่งรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ก็จำเป็นจะต้องเริ่มฝากครรภ์กันเลยทันที

เพื่อที่แพทย์จะได้มีการตรวจครรภ์และทำการอัลตราซาวนด์ดูว่าทารกในครรภ์ปกติไหม น้ำคร่ำน้อยหรือมากไปไหม การเคลื่อนไหวทารกเป็นยังไง หัวใจทารกเต้นปกติไหม ตำแหน่งรกอยู่ตรงไหน

รวมถึงตรวจดูอวัยวะต่าง ๆ ของทารกว่าเป็นปกติหรือไม่ และยังใช้ข้อมูลจากการอัลตราซาวนด์มาใช้ในการคำนวณอายุครรภ์และกำหนดวันคลอดได้อย่างแม่นยำด้วยค่ะ

ส่วนกรณีที่คุณแม่ฝากครรภ์มาตั้งนานแล้ว แพทย์อาจนัดคุณแม่เข้ามาทำการตรวจครรภ์และอัลตราซาวนด์ประจำไตรมาสสอง หรือในช่วงอายุครรภ์ 21 สัปดาห์ค่ะ ซึ่งถ้าหากคุณแม่ยังไม่ทราบเพศลูก แพทย์ก็จะมีการตรวจดูเพศของทารกในครรภ์ตอนนี้เลย

โดยนอกจากจะได้เห็นเพศลูกแล้ว ยังสามารถเห็นโครงหน้าของทารกได้ชัดเจนมากขึ้น อาจเริ่มเดาได้คร่าว ๆ แล้วว่าทารกมีเค้าโครงหน้าคล้ายพ่อหรือแม่กันนะ

นอกจากนี้ แพทย์ยังจำเป็นจะต้องตรวจดูว่าทารกมีอวัยวะครบไหม มีการเจริญเติบโตที่ตรงตามอายุครรภ์ 21 สัปดาห์หรือไม่ รวมถึงการตรวจดูว่าคุณแม่มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดหรือไม่ด้วยค่ะ

ตั้งครรภ์ 21 สัปดาห์ แล้วมีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่


อายุครรภ์ 21 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่

และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ

ท้อง 21 สัปดาห์ ลูกดิ้นน้อยลง ต้องกังวลไหม

โดยมากแล้วคุณแม่ส่วนใหญ่สามารถรู้สึกถึงการดิ้นของลูกได้อย่างชัดเจนในสัปดาห์นี้ แต่ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อย ดิ้นเบา หรือไม่ค่อยดิ้น ก็ยังเร็วไปที่จะสรุปว่าผิดปกติค่ะ เพราะการที่ลูกดิ้นน้อย อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

          • ผนังหน้าท้องของคุณแม่อาจจะหนาจนสัมผัสการดิ้นของทารกได้ยาก

          • หรือช่วงที่ทารกดิ้นอาจทำกิจกรรมอย่างอื่นที่มีการเคลื่อนไหว จึงทำให้ไม่รู้สึก

          • หรือตอนที่ทารกดิ้น คุณแม่นอนหลับ ตอนที่คุณแม่ตื่น ทารกหลับ ช่วงเวลาที่ลูกดิ้นจึงคลาดเคลื่อนไปจากการรับรู้ของคุณแม่

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ยังไม่ต้องกังวลมากจนเกินไปค่ะ หากคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อย ให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ หากอัลตราซาวนด์แล้วพบว่าทารกยังมีหัวใจเต้นตามปกติ และยังสามารถเคลื่อนไหวตามปกติ ก็ยังไม่มีอะไรต้องกังวล และอาจจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นมากขึ้นในสัปดาห์ถัดไปก็ได้ค่ะ

ท้อง 21 สัปดาห์ ปวดท้อง เกิดจากอะไร

อาการปวดท้องในขณะตั้งครรภ์ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุค่ะ ไม่ว่าจะเป็น

          • กินอาหารมากเกินไป
          • การขยายตัวของมดลูกและเส้นเอ็นที่อยู่รอบ ๆ มดลูก
          • มีอาการท้องผูก ท้องอืด
          • มีอาการกรดไหลย้อน

อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดท้องไม่ดีขึ้นเลย หรือปวดท้องติดต่อกันตั้งแต่ 1-3 วันขึ้นไป ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม

ท้อง 21 สัปดาห์ มือ เท้า หน้า บวมบ่อย อันตรายไหม

ปกติแล้วอาการบวมในขณะตั้งครรภ์นั้นไม่อันตรายค่ะ แต่คุณแม่ก็ยังจำเป็นจะต้องสังเกตร่างกายตนเองและอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยค่ะ เพราะในกรณีที่ดังต่อไปนี้ อาการบวมที่เป็นอยู่อาจเป็นสัญญาณอันตรายได้

          • มีอาการเนื้อบุ๋ม คือมีอาการบวม แต่เวลากดลงไปบนผิวหนังจะมีลักษณะยุบบุ๋ม ใช้เวลาคืนตัวช้า
          • มีอาการปวดศีรษะบ่อย
          • มีอาการตาพร่ามัวบ่อย
          • มีอาการปวด จุก หรือรู้สึกแน่นที่ลิ้นปี่

หากมีอาการดังต่อไปนี้ร่วมกับอาการบวม คุณแม่ควรไปพบแพทย์ทันทีนะคะ เพราะอาจเสี่ยงต่อ ความดันโลหิตสูง โปรตีนรั่วในปัสสาวะ ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะครรภ์เป็นพิษ อันเป็นภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ที่ค่อนข้างอันตรายต่อแม่และเด็กในท้องค่ะ

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 21 สัปดาห์


คุณแม่อายุครรภ์ 21 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

รวมถึงควรเริ่มลดกิจกรรมและการงานต่าง ๆ ที่ต้องออกแรงด้วยค่ะ การก้ม ๆ เงย ๆ บ่อย ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ ทำให้ปวดหลัง หรือปวดเมื่อยมากขึ้น ทั้งยังเสี่ยงต่อการพลัดตก หกล้ม ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์และทารกในครรภ์ได้

รู้ทันภาวะครรภ์เป็นพิษ

ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ถือเป็นความผิดปกติที่อันตรายอย่างยิ่งสำหรับการตั้งครรภ์ค่ะ และส่วนใหญ่แล้วคุณแม่ก็มักจะมีภาวะครรภ์เป็นพิษตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์เป็นต้นไป

โดยภาวะครรภ์เป็นพิษ จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็น ความดันโลหิตสูง ไตเสียหาย โปรตีนในปัสสาวะสูง และอาจมีความเสียหายต่ออวัยวะอื่น ๆ ร่วมด้วย ทั้งนี้ ภาวะครรภ์เป็นพิษ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น

          • ตั้งครรภ์ครั้งแรก
          • ตั้งครรภ์ตอนอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือตั้งครรภ์ตอนมากกว่า 35 ปี
          • คุณแม่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานที่ควรจะเป็น
          • คุณแม่ตั้งครรภ์ลูกแฝด หรือตั้งครรภ์ทารกมากกว่า 2 คน
          • คุณแม่มีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
          • สมาชิกในครอบครัวมีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
          • ตั้งครรภ์โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
          • คุณแม่มีภาวะเลือดแข็งตัวง่ายอยู่แล้ว
          • คุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไต เบาหวาน โรคแพ้ภูมิตนเอง (SLE) ข้ออักเสบรูมาตอยด์

โดยสัญญาณและอาการที่อาจบ่งบอกว่าคุณแม่เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ คือ

          • ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ หรือมีภาวะความดันโลหิตสูงมาก่อนหน้านี้แล้ว
          • มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต หรือตรวจพบโปรตีนปริมาณมากในปัสสาวะ
          • ระดับเกล็ดเลือดลดลง
          • ค่าเอนไซม์ในตับสูง
          • มีอาการปวดศีรษะรุนแรง
          • มีอาการตาพร่ามัว หรือตาไวต่อแสง
          • มีอาการบวมน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการบวมที่ใบหน้าและมือ
          • หายใจถี่ ๆ
          • ปวดท้องช่วงบน หรือบริเวณใต้ซี่โครงด้านขวา
          • คลื่นไส้หรืออาเจียน
          • น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภาวะครรภ์เป็นพิษนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยอาจจะต้องได้รับยาลดความดันโลหิต หรือการรักษาตามอาการ หรือในกรณีที่ฉุกเฉินมากจริง ๆ อาจจำเป็นจะต้องมีการทำคลอดด่วนทันที หรือร้ายแรงที่สุดแพทย์อาจวินิจฉัยให้ยุติการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันอันตรายต่อทั้งแม่และทารกในครรภ์

หิว อยากอาหารบ่อย กินอย่างไรให้ดีกับสุขภาพคุณแม่และลูกในครรภ์

หากคุณแม่มีอาการหิวบ่อย สามารถรับมือได้ง่าย ๆ ดังนี้

          • หิวบ่อยก็ต้องกินบ่อย แต่การกินบ่อยในที่นี้คือการแบ่งอาหารออกเป็นมื้อเล็ก ๆ ประมาณ 5-6 มื้อ และกินอาหารทุก ๆ 3 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้หิวจนเกินขนาดในแต่ละมื้อ

          • เน้นโปรตีน ไฟเบอร์ และไขมันดี (ไม่อิ่มตัว) ที่จำเป็นต้องเน้นสารอาหารกลุ่มนี้ก็เพราะว่าเป็นสารอาหารที่ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดของคุณแม่ให้คงที่ จึงช่วยลดอาการหิวโหยได้ และทำให้อิ่มได้นานขึ้นด้วย

          • เตรียมของว่างเพื่อสุขภาพ เช่น ผลไม้ ธัญพืชต่าง ๆ เพราะถ้าคุณแม่เลือกขนมที่มีน้ำตาลสูง และกินบ่อย ๆ จะยิ่งทำให้แคลอรีสูงเกินจำกัด เสี่ยงที่จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทั้งยังเสี่ยงต่อโรคเบาหวานด้วย

          • ดื่มน้ำให้เพียงพอ กระหายเมื่อไหร่ให้ดื่มทันที เพื่อให้ร่างกายมีระดับน้ำที่เพียงพอในการที่จะช่วยย่อยอาหารและสารอาหารไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ ช่วยให้หิวลดลง

          • สู้กับจิตด้านมืดของตัวเองบ้าง บางครั้งอาจสับสนระหว่างหิวจริงกับความอยาก ซึ่งถ้าหิวจริงแล้วกินอาหารก็ไม่แปลก แต่บางครั้งกินอิ่มแล้ว ก็ยังอยากกินอีก อย่างนี้อาจเป็นเพียงความอยากที่คุณแม่ควรระวังและไม่ควรตามใจปากไปเรื่อย

          • นอนหลับให้เพียงพอ การพักผ่อนไม่เพียงพอจะส่งผลให้ร่างกายปล่อยฮอร์โมนความหิวโหยออกมามากขึ้น และกินเยอะมากขึ้น

          • กินช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด จะช่วยให้รู้สึกอิ่มได้นานขึ้นค่ะ

รับมือกับอาการปวดหลังระหว่างตั้งครรภ์อย่างไร

หากคุณแม่มีอาการปวดหลัง สามารถบรรเทาอาการปวดหลังได้ง่าย ๆ ดังนี้

          • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัวแทน

          • พยายามเคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกายบ้าง เช่น การเดิน ปั่นจักรบาน โยคะ เพื่อช่วยยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ

          • เวลานอนให้ใช้หมอนรองที่หว่างขา หรือเอว หรือหลัง เพื่อลดแรงกดทับที่หลัง

          • ปรับเปลี่ยนอริยาบถให้เหมาะสม ไม่นั่งท่าเดิมนาน ๆ เปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ นั่งหลังตรง ไม่นั่งหลังงอ เพราะจะทำให้อาการปวดหลังแย่ลงได้

          • ทาครีมยาบรรเทาอาการปวดหลัง

          • ไปนวดกับแพทย์แผนไทยที่เชี่ยวชาญการนวดคนท้อง และควรแจ้งกับคนนวดทุกครั้งว่ากำลังตั้งครรภ์

          • กินยาบรรเทาอาการปวดตามที่แพทย์แนะนำ

1,000 วันแรกคืออะไร และสำคัญอย่างไร

การเริ่มต้นเสริมพัฒนาการของลูกน้อยให้เติบโตได้อย่างแข็งแรงและสมวัยนั้น หลายคนอาจจะเข้าใจว่าให้เริ่มตอนที่ลูกเริ่มรู้ความ เริ่มอ่านออกและเขียนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วการเสริมพัฒนาการของลูกนั้นควรเริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 วันแรกค่ะ

ซึ่ง 1,000 วันแรก จะนับตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงวันเกิดครบ 2 ขวบของลูกน้อย และสามารถแบ่งช่วงเวลาออกได้เป็น 3 ช่วงเวลา ได้แก่

          • ช่วงที่ 1: ตั้งครรภ์ (270 วัน)
          • ช่วงที่ 2: วัยแรกเกิด – 6 เดือน (180 วัน)
          • ช่วงที่ 3: วัย 6 เดือน – 2 ปี (550 วัน)

ตลอดระยะเวลา 1,000 วัน คุณแม่จะต้องใส่ใจกับการดูแลตนเองและลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งลืมตาออกมาดูโลก หมั่นฟูมฟักทั้งโภชนาการที่มีประโยชน์ ปลูกฝังอารมณ์ สภาพจิตใจ ความรัก ความอบอุ่น รวมทั้งการเสริมสร้างพัฒนาการด้วยการเล่น การพูดคุย เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่สมบูรณ์ สมวัย และมีสุขภาพที่ดี พร้อมสำหรับการเจริญเติบโตในทุก ๆ วัน โดยเฉพาะเรื่องของโภชนาการที่คุณแม่ควรจะเริ่มกินอาหารที่มีประโยชน์ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือเริ่มตั้งแต่วางแผนจะตั้งครรภ์ ไปจนกระทั่งตั้งครรภ์ คลอดลูก และให้นมบุตร

เมื่อคุณแม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ ทารกในครรภ์ก็จะได้รับสารอาหารเหล่านั้นด้วย การปูพื้นฐานเรื่องโภชนาการนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่พัฒนาการด้านอื่น ๆ เพราะเมื่อทารกแข็งแรง มีสุขภาพดี ก็พร้อมสำหรับการเรียนรู้ที่ไม่สะดุดและต่อเนื่องไปตามวัย

ไขข้อข้องใจเมื่อท้อง 21 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club


ท้อง 21 สัปดาห์ ลูกอยู่ท่าไหน?

ทารกในครรภ์ 21 สัปดาห์ จะนอนหลับและตื่นในครรภ์ ตลอดจนเคลื่อนไหวไปมาอย่างอิสระ โดยจะอยู่ในท่าก้นเป็นส่วนมาก ท่าก้นก็คือศีรษะตั้งขึ้นและส่วนก้นหันไปทางช่องคลอด จนเมื่อใกล้คลอดทารกจึงจะอยู่ในท่าที่หันศีรษะไปทางช่องคลอดค่ะ หรือท่ารกอาจจะหันศีรษะกลับมาอยู่ข้างบนเหมือนเดิมอีกทีก็ยังได้ เพราะมดลูกมีพื้นที่ให้เปลี่ยนท่าทางได้ตลอดเวลาค่ะ

ท้อง 21 สัปดาห์ ลูกดิ้นแค่ไหน?

ทารกในครรภ์ 21 สัปดาห์จะมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น ทำให้มีคุณแม่สามารถสัมผัสการดิ้นของลูกน้อยได้บ่อยมาก แต่จะดิ้นมากหรือน้อยแค่ไหนในแต่ละวันนั้นตอบได้ยากค่ะ เพราะในระยะนี้ทารกอาจจะดิ้นได้มากถึง 200-300 ครั้งต่อวันค่ะ

ท้อง 21 สัปดาห์ ใหญ่แค่ไหน?

ขนาดท้องของคุณแม่อายุครรภ์ 21 สัปดาห์นั้นใหญ่เล็กไม่เท่ากัน ตามแต่สรีระของแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่แล้วท้องของคุณแม่ในระยะนี้จะนูนใหญ่ชัดเจนและเริ่มแอ่นท้องออกมาข้างหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วค่ะ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

หัวนมคนท้อง
can-pregnant-women-eat-oysters
hair-straightening-during-pregnancy
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner