Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 23 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 8 นิ้ว หนักประมาณ 490 - 500 กรัม มีขนาดเท่ากับมะละกอ

  • อายุครรภ์ 23 สัปดาห์ ทารกถือว่ามีรูปร่างและลักษณะที่ใกล้เคียงกับทารกแรกเกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังมีขนาดที่เล็กกว่ามาก และยังขาดไขมันใต้ชั้นผิวหนัง

  • อายุครรภ์ 23 สัปดาห์ ทารกเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระมากขึ้น โดยในหนึ่งวันอาจเปลี่ยนท่าทางได้หลายท่า ทำให้คุณแม่รู้สึกถึงลูกดิ้นได้ชัดเจนและถี่ขึ้น

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 23 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 23
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 23 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 23 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
     • อาการคนท้อง 23 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
     • 23 สัปดาห์ มีนัดตรวจอะไรไหม
     • ท้อง 23 สัปดาห์ มีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่
     • ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 23 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 23 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

ท้อง 23 สัปดาห์ ในช่วงนี้คุณแม่หลาย ๆ คนเริ่มที่จะปรึกษากับคุณพ่อเพื่อที่จะวางแผนตั้งชื่อลูกกันแล้ว เพื่อที่อีกไม่กี่เดือนทารกน้อยจะได้คลอดออกมาพร้อมกับชื่อเพราะ ๆ

แต่นอกจากเริ่มเตรียมชื่อลูกแล้ว แม่ตั้งครรภ์ 23 สัปดาห์ยังต้องเตรียมตัวพบกับความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง แล้วทารกอายุครรภ์ 23 สัปดาห์ มีพัฒนาการเป็นอย่างไร

ท้อง 23 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้


คุณแม่อายุครรภ์ 23 สัปดาห์ อาจจะเริ่มมีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ และอาจประสบกับอาการตาพร่ามัว หรือมองไม่ชัดบ้างเป็นบางคราว รวมถึงยังอาจมีอาการร้อนวูบวาบเกิดขึ้นด้วย ขณะที่ทารกในครรภ์ระยะนี้มีความใกล้เคียงกับทารกแรกเกิดมากขึ้น แต่ยังอยู่ในขนาดและสัดส่วนที่เล็กกว่าทารกแรกเกิด

อายุครรภ์ 23 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 23 สัปดาห์ เมื่อเทียบเป็นจำนวนเดือนแล้วจะเท่ากับอายุครรภ์ 5 เดือน 3 สัปดาห์ค่ะ

ท้อง 23 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหน

ทารกในครรภ์ 23 สัปดาห์นั้นมีการเจริญเติบโตอยู่ภายในมดลูก มีการเคลื่อนไหวไปมาอย่างอิสระ ซึ่งแม้ว่าปกติทารกจะอยู่ในท่าก้น คือเอาก้นหันไปทางช่องคลอด แต่ในระยะนี้ทารกสามารถเปลี่ยนท่า เปลี่ยนตำแหน่งได้ทั้งวัน

ตอนเช้าอาจเอาหัวลง แต่ตอนบ่ายก็อาจกลับเอาหัวขึ้น เนื่องจากมดลูกยังมีรูปทรงกลมอยู่ ยังมีพื้นที่ภายในกว้างขวาง ทารกจึงสามารถดิ้นได้อย่างอิสระค่ะ

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 23 สัปดาห์ เป็นอย่างไร


ทารกอายุครรภ์ 23 สัปดาห์ ถือว่ามีรูปร่างและลักษณะที่ใกล้เคียงกับทารกแรกเกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังมีขนาดที่เล็กกว่ามาก และยังขาดไขมันใต้ชั้นผิวหนัง

ขนาดทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 23 จะมีขนาดเท่าไหน

ภาพอายุครรภ์ 23 สัปดาห์ที่ได้จากการอัลตราซาวนด์ในระยะนี้จะพบว่า ทารกจะมีความยาวประมาณ 8 นิ้ว หรือมีขนาดเท่ากับมะละกอค่ะ

ท้อง 23 สัปดาห์ ลูกหนักเท่าไหร่

อายุครรภ์ 23 สัปดาห์ น้ำหนักทารกจะอยู่ที่ประมาณ 490 - 500 กรัมค่ะ

ตั้งครรภ์ 23 สัปดาห์ ลูกดิ้น มากน้อยแค่ไหน

เนื่องจากระบบและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกอายุครรภ์ 23 สัปดาห์นั้นพัฒนาการเกือบจะเต็มระบบ และเริ่มทำงานได้ทุกระบบแล้ว คุณแม่จึงรู้สึกได้ว่าทารกดิ้นบ่อยมากขึ้น แต่จะดิ้นมากหรือน้อยแค่ไหนในแต่ละวันนั้นตอบได้ยากค่ะ เพราะทารกจะไม่ดิ้นเท่ากันทุกวัน และดิ้นมากดิ้นน้อยแตกต่างกันไป แต่ในระยะนี้ทารกอาจจะดิ้นได้มากกว่า 200-300 ครั้งต่อวันค่ะ

อวัยวะและระบบอื่น ๆ

การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 23 สัปดาห์ มีดังนี้

          • สัดส่วนของทารกใกล้เคียงกับทารกแรกเกิดมากขึ้น เพียงแต่เล็กและผอมเพราะยังไม่มีการสะสมชั้นไขมันใต้ผิวหนัง

          • ปอดเริ่มผลิตสารลดแรงตึงผิว ซึ่งจะช่วยให้ถุงลมในปอดพองตัวเมื่อหายใจเข้าและหดตัวเมื่อหายใจออก โดยยังคงรูปเดิมไว้ ไม่ยุบหรือเกาะติดกันเวลาหดตัว

          • เส้นเลือดในปอดจะขยายและพัฒนาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการหายใจ โดยในสัปดาห์นี้ทารกจะเริ่มฝึกการหายใจ โดยการหายใจเอาน้ำคร่ำเข้าสู่ปอดที่กำลังพัฒนา ซึ่งเป็นการฝึกการทำงานของกระบังลมเสียมากกว่า ไม่ได้หายใจเพราะต้องการอากาศ เนื่องจากทารกจะได้รับออกซิเจนจากคุณแม่ผ่านทางรกอยู่แล้ว

          • ทารกเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระมากขึ้น โดยในหนึ่งวันอาจเปลี่ยนท่าทางได้หลายท่า ทำให้คุณแม่รู้สึกถึงลูกดิ้นได้ชัดเจนและถี่ขึ้น

เข้าใจการเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่อายุครรภ์ 23 สัปดาห์


แม่ท้อง 23 สัปดาห์หลายคนอาจต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหลายอย่างในช่วงสัปดาห์นี้ ดังนี้

          • คุณแม่อาจพบว่าข้อเท้าและเท้าดูบวมขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากช่วงนี้การหมุนเวียนของเลือดมีการเปลี่ยนแปลงทำให้มีการกักเก็บน้ำในบางส่วนของร่างกายเพิ่มขึ้นหรือที่เราเรียกว่า “อาการบวมน้ำ” ร่างกายจะมีปริมาณน้ำมากขึ้นตามจุดต่าง ๆ และควรสังเกตความผิดปกติของอาการบวมน้ำอย่างใกล้ชิด

ถ้ารู้สึกว่านี่ไม่ใช่การบวมน้ำธรรมดา เช่น มีอาการบวมมากจนขาใส มีอาการบวมน้ำเริ่มขึ้นมาที่แขน หน้า หรือแม้แต่รอบดวงตาให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งอันตรายกับคุณแม่ที่ท้องมาแล้ว 23 สัปดาห์

          • สัปดาห์นี้ท้องของคุณแม่จะโตมากขึ้นค่ะ และเมื่อท้องโตมากขึ้น น้ำหนักตัวก็มากขึ้น ทำให้ศูนย์ถ่วงของร่างกายคุณแม่หนักมาทางด้านหน้ามากขึ้น คุณแม่ต้องแอ่นหลังต้านน้ำหนักมากขึ้น กล้ามเนื้อหลังทำงานหนักมากขึ้น กล้ามเนื้อหลังต้องออกแรงดึงกลับถึง 5 เท่าของน้ำหนักของมดลูก ทำให้ปวดหลังได้ง่าย

คุณแม่ที่ท้องได้ 23 สัปดาห์ควรใช้กล้ามเนื้อหลังน้อยที่สุด ยืนตัวตรง หลีกเลี่ยงการใช้กล้ามเนื้อหลัง ไม่ก้มขึ้นลงโดยใช้กล้ามเนื้อหลัง แต่ให้ใช้วิธีย่อเข่าลงแทนยืนตัวตรง เดินตัวตรง หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง

          • แม่ท้อง 23 สัปดาห์ มีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและหายไปเอง การนอนพัก หรือกินยาแก้ปวด สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้

แต่ถ้าหากมีอาการปวดถี่ขึ้น ปวดมากขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

          • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่คุณแม่จะต้องคอยควบคุมดูแลไม่ให้เกิดตามที่แพทย์แนะนำนะคะ สำหรับอายุครรภ์ 23 สัปดาห์ ยังอยู่ในไตรมาสที่สอง คุณแม่ที่มีค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI ปกติควรจะต้องคอยดูแลน้ำหนักไม่ให้เกิน 5-6 กิโลกรัมค่ะ

อาหารคนท้อง 23 สัปดาห์ มีอะไรบ้างที่คุณแม่ควรกิน


สำหรับแม่ท้อง 23 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่

          • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

          • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

          • โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

          • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

          • ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

          • โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

          • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่ยังสามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น

ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง

Enfamama TAP No. 1

อาการคนท้อง 23 สัปดาห์ ที่พบได้บ่อย


อาการคนท้อง 23 สัปดาห์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้

          • ระดับฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลง อาจทำให้คุณแม่มีอาการร้อนวูบวาบ หรือมีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น

          • มีอาการบวมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอาการบวมน้ำ ที่ทำให้มีอาการบวมบริเวณใบหน้า มือ รวมถึงบริเวณเท้าและข้อเท้าด้วย ส่วนมากมีสาเหตุมาจากการไหลเวียนเลือดที่ไม่ปกติ ทำให้เกิดอาการบวมตามมา

          • ขนาดของมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นทุกวัน เริ่มกดทับบริเวณไตและกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ไตผลิตปัสสาวะออกมามากขึ้น ส่งผลให้คุณแม่ปัสสาวะบ่อยกว่าเดิม

          • ขนาดท้องที่ขยาย และน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้คุณแม่เริ่มรู้สึกอึดอัดท้อง

          • เริ่มมีรอยแตกลายที่บริเวณหน้าท้องชัดเจนยิ่งขึ้น

          • น้ำหนักตัวเริ่มมากขึ้น ขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดการกดทับที่บริเวณช่วงหลังหรืออวัยวะช่วงล่าง ทำให้มีอาการปวดหลัง ปวดสะโพก ปวดขา

ตั้งครรภ์ 23 สัปดาห์ มีนัดตรวจอะไรไหมนะ


โดยมากแล้วในช่วงไตรมาสที่สองนี้แพทย์จะนัดพบแค่เพียงเดือนละครั้ง ดังนั้น ในสัปดาห์ที่ 23 นี้ คุณแม่อาจจะไม่ได้มีนัดหมายต้องไปพบแพทย์ค่ะ หรือถ้าคุณแม่ยังไม่ได้อัลตราซาวนด์ดูเพศลูก แพทย์อาจนัดให้มาอัลตราซาวนด์ในสัปดาห์นี้ก็ได้ค่ะ

อย่างไรก็ตาม คุณแม่แต่ละคนมีกำหนดนัดตรวจอัลตราซาวนด์ที่แตกต่างกันค่ะ ตลอดจนพื้นฐานสุขภาพของแม่แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แม่บางคนอาจมีความเสี่ยงหรือมีภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งแพทย์อาจจะนัดหมายให้มาทำการตรวจครรภ์ในสัปดาห์นี้ หรือไม่มีนัดก็ได้ค่ะ

ตั้งครรภ์ 23 สัปดาห์ แล้วมีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่นะ?


อายุครรภ์ 23 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่

และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ

ตั้งครรภ์ 23 สัปดาห์ ท้องแข็งบ่อย ปกติหรือไม่

อาการท้องแข็งในไตรมาสสองนั้น ส่วนมากมักไม่อันตราย อาจจะมีอาการปวดท้องเป็นครั้งคราว แต่ก็จะหายไปเองได้ และอาการปวดท้องก็จะไม่ปวดนานนัก การเปลี่ยนอริยาบถ หรือกินยาแก้ปวดสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ กรณีเช่นนี้ถือว่าไม่อันตราย

แต่ถ้าหากมีอาการปวดถี่ขึ้น ปวดมากขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

ท้อง 23 สัปดาห์ ลูกไม่ค่อยดิ้น ควรไปหาหมอไหม

โดยมากแล้วคุณแม่ส่วนใหญ่สามารถรู้สึกถึงการดิ้นของลูกได้อย่างชัดเจนในสัปดาห์นี้ แต่ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อย ดิ้นเบา หรือไม่ค่อยดิ้น ก็ยังเร็วไปที่จะสรุปว่าผิดปกติค่ะ เพราะการที่ลูกดิ้นน้อย อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

          • ผนังหน้าท้องของคุณแม่อาจจะหนาจนสัมผัสการดิ้นของทารกได้ยาก

          • หรือช่วงที่ทารกดิ้นอาจทำกิจกรรมอย่างอื่นที่มีการเคลื่อนไหว จึงทำให้ไม่รู้สึก

          • หรือตอนที่ทารกดิ้น คุณแม่นอนหลับ ตอนที่คุณแม่ตื่น ทารกหลับ ช่วงเวลาที่ลูกดิ้นจึงคลาดเคลื่อนไปจากการรับรู้ของคุณแม่

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ยังไม่ต้องกังวลมากจนเกินไปค่ะ หากคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อย ให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ หากอัลตราซาวนด์แล้วพบว่าทารกยังมีหัวใจเต้นตามปกติ และยังสามารถเคลื่อนไหวตามปกติ ก็ยังไม่มีอะไรต้องกังวล และอาจจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นมากขึ้นในสัปดาห์ถัดไปก็ได้ค่ะ

ท้อง 23 สัปดาห์ ปวดท้องน้อย ต้องกังวลไหม

อาการปวดท้องน้อยในระยะนี้ อาจมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของมดลูกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และอาจมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของเส้นเอ็นบริเวณท้อง

อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดท้องน้อยติดต่อกันหลายวันแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีเลือดออก คุณแม่อาจจะต้องไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 23 สัปดาห์


คุณแม่อายุครรภ์ 21 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

รวมถึงควรเริ่มลดกิจกรรมและการงานต่าง ๆ ที่ต้องออกแรงด้วยค่ะ การก้ม ๆ เงย ๆ บ่อย ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ ทำให้ปวดหลัง หรือปวดเมื่อยมากขึ้น ทั้งยังเสี่ยงต่อการพลัดตก หกล้ม ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์และทารกในครรภ์ได้

การคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หากไม่ได้รับการควบคุมเป็นอย่างดี จะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น

          • เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
          • ทารกมีขนาดตัวใหญ่ หรือมีน้ำหนักแรกเกิดเกินมาตรฐาน
          • ทารกมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำทันทีหลังคลอด
          • ทารกมีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ
          • เสี่ยงต่อการแท้ง
          • เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ
          • ทารกคลอดออกมาพร้อมกับความเสี่ยงของโรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2

ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพื่อให้ได้ทราบความเสี่ยงว่าในขณะนี้ระดับน้ำตาลในเลือดของคุณแม่มีความสุ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวานหรือไม่

ซึ่งสำหรับคุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว แพทย์ก็จะมีการประเมินความเสี่ยงว่าเบาหวานที่เป็นอยู่จะทำให้การตั้งครรภ์ครั้งนี้ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน และยังให้คำแนะนำในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเมื่อตั้งครรภ์

ส่วนคุณแม่ที่ไม่มีประวัติการเป็นเบาหวานมาก่อน แพทย์จะมีการซักประวัติและเริ่มตรวจคัดกรองเบาหวานตั้งแต่ครั้งแรกที่มาฝากครรภ์ และจะมีการตรวจเลือดในทุก ๆ เดือน เพื่อดูว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดเป็นปกติหรือไม่ โดยอาจจะใช้วิธีการตรวจหาน้ำตาลในปัสสาวะ หรือตรวจหาระดับน้ำตาลในกระแสเลือด โดยวิธี OGTT (Oral Glucose Tolerance Test) ก็ได้

และถ้าหากมีความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือดเกิดขึ้น แพทย์ก็จะให้คำแนะนำในการดูแลตนเองและการควบคุมอาหาร และจะทำการตรวจคัดกรองในครั้งต่อ ๆ ไปว่าความเสี่ยงลดลงไหม หรือมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไหม

รู้ทันภาวะครรภ์เป็นพิษและสัญญาณอันตรายที่ควรเฝ้าระวัง

ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ถือเป็นความผิดปกติที่อันตรายอย่างยิ่งสำหรับการตั้งครรภ์ค่ะ และส่วนใหญ่แล้วคุณแม่ก็มักจะมีภาวะครรภ์เป็นพิษตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์เป็นต้นไป

ภาวะครรภ์เป็นพิษ จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็น ความดันโลหิตสูง ไตเสียหาย โปรตีนในปัสสาวะสูง และอาจมีความเสียหายต่ออวัยวะอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยภาวะครรภ์เป็นพิษ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น

          • ตั้งครรภ์ครั้งแรก
          • ตั้งครรภ์ตอนอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือตั้งครรภ์ตอนมากกว่า 35 ปี
          • คุณแม่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานที่ควรจะเป็น
          • คุณแม่ตั้งครรภ์ลูกแฝด หรือตั้งครรภ์ทารกมากกว่า 2 คน
          • คุณแม่มีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
          • สมาชิกในครอบครัวมีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
          • ตั้งครรภ์โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
          • คุณแม่มีภาวะเลือดแข็งตัวง่ายอยู่แล้ว
          • คุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไต เบาหวาน โรคแพ้ภูมิตนเอง (SLE) ข้ออักเสบรูมาตอยด์

โดยสัญญาณและอาการที่อาจบ่งบอกว่าคุณแม่เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ คือ

          • ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ หรือมีภาวะความดันโลหิตสูงมาก่อนหน้านี้แล้ว
          • มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต หรือตรวจพบโปรตีนปริมาณมากในปัสสาวะ
          • ระดับเกล็ดเลือดลดลง
          • ค่าเอนไซม์ในตับสูง
          • มีอาการปวดศีรษะรุนแรง
          • มีอาการตาพร่ามัว หรือตาไวต่อแสง
          • มีอาการบวมน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการบวมที่ใบหน้าและมือ
          • หายใจถี่ ๆ
          • ปวดท้องช่วงบน หรือบริเวณใต้ซี่โครงด้านขวา
          • คลื่นไส้หรืออาเจียน
          • น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภาวะครรภ์เป็นพิษนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยอาจจะต้องได้รับยาลดความดันโลหิต หรือการรักษาตามอาการ หรือในกรณีที่ฉุกเฉินมากจริง ๆ อาจจำเป็นจะต้องมีการทำคลอดด่วนทันที หรือร้ายแรงที่สุดแพทย์อาจวินิจฉัยให้ยุติการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันอันตรายต่อทั้งแม่และทารกในครรภ์

สารพัดอาการปวดระหว่างตั้งครรภ์ แต่ปวดแบบไหนที่ควรระวัง

แม่ตั้งครรภ์มีโอกาสพบกับจักรวาลอาการปวดมากมาย ทั้งปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดท้อง ปวดท้องน้อย ปวดขา ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว เป็นต้น ซึ่งโดยมากแล้วอาการปวดบางอย่างก็สามารถบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ หรือสามารถหายเองได้

แต่ถ้าหากมีอาการปวดท้องหรือปวดท้องน้อยรุนแรง ปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ และอาการไม่ทุเลาลง หรือมีเลือดออกร่วมด้วย กรณีเช่นนี้คุณแม่ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ได้ค่ะ

กรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์

กรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์ เป็นอีกหนึ่งอาการทางสุขภาพที่พบได้บ่อยในคนท้อง โดยอาจมีสาเหตุมาจากระดับฮฮร์โมนที่เปลี่ยนไป หรือเกิดจากการขยายตัวของมดลูกไปกดดันบริเวณกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนกลับขึ้นมายังหลอดอาหารง่ายขึ้น

ซึ่งโดยทั่วไปแล้วกรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงต่อแม่และทารกในครรภ์แต่อย่างใดค่ะ เพียงสร้างความรำคาญและหงุดหงิดใจให้กับคุณแม่ก็เท่านั้น โดยคุณแม่สามารถรับมือกับกรดไหลย้อนตอนท้องได้ง่าย ๆ ดังนี้

          • แบ่งมื้ออาหารออกเป็นมื้อเล็ก ๆ จะช่วยให้สามารถย่อยอาหารได้ดีกว่าการกินอาหารมื้อใหญ่ทีเดียว

          • กินช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด เพื่อช่วยให้อาหารย่อยง่ายขึ้น

          • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ของหมักดอง ของทอด และแอลกอฮอล์ อาหารเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดแก๊สในระบบทางเดินอาหารได้ง่าย ทั้งยังส่งผลให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารคลายตัว ทำให้เป็นกรดไหลย้อนง่าย

          • ไม่กินข้าวคำ น้ำคำ เพราะจะทำให้มีของเหลวในกระเพาะอาหารมากขึ้น เสี่ยงที่กรดในกระเพาะอาหารและอาหารจะไหลย้อนกลับมายังหลอดอาหารง่ายขึ้น

          • ไม่นอนทันทีหลังจากที่กินอาหารเสร็จ เนื่องจากกรดในกระเพาะอาหารยังทำหน้าที่ในการย่อยอาหารอยู่ จึงอาจทำให้น้ำกรดที่กำลังย่อยอาหารอยู่ไหลย้อนกลับมากัดเซาะเนื้อเยื่อที่หลอดอาหาร และก่อให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอกได้ง่ายขึ้น

          • เคี้ยวหมากฝรั่งที่ไม่มีน้ำตาลหลังอาหาร เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำลายให้มากขึ้นในขณะที่เคี้ยวหมากฝรั่ง ปริมาณน้ำลายที่เพิ่มขึ้นอาจช่วยเพิ่มความเป็นกลางของกรดที่ไหลย้อนขึ้นมายังหลอดอาหาร

          • หากจะเอนหลัง หลังจากที่กินอาหาร ควรจัดหมอนให้สูงขึ้นกว่าปลายเท้า หรือจะวางหมอนเสริมที่ใต้บ่าด้วยก็ได้ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับมายังหลอดอาหารได้ง่ายขึ้น

          • กินยาลดกรดในกระเพาะอาหาร อาจช่วยให้อาการกรดไหลย้อนหลังอาหารดีขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากอาการกรดไหลย้อนไม่ดีขึ้นเลย แม้ว่าจะกินยาหรือปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตแล้วก็ตาม ให้คุณแม่ไปพบแพทย์ เพราะถ้าหากปล่อยไว้เรื่อย ๆ อาจจะเสี่ยงต่ออาการหลอดอาหารอักเสบเนื่องจากถูกกรดจากกระเพาะอาหารทำลายเนื้อเยื่อ หรืออาการกรดไหลย้อนอาจรบกวนการกินอาหารและการนอนหลับของคุณแม่จนทำให้เสียสุขภาพได้ค่ะ

1,000 วันแรกคืออะไร และสำคัญอย่างไร

การเริ่มต้นเสริมพัฒนาการของลูกน้อยให้เติบโตได้อย่างแข็งแรงและสมวัยนั้น หลายคนอาจจะเข้าใจว่าให้เริ่มตอนที่ลูกเริ่มรู้ความ เริ่มอ่านออกและเขียนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วการเสริมพัฒนาการของลูกนั้นควรเริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 วันแรกค่ะ ซึ่ง 1,000 วันแรก จะนับตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงวันเกิดครบ 2 ขวบของลูกน้อย ดังนี้

ช่วงเวลา 1,000 วันของลูกน้อย สามารถแยกออกได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่

          • ช่วงที่ 1: ตั้งครรภ์ (270 วัน)
          • ช่วงที่ 2: วัยแรกเกิด – 6 เดือน (180 วัน)
          • ช่วงที่ 3: วัย 6 เดือน – 2 ปี (550 วัน)

ตลอดระยะเวลา 1,000 วัน คุณแม่จะต้องใส่ใจกับการดูแลตนเองและลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งลืมตาออกมาดูโลก หมั่นฟูมฟักทั้งโภชนาการที่มีประโยชน์ ปลูกฝังอารมณ์ สภาพจิตใจ ความรัก ความอบอุ่น รวมทั้งการเสริมสร้างพัฒนาการด้วยการเล่น การพูดคุย เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่สมบูรณ์ สมวัย และมีสุขภาพที่ดี พร้อมสำหรับการเจริญเติบโตในทุก ๆ วัน โดยเฉพาะเรื่องของโภชนาการที่คุณแม่ควรจะเริ่มกินอาหารที่มีประโยชน์ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือเริ่มตั้งแต่วางแผนจะตั้งครรภ์ ไปจนกระทั่งตั้งครรภ์ คลอดลูก และให้นมบุตร

เมื่อคุณแม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ ทารกในครรภ์ก็จะได้รับสารอาหารเหล่านั้นด้วย การปูพื้นฐานเรื่องโภชนาการนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่พัฒนาการด้านอื่น ๆ เพราะเมื่อทารกแข็งแรง มีสุขภาพดี ก็พร้อมสำหรับการเรียนรู้ที่ไม่สะดุดและต่อเนื่องไปตามวัย

ไขข้อข้องใจเมื่อท้อง 23 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club


 ท้องแข็งบ่อยแค่ไหนต้องไปหาหมอ?

อาการท้องแข็งอาจจะเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ค่ะ ซึ่งถ้าหากมีอาการปวดเป็นพัก ๆ ปวดแล้วหายเองได้เพียงแค่กินยาหรือปรับอริยาบถ แบบนี้ถือว่าไม่อันตรายค่ะ

แต่ถ้าหากมีอาการปวดท้องถี่ ๆ มีอาการปวดรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยการกินยาหรือการปรับอริยาบถไม่ช่วยให้อาการปวดทุเลาลง ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ

 อาการท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ 5 เดือน อันตรายไหม?

โดยทั่วไปแล้วอาการท้องแข็งจะพบได้บ่อยในช่วงไตรมาสสาม แต่ก็อาจพบในไตรมาสสองด้วยเช่นกันค่ะ ซึ่งถ้าหากอาการท้องแข็งในอายุครรภ์ 5 เดือน มีลักษณะที่ปวดท้องเป็นพัก ๆ แต่จะไม่ปวดท้องนาน ปวดแล้วหายเองได้ เปลี่ยนท่าทางในการยืน การเดิน การนอน หรือกินยาแก้ปวดก็หาย แบบนี้ไม่อันตรายค่ะ

แต่ถ้าหากคุณแม่มีอาการปวดท้องถี่ ๆ และมีอาการปวดท้องรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยการกินยาหรือการเปลี่ยนอริยาบถไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ

 ท้อง 23 สัปดาห์ ลูกดิ้นน้อย ปกติไหม?

ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อย ดิ้นเบา หรือไม่ค่อยดิ้น ก็ยังเร็วไปที่จะสรุปว่าผิดปกติค่ะ เพราะการที่ลูกดิ้นน้อย อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

          • ผนังหน้าท้องของคุณแม่อาจจะหนาจนสัมผัสการดิ้นของทารกได้ยาก

          • หรือช่วงที่ทารกดิ้นอาจทำกิจกรรมอย่างอื่นที่มีการเคลื่อนไหว จึงทำให้ไม่รู้สึก

          • หรือตอนที่ทารกดิ้น คุณแม่นอนหลับ ตอนที่คุณแม่ตื่น ทารกหลับ ช่วงเวลาที่ลูกดิ้นจึงคลาดเคลื่อนไปจากการรับรู้ของคุณแม่

          • หรือทารกอาจจะขี้เกียจดิ้น คือยังดิ้นตามปกติ แต่บางครั้งอาจจะดิ้นน้อยลงไปบ้าง

แต่ถ้าคุณแม่สัมผัสได้ว่าวันนี้ลูกดิ้นน้อยลงกว่า 10 ครั้งต่อวัน หรือไม่ดิ้นเลยภายในครึ่งวันเช้า หรือดิ้นแค่เพียง 2 ครั้งภายในครึ่งวันเช้า ให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจครรภ์ทันที เพราะอาจเป็นไปได้ว่าเกิดความผิดปกติเกิดขึ้นก็ได้ค่ะ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์